Skip to main content
sharethis

เมื่อช่วงเดือน ก.ค. – ส.ค. 2561 ที่ผ่านมา กระแสบทกวีในประเทศนั้นมีการตื่นตัวกันมากขึ้น เมื่อมีการประกวดบทกวี รางวัล "ถนอม ไชยวงษ์แก้ว" เพื่อระลึกถึง ถนอม ไชยวงษ์แก้ว กวีนักเขียนอาวุโส ที่ได้จากโลกนี้ไปอย่างสงบ เมื่อเช้าวันที่ 21 ส.ค.2557 ที่ผ่านมา ณ กระท่อมทุ่งเสี้ยว อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่

แน่นอน เมื่อพูดถึง “ถนอม ไชยวงษ์แก้ว” คนทั่วไปอาจจะไม่คุ้นหู แต่ในแวดวงวรรณกรรม หรืองานสังคม ท้องถิ่นนั้น ชื่อชั้น ตัวตนและผลงานของเขานั้นถือว่าไม่ธรรมดา เขามีผลงานดนตรีและงานเขียนหลากหลาย ทั้งบทกวี เรื่องสั้น ความเรียง โดยผลงาน "กับความอาดูรสูญสิ้น" เคยได้รับรางวัลชมเชยงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติปี 2527 "เหมือนดั่งดอกหญ้า" ได้รับรางวัลชมเชยจากงานเดียวกันในปี 2528 และเมื่อปี 2546 ผลงานรวมเรื่องสั้นของเขาที่ชื่อ "ยิ่งกว่าขุนเขา ตราบชั่วฟ้าดินสลาย" ยังได้รับการจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน และในช่วงที่ใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านเกิดที่บ้านทุ่งเสี้ยว อ.สันป่าตอง เขายังคงทำงานให้กับองค์กรท้องถิ่นและเผยแพร่งานวรรณกรรมและบทกวีผ่านคอลัมน์ "เรื่องเล็กๆ จากกระท่อมทุ่งเสี้ยว" ทางบล็อกกาซีนประชาไทอยู่เป็นระยะ นับตั้งแต่เดือน ก.ย. 2550 เป็นต้นมาจนถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต 

เหมือนกับที่ ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ เคยกล่าวถึง “ถนอม ไชยวงษ์แก้ว” เอาไว้ว่า นอกจากจะเป็น “กวีบริสุทธิ์” และเห็นด้วยกับ ไพลิน รุ้งรัตน์ ที่จัดเขาให้เป็นกวีอยู่ในกลุ่มประเภท “หวานลึกรู้สึกนำ” แล้ว เหนือสิ่งอื่นใด เขายังเป็น “นักคิด” “นักวิพากษ์สังคม” เป็น “ปราชญ์ชาวบ้าน” อีกด้วย

นั่นคือที่มาของการประกวดบทกวี รางวัลถนอม ไชยวงษ์แก้ว ในครั้งนี้ โดยการริเริ่มของ “แพร จารุ” คู่ชีวิตของ ถนอม ไชยวงษ์แก้ว ที่อยากให้มีการรางวัลนี้ขึ้นมาเพื่อระลึกถึงเขา

โล่รางวัลทำจากไม้มะค่า

โดยในปีแรกนี้ คณะทำงาน ได้มีการเสนอให้มีคณะกรรมการตัดสินทั้งหมด 5 ท่านด้วยกัน ได้แก่ 1.ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ 2.ไพฑูรย์ พรหมวิจิตร 3.สุวิชานนท์ รัตนภิมล 4.ดร.ปฏิพันธ์ อุทยานุกูล 5.รวิวาร รวิวารสกุล เป็นคณะกรรมการตัดสินผลงานทั้งหมด และได้แบ่งประเภทเนื้อหาบทกวีที่เกี่ยวกับสังคมและการเมือง สามารถส่งผลงานกวีนิพนธ์แบบฉันทลักษณ์และงานไร้ฉันทลักษณ์หรืองานกลอนเปล่า อีกทั้งยังเปิดกว้างให้คนทุกกลุ่ม ทั้งนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทุกสาขาอาชีพ เข้าร่วมส่งผลงานเข้าประกวดกันได้ ซึ่งเมื่อถึงวันหมดเขตรับสมัคร 15 สิงหาคม ปรากฏว่ามีผู้ส่งผลงานเข้ามาจำนวนทั้งหมด 63 ผลงาน ซึ่งถือว่าเกินความคาดหมาย

จนกระทั่ง คณะกรรมการได้ประกาศผลการประกวดบทกวี รางวัลถนอม ไชยวงษ์แก้ว ครั้งที่ 1 ประจำปี 2561

ดังนี้ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ “ถนอมความมืดไว้หน่อยผมจะยืนชมจันทร์” โดย วันฟ้าใหม่ เทพจันทร์, รางวัลรองชนะเลิศที่ 1 “มิได้อุทธรณ์” โดย ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์, รางวัลรองชนะเลิศที่ 2 “ถ่าเบิ๊ดเฮาไป ไผสิเคี้ยวหมากแทน” โดย สุกรณ์ บงไทสาร

นอกจากนั้น ยังมีรางวัลชมเชย จำนวน 11 รางวัล ได้แก่ 1. ในชั้นเรียน โดย กังวาลไพร นามฯ 2. แว่วต่างบางเพลงผู้รอคอย โดย กอนกูย 3. ...สมดุล(สะ มะ ดุน) โดย อรินทร ผ่องแผ้ว 4. บนถนนสายเศร้าที่เราฝัน โดย ระวี ตระการจันทร์ 5. อำนาจนั้น! โดย พุทธิ์นันทะ ผลชัยอรุณ 6. มึนอ : การเดินทางใต้ขอบฟ้าชะตากรรม โดย ธนวัฏ ปรีชาจารย์ 7. รั้วและเรา โดย องอาจ สิงห์สุวรรณ 8. เสียงเพรียกที่แห้งผาก จากรั้วบ้านของเรา โดย ชาตรี อรุณพัด 9. คือความมหัศจรรย์ โดย สุธาทิพย์ โมราลาย 10.วันแม่ของฉัน โดย รอนฝัน ตะวันเศร้า และ 11.เราจึงพึงมี โดย ชิตะวา มุนินโท

ทั้งนี้ รางวัลชนะเลิศ จะได้รับโล่รางวัล พร้อมเงินรางวัล 3,000 บาท

รางวัลรองชนะเลิศที่ 1 จะได้รับโล่รางวัล พร้อมเงินรางวัล 2,000 บาท

รางวัลรองชนะเลิศที่ 2 จะได้รับโล่รางวัล พร้อมเงินรางวัล 1,000 บาท

สำหรับรางวัลชมเชย ที่เข้ารอบ ซึ่งทางคณะกรรมการแจ้งว่าสูสีกันมาก จึงเพิ่มเป็นทั้งหมด 11 รางวัล จะได้รวมเล่มพร้อมกับบทกวีของ "ถนอม ไชยวงษ์แก้ว" (เป็นบทกวีที่ ถนอม ไชยวงษ์แก้ว ที่เขียนทิ้งไว้เป็นชุดสุดท้ายที่ยังไม่เคยรวมเล่มตีพิมพ์ที่ไหนมาก่อน)

โดยผลงาน 13 บทกวี จะมีสิทธิ์ รวมเล่มบทกวีกับ "ถนอม ไชยวงษ์แก้ว" และได้รับเปอร์เซ็นต์จากการขายต่อไปด้วย

ทัศนะวิจารณ์จากคณะกรรมการตัดสินโดยภาพรวม

รางวัลชนะเลิศ “ถนอมความมืดไว้หน่อยผมจะยืนชมจันทร์” โดย “วันฟ้าใหม่ เทพจันทร์” วรรณศิลป์ดี คืออ่านแล้วชัดเลย มีฝีมือ มีความชำนาญทางภาษาไม่ได้เกรี้ยวกราดมี ความลื่นไหลในคำและท่วงทำนองด้วย เป็นบทกวีที่มีน้ำเสียง “นุ่ม เย็นและมีความเป็นปัจเจกสูง” คล้ายๆ ตัวตนของ ถนอม ไชยวงษ์แก้ว นอกจากชื่อเรื่องจะสะดุดใจแล้ว เนื้อหาภายในก็ยังมีคุณค่า เพราะได้นำเสนอแนวคิดที่ว่าหากเราทุกคนตระหนักรู้ในหน้าที่ บทบาท จุดยืนและอุดมการณ์ของตนเอง ไม่เที่ยวไปเกะกะยุ่งเหยิงกับคนอื่น เพียงเท่านี้ก็ทำให้โลกและสังคมสงบสุขขึ้นเยอะเลย

กระนั้น คณะกรรมการบางท่าน บอกว่า ในความเป็นจริง ก็มีที่ติและติงนิดนึง คือเรื่องท่าทีทางอารมณ์ของบทกวี มีลักษณะปฏิกิริยา ประชดนิดๆ เหมือนเกิดจากความไม่พอใจที่ถูกว่าโลกสวย หรือไม่สำนึกทางการเมือง หรือความเชื่อที่ว่า ไม่อยากมีสี อย่าจัดประเภทฉัน ซึ่งจริงๆ แล้ว เป็นวิธีคิดที่โอเคสำหรับการเริ่มจะก้าวข้ามความขัดแย้งแบ่งฝ่าย แต่มันอาจต้องลุ่มลึกในการนำเสนอมากกว่านี้ เพราะถ้าหันมาดูตัวตนของถนอม ไชยวงษ์แก้ว นั้นมีสำนึกตื่นตัวทางการเมืองและเลือกฝ่ายประชาธิปไตย

รางวัลรองชนะเลิศลำดับที่ 1 “มิได้อุทธรณ์” โดย “ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์” ทางคณะกรรมการได้เสนอมุมมองความเห็นแบบสั้นกระชับ ชัดเจนว่า “ทางหวานแต่สารเข้ม” คือท่วงทำนองผลงานชิ้นนี้ถือว่าไม่หวานมาก เมื่อเทียบกับสารที่นำเสนอ

รางวัลรองชนะเลิศลำดับที่ 2 “ถ่าเบิ๊ดเฮาไป ไผสิเคี้ยวหมากแทน” โดย สุกรณ์ บงไทสาร

กรรมการบอกว่า ชอบตรง local colour มีเสน่ห์ทั้งเนื้อหาและภาษาถิ่นอีสาน กับการสื่อเชิงเปรียบเทียบ ไม่ต้องบอกตรงๆ ทื่อๆ หรือสอน แต่อ่านจบก็จะเข้าใจ

ทั้งนี้ ในวันมอบรางวัลการประกวดบทกวี รางวัลถนอม ไชยวงษ์แก้ว เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2561 ที่ผ่านมา ที่สวนเหยิมเหยิม อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ทาง ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ หนึ่งในคณะกรรมการตัดสินผลงานในปีนี้ ได้แสดงทัศนะเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า “คนที่สมควรจะได้รับรางวัลถนอม ไชยวงษ์แก้ว ก็จะต้องเข้าถึงอารมณ์ความเป็นถนอม ซึ่งอารมณ์ของความเป็นถนอม จะเป็นการผสมผสานระหว่าง จรัล มโนเพ็ชร นิดหนึ่ง พิบูลศักดิ์ ละครพล หน่อยหนึ่ง ไพรวรินทร์ ขาวงาม นิดหนึ่ง และถ้าเรารู้จักบุคลิกของถนอม จะรู้ว่าแกไม่ใช่ล้านนาจ๋า ไม่ใส่เสื้อผ้าพื้นเมือง แต่พี่ถนอมนั้นมีความเป็นคันทรี ใส่กางเกงยีนส์ ใส่เสื้อเชิ้ต ในขณะเดียวกัน พีถนอมก็ไม่ปฎิเสธที่จะอู้กำเมือง แต่พี่ถนอมนั้นมีความเป็นเพนเตอร์ คนเขียนรูป เป็นขบถ และมีความลึก มีความเศร้า บางทีก็ชอบอยู่กับข้างใน แต่พอบั้นปลายชีวิต พี่ถนอมนั้นเริ่มคลี่คลาย เปิดกว้างมากขึ้น เมื่อได้มาเปิดบล็อกกาซีน เขียนลงในประชาไท แล้วก็กล้าวิจารณ์การเมืองอย่างสาดเสียเทเสีย เราก็จะเห็นลีลาของพี่ถนอม ในหลายๆ รูปแบบ เพราะฉะนั้น อารมณ์ของพี่ถนอม นั้นใช่ว่าจะจับกันได้ง่ายๆ นัก จึงมองว่า บทกวีทั้ง 63 ชิ้นที่ส่งมาร่วมประกวดในครั้งนี้นั้นงดงามมาก งดงามตั้งแต่คิดจะส่งมาร่วมกันแล้วละ แม้กระทั่งหลายๆ ชิ้นที่แม้ไม่ได้รับรางวัล กรรมการอ่านแล้วก็รู้สึกงดงามมาก”

กิจกรรมการประกวดบทกวีในครั้งนี้ ทางคณะทำงาน ได้มีรางวัลพิเศษขึ้นมาอีกรางวัลหนึ่งคือ “รางวัลคนกวีดนตรี ถนอม ไชยวงษ์แก้ว” เพื่อคัดสรรผู้มีผลงานสร้างสรรค์ทางด้านบทกวี ดนตรีและบทเพลง สานเจตนารมณ์ของ ถนอม ไชยวงษ์แก้ว ซึ่งครั้งหนึ่ง 'รงค์ วงษ์สวรรค์ เคยเปรยให้ให้ใครหลายคนว่า “ถนอม เป็นคนกวีดนตรี...”

“ชวด สุดสะแนน” ผู้ได้รับ “รางวัลคนกวีดนตรี ถนอม ไชยวงษ์แก้ว”

ซึ่ง “รางวัลคนกวีดนตรี ถนอม ไชยวงษ์แก้ว” ในปีนี้ ได้แก่ “ชวด สุดสะแนน” เจ้าของนามปากกา “ผการัมย์ งามธันวา” ผู้ซึ่งได้นำบทกวี “เหมือนดั่งดอกหญ้า” ของ ถนอม ไชยวงษ์แก้ว มาเป็นบทเพลงขับขานได้อย่างไพเราะ ลึกซึ้ง กินใจ โดยจะได้รับโล่รางวัล พร้อมเงินรางวัล 2,000 บาท จาก “กองทุนแสงดาว ศรัทธามั่น” เป็นผู้สนับสนุนเพื่อให้ศิลปินได้สร้างสรรค์งานกันต่อไป

มาฟังเสียงกวีผู้ได้รับรางวัลในปีนี้กันบ้างดีกว่า..

ผลงานกวีนิพนธ์รางวัลรองชนะเลิศที่ 2 ได้แก่ ผลงาน “ถ่าเบิ๊ดเฮาไป...ไผสิเคี้ยวหมากแทน” ของ “สุกรณ์ บงไทสาร” ซึ่งเป็นนามปากกาของ นายภาสกร บาลไธสง วัย 31 ปี ปัจจุบันรับอาชีพ รับราชการครู โรงเรียนพุทไธสง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 32 อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์

โดยเจ้าของผลงาน เปิดเผยภายหลังได้รับรางวัลว่า ตนเองเริ่มหัดเขียนบทกวีตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่5 เป็นความชอบส่วนตัว คือชอบฟังเพลงทุกแนวเพื่อความเพลินเพลินและเป็นการเก็บคลังคำดื่มดำสุนทรียะทางภาษาและการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของศิลปิน และชอบอ่านหนังสือประเภทกวีนิพนธ์ เรื่องสั้น สารคดี และค่อยๆ ฝึกเขียนตามตามแนวที่เราชอบอยู่เนืองๆ เพื่อหาความเป็นตนเอง ส่วนมากการเขียนในระดับมัธยมศึกษาจะเป็นแนวบทร้อยกรองมากกว่าบทกวี

“ผมฝึกเขียนทั้งกาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ ร่าย คำประพันธ์ที่ถนัดที่สุดคือ โคลงสีสุภาพ เมื่อก้าวเข้าสู่ระดับอุดมศึกษาก็เริ่มเขียนเป็นจริงเป็นจัง เขียนประกวดบ้าง เขียนลงเว็บไซต์บ้าง เขียนเพื่อบันทึกเหตุการณ์บ้าง เขียนประกอบงานต่างๆ ตามโอกาส เช่น ในวันสำคัญเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ ศาสนา งานศพ งานเกษียณ เขียนเพื่อเป็นที่ระลึกตามสถานที่ท่องเที่ยว การเข้าค่าย เป็นต้น แต่ส่วนมากไม่เน้นการรวมเล่มตีพิมพ์เพราะอีกนัยหนึ่งยังไม่มั่นใจในฝีมือการประพันธ์ของตัวเองนั่งเอง สรุปเริ่มฝึกการเขียนตั้งแต่ชั้น ม.5 และพัฒนาการเขียนมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน”

เขายังบอกถึงที่มาและแรงบันดาลใจ กับผลงานกวีนิพนธ์ “ ถ่าเบิ๊ดเฮาไป...ไผสิเคี้ยวหมากแทน” ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศที่ 2 ในครั้งนี้ว่า ผลงานชิ้นนี้ได้เขียนเอาไว้เมื่อปี 2552 หรือ เมื่อ 9 ปีที่แล้ว เมื่อครั้งเป็นนิสิตระดับปริญญาตรีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม แล้วมีโอกาสได้เดินทางมาร่วมค่ายเรียนรู้ชุมชนตามแนวคิดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่หมู่บ้านหนองบัวแปะ ต.สร้างแซ่ง อ.ยางสีสุราช จ.มหาสารคาม บทกวีนี้แรงบันดาลใจเกิดจากการลงเก็บข้อมูลภูมิปัญญาชาวบ้านในด้านต่างๆ จากผู้เฒ่าผู้แก่ภายในชุมชน ที่กลุ่มชาวค่ายต้องไปฝังตัวเป็นลูกฮัก...

“ลูกฮัก คือลูกที่ชาวบ้านผูกข้อไม้ข้อมือด้วยฝ้ายขาวรับเป็นลูกเต้าเข้าร่วมพักอาศัยในครอบครัวขณะศึกษาในชุมชนนั้น ประมาณ 2 สัปดาห์ กินอยู่ หลับนอน กับชาวบ้านจนเกิดความผูกพัน ขณะที่สัมภาษณ์แม่เฒ่าผู้หนึ่งกำลังนั่งพันหมากพลู เตรียมอุปกรณ์กินหมากและกินหมากจนริมฝีปากแดงเรื่อนั้น ท่านพลางให้สัมภาษณ์และบ้วนน้ำหมากสีแดงๆ เป็นระยะลงกระโถน เราคุยกันถึงเรื่องวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน และภูมิปัญญาการทอผ้าไหม แกกล่าวไปเรื่อยๆตอบคำถาม ตามคำเราสัมภาษณ์ และมีถ้อยคำหนึ่งที่แกกล่าวมาแบบกลายๆ สายตาเหม่อลอยคล้ายฝากความหวังอะไรสักอย่างให้ผู้สัมภาษณ์ขบคิด ในแบบฉบับภาษาถิ่นตนเองว่า “ ถ่าเบิ๊ดเฮาไป...จั๊กไผสิเคี้ยวหมากแทนนอ” แล้วหัวเราะเบาๆ เล่นเอาผมหนึ่งในทีมงานเก็บข้อมูลขนลุกซู่ จากวาจาดังกล่าวมันไม่ใช่เพียงคำกล่าวเปรยๆ ลอยๆ ในอากาศ แต่มันแฝงไปด้วยภาพชีวิตของบรรพชนที่ต่อสู้ดิ้นรน ค้นหาวิถีหนทางเพื่อดำรงชีพความเป็นอยู่มอบสู่รุ่นลูกหลานผ่านภูมิปัญญาที่ถือว่าเป็นมรดกทางความคิด หล่อเลี้ยงสรรพชีวิตมาแล้วกี่ยุคสมัย แล้วความรู้ภูมิปัญญา ประเพณี วิถีชีวิตที่เรียบง่ายและง่ายงามนี้ รุ่นลูกหลานจะมีใครสืบสานไว้ต่อไปหรือไม่ หรือมันจะต้องสูญหายไปกับการจากไปของผู้เฒ่าผู้แก่ นี่คือสิ่งที่แฝงมากับคมวาทะคนนั้นได้กล่าว”

เจ้าของผลงานกวีนิพนธ์ชิ้นนี้ บอกอีกว่า “ผมมองหน้ากันกับเพื่อนผู้ร่วมเก็บข้อมูลถึงกับอึ้งน้ำตาคลอเบ้าแทบยิงคำสัมภาษณ์ต่อไม่ได้ หลังจากเสร็จสัมภาษณ์เราก็นำวาทะนั้นมาคุยกัน และใช้ข้อความที่ว่า “ ถ่าเบิ๊ดเฮาไป...ไผสิเคี้ยวหมากแทน” เป็นชื่อหนังสือกวีนิพนธ์ทำมือ โดยมีบทประพันธ์ชื่อนี้ที่ผมเขียนรวมในเล่มด้วยแต่ไม่ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ประการใด เป็นการสร้างขึ้นจากแรงสะเทือนใจและไฟฝันผู้มีใจรักในบทกวีร่วมกันทำ”

บทกวีชิ้นนี้ นอกจากเน้นภาษาท้องถิ่นอีสานแล้ว ยังแฝงไปด้วยสัญลักษณ์ที่ซ่อนในงานไว้ให้ขบคิดอีกด้วย

“ใช่ครับ ผมพยายามซ่อนสัญลักษณ์ เอาไว้คือ 1.คนแก่คนเฒ่า หมายถึง ผู้ทรงภูมิรู้ทางภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านต่างๆ จากบรรพบุรุษ และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประวันได้อย่างต่อเนื่อง 2. การกินหมาก เปรียบได้กับการสืบทอดองค์ความรู้แห่งภูมิปัญญา ประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงามเรียบง่าย ของชุมชนหรือท้องถิ่น และ 3. “ถ่าเบิ๊ดเฮาไป...ไผสิเคี้ยวหมากแทน” เป็นเสมือนหนึ่งคำถามจากคนเฒ่าคนแก่ฝากคนรุ่นหลังให้ขบคิดว่า ถ้าสิ้นผู้เฒ่าผู้แก่ไปใครจะสืบทอดภูมิปัญญา ประเพณีและวัฒนธรรมที่ดีงามให้คงอยู่สืบไป” นายภาสกร บาลไธสง หรือ สุกรณ์ บงไทสาร ได้กล่าวในตอนท้าย

สำหรับผลงานกวีนิพนธ์รางวัลรองชนะเลิศที่ 1 เป็นของ “ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์” กับผลงานชื่อ “มิได้อุทธรณ์”

“ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์” รางวัลรองชนะเลิศลำดับที่ 1 จากบทกวี “มิได้อุทธรณ์”

ซึ่งเป็นอีกหนึ่งผลงานที่สร้างกระแสฮือฮาในโลกโซเซียลกันมาก เมื่อทุกคนทราบข่าวว่าบทกวีชิ้นนี้ได้รับรางวัล เนื่องจาก เจ้าของผลงาน “ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์” เป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ซึ่งมีลูกศิษย์ลูกหาเยอะมาก ในขณะที่เจ้าตัวบอกว่าเพิ่งเริ่มต้นเขียนบทกวีอย่างจริงจังและได้มีผลงานเผยแพร่บ้างเมื่อ 2-3 ปีมานี้เอง

เมื่อสอบถามกวีที่ชื่นชอบในดวงใจจริงๆ มีใครบ้าง? เธอบอกว่า “เป็นคนหลายใจ กวีในดวงใจจึงมีหลายคน ถ้าจะต้องเอ่ยนามกันอย่างจริงจัง คงต้องยกมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงพุทธศักราชนี้ เชื่อว่า..เราต่างก็ถูกหล่อหลอมจากใครต่อใคร จนมาเป็นเราๆ ท่านๆ ที่เขียนที่อ่านกันอยู่ตอนนี้ ฉะนั้น กวี นักคิด นักเขียนทุกคน ทั้งไทยทั้งต่างชาติ ที่เคยได้อ่าน ล้วนอยู่ในดวงใจทั้งสิ้น แต่ถ้าให้ตอบแบบไม่หลายใจก็ขออนุญาตยกให้ครูศิวกานท์ ปทุมสูติ”

เมื่อพูดถึงบทกวี “มิได้อุทธรณ์” ชิ้นนี้ เธอบอกเล่าถึงแรงบันดาลใจว่า โจทย์ครั้งนี้คือ “ปัญหาสังคมและการเมือง” ซึ่งกว้างมาก แทบจะเขียนเรื่องอะไรก็ได้ เพราะการเมืองแทรกซึมชีวิตเราไปทุกเรื่อง สำหรับผลงานชิ้นนี้ ตั้งใจจะพูดแทนสภาวะ ‘ความเป็นอื่น’ (the otherness) ที่ถูกเบียดขับออกจากศูนย์กลาง ถูกกีดกัดออกจากกระแสหลัก ประเด็นความเป็นอื่นที่ปรากฏในผลงานชิ้นนี้มีหลายเรื่อง อาทิ สัญชาติ เพศสภาพ ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม

“ถามว่าทำไมถึงเขียนเรื่องนี้ ก็เพราะมันเป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า มันรายล้อมตัวเราอยู่ และจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม บางทีเราก็พลั้งเผลอผลักไสพวกเขาให้ไปอยู่ “ชายขอบของจักรวาล” ผลงานชิ้นนี้ แม้ว่าผู้เขียนจะเลือกนำเสนอแบบ personification (เกือบ)ตลอดเรื่อง แต่ก็มิได้ซุกซ่อน อำพรางสัญลักษณ์ใด ๆ เลย สัญญะเหล่านี้เปิดเผยตนเองต่อผู้อ่านอย่างชัดแจ้ง มันไม่ใช่ของใหม่ซะทีเดียว เชื่อว่าผู้อ่านย่อมตีความ “ฟ้า ดิน ตะวัน อากาศ ไม้งาม หญ้า” เหล่านี้ใน 4 บทแรก ได้อย่างแน่นอน ว่าอะไรถูกใช้แทนอะไร เพราะในบทต่อ ๆ มา ก็เหมือนได้เฉลยสัญญะเหล่านี้ไว้กลาย ๆ อยู่แล้ว ซึ่งก็ขอขอบคุณคณะกรรมการทุกท่าน ที่ท่านเห็นความงามหรือความอะไรก็แล้วแต่ของบทกลอนบทกวีชิ้นนี้ จนยกตำแหน่งที่ 2 ให้ค่ะ” เธอบอกเล่าในตอนท้าย

สำหรับประวัติและผลงานของเธอนั้น ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์ เกิดเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2529 ปัจจุบันอายุ 32 ปี เดิมเป็นชาวจังหวัดเพชรบุรี เกิดและเติบโตที่นี่ จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนอนุบาลเพชรบุรี และจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเบญจมเทพอุทิศจังหวัดเพชรบุรี ต่อมาเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครอง และศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะอักษรศาสตร์ ภาควิชาภาษาไทย ปัจจุบันย้ายภูมิลำเนาตามสามีมาลงหลักปักฐานที่จังหวัดบุรีรัมย์ ทำงานเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ สนใจทั้งงานวิชาการและการแต่งบทประพันธ์ร้อยกรอง โดยเฉพาะ กลอน

ทุกวันนี้ เธอไม่มีนามปากกา แต่ใช้ชื่อจริงนามสกุลจริงว่า ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์ ในการเผยแพร่ผลงาน

เคยตีพิมพ์ผลงานบทกวีในคอลัมน์ “อักษราร่ายรำ” ในนิตยสาร สะบายดีบุรีรัมย์ ชื่อผลงาน “จักรยานคันเก่า” “พรุ่งนี้” “รอนะบุตร” “เมื่อใดโลกผัสสะอารมณ์ลึก” “เรารู้อะไร” “ศาสตร์แห่งพระราชา”

นอกจากนั้น เธอยังมีผลงานบทกวีรวมเล่มกับคณาจารย์และนักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ชื่อหนังสือ “นักเรียนกลอนนอนดึกนึกถึงเธอ” ตีพิมพ์เมื่อปี 2560 และมีผลงานบทกวีรวมเล่มกับคณาจารย์และนักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ชื่อหนังสือ “เราต่างเรียนรู้กันและกัน” ตีพิมพ์ปีนี้ (ปี 2561) ที่มาของหนังสือทั้งสองเล่มนี้ คือ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้อาจารย์ผู้สอนรายวิชากวีนิพนธ์ไทย (หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต) และวิชาศิลปะการประพันธ์ (หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต) ทั้งนี้ มีความปรารถนาที่จะสร้างความภูมิใจในตัวเองให้แก่ลูกศิษย์ และร่วมเรียนรู้ “กันและกัน” จึงได้จัดทำหนังสือรวมบทกวีทั้งสองเล่มนี้ขึ้น

ล่าสุด เธอยังได้รับรางวัล คือบทกวีชื่อ “แล้วเธอล่ะ...เป็นใครในเมืองนี้” ได้รับรางวัล ชมเชย การประกวดวรรณกรรม “รางวัลพานแว่นฟ้า” ประจำปี 2561 อีกด้วย

“วันฟ้าใหม่ เทพจันทร์” ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศจากบทกวี “ถนอมความมืดไว้หน่อยผมจะยืนชมจันทร์”

และรางวัลชนะเลิศ การประกวดบทกวี รางวัลถนอม ไชยวงษ์แก้ว ครั้งที่ 1 ประจำปี 2561 นี้

เป็นของ “วันฟ้าใหม่ เทพจันทร์” เจ้าของผลงาน “ถนอมความมืดไว้หน่อยผมจะยืนชมจันทร์”

วันฟ้าใหม่ เทพจันทร์ บอกว่า เริ่มอ่านกลอน กวี มาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมต้น พอขึ้นมัธยมปลายก็มีโอกาสได้แต่งกลอนประกวด เมื่อรู้ว่าตัวเองชื้นชอบกลอนกวีก็เสาะแสวงหาครูบาอาจารย์ เช่น เดินทางไปงานหนังสือที่ศูนย์สิริกิติ์เพื่อพบนักเขียน ก็เกิดแรงบันดาล เกิดแรงบันดาลฝัน จนกระทั่งอายุ 24 ปี ได้ส่งประกวดรวมเล่มบทกวีชื่อ 'ประโลมศักราชสมัย' รางวัล YoungThai Artist Award 2010 จัดโดยมูลนิธิเอสซีจี และได้รับรางวัลดีเด่น ปี 2555 ส่งรวมบทกวีรางวัลซีไรต์ ชื่อ ' จินตคตินิพนธ์ ' ปลายปี 2556 ถึง กลางปี 2558 ผมได้รับโอกาสจากอาจารย์ ส.ศิวรักษ์ ให้เป็นบรรณาธิการสารป๋วย ซึ่งเป็นวารสารรายเดือนจัดขึ้นในวาระรำลึก 100 ปี ชาตกาล อาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ โดยมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป และได้เข้ามาสู่วงการหนังสือแต่งกวีเรื่อยมาจนปัจจุบัน

เมื่อพูดกวีที่ชื่นชอบในดวงใจ เขาบอกว่า กวีที่นับถือและศรัทธาเสมอมา คือ ท่านอังคาร กัลยาณพงศ์

“ผมนับว่าท่านเป็นเลิศเป็นมหากวีแห่งยุคสมัย ซึ่งในรอบร้อยหรือพันปีไปเบื้องหน้าคงจะหาได้ยากยิ่ง ด้วยความเป็นอิสระของ ภาษา สำนวน วิธีการเขียนและจินตนาการอันบรรเจิดเพริศพริ้งนั้นเป็นที่กล่าวขวัญอยู่มิรู้หาย บทกวีของท่านอังคารสามารถปลุกพลังงานในตัวผมได้เสมอเมื่อรู้สึกว่าล้าแรงไฟฝันลงไป กระทั่งทุกวันนี้ผมถือว่าการแต่งกวีของผมนั้นเสมอเป็นอาจาริยบูชาต่อท่านอังคาร คือเมื่อรู้สึกเกียจคร้านก็จะคิดถึงท่าน มีท่านเป็นพลังธาตุแห่งความศรัทธา”

สำหรับที่มาและแรงบันดาลใจ ของบทกวี “ถนอมความมืดไว้หน่อยผมจะยืนชมจันทร์” ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในครั้งนี้ เขาบอกว่า “บทกวีที่ส่งประกวดนี้ ผมได้นำบทกวีที่เคยแต่งสั้นๆ ซึ่งแต่งเก็บเอาไว้ต่างกรรมต่างวาระกัน และได้นำมาต่อกันจากกวี 3 ชิ้น จริงๆเป็นกวีที่แต่งต่างอารมณ์กัน และนำมารวมเป็นเรื่องเดียวกัน ก็บังเอิญว่าอ่านแล้วมันลงตัวในความคิดเห็นของตัวเอง ไม่ได้แต่งขึ้นมาใหม่แต่พอนำมาต่อกัน ก็เหมือนเป็นผลงานชิ้นใหม่ โดยได้ส่งในวันสุดท้ายก่อนจะหมดเขตรับผลงาน”

เมื่อเราถามว่า เนื้อหาบทกวีชิ้นนี้ต้องการสื่อสารยังไงบ้าง?         

เจ้าของผลงานบอกว่า สังเกตได้จากในบทแรกๆ จะกล่าวถึงสัจธรรมชาติและหรืออิสระ เสรีภาพ รวมถึงหน้าที่ของสรรพสิ่งที่ต่างไม่เบียดเบียนกัน มีที่อยู่ของตน ในช่วงกลางของเนื้อหาจะโยงไปถึงเรื่องตัวบุคคล

“โดยผมได้แสดง 'สัญญะ' ผ่านการใช้คำ เช่น 'พวกคุณ' 'พวกเขา' 'พวกเรา' ซึ่งผมสะท้อนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม นั้นคือการแบ่งพรรคพวก แบ่งฝักฝ่ายของกลุ่มคน มิพักที่ปัญหาเหล่านั้นจะแทรกซึมเข้ามาสู่เหล่าศิลปิน นักเขียน หรือแม้แต่กวีผู้ที่ควรจะเป็นอิสระอยู่เหนืออำนาจการเมืองทั้งปวง และท้ายสุด ผมใช้คำว่า 'ผม' ในวรรคสุดท้ายตอนจบของกวี เพื่อจะสื่อให้เห็นว่าศิลปินหรือกวีนั้นมีคุณวิเศษในแง่ของสุนทรีย มองอะไรก็งดงาม ผมจึงบอกว่า 'ถนอมความมืดไว้หน่อยผมจะยืนชมจันทร์' ซึ่งเป็นความสุขเล็กๆน้อยๆของกวีที่คนอื่นๆอาจมองข้าม หรืออาจจะแสวงหาความสุขอื่นในเรื่องของยศฐาหรืออำนาจอะไรเหล่านั้น สรุปได้ว่าผมพูดถึงในแง่ของความจริง ความดี และความงาม อย่างซื่อๆ มิได้แฝงนัยยะทางการเมืองอะไรทั้งนั้น”

วันฟ้าใหม่ บอกทิ้งท้ายว่า ที่ส่งกวีมาร่วม เพราะชื่อ 'ถนอม ไชยวงษ์แก้ว'

“ผมมีภาพความทรงจำอันอบอุ่นต่ออ้ายถนอมในช่วงเวลาที่ผมยังเป็นเด็กหนุ่ม เคยอ่านกวีเคล้าคลอกีต้าร์จากอ้ายถนอม ทั้งบทกวีของอ้ายถนอมก็ยังเป็นผลงานที่ชี้ชวนให้ผมเห็นถึงถ้อยคำ ภาษา ความนุ่มนวล เรียบง่าย ทว่าลุ่มลึก แบบ 'เป็นอย่างที่เธอเป็น' ทำให้ได้รู้จักกับอ้ายถนอมที่มีชีวิตแบบ 'สามัญอันเรียบง่าย' พอมีรางวัลนี้ขึ้นมาผมตั้งใจส่งงานมาร่วมโดยมิได้หวังรางวัลไว้เลย แต่เมื่อได้รับการตัดสินให้ได้รางวัลนี้ก็รู้สึกเป็นเกียรติและอบอุ่นหัวใจอยู่มาก”

เขาบอกอีกว่า “ถึงแม้จะเป็นรางวัลเกิดใหม่ เป็นรางวัลที่เริ่มจากก้าวเล็กๆ แต่ผมหวังว่ารางวัลกวีในชื่อของถนอม ไชยวงษ์แก้ว นี้ จะมีผู้สนใจส่งผลงานเข้าร่วมมากขึ้นทุกปี และสำคัญที่สุดคือ จะต้องช่วยกันอุดหนุนรางวัลนี้ ให้เป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ควรจะมีดวงตาเห็นคุณค่าของเหล่าศิลปินกวี ทั้งต้องช่วยกัน 'ถนอม' ทั้งชื่อรางวัลและตัวผู้เป็นเจ้าของรางวัล ถึงแม้จะถึงแก่กาละไปแล้ว ก็ควรจะยกย่องเชิดชู เพราะอ้ายถนอมนั้นเป็นคนในตำนานคนหนึ่งในวงการกวี ควรป่าวประกาศให้อนุชน กวีรุ่นใหม่ได้รู้จักถึงคุณวิเศษอย่างไม่น้อยหน้าใคร โดยเฉพาะผมมีความภาคภูมิในฐานะเป็นคนร่วมภูมิภาคเป็นคนเหนือเหมือนกันจึงนับถืออย่างยิ่ง”

“ถนอมความมืดไว้หน่อยผมจะยืนชมจันทร์”

ฟ้าก็ยังกว้างใหญ่อยู่ในฟ้า
เมฆก็มีชีวาในเมฆขาว
ลมฝูงหนึ่งเย็นวูบไร้รูปราว
ชีวิตสั้นและยาว อยู่ในชีวิต

เหมือนป่าที่เข้มเขียวอยู่ในป่า
ฝนหลั่งมาแหล่งน้ำเป็นกรรมสิทธิ์
ดินไม่เคยไปสู่ฟ้าได้สักนิด
ไฟยังติดโชนรู้อยู่ในไฟ

ค่ำแล้วนกกลับหลังสู่รังนก
ดาวไม่ตกใจแสงไฟไสว
พระจันทร์ไม่เคยอยู่ในหัวแหวนใคร
ตะวันไม่เคยกลับตอนเที่ยงวัน

โลกก็ยังกว้างใหญ่อยู่ในโลก
ทุกข์โศกไม่เบียดเบียนความสุขสันต์
ต่างดำเนินทางไปทางใครทางมัน
เพราะต่างกันต่างมีที่ของตน

ถ้า “พวกคุณ” ถอดเครื่องแบบภายนอกออก
ลอกคราบเกียรติยศลดอกุศล
วางอาวุธชั่วร้ายหลากหลายกล
ไม่ปล้นเสรีภาพ กันและกัน

หาก “พวกเขา” เลิกหลงระเริงอำนาจ
อาจหาญปลดปล่อยความกระสัน
ทุกผู้หญิงผู้ชายทั้งนั้น
เห็นค่าสันติธรรมทำจริงใจ

แม้ “พวกเรา” เสียสละแล้ว
แนวรบก็จบสิ้นสุดยุคสมัย
เสมอภาคเรา เสมอกันไป
สมานกลับเป็นใจเดียวกัน

แผ่นดินนี้มีวีรกรรมทำไว้มาก
ธุลีแห่งความลำบากบุกบั่น
ทับถมอยู่แล้วทุกทุกชั้น
สูงพอให้ “พวกท่าน” มีที่ยืน

ใครจะกวาดหิมะก็กวาดเถิด
อย่าเตลิดมายุ่งน้ำค้างคนอื่น
หากจะจุดโคมไว้ส่องทางกลางคืน
“ถนอมความมืดไว้หน่อยผมจะยืนชมจันทร์”

วันฟ้าใหม่ เทพจันทร์
กวีนิพนธ์รางวัลชนะเลิศ
รางวัลถนอมไชยวงษ์แก้ว ครั้งที่ 1 ประจำปี 2561

“มิได้อุทธรณ์”

ฟ้าเอย ฟ้าไกลของใครบ้าง
เธอเลือกนักเดินทางอยู่บ้างไหม
เมฆครามงามสม..สมบัติใคร
หรือต้องมีตั๋วใดได้สัญจร

แผ่นดินเอย มีเจ้าของครองหรือเปล่า
หรือเธอเลือกบางเท้าให้ก้าวก่อน
ตีนแดงเดินได้ทุกดงดอน
ตีนแตกแยกล่อนรอก่อน..รอ

ตะวันเอย เธอก็เอียงกระเท่เร่
หักเหแสงส่องบางห้องหอ
ฉาบฉายเพียงไม้งามที่งามพอ
หญ้าหยาบมิทาบทอให้เทียมทัด

อากาศเอย เป็นของฉันเพียงชั้นล่าง
เขาแบ่งสรรที่ทางต่างปฏิบัติ
โอโซน แบ่งโซนอย่างแจ่มชัด
ทุกตารางเขารังวัดไว้ให้แล้ว

ไร้ฐานะศักดินามาฝั่งนี้
ไม่มีสี เส้น สายไปท้ายแถว
ลูกตามีหลานยายมาอย่าล้ำแนว
เป็นกรวดทรายอย่าเกลือกแก้วให้กลืนกลาย

ไร้สัญชาติมิอาจดำรงทะนงศักดิ์
อัตลักษณ์ถูกเบียดขับระส่ำระสาย
เพศวิถีไม่ชัดเจนจงเจียมอาย
แดนตายคือชายขอบของจักรวาล

ไร้ทักษะฝีมืออย่าถือสิทธิ์
ไร้ปัญญาอย่าคิดจะเหิมหาญ
จงรอรัฐจัดสรรปันทาน
นโยบายอลังการนานนานครั้ง

ทรัพยากรใดใดของใครหรือ
ศูนย์กลางยึดถือและจัดตั้ง
คำว่า “รัฐ” อันศักดิ์สิทธิ์เป็นฉากบัง
ผลักใครใครไว้ข้างหลังให้คลั่งแค้น

ฉันถูกซัดมาสุดขอบแล้วตรงนี้
นอกพื้นที่สิทธิ์สงวนเขาหวงแหน
ถูกเหวี่ยงหวือกีดออกนอกแก่นแกน
เขาปักปันเขตแดนความเป็นคน

มิเป็นไรถ้าฟ้าจะกีดกั้น
มิเป็นไรถ้าตะวันมิยักสน
มิว่าดอกถ้าแผ่นดินรับสินบน
และอากาศยังแบ่งชนให้เชยชิด

มิได้อุทธรณ์วอนขอขยับขั้น
มิได้ขอแบ่งปันอภิสิทธิ์
มิฟูมฟายตะกายเกลือกมิเลือกทิศ
เพียงสักนิดเรียกขานตน “คน” เหมือนกัน

ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์
กวีนิพนธ์รางวัลรองชนะเลิศที่ 1
รางวัลถนอมไชยวงษ์แก้ว ครั้งที่ 1 ประจำปี 2561

“ถ่าเบิ๊ดเฮาไป ไผสิเคี้ยวหมากแทน”*

หอมคำหมากลอยลมคมคำเว้า
ของผู้เฒ่าเล่าปรัชญาน่าหวงแหน
“เบิ๊ดเฮาไปไผสิเคี้ยวหมากพลูแทน”
คูนที่แก่นบ่เหลือกาบให้ปลวกกิน

ฮอยปูนแดงคงซีดเซียวกับเรียวปาก
ความลำบากลูกหลานเอ๋ยคงบ่สิ้น
หากลืมโตเจ้าของย่างย่องดิน
ลืมท้องถิ่นจารีตฮีตคองตน

ยืนอยู่ไสให้เบิ่งฮอยที่เฮาก้าว
ฮ้อนหรือหนาวฮู้รำลึกที่ฝึกฝน
นั่นแหละหลานคือฮ่องฮอยบรรพชน
ที่ดั้นด้นจนมื้อนี้มีธรณิน

ที่แดงดินบ่แม่นเลือดคือน้ำหมาก
ของผู้เฒ่านั้นฝากหลานถวิล
จารทรงจำฮอยฮักเตือนใจจินต์
ก่อนขวานไทยจะบิ่นด้วยเลือดไทย

อย่าเฮ็ดให้แดงดินเป็นดินเดือด
เพราะสายเลือดหมู่เฮาเผามอดไหม้
หากหลานหล่าคิดผิดจงกลับใจ
ฮ่วมกันสร้างแปงใหม่ให้เจริญ

เบิ่งยอดโบสถ์วิหารกะงามย่อง
แนมเบิ่งหนองพอมีน้ำบ่ขาดเขิน
แนมเบิ่งฟ้าฝนหยาดย้อยเป็นวังเวิน
ซุ่มดินเดิ่นให้นาข้าวเขียวขจี

ให้น้ำใจเฮานั้นบ่สิ้นสูญ
เหมือนแก่นคูนมั่นแก่นบ่เปลี่ยนสี
จักอยู่ไสใจยึดมั่นคุณความดี
เพียงเท่านี้หมากที่เคี้ยวบ่จืดจาง

จงเหลียวหลังเบิ่งบ้านเกิดที่เคยนอน
เบิ่งฟูกหมอนแม่พ่อบ่เหินห่าง
นั่งแนมคอม ฯ อย่าลืมอ่อมอึ่งบักยาง
ก้นต่าฮ้างหลานเคยค้นหาเหรียญดำ

เพียงเท่านี้แม้สิ้นยายตายตาหลับ
หากหลานรับแนวทางบ่ถลำ
เฮ็ดตามยายบอกกล่าวเล่าให้จำ
หมากทุกคำคงบ่สิ้นกลิ่นหอมเอย.

สุกรณ์ บงไทสาม
รางวัลรองชนะเลิศที่ 2
รางวัลถนอมไชยวงษ์แก้ว ครั้งที่ 1 ประจำปี 2561

 

 

 

           

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net