Skip to main content
sharethis

อานนท์ ตันติวิวัฒน์ หรือ ต๊ะ ผู้สื่อข่าวประชาธรรม ได้จากไปอย่างสงบเมื่อเช้านี้ 29 สิงหาคม 2561 เวลา 8:23 น. ณ ศูนย์ศรีพัฒน์ โรงพยาบาลสวนดอก จ.เชียงใหม่ ทั้งนี้จากรายงานของมูลนิธิสื่อประชาธรรม

โดยกำหนดการบำเพ็ญกุศล สวดอภิธรรม เริ่มเวลา 20:00 น. ณ วัดเมืองกาย https://goo.gl/maps/NZtePVHDsTq เป็นเวลา 3 วัน ส่วนพิธีฌาปนกิจกำหนดขึ้นในวันเสาร์ที่ 1 กันยายน 2561

สื่อมวลชนผู้ผลักดันประเด็นท้องถิ่น และนโยบายคุณภาพชีวิต

อานนท์ ตันติวิวัฒน์ และกิจกรรมที่เขาร่วมกับมูลนิธิสื่อประชาธรรมและชุมชน
(ที่มาของภาพ: มูลนิธิสื่อประชาธรรม)

อานนท์ ตันติวิวัฒน์ เป็นวิทยากรอบรมเรื่องความปลอดภัยและการใช้อินเตอร์เน็ตเบื้องต้น เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2561 ที่โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย (ที่มา: เอื้อเฟื้อภาพจากทศพล ศรีนุช)

อานนท์ ตันติวัฒน์ เป็นผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวประชาธรรม ต่อมาคือมูลนิธิสื่อประชาธรรม ตั้งแต่ปี 2552 มีบทบาทสำคัญในการนำเสนอข่าวเพื่อผลักดันนโยบายคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะเรื่องสิทธิในที่อยู่อาศัย สิทธิคนไร้บ้าน การพัฒนาเมือง สวัสดิการสังคม สังคมผู้สูงอายุ

โดยล่าสุด เขาได้รับรางวัลจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ 2018 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมาจากการนำเสนอข่าวเรื่อง "เมือง ผู้สูงวัยความเหงา ฆ่าตัวตายและคนไร้บ้าน"

เมือง ผู้สูงวัย ความเหงา ฆ่าตัวตาย และคนไร้บ้าน สังคมไทยเอาไงดี? #1, 17 เมษายน 2561

เมือง ผู้สูงวัย ความเหงา ฆ่าตัวตาย และคนไร้บ้าน สร้าง Social Safety Net จากบทเรียนรัฐ-เอ็นจีโอ #END, 6 พฤษภาคม 2561

 

ก่อนหน้านี้ในปี 2556-2557 เขายังได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการทำข่าวเชิงลึกซึ่งได้รับการสนับสนุนของโครงการสะพาน จากองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา โดยมีผลงานที่ได้รับการนำเสนอดังนี้

เจาะ ‘พิงคนคร’ (1) : แนวคิด ‘องค์การมหาชน’ ปั้นเชียงใหม่เมืองท่องเที่ยวระดับโลก ?, 18 เมษายน 2557

เจาะ ‘พิงคนคร’ (2): ความเหลื่อมซ้อนของอำนาจส่วนกลาง-ภูมิภาค-ท้องถิ่น กับปัญหาหลากกรณี, 5 พฤษภาคม 2557

เจาะ ‘พิงคนคร’ (จบ): การบริหารเลี่ยงระบบราชการ คำถามถึงทางข้างหน้า, 11 กรกฎาคม 2557

 

นอกจากนี้เขายังมีบทบาทสนับสนุนภาคประชาสังคม และสถาบันการศึกษา ทั้งในระดับท้องถิ่นและส่วนกลาง อาทิ ประเด็นการพัฒนาเมืองเชียงใหม่, การขับเคลื่อนประเด็นคนไร้บ้าน ผ่านการนำเสนอเนื้อหาในเว็บ Penguin Homeless, ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมทั้งเป็นวิทยากรอบรมด้านการทำสื่อให้กับชุมชนในภาคเหนือ กลุ่มแรงงาน ภาคประชาสังคม และองค์กรปกป้องสิทธิมนุษยชนในโอกาสต่างๆ ด้วย

สำหรับประวัติของอานนท์ ตันติวิวัฒน์ เผยแพร่ในเพจของประชาธรรมดังนี้

ประวัติของอานนท์ ตันติวิวัฒน์

นายอานนท์ ตันติวิวัฒน์ หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า “ต๊ะ” เป็นบุตรชายคนโตของนายวีระศักดิ์ ตันติวิวัฒน์ กับนางสาวจำนงค์ สนิทพันธ์ และมีน้องชาย 1 คน ชื่อนายชัยวัฒน์ ตันติวิวัฒน์ หรือ “ตั้น”

อานนท์หรือ “ต๊ะ” เกิดเมื่อวันพุธที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2528 ที่โรงพยาบาลแม่และเด็ก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เขาจบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนสิริมังคลานุสรณ์เชียงใหม่ จากนั้นได้เข้าศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียนนวมินทราชูทิศ พายัพ ในปี พ.ศ. 2540 จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในปี พ.ศ. 2545 และมุ่งหวังที่จะเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่พลาดหวังจนตัดสินใจไปเรียนด้านนิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง

เขาผจญภัยในเมืองหลวงของไทยจนถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2546 จึงกลับมาอยู่บ้านกับแม่และน้องที่เชียงใหม่ เพื่อเตรียมตัวสอบเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีกครั้ง และในปี พ.ศ. 2547 เขาเข้าศึกษาภายใต้รั้วของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้สำเร็จ ในภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมกับเพื่อร่วมรุ่นจำนวน 25 คน

นอกจากวิชาเอกแล้ว วิชาโทเขาได้เลือกศึกษาด้านสังคมวิทยาจากคณะสังคมศาสตร์ และมักจะเลือกเรียนวิชาเลือกอิสระ (หรือที่เรียกกันติดปากว่า ตัวฟรี) ในรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับปรัชญาและศาสนา เช่น วิชาพระพุทธศาสนา วิชาปรัชญาสังคม วิชาอภิปรัชญา (Metaphysic) เป็นต้น นอกเหนือจากด้านวิชาการแล้ว ชีวิตในช่วงมหาวิทยาลัยของอานนท์ได้ร่วมกิจกรรมของทางภาควิชา คณะและมหาวิทยาลัยอย่างมากมาย สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ได้หล่อหลอมความคิดทั้งทางด้านวิชาการและเครื่องมือทางความคิดของอานนท์ ซึ่งเป็นพื้นฐานการทำงานที่สำคัญของเขาต่อสังคมในภายหลัง

เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในปี พ.ศ. 2551 แล้ว อานนท์ได้เข้าทำงานร่วมกับกลุ่ม “เพื่อนร่วมงาน” หรือ “POP” องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ที่ทำงานด้านชุมชนเมืองกับการจัดการสิ่งแวดล้อมในเมืองเชียงใหม่ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องคลองแม่ข่าเน่าเสียซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของเมืองเชียงใหม่ที่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้มาจนถึงปัจจุบัน

อานนท์เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวไม่อาจจะแก้ได้ด้วยพลังของชุมชนเพียงอย่างเดียว เนื่องจากปัญหามันเกิดขึ้นในระดับของโครงสร้างสังคมโดยรวมของเมืองเชียงใหม่ที่ใหญ่เกินกว่าพลังของของชุมชนเมืองเชียงใหม่จะเข้าไปจัดการได้ กอปรกับช่วงเวลาดังกล่าวโครงการด้านชุมชนเมืองกับการจัดการสิ่งแวดล้อมในเมืองเชียงใหม่ใกล้สิ้นสุดโครงการ อานนท์จึงได้ไปทำงานใน “สำนักข่าวประชาธรรม (มูลนิธิสื่อประชาธรรม)” ในปลายปี พ.ศ. 2552 จากการชักชวนจากคนในสำนักข่าวฯ

สำนักข่าวประชาธรรมเป็นองค์กรที่ทำงานด้านสื่อข่าวสารภาคประชาชน สนับสนุนแก่สื่อส่วนกลางและผู้สนใจ ด้วยการวิเคราะห์เจาะลึกถึงข้อเท็จจริงของสิ่งที่นำเสนออย่างรอบด้าน และนำเสนอออกสู่สาธารณะให้รับรู้และเข้าใจต่อประเด็นหรือปัญหาต่าง ๆ เหล่านั้น โดยอานนท์ได้ทำงานในมูลนิธิสื่อประชาธรรมมาจนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2561)

ตลอดระยะเวลาในการทำงานดังกล่าว เขานำเสนอปัญหาเรื่องเมืองและการจัดการเมืองมาอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ด้วยความมุ่งหวังที่จะก่อให้เกิดองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการเมืองให้ได้มากที่สุด เพื่อหวังว่าองค์ความรู้ที่ได้นั้นจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการจัดการเมืองอื่น ๆ ต่อไป เพราะเขาเห็นว่าอนาคตของสังคมไทยจะต้องเข้าสู่ความเป็นสังคมเมืองมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเมืองใหญ่หรือเมืองเล็กก็ตาม การที่มีองค์ความรู้ในการจัดการเมืองที่กำลังเติบโตขึ้น จะช่วยให้เมืองเหล่านั้นเติบโตไปในทิศทางที่เอื้ออำนวยและเป็นประโยชน์ต่อคนในชุมชนหรือท้องถิ่นนั้น ๆ มากกว่าที่จะเติบโตไปอย่างสะเปะสะปะและขาดความรู้ความเข้าใจในบริบทของแต่ละท้องถิ่น

นอกจากประเด็นเรื่องเมืองแล้ว อานนท์ยังติดตามประเด็นของคนจนเมือง รวมถึงประเด็นแรงงานมาอย่างต่อเนื่อง งานเขียนของเขาเรื่อง "เมือง ผู้สูงวัยความเหงา ฆ่าตัวตายและคนไร้บ้าน" ได้รับรางวัลจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ 2018 ซึ่งมีการมอบรางวัลในวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2561 อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม หลังเที่ยงคืนของวันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2561 (หรือเช้าตรู่ของวันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม) อานนท์ได้หมดสติล้มลงในบ้านของตนเอง แม้ว่าจะได้รับการปั๊มหัวใจให้กลับมาทำงานอีกครั้ง แต่เขายังคงนอนไม่ได้สติและร่างกายไม่มีการตอบสนอง ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจตลอดเวลา และได้ออกเดินทางไกลไปยังภพโลกใหม่ในวันพุธที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2561

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net