Skip to main content
sharethis

กรณีภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิถล่มช่องแคบซุนดาของอินโดนีเซียเมื่อช่วงเย็นวันที่ 22 ธันวาคมที่ผ่านมาเป็นเหตุให้มีผู้คนเสียชีวิตอย่างน้อย 222 ราย และมีผู้บาดเจ็บมากกว่า 800 ราย ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยในอังกฤษเปิดเผยว่า เหตุการณ์ในครั้งนี้แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะสามารถพยากรณ์ล่วงหน้า

แผนที่แสดงจุดเกิดเหตุสึนามิที่ช่องแคบซุนดาเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2561 (ที่มา: Google Maps)

สื่ออัลจาซีรา รายงานว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 222 ราย และบาดเจ็บอย่างน้อย 800 ราย จากเหตุคลื่นสึนามิถล่มเกาะสุมาตราและเกาะชวา โดยเหตุการณ์นี้ไม่มีการเตือนภัยล่วงหน้า

มีผู้อยู่ในเหตุการณ์เป็นไกด์ทัวร์ชื่อซัมซุล หิดายัต กล่าวว่าเขารู้สึกประหลาดใจมากเมื่อคลื่นยักษ์ถล่มเข้าใส่เพราะไม่มีเหตุแผ่นดินไหวเกิดขึ้นและอากาศก็ดีไม่มีลมหรือฝนรวมถึงมองเห็นพระจันทร์เต็มดวงชัดเจน โดยที่หิดายัตเป็นคนที่อาศัยอยู่แถบชายหาดคาริตาในจังหวัดบันเตินเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิหนักที่สุด หิดายัตเล่าว่าเขาอยู่ที่บ้านในตอนเกิดคลื่นสึนามิสูง 20 เมตร จนกระทั่งเช้าวันต่อมาเขาถึงได้รู้เรื่องความเสียหายที่เกิดขึ้น

หน่วยงานจัดการบรรเทาภัยพิบัติของอินโดนีเซียรายงานว่ามีคนหายสาปสูญอย่างน้อย 30 รายจากเหตุการณ์นี้ มีศพบางส่วนถูกฝังไว้ใต้เศษซากความเสียหาย

มีการตั้งสมมติฐานว่าเหตุสึนามิในครั้งนี้น่าจะมีสาเหตุจากการปะทุของภูเขาไฟอะนัก กรากาตัว ที่อยู่บนเกาะภูเขาไฟใกล้เคียงกัน ขณะเดียวกันก็มีผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยามองว่าเหตุที่เกิดขึ้นนี้แทบจะประเมินล่วงหน้าไม่ได้เลย

เอ็ดดี เดมพ์ซีย์ อาจารย์จากภาควิชาธรณีวิทยาโครงสร้างจากวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยฮัลล์ประเทศอังกฤษกล่าวว่าในกรณีสึนามิอินโดนีเซียนี้ต่อให้มีการวางระบบเตือนภัยเอาไว้ก็คงไม่ทำให้เกิดผลอะไรมาก ลักษณะภัยพิบัติที่เกิดขึ้นนั้นสาหัสมากและเกิดใกล้กับเขตชุมชนระบบเตือนภัยจึงไม่สามารถเตือนภัยได้ทันท่วงที

แดเนียล ควินน์ นักวิจัยภูเขาไฟในแถบมาเลเซียและอินโดนีเซียผู้ที่เพิ่งไปเยือนอะนัก กรากาตัว เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่่ผ่านมาก็บอกว่าเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นโดยที่ทุกคนไม่คาดคิด และเมื่อตอนที่เขาไปไปตั้งแคมป์ดูการปะทุภายในของภูเขาไฟก็สามารถดูได้จากระยะปลอดภัย

กรมอุตุนิยมภูมิอากาศและธรณีวิทยาของอินโดนีเซียก็เปิดเผยว่าเหตุสึนามิน่าจะมาจากดินใต้น้ำถล่มเนื่องจากภูเขาไฟระเบิด ซึ่งเดมซีย์เห็นด้วยเพราะดินใต้น้ำถล่มจะทำให้เกิดการกระจัดของมวลน้ำปริมาณมหาศาล ส่งผลเป็นคลื่นยักษ์มายังชายฝั่ง แต่ก็บอกว่ายังไม่ควรจะแน่ใจและควรจะต้องมีการตรวจสอบต่อไป

เดมซีย์ยังกล่าวเน้นย้ำว่าประชาชนชาวอินโดนีเซียควรเฝ้าระวังเรื่องนี้ต่อไป เพราะภูเขาไฟเป็นสิ่งที่เสี่ยงจะสร้างอันตรายให้กับคนในพื้นที่เหล่านี้ พวกเขาจึงควรสังเกตอยู่เสมอว่ามีอะไรผิดปกติเกิดขึ้นกับทะเลหรือไม่ และอพยพห่างจากชายฝั่งไปในที่ๆ สูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้โดยไม่ต้องรอการเตือนภัย

เรียบเรียงจาก

Indonesian tsunami almost impossible to predict: experts, Aljazeera, 23-12-2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net