Skip to main content
sharethis

ศาลปกครองเชียงใหม่เรียกคู่กรณี “คดีฝุ่นภาคเหนือ” เข้าชี้แจงเพิ่มเติม ภาคประชาชน ชี้ มาตรการแก้ปัญหา PM2.5 ของรัฐตั้งแต่ปี 2562 ยังไม่มีประสิทธิภาพ “หมอหม่อง” ระบุ ภาคเหนือมีคนป่วยเป็นโรคมะเร็งปอดในกลุ่มที่ไม่ได้สูบบุหรี่สูงที่สุด โดยศาลปกครองเชียงใหม่มีคำสั่งยังไม่สิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริง ซึ่งต้องรอคำสั่งศาลต่อไป

22 พ.ย. 2566 ที่ศาลปกครองเชียงใหม่ เวลา 10.00 น. ศาลปกครองได้นัดไต่สวนคดีเรียกคู่กรณีใน “คดีฝุ่นภาคเหนือ” ทั้งภาคประชาชนผู้ฟ้องคดี และฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐผู้ถูกฟ้องคดีเข้าชี้แจงเพิ่มเติม โดยเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2566 ประชาชนภาคเหนือได้รวมตัวกันยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่ม ฟ้องพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ, คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน จากเหตุไม่ใช้อำนาจทางกฎหมายแก้ไขวิกฤตฝุ่น PM2.5 ในภาคเหนือซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตของประชาชนในพื้นที่ 

โดยผู้ฟ้องคดีจำนวน 10 คน ได้แก่ สมชาย ปรีชาศิลปกุล, นัทมน คงเจริญ, ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล นักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือหมอหม่อง อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ, กลุ่มสมดุลเชียงใหม่, สภาลมหายใจเชียงใหม่, สภาลมหายใจภาคเหนือ และประชาชน ซึ่งมีเยาวชนอายุ 14 ปีร่วมเป็นผู้ฟ้องคดีด้วย

วัชลาวลี คำบุญเรือง ทนายความตัวแทนผู้ฟ้องคดี

ในการไต่สวนคดีวันนี้ (22 พ.ย. 2566) วัชลาวลี คำบุญเรือง ทนายความตัวแทนผู้ฟ้องคดีระบุว่า ตัวแทนฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดีชี้แจงเพิ่มเติมระบุ การใช้อำนาจแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ของนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็นไปตาม พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดินและปฏิบัติการตามแผนฝุ่นแห่งชาติ โดยได้เร่งรัดให้หน่วยงานรัฐทุกองค์กรให้ปฎิบัติหน้าที่แล้ว แต่ทางภาคประชาชนผู้ฟ้องคดีเห็นว่ามาตรการแก้ปัญหา ฝุ่น PM2.5  ของรัฐ ยังไม่มีประสิทธิภาพ

ขณะที่ศาลปกครองเชียงใหม่มีคำสั่งยังไม่สิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริง ซึ่งต้องรอคำสั่งศาลต่อไป และยังไม่มีการนัดพิจารณาคดีเนื่องจากหน่วยงานรัฐจะต้องส่งเอกสารชี้แจงเพิ่ม 

นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือหมอหม่อง ตัวแทนภาคประชาชนผู้ฟ้องคดี ระบุว่า กว่า 2 ทศวรรษที่ประชาชนต้องทนทุกข์กับเรื่องนี้มาตลอด ประชาชนอยากจะเห็นการขับเคลื่อนของภาครัฐที่เป็นรูปธรรม การทำงานของภาครัฐที่ผ่านมาเป็นการตอบสนองแบบชั่วครั้งชั่วคราวไม่ได้มีการวางแผนระยะยาว ปัญหาเรื่องฝุ่นพิษเป็นเรื่องที่จะต้องจัดการในหลายมิติ การเรียกร้องความยุติธรรมแก่สิทธิของประชาชนที่จะมีอากาศในการหายใจเป็นสิ่งที่ทางเครือข่ายอยากจะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง การฟ้องคดีอาจเป็นวิธีหนึ่งที่อาจจะช่วยผลักดันขับเคลื่อนให้ภาครัฐตื่นตัวและขับเคลื่อนในเรื่องสิทธิพื้นฐานของประชาชน 

นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์

หลายคนมองผลกระทบต่อฝุ่นในระยะสั้นนั้นมีผลกระทบน้อยมาก แต่หากเปรียบเทียบกับการสูบบุหรี่วันนี้ก็ไม่ได้เป็นอะไรมาก แต่ถ้าหากสูบบุหรี่ทุกวันในระยะยาวก็มีผลกระทบสูงตามมา เช่นเดียวกับฝุ่น PM2.5 การที่มีค่าฝุ่นสูงเกินค่าเฉลี่ยมากเกินกว่ามาตรฐาน WHO ในปัจจุบันนั้นลดลงมาเท่าระดับ 5 ไมโครกรัมต่อปี จังหวัดเชียงใหม่อยู่ที่ 30 ไมโครกรัม ซึ่งต่อปีเกินกว่ามาตรฐาน อัตราการเสียชีวิตของเชียงใหม่สูงกว่ามาตรฐานถึงประมาณ 20 เปอเซ็นต์ ถ้าหากสูดดม PM2.5 อย่างต่อเนื่อง จะทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต สิ่งนี้คือผลกระทบระยะยาว 

“หลายครั้งกระทรวงสาธารณะสุขมักจะตอบว่าผลกระทบต่อฝุ่นมีค่าเฉลี่ยน้อย นี่คือสิ่งที่ชี้ว่ากระทรวงสาธารณะสุขไม่มีความเข้าใจต่อเรื่องนี้เลย หากเราละเลยปัญหานี้เราก็จะเห็นคนที่มีสุขภาพที่แย่ลงอย่างมากมาย นอกจากสุขภาพประชาชนจะสูญเสียไปแล้ว งบประมาณต่างๆ ที่เข้ามาดูแลคนไข้เหล่านี้ก็เพิ่มขึ้นทุกปี ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งปอด ภาคเหนือมีคนป่วยเป็นโรคมะเร็งปอดสูงที่สุด และเป็นกลุ่มที่ไม่ได้สูบบุหรี่ ก็เป็นสิ่งที่น่าตั้งคำถามต่อไปว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้” นพ.รังสฤษฎ์ กล่าว

การฟ้องร้องครั้งนี้มีข้อเรียกร้องสำคัญทางคดี 3 ประการ ได้แก่ 

1. ฟ้องนายกรัฐมนตรีให้ใช้อำนาจตามมาตรา 9 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติอย่างร้ายแรงให้มีอำนาจสั่งการให้หน่วยงานทำหน้าที่อย่างเข้มงวด เนื่องจากนายกรัฐมนตรีไม่ได้ใช้อำนาจนี้จนการแก้ไขปัญหาวิกฤตฝุ่น PM2.5 มีความล่าช้า ไม่ทันต่อความร้ายแรงของเหตุการณ์ 

2. ฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ให้ปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ซึ่งรัฐบาลประกาศแผนนี้มาตั้งแต่ปี 2562 เนื่องจากในระยะเวลา 4 ปีในการใช้แผนนี้ แทบจะไม่เห็นความคืบหน้าและปัญหายังคงความรุนแรงอยู่ นี่คือความผิดปกติที่เราไม่อาจยอมรับ 

3. ฟ้องคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ซึ่งมีหน้าที่ครอบคลุมถึงพันธกรณีนอกอาณาเขต (Extraterritorial Obligations) ให้กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการจัดทำรายงานการเปิดเผยข้อมูลอย่างรอบด้าน เพิ่มในแบบรายงาน 56-1 One Report หรือแบบอื่นๆ ในฐานะเอกสารสำคัญสำหรับการตรวจสอบข้อมูลตลอดห่วงโซ่อุปทานอันเกี่ยวเนื่องกับแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ซึ่งส่งผลกระทบข้ามพรมแดนมายังประเทศไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net