Skip to main content
sharethis

ความคืบหน้าคดีทางการเมืองรอบสัปดาห์ อุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้น 1 ใน ‘MBK39’ จำคุก 12 วัน ปรับ 6 พัน ‘หมอนิรันดร์’ เบิกความคดี ‘บก.ลายจุด’ ม.116 ยันใช้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกโดยสงบสันติ ศาลปกครองสั่ง รฟท. จ่าย 3.1 ล้าน ชดเชยเลิกจ้าง 'ประภัสร์ จงสงวน'

สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด (แฟ้มภาพ ประชาไท)

7 ก.ย.2561 ความเคลื่อนไหวคดีทางการเมืองช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ นอกจากศาลอนุมัติหมายจับแอดมินเพจ CSI LA และผู้แชร์ข้อมูล รวม 13 คน ฐานกระทำผิดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูล คอมพิวเตอร์ปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย แก่ผู้อื่นหรือประชาชน และหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ฯลฯ จากกรณีเพจ CSI LA ซึ่งมียอดผู้กดถูกใจเพจกว่า 8 แสน ได้โพสต์ข้อมูลและข่าวเกี่ยวกับนักท่องเที่ยวสาวชาวอังกฤษระบุว่าถูกข่มขืนบนเกาะเต่า รวมทั้งวานนี้ (6 ส.ค.61) กรณีที่ทหารในเครื่องแบบและเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ เข้าควบคุมตัวหญิง 2 ราย จากเหตุที่มีเสื้อยืดสีดำติดโลโก้ลายขาวสลับแดง ส่งตัวกลับบ้านแล้ว 1 สั่งห้ามซื้อเสื้อเพิ่มและห้ามใส่อีก ส่วนอีกรายยังไม่ทราบที่คุมตัว (อ่านรายละเอียดตามลิงค์ด้านล่าง)

ความคืบหน้าคดีทางการเมืองอื่นๆ ในรอบสัปดาห์ มีดังนี้

อุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้น 1 ใน ‘MBK39’ จำคุก 12 วัน ปรับ 6 พัน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เมื่อวันที่ 5 ก.ย.ที่ผ่านมา เวลา 9.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 6 ชั้นสอง ศาลแขวงปทุมวัน เป็นนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีที่ นพเก้า คงสุวรรณ ถูกฟ้องร้องในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติชุมนุมสาธารณะ และฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/58 โดยคดีนี้จำเลยถูกกล่าวหาว่าร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่ลานหน้าห้างสรรพสินค้า MBK และเป็นหนึ่งในผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาร่วมกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ที่รู้จักกันในชื่อ “MBK39” โดยคดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ

ก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติชุมนุมสาธารณะ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุก 12 วัน และปรับ 6,000 บาท ศาลเห็นว่าจำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ จึงลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 วัน และปรับ 3,000 บาท ขณะที่โทษจำคุกให้รอการลงโทษ 1 ปี (อ่านเรื่องนี้ต่อที่ ศาลพิพากษา 2 จำเลย MBK39 จำคุก 12 วัน ปรับ 6พันบ. สารภาพลดกึ่งหนึ่ง โทษจำคุกรอลงอาญา 1 ปี)

สำหรับการอุทธรณ์ในวันนี้แบ่งออกเป็น 2 ประเด็น คือ ประเด็นที่หนึ่งจำเลย กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกับพวกร่วมชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 และฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ข้อที่ 12 แต่ไม่ปรากฏในคำบรรยายฟ้องว่าจำเลยมีสถานะเป็นผู้จัดการชุมนุมหรือเชิญชวนให้ผู้อื่นมาชุมนุม กรณีนี้จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิด

ประเด็นที่สอง จำเลยขอให้ลดโทษเหลือเพียงรอการกำหนดโทษหรือปรับเพียงสถานเดียวนั้น ศาลอุทธรณ์ยืนยันตามคำพิพากษาชั้นต้น โดยไม่มีเหตุที่ศาลอุทธรณ์จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข

สำหรับคดี ‘MBK39’ มีผู้ต้องหา 39 คน แบ่งเป็นกลุ่มแกนนำซึ่งถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ร่วมกับข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ จำนวน 9 คน และกลุ่มผู้ชุมนุมที่ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ จำนวน 30 คน โดยมี 2 คนที่คดีพิพากษาแล้ว เนื่องจากจำเลยรับสารภาพ ได้แก่ นพพร นามเชียงใต้ และกรณีของนพเก้า คงสุวรรณ ที่เป็นนัดฟังคำพากษาอุทธรณ์ในวันนี้

‘หมอนิรันดร์’ เบิกความคดี ‘บก.ลายจุด’ 116 ยันใช้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกโดยสงบสันติ

3 ก.ย. 2561 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานด้วยว่า ศาลทหารนัดสืบพยานฝ่ายจำเลยในคดีที่ สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ถูกฟ้องด้วยข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และข้อหานำข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ตามมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 จากการโพสต์ชวนคนออกมาชูสามนิ้วต่อต้านการรัฐประหารของ คสช. พยานที่มาเบิกความในครั้งนี้คือ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยนชนแห่งชาติ (กสม.)

โดย นพ.นิรันดร์ เบิกความถึงการตรวจสอบกรณีของ สมบัติ ว่า ทาง กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากจำเลยที่ถูกควบคุมตัว เพราะฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัวของ คสช. และยังได้รับเรื่องร้องเรียนลักษณะดังกล่าวอีก จึงได้เข้าตรวจสอบว่าการกระทำดังกล่าว เป็นไปตามกรอบสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ซึ่งการตรวจสอบจะเชิญทั้งฝ่ายจำเลย และเจ้าหน้าที่ คสช. เข้ามาให้ข้อมูลด้วย การตรวจสอบดังกล่าวเป็นในลักษณะการไต่สวนสาธารณะ นอกจากนั้นยังเข้าตรวจสอบสถานที่ควบคุมตัวทั้งในค่ายทหารและเรือนจำด้วย การตรวจสอบก็จะดูด้วยว่าการแสดงออกนั้น เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ มีการใช้อาวุธหรือไม่ ถ้าเป็นกรณีที่มีการใช้ความรุนแรงก็จะมีการตรวจสอบด้วยว่าเกิดการซ้อมทรมานหรือบังคับสูญหายหรือไม่ ที่ทำการตรวจสอบนี้ไม่ใช่เป็นการจับผิดเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เพื่อที่รัฐจะได้ดำเนินการได้อย่างสง่าผ่าเผย ยังมีการใช้กระบวนการยุติธรรม แม้ว่าจะเกิดกรณีที่มีการใช้อาวุธเกิดขึ้นก็ตาม

อดีต กสม. เบิกความว่า จากการตรวจสอบกรณีของจำเลยในคดีนี้ เห็นว่าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกโดยสงบสันติ ไม่ได้ใช้ความรุนแรง ปราศจากอาวุธ ถึงแม้ว่าจะต้องยอมรับรับเสียงข้างมาก แต่ก็ต้องคุ้มครองเสียงข้างน้อยด้วย

หลังสืบพยานปากนี้แล้วเสร็จ ศาลทหารได้นัดสืบพยานคดีต่อไปในวันที่ 3 ต.ค. 2561 เวลา 8.30 น.

อ่านรายละเอียดคำเบิกความ นพ.นิรันดร์ ได้ที่ เว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน http://www.tlhr2014.com/th/?p=8719

ศาลปกครองสั่ง รฟท. จ่าย 3.1 ล้าน ชดเชยเลิกจ้าง 'ประภัสร์ จงสงวน'

วันที่ 5 ก.ย.ที่ผ่านมา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท./ผู้ถูกฟ้องคดี) ใช้เงินให้แก่ ประภัสร์ จงสงวน (ผู้ฟ้องคดี) กรณีการเลิกจ้างเป็นผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยก่อนครบกำหนดในสัญญาจ้าง 

เนื่องจากศาลฯเห็นว่า เมื่อสัญญาจ้างผู้ฟ้องคดีมีกำหนดเวลาจ้างตั้งแต่วันที่ 14 พ.ย. 2555 ถึงวันที่ 17 พ.ค. 2558 แต่สิ้นสุดลงก่อนครบกำหนดเวลาจ้าง โดยผู้ฟ้องคดีไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาและผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า อีกทั้งการเลิกจ้างก็ไม่เข้าเหตุตามข้อ 5.3 ของข้อกำหนดในสัญญาที่กำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีมีสิทธิเลิกจ้างผู้ฟ้องคดีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า

ดังนั้น รฟท.(ผู้ถูกฟ้องคดี) จึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับอัตราจ้างเดือนสุดท้ายหนึ่งเดือน และรับผิดชดใช้เงินค่าตอบแทนเท่ากับค่าจ้างเดือนสุดท้ายของผู้ฟ้องคดีคูณด้วยระยะเวลา 6 เดือน รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 3,139,452.05 บาท (รวมดอกเบี้ย)

 

สำหรับ นัดหมายคดีเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพสัปดาห์นี้คดีอื่นๆ ที่ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน สรุปไว้มีดังนี้ 

3 ก.ย. 2561 ที่ศาลทหารกรุงเทพ นัดสืบพยานคดีที่ประจักษ์ชัย (สงวนนามสกุล) ผู้ป่วยทางจิต ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการเขียนเรื่องร้องเรียนซึ่งมีเนื้อหาอันเกี่ยวข้องกับสถานบันพระมหากษัตริย์ฯ ยื่นต่อศูนย์รับเรื่องร้องเรียนสำนักนายกรัฐมนตรี

5 ก.ย. 2561 ที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 จังหวัดขอนแก่น ศาลนัดพร้อมเพื่อฟังคำสั่งรวมคดีและตรวจพยานหลักฐาน คดีจัดกิจกรรมพูดเพื่อเสรีภาพมหาวิทยาลัยขอนแก่น จากกรณีเมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2559  นักศึกษาได้จัดกิจกรรม “พูดเพื่อเสรีภาพ : รัฐธรรมนูญของคนอีสาน”ที่ ม.ขอนแก่น เพื่อวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ หลังเสร็จกิจกรรม ตำรวจได้ออกหมายเรียกให้เข้าทราบข้อกล่าว จำนวน 11 คน และมี 2 คน เป็นเจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่เข้าร่วมสังเกตการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนเท่านั้น

5 ก.ย. 2561 ที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 จ.ขอนแก่น นัดสืบพยานจำเลยคดีนักศึกษาดาวดิน จัดกิจกรรมครบรอบ 1 ปี รัฐประหาร ชูป้ายต้านรัฐประหาร (ไนซ์ ดาวดิน) จากกรณีที่นักศึกษาดาวดินถูกจับกุมและดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558  จากการจัดกิจกรรมครบรอบ 1 ปี รัฐประหารที่จังหวัดขอนแก่นในวันที่ 22 พ.ค. 2558 แต่คดีนี้ไม่มีความคืบหน้าใดๆ กระทั่ง จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน ถูกจับกุมในคดีประชามติภูเขียวและได้ประกันตัวในวันที่ 19 ส.ค. 2559 ตำรวจจากสภ.เมืองขอนแก่น ได้อายัดตัวและนำตัวส่งให้อัยการทหารยื่นฟ้องต่อศาลมณฑลทหารบกที่ 23 กลางดึก

5 ก.ย. 2561 ที่ศาลทหารกรุงเทพ ศาลนัดถามคำให้การ คดีประชามติบางเสาธง (รังสิมันต์) จากกรณีขบวนการประชาธิปไตยใหม่แจกเอกสารรณรงค์ประชามติที่ตลาดการเคหะบางพลี จ.สมุทรปราการ

5 ก.ย. 2561 ที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 14 จังหวัดชลบุรี คดี ‘บุปผา’ (นามสมมติ) จำเลยถูกดำเนินคดีตามข้อหาประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมฯ จำนวน 13 กรรม ผ่านการโพสเฟซบุ๊ก ในศาลทหารชลบุรี และพบว่าจำเลยเป็นผู้ป่วยจิตเภท คิดว่าตนเองเป็นพระสหายของราชวงศ์

อ่านรายละเอียดนัดหมายคดีทั้งเดือน ก.ย.นี้ ที่ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รวบรวมไว้ที่ http://www.tlhr2014.com/th/?p=8658

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net