Skip to main content
sharethis

ในช่วงต้นปี 2556 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง สำนักงานพิงคนคร (องค์การมหาชน) พ.ศ.2556 เพื่อดูแลและพัฒนาพื้นที่เชียงใหม่และพื้นที่ใกล้เคียง

ความน่าสนใจของการตั้งองค์กรแห่งนี้คือ จะเป็นองค์กรมหาชนแห่งแรกจาก 50 กว่าองค์กรที่เข้ามาพัฒนาพื้นที่เฉพาะในท้องถิ่น และมีอำนาจที่มากไปกว่าการประสานงานและสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐในการทำกิจการต่างๆ ทั้งอำนาจวางแผน พัฒนา และบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว ที่พัก ศูนย์ประชุม และกิจการที่ต่อเนื่องเพื่อการ ‘พัฒนาพิงคนคร’ รวมถึงพัฒนาโครงข่ายการคมนาคม การขนส่ง และการสาธารณูปโภค

รายงานชิ้นนี้ เป็นความพยายามที่จะสืบเสาะเพื่อฉายภาพให้เห็นว่า โครงสร้างองค์การมหาชนแบบใหม่นั้นมีลักษณะอย่างไร อะไรเป็นแนวคิดเบื้องหลัง ปฏิบัติการจากอำนาจขององค์กรนี้จะเข้าไปชนกับอำนาจของท้องถิ่นอย่างไร  และท้ายที่สุดแนวโน้มข้างหน้าขององค์กรนี้จะเป็นอย่างไร

 

ปฏิบัติการทางอำนาจ: ความเหลื่อมซ้อนระหว่างอำนาจส่วนกลาง-ภูมิภาค-ท้องถิ่น?

หากเราวิเคราะห์ดูโครงสร้างของ ‘สำนักงานการพัฒนาพิงคนคร’ ตั้งแต่ที่มา แนวคิด จุดประสงค์ งบประมาณ การบริหารและการตรวจสอบจะพบว่า ความพิเศษของมันอยู่ที่ความสามารถในการบริหารได้อย่างรวดเร็วและเฉพาะเรื่อง กล่าวคือ เมื่อตั้งผู้อำนวยการสำนักฯ ได้เรียบร้อยแล้วสามารถดำเนินการได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนโยบายหรือการจ้างพนักงาน/ลูกจ้าง ล้วนอยู่ในขอบข่ายอำนาจของผู้อำนวยการเพียงผู้เดียว โดยมีคณะกรรมการคุมอยู่อีกชั้นหนึ่ง

นอกจากนี้ ข้อจำกัดในเรื่องของงบประมาณซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญก็ถูกออกแบบให้เบิกจ่ายได้ยืดหยุ่นกว่าองค์กรรัฐโดยทั่วไป เพราะไม่ต้องนำเงินรายได้ส่งคืนรัฐเหมือนอย่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สามารถบริหารจัดการ รวมถึงทำนิติกรรม โอนย้ายกรรมสิทธิ์ได้ทันที จึงทำให้การบริหารเป็นไปอย่างรวดเร็ว

แน่นอนว่า โครงสร้างขององค์กรมหาชนแห่งนี้ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อให้ง่ายต่อการบริหารอย่างไม่ต้องสงสัย หากแต่เมื่อดูวัตถุประสงค์แล้ว ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่ว่า แทบจะทุกข้อนั้นมีหน่วยงานทั้งในส่วนของภูมิภาคและท้องถิ่นเกี่ยวข้องและเป็นผู้รับผิดชอบแล้วทั้งสิ้น

อย่างเช่นการวางแผน พัฒนา และบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว ที่พัก ศูนย์ประชุม ในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่-ลำพูน ส่วนใหญ่ก็จะมีหน่วยงานรับผิดชอบ โดยหากเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ก็จะอยู่ในความรับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ นอกจากภารกิจที่กล่าวมา การส่งเสริมหรือดูแลด้านการท่องเที่ยวเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของ ‘การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย’ หรือ ททท. หากแต่ไม่มีอำนาจในการพัฒนาพื้นที่เท่านั้น

ด้านการพัฒนาโครงข่ายการคมนาคม  การขนส่ง และการสาธารณูปโภค รวมถึงการอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปะ  จารีตประเพณี  ภูมิปัญญาท้องถิ่น  และวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่นในพื้นที่เชียงใหม่-ลำพูน ก็มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแลในแต่ละพื้นที่ ซึ่งทุกวันนี้ก็ทับกับองค์กรส่วนกลางจนเละ เช่น บริเวณนิมมานเหมินทร์ ถนนเส้นหลักเป็นความรับผิดชอบของกรมทางหลวงฯ แต่ตามตรอกซอกซอยเป็นของเทศบาล  เป็นต้น

กฎหมายกำหนดให้สำนักงานนี้ฯ ประสานงานและสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาพื้นที่ หากเราสำรวจดู พ.ร.บ.ขององค์กรรัฐต่างๆ จะบัญญัติและเปิดโอกาสให้แต่ละองค์กรประสานงานกับหน่วยงานอื่นได้ และเมื่อดูภาพรวมทั้งจังหวัดจะพบว่ากฎหมายก็ให้อำนาจแก่ผู้ว่าราชการมากที่สุด หมายความว่า ผู้ว่าฯสามารถเรียกทุกหน่วยงานประชุม ประสานในแต่ละเรื่องได้ทันที อย่างไรก็ตามภารกิจในส่วนนี้อาจนับได้ว่าเป็นข้อเด่นของการตั้งองค์กรมหาชนแห่งนี้ก็เป็นได้ เพราะทางจังหวัดคงไม่สามารถประสานงานประชุมได้ครบทุกเรื่อง เพราะมีเรื่องที่ต้องรับผิดชอบหลายอย่าง

เช่นเดียวกับการส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานและยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ ก็มีกรมแรงงานจังหวัดรับผิดชอบอยู่เช่นกัน

ด้วยเหตุดังกล่าว จึงน่าสนใจอย่างยิ่งว่า เมื่อเปรียบเทียบกับองค์กรมหาชนที่รัฐตั้งมาตั้งแต่อดีต เราจะพบว่าองค์กรนี้ต่างออกไป เพราะจะเข้าไปปฏิบัติการซ้อนกับอำนาจท้องถิ่นและราชการส่วนภูมิภาคโดยตรง และได้รับงบประมาณโดยตรงมากกว่าเมื่อเทียบกับสัดส่วนการดูแลต่อหนึ่งพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งต่างจากองค์กรมหาชนอื่นๆ ที่ตั้งมาเพื่อทำงานควบคู่ไปกับรัฐ และทำในเชิงภาพรวมทั้งประเทศ

ฉะนั้นคำถามสำคัญคือ สำนักงานพัฒนาพิงคนคร จะเป็นคล้ายปฏิบัติการหนึ่งของอำนาจรัฐส่วนกลางที่อาจจะเข้าไปซ้อนทับอำนาจของท้องถิ่นหรือไม่

บัณรส บัวคลี่ คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน [1]  ซึ่งติดตามข่าวสารเรื่องความเคลื่อนไหวของเมืองเชียงใหม่มานานนับทศวรรษ มองว่า สำนักงานพัฒนาพิงคนคร แตกต่างจากองค์การมหาชนเพื่อการท่องเที่ยวอื่นๆ เช่น องค์การบริหารพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว หรือ อพท. เนื่องจากอพท.ตั้งขึ้นโดยมีจุดประสงค์คล้ายสภาพัฒน์ เป็นหน่วยวางแผน กิจกรรม หน่วยประสานบูรณาการ พื้นที่เฉพาะเพื่อการท่องเที่ยวที่ถูกกำหนดจากรัฐและต่างคนต่างทำ ฉะนั้น อพท.จึงจะเป็นตัวเชื่อมโยงประสานในนามของการเพิ่มมูลค่าโดยรวมของแหล่งท่องเที่ยวนั้นขึ้นมา เพราะระบบราชการไทยแข็งตัวเกินไป

“สำนักงานพัฒนาพิงคนคร หรือ สพค.นั้นมีอำนาจในการกระทำ ไม่ใช่ตัวประสาน วางแผน ดังนั้นในช่วงแรกเริ่มที่ไนท์ซาฟารีมาอยู่กับ อพท. จึงไปด้วยกันไม่ค่อยได้ เพราะต้องการทำเชิงธุรกิจ ดังนั้นจึงเจ๊ง พอยุคต่อมาพยายามจะโอนไปให้องค์กรสวนสัตว์ดูแล ไนท์ซาฟารีก็ไม่เอา เพราะเป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจ เงินน้อยกว่า ทั้งที่คุณภาพในการดูแลสัตว์ของไนท์ซาฟารีมีคุณภาพเทียบเท่ากับสวนสัตว์ไม่ได้เลย พอมาคราวนี้กลับจะมาเอาสวนสัตว์ไปไว้กับ สพค.อีก”

“พิงคนคร เป็นองค์กรมหาชนแบบใหม่ เพิ่งถูกสร้างขึ้นมาบนพื้นที่ภูมิภาค ซึ่งพื้นที่ภูมิภาคเป็นแค่ Area แต่หน่วยงานนั้นมาจากส่วนกลาง โดยพยายามให้หลุดจากการบริหารแบบข้าราชการเดิมแล้วมาตั้งกองใหม่ มันจึงเป็นการรวบอำนาจชัดเจน”

อย่างไรก็ตาม บัณรสเองก็ไม่แน่ใจว่าการเข้าไปบริหารหรือปฏิบัติการในพื้นที่แบบนี้จะทำให้เกิดการชนกับอำนาจท้องถิ่นจนทำให้ไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารหรือไม่ เพราะมันยังไม่เกิดขึ้น เขาเพียงตั้งประเด็นว่า “สพค.เป็นสิ่งประดิษฐ์ทางการเมืองที่เอาอำนาจของราชการมาบริหารพื้นที่การเมืองในนามของการพัฒนาการท่องเที่ยว และถ้าดูโครงสร้างอำนาจหน้าที่จะเห็นว่า มันเขียนไว้ค่อนข้างกว้างพอสมควร เช่น ไปครอบคลุมเกี่ยวกับเรื่องระบบขนส่งมวลชนต่างๆ ด้วย ดังนั้นในระยะยาวจึงไม่น่าจะเป็นผลดี เนื่องจากอำนาจไม่สามารถตรวจสอบและยึดโยงกับประชาชนในพื้นที่”

 

คนพื้นที่อยู่ตรงไหนใน ‘พิงคนคร’

ณัฐกร วิทิตานนท์ อาจารย์ประจำสำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง [2]  ซึ่งทำงานวิจัยเรื่องการเมืองท้องถิ่น และการกระจายอำนาจมาหลายชิ้น เห็นคล้ายกันว่า สำนักงานพิงคนครที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2556 แตกต่างจากองค์กรมหาชนก่อนหน้านี้ เนื่องจากมีลักษณะจำเพาะพื้นที่

“องค์กรมหาชนก่อนหน้านี้มันกินพื้นที่รับผิดชอบทั้งประเทศ เพียงแต่เลือกพื้นที่ว่าจะทำตรงไหน ที่ดังๆ หน่อยก็ ศูนย์มานุษฯ (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร) เป็นองค์กรมหาชน สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม หรือซิป้า (สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ) อยู่ในกระทรวง ICT สมส.การศึกษาขั้นพื้นฐาน เรื่องการประเมินคุณภาพการศึกษา รวมถึง สสส.ก็เป็นองค์กรมหาชน แต่มี พ.ร.บ.จัดตั้ง องค์เหล่านี้มีพื้นที่คุมทั้งประเทศ แต่พอเป็นพิงคนคร มันเจาะจงเฉพาะเชียงใหม่ ซึ่งเท่าที่ติดตามพบว่า มันก็คือ ‘เชียงใหม่เวิลด์’ นั่นแหละ เพียงแต่การรับผิดชอบกระจัดกระจาย จึงคิดว่า ต้องเอามารวมไว้ที่เดียวคือ พิงคนคร”

“ถ้ามองในลักษณะที่ว่านี้ อำนาจของพิงคนครก็จะมาซ้อนทับ ซึ่งทุกวันนี้มันก็ซ้อนทับอยู่แล้ว มีหน่วยงานจากส่วนกลางที่เข้ามารับผิดชอบเมืองเชียงใหม่เต็มไปหมด ทั้งส่วนภูมิภาค ผู้ว่าฯ อำเภอ และก็มีส่วนท้องถิ่น มี อบจ. เทศบาล อบต.”

ณัฐกรยังได้ตั้งข้อสังเกตประการสำคัญไว้อีกว่า ที่มาของบอร์ดบริหาร มีตัวแทนจากพื้นที่เพียงแค่สองคนเท่านั้น ได้แก่ ผู้ว่าฯเชียงใหม่ และนายก อบจ. เป็นโดยตำแหน่ง นอกนั้นก็เป็นภาคเอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้อำนวยการซึ่งส่วนกลางจะแต่งตั้งใครก็ได้

“เมื่อดูจากองค์ประกอบนี้จะพบว่า ค่อนข้างมีความเป็นส่วนกลางสูงมาก แม้เรื่องที่จะมาดูแล เป็นเรื่องท้องถิ่นเอง แต่องค์ประกอบกลับไม่ค่อยเห็นหัวคนท้องถิ่น พูดง่ายๆ คือ ไม่เอาคนท้องถิ่น แต่ไปเอาคนที่ส่วนกลางตั้งมา ซึ่งเขากำหนดว่า เป็นนักลงทุนเอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิเชี่ยวชาญเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่ไม่ชัดนักว่าเป็นคนในพื้นที่ ฉะนั้น ถ้าถามว่า พิงคนคร คืออะไร มันเป็นองค์กรรัฐรูปแบบหนึ่งซึ่งไม่ใช่ส่วนท้องถิ่น ท้องถิ่นไม่สามารถจะไปกำหนดทิศทางของพิงคนครได้เลย เป็นเรื่องของรัฐบาลกลาง เป็นส่วนกลางที่เขาเปลี่ยนรูปแบบ จากรูปแบบส่วนกลางในระบบ เช่น กระทรวง ทบวง กรม มาเป็นส่วนกลางอีกแบบหนึ่ง ซึ่งอาจจะมีความคล่องตัวขึ้น แต่มันก็ยังยึดโยงอยู่กับส่วนกลาง”

อาจารย์จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงยังมองอีกว่า ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดจากการเข้ามาชนกันกับอำนาจท้องถิ่นอาจจะไม่เกิดในยุครัฐบาลนี้ เนื่องจาก อปท.ส่วนใหญ่ในเชียงใหม่ยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลส่วนกลาง แต่เมื่อใดที่รัฐบาลเปลี่ยนเป็นอีกขั้วหนึ่ง ปัญหาความขัดแย้งของอำนาจในพื้นที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน และเมื่อดูจากโครงสร้างอำนาจที่ค่อนข้างขึ้นอยู่กับรัฐบาลกลาง และในตัวองค์กรก็ไม่มีสัดส่วนของท้องถิ่น ดังนั้น หากรัฐบาลใหม่มีโครงการที่เชียงใหม่ แล้วนายก อบจ.ไม่เห็นด้วย ก็อาจจะเกิดความขัดแย้งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นเรื่องความขัดแย้งกับราชการส่วนภูมิภาค ณัฐกรกลับมองว่า ไม่น่าจะขัดแย้งกัน เพราะองค์กรมหาชนเป็นส่วนขยายของระบบราชการ ตั้งมาเพื่อต้องการความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการมากกว่า เพราะที่ผ่านมาพื้นที่หนึ่งก็บริหารซ้อนกันหลายหน่วยงานอยู่แล้ว และหากต้องการบริหารเป็นเนื้อเดียวก็ต้องตั้งองค์กรแบบนี้

ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัลย์ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง [3]  ซึ่งสนใจและทำวิจัยในประเด็นปฏิบัติการของรัฐกับท้องถิ่น เห็นว่า เมื่อดูจากโครงสร้างพิงคนครและพื้นที่ที่รับผิดชอบแล้ว เป็นโครงสร้างที่ใหญ่มาก และจะต้องกระทบกับท้องถิ่นไม่มากก็น้อย

“ท้องถิ่นมีส่วนต่อรองแค่ไหน ซึ่งเดาว่าไม่มี หรือมีน้อยมาก โอเค จะชูเรื่องการจัดการหรืออะไรก็แล้วแต่ มันก็เหมือนกับไนท์ซาฟารีที่ผ่านมา คือให้คนท้องถิ่นเฉยไว้ เพราะเชื่อว่า มันดีต่อท้องถิ่น”

“เท่าที่เข้าใจและมีประสบการณ์บ้าง รัฐนี้มีองค์การมหาชนเกิดขึ้นมานานเป็นสิบปีแล้ว ซึ่งโมเดลที่เกิดขึ้นและคิดว่าเวิร์กมาก คือการตั้ง OKMD สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) ที่มีพันศักดิ์ วิญญรัตน์ (ประธานที่ปรึกษานโยบายนายกรัฐมนตรี) เป็นที่ปรึกษาตั้งแต่แรก ซึ่งเขาก็มี ทีเคปาร์ค (อุทยานการเรียนรู้) มิวเซี่ยมสยาม (พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ) ทีซีดีซี (ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ) ศูนย์คุณธรรมจำลองที่ดูลิเกๆ หน่อย มันหกลายเป็นองคาพยพที่จะสร้างความรู้ให้กับคน” 

ภิญพันธุ์ ระบุว่า OKMD มีหลักสำคัญคือ  1) หลีกโครงสร้างราชการที่ห่วยแตก 2) รัฐล้วงลูกได้เพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์สูง มีความยืดหยุ่นสูง ในด้านหนึ่งแล้วก็ทำให้ทีเคปาร์ค มิวเซี่ยมสยาม ทีซีดีซี ติดหู ซึ่งในความเห็นของเขา นั่นเป็นสิ่งที่ประสบความสำเร็จแล้ว เพราะรัฐไทยไม่เคยมีความสามารถในการจัดการฐานองค์กรต่างๆ ได้ เพราะเป็นรัฐราชการ

“แต่รัฐแบบนี้ (การตั้งองค์การมหาชน) ไม่ใช่เป็นรัฐราชการซะทีเดียว แต่เป็นรัฐในลักษณะปรับตัวจากระบบราชการ หมายความว่า เป็นรัฐที่สามารถทำงานกับทุน ทำงานสร้างสรรค์ได้ มันเป็นพื้นที่ไว้หายใจ แต่ในทางกลับกัน วิธีแบบนั้นกลายเป็นว่า อำนาจในการตัดสินใจต่างๆ อยู่ที่รัฐบาลกลาง เราจะไม่พบว่า มันมีการสร้างองค์กรอย่างทีเคปาร์ค มิวเซี่ยมสยาม ทีซีดีซีในต่างจังหวัด จึงประเมินไม่ได้ว่า องค์เหล่านี้ถ้าไปอยู่ในต่างจังหวัดแล้วจะประสบความสำเร็จแค่ไหน ที่ผ่านมาทำให้ทุกอย่างเข้าไปอยู่ในมือส่วนกลาง ส่วนกลางก็เป็นเหมือนกระทรวง แต่โอเคอย่างน้อยก็แสดงว่า รัฐมันเปลี่ยนในแง่ของวิธีคิด”

ภิญญพันธ์  มองอีกว่า เบื้องหลังความคิดของรัฐในการตั้งองค์กรนี้ คือต้องการจะรวบอำนาจ แล้วเอาความมั่งคั่งให้กับรัฐและท้องถิ่น เนื่องจากรัฐเชื่อว่าการทำจังหวัดเชียงใหม่เป็นแหล่งท่องเที่ยวจะช่วยเพิ่มรายได้ของประเทศ และถ้าเศรษฐกิจโต ขายของได้ คนท้องถิ่นก็จะได้รายได้และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เกิดการจ้างงาน ซึ่งถ้ากระจายความมั่งคั่งให้ท้องถิ่นได้ย่อมเป็นการดี แต่ก็น่าตั้งคำถามว่า เป็นการกระจายอำนาจด้วยตัวมันเองไหม คำตอบคือ “ไม่ใช่”

“เรื่องใหญ่ของพิงคนคร คือ มันเป็นการสู้กันของแนวคิดรวบอำนาจกับกระจายอำนาจ มันเป็นภาคปฏิบัติ เป็นการใช้อำนาจในการจัดการพื้นที่ แต่ว่ากรณีนี้มันเข้าไปร่วม ไปเชื่อม ไปทับซ้อน (synchronize) กับหลายๆ พื้นที่”

การจัดตั้งสำนักงานพัฒนาพิงคนคร ไม่ว่าจะตั้งด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่า อำนาจในการจัดการนั้นไปซ้อนทับกับอำนาจที่รับผิดชอบอยู่เดิม นี่จึงเป็นข้อท้าทายอีกอย่างหนึ่งของการตั้งสำนักฯนี้ว่า จะบริหารอำนาจที่ซ้อนกันนี้อย่างไร หากจัดการกันไม่ได้จะเกิดความวุ่นวายตามมา และเป็นอุปสรรคต่อการบริหาร อีกทั้งยังไม่มีกฎหมายแสดงให้เห็นว่า ถ้ามีความขัดแย้งกันแล้ว องค์กรไหนมีอำนาจมากกว่ากัน เมื่อเป็นนิติบุคคลทั้งคู่ก็อาจเข้าสู่กระบวนการศาล นั่นหมายถึงต้นทุนเวลาที่ต้องเสียไปในการบริหารอีกด้วย และย่อมผิดโจทย์ของการตั้งพิงคนคร

ประเด็นต่อมา คือ ในอนาคตหากการเมืองไม่นิ่ง มีการเปลี่ยนรัฐบาล องค์การมหาชนที่มีความเชื่อมโยงและสัมพันธ์กับรัฐบาลอย่างสูงจะอยู่อย่างไร ยิ่งรัฐบาลส่วนกลางเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลท้องถิ่น จะจัดการความต้องการที่ขัดแย้งกันอย่างไร

นอกจากนี้ รัฐอาจจะต้องพิจารณาด้วยว่า การตั้งองค์กรเพื่อบริหารการท่องเที่ยว โดยหมายรวมถึง ให้จัดสาธารณูปโภคในพื้นที่หนึ่งๆ นั้นเกี่ยวพันกับชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ หากขืนดึงดันทำตามความต้องการและนโยบายส่วนกลางเพียงอย่างเดียว ย่อมทำให้เกิดการปะทะและความขัดแย้งตามมา ที่ผ่านมาหลังจากตั้งสำนักงานพัฒนาพิงคนครได้ไม่ถึงปีก็ปรากฏรอยแห่งความขัดแย้งให้เห็นแล้วระหว่างคนในพื้นที่กับสำนักงานพัฒนาพิงคนคร ซึ่งจะกลายเป็นโจทย์ใหญ่ในอนาคตว่า พิงคนครจะจัดการกับปัญหาเหล่านี้อย่างไร

 

รอยปะทะและความขัดแย้ง 1 :  กรณีสวนสัตว์เชียงใหม่

กรณีของสวนสัตว์เชียงใหม่ทำให้เราเห็นความขัดแย้งหลังความพยายามเข้าไปจัดการของสำนักงานพัฒนาพิงคนครได้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมที่สุด เพราะถูกต่อต้านจากพนักงานสวนสัตว์อย่างหนัก ถึงขั้นตั้งสหภาพแรงงานเพื่อต่อสู้

เดิมตั้งแต่ปี 2520 สวนสัตว์เชียงใหม่อยู่ในความดูแลขององค์การสวนสัตว์  ซึ่งเป็นองค์การในพระบรมราชูปถัมภ์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ประเภทส่งเสริม สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องการจัดหารวบรวมสัตว์ป่านานาชนิด ให้การศึกษา การอนุรักษ์และขยายพันธุ์ และการจัดสวนสัตว์ให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ยังเป็นหน่วยงานซึ่งมีหน้าที่ประสานงานและดำเนินการด้านต่างๆ ให้สวนสัตว์ มีสวนสัตว์ภายใต้ความรับผิดชอบ 5 แห่ง ได้แก่ สวนสัตว์ดุสิต สวนสัตว์เปิดเขาเขียว สวนสัตว์เชียงใหม่ สวนสัตว์นครราชสีมา และสวนสัตว์สงขลา โดยได้รับงบประมาณปีละประมาณ 900 ล้านบาท [4]  (ปี 2555 ได้รับงบประมาณ 912.2841 ล้านบาท)

ภายหลังจากการตั้งสำนักงานพัฒนาพิงคนคร พร้อมกับการโอนย้ายกิจการสวนสัตว์กลางคืนไนท์ซาฟารีกับศูนย์ประชุมนานาชาติเฉลิมพระเกรียติฯ มาอยู่ในการกำกับดูแลแล้ว สี่เดือนหลังจากนั้น มีการเรียกประชุมตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ (อสส.) ตัวแทนจากสวนสัตว์เชียงใหม่ประชุมที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อ 27 มิถุนายน [5]  เพื่อพิจารณาการโอนย้ายสวนสัตว์เชียงใหม่ให้ไปอยู่ภายใต้ สพค.

ต่อมา คณะกรรมการ อสส.มีมติเห็นชอบให้โอนย้ายสวนสัตว์เชียงใหม่เข้าสังกัด สพค.ท่ามกลางข้อสงสัยของพนักงานสวนสัตว์ จึงทำให้เกิดการลุกฮือรวมตัวกันประท้วงตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคมเป็นต้นมา มีทั้งการเดินขบวนประท้วง ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ และนายกรัฐมนตรีคัดค้าน และทำกิจกรรมรณรงค์อย่างต่อเนื่อง

ส่วนเหตุผลที่ลุกขึ้นมาคัดค้านนั้น ตัวแทนพนักงานสวนสัตว์ [6]  กล่าวว่า ไม่เคยมีการให้รายละเอียดใดๆ หรือสอบถามความต้องการของบุคลากรในองค์กรเลย ที่สำคัญคือ วัตถุประสงค์ของสวนสัตว์เชียงใหม่แตกต่างกับ สพค. ที่มุ่งเน้นธุรกิจการค้า การท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่ภารกิจหน้าที่ของสวนสัตว์เชียงใหม่ที่ทำอยู่ในทุกวันนี้เป็นเรื่องของการอนุรักษ์และวิจัยสัตว์ป่า

“ถ้าสวนสัตว์เชียงใหม่ ต้องไปอยู่ภายใต้การดูแลของ สพค.ก็คงจะมีสภาพไม่ต่างไปจากเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ที่ปัจจุบันยังไม่ผ่านการประเมินและยอมรับว่าเป็นสวนสัตว์ จาก WAZA (World Association of Zoos and Aquariums) องค์กรที่ดูแลและประเมินกิจการสวนสัตว์ทั่วโลก เพราะเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีมุ่งเน้นเชิงการค้า การท่องเที่ยว มากกว่าที่จะให้ความสำคัญกับการดูแลสวัสดิภาพสัตว์ป่าและงานวิจัย รวมทั้งล่าสุดพบว่า มีการนำเสือมาจัดแสดงโชว์ความสามารถด้วย ซึ่งหลายประเทศในยุโรปไม่ให้การยอมรับ และมองว่า เป็นการกระทำที่เป็นคณะละครสัตว์มากกว่าสวนสัตว์ ทั้งยังเป็นการทรมานสัตว์ด้วย”

“ขณะที่สวนสัตว์เชียงใหม่ ได้รับการยอมรับและผ่านการประเมินต่างๆ ของ WAZA ทุกอย่าง หากถูกโอนย้ายก็คงไม่เหลือสภาพการเป็นสวนสัตว์ที่มีการพัฒนาและมีประวัติศาสตร์มานาน รวมทั้งภารกิจทางด้านการอนุรักษ์และศึกษาวิจัยคงจะถูกลดความสำคัญลง และแทนที่ด้วยเป้าหมายเชิงการค้าพาณิชย์”

 


นักท่องเที่ยวร่วมพิธีรับขวัญช้างซึ่งจัดโดยสวนสัตว์เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 55
ที่มาภาพ : Dialynews

 

ความขัดแย้งข้างต้นยังไม่มีทีท่าจะลดลง เพราะเมื่อ 28 สิงหาคม 2556 คณะกรรมการเฉพาะกิจรับฟังความคิดเห็นเรื่องการควบรวมสวนสัตว์เชียงใหม่ ยืนยันว่าไม่สามารถขัดนโยบายเรื่องการโอนย้ายสวนสัตว์เชียงใหม่ไปสังกัดพิงคนครได้ [7]  จึงทำให้การคัดค้านยังดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

วีรวัฒน์ ยมจินดา ประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ กล่าวว่า การโอนย้ายสวนสัตว์เป็นนโยบายของรัฐบาล จำเป็นต้องปฏิบัติตาม ค้านไม่ได้ และไม่รับปากว่าจะดูแลในเรื่องผลประโยชน์ของพนักงานว่าจะได้รับมากน้อยแค่ไหน แต่จะดูแลให้ดีที่สุด พร้อมประกาศกลางที่ประชุมว่า หากพนักงานและลูกจ้างสวนสัตว์ฯ ย้ายไปแล้วไม่ได้รับผลประโยชน์ หรือสวัสดิการด้านต่างๆ ที่ดีกว่าเดิม ยินดีจะลาออกจากตำแหน่งบอร์ดทันที

"เสียงคัดค้านของพนักงานจะมีน้ำหนักหรือไม่อยู่ที่ผู้ใหญ่ของรัฐบาลว่าจะคิดอย่างไร ที่ผมประกาศว่าจะลาออกจากบอร์ดหากพนักงานและลูกจ้างสวนสัตว์เชียงใหม่ย้ายไปแล้วไม่ดีกว่าเดิม เพราะมั่นใจหลังได้ดูข้อมูลของสำนักงานพัฒนาพิงคนครฯ ทั้งเรื่องสวัสดิการ เงินเดือน และการเติบโตในหน้าที่การงานที่จะดีกว่าเดิม เพราะโครงสร้างใหม่จะมีเม็ดเงินสนับสนุนจำนวนมาก จึงไม่อยากให้ไปพูดถึงการขาดทุนของเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีในปัจจุบัน รวมทั้งตอบไม่ได้เรื่องการวิจัยแพนดาและการยอมรับจากองค์กรต่างประเทศหากมีการโอนย้าย”

ด้านพนักงานบริษัท ประกาศตั้ง ‘สหภาพแรงงานองค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์’ ขึ้นสู้ [8]  ซึ่งดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 ส.ค.56 และประกาศสมัครสมาชิกหลังเวทีรับฟังความคิดเห็นเมื่อวันที่ 28 ส.ค.

วิมุต ชมพานนท์ นักวิทยาศาสตร์ สวนสัตว์เชียงใหม่ ตัวแทนพนักงานสวนสัตว์เชียงใหม่ กล่าวว่า สิ่งที่กลุ่มพนักงานและลูกจ้างเป็นห่วงและต้องการนำเสนอความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการควบรวมสวนสัตว์เชียงใหม่เข้าไปสังกัดสำนักงานพัฒนาพิงนคนครมีหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุประสงค์ขององค์กรที่เน้นรวบรวมพันธุ์สัตว์ป่า การให้การศึกษา การอนุรักษ์และขยายพันธุ์ รวมถึงการจัดสวนสัตว์ให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจแก่ประชาชน ซึ่งหากในอนาคตมีการนำสวนสัตว์ซึ่งถือเป็นสวัสดิการของประชาชนไปสังกัดองค์กรใหม่ ก็ควรจะมีการสอบถามความคิดเห็นของประชาชนทั้งหมดเสียก่อน

เขายังให้สัมภาษณ์อีกว่า นอกจากนี้ยังมีปัญหาเกี่ยวกับสวัสดิการของพนักงานที่ยังไม่มีความชัดเจนว่า หากโยกย้ายไปสังกัดหน่วยงานใหม่แล้วจะได้รับเพิ่มหรือลดลงจากเดิม โดยเฉพาะเมื่อระบบของหน่วยงานใหม่มีการจำกัดอัตราเพดานเงินเดือน และไม่มีความชัดเจนเรื่องการปรับเพิ่มระดับพนักงานเพื่อความก้าวหน้าในอาชีพการงาน อีกทั้งในนโยบายยังระบุว่า หากองค์กรใหม่ดำเนินการบรรลุผลตามเป้าหมายแล้ว จะมีการยกเลิกหรือโอนย้ายไปสังกัดหน่วยงานใหม่ ซึ่งจะทำให้เกิดความสับสนในการทำงานและความมั่นคงในแง่ของวิถีชีวิตมากยิ่งขึ้น

“ยังไม่มีความชัดเจนว่า แนวทางการดำเนินการของสำนักงานพัฒนาพิงคนครที่มุ่งเรื่องการท่องเที่ยวเป็นหลักจะสอดคล้องกับแนวทางการทำงานของสวนสัตว์เชียงใหม่ รวมถึงยังไม่สามารถชี้แจงได้ว่า จะมีการนำสัตว์ที่อยู่ในความดูแลของสวนสัตว์และพื้นที่ของสวนสัตว์ไปใช้ทำประโยชน์อื่นๆ ด้วยหรือไม่ ที่ผ่านมาพนักงานและลูกจ้างสวนสัตว์ฯ ไม่เคยได้รับการชี้แจงข้อมูลใดๆ จากทางผู้บริหาร ทุกคนทราบเรื่องทางสื่อมวลชน ทำให้ทุกคนห่วงและกังวลใจเรื่องสวัสดิการและความมั่นคงว่าจะได้รับเหมือนเดิมหรือไม่ รวมทั้งการที่อาจต้องตกอยู่ในสภาพหนูทดลองในระยะเวลาประเมิน 5 ปี” นายวิมุต กล่าว

 


พนักงานและเจ้าหน้าที่สวนสัตว์เชียงใหม่ รวมตัวกันกว่า 300 คน ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ 
เพื่อคัดค้านการโอนย้ายสวนสัตว์เชียงใหม่ ไปสังกัดสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน)
ณ อาคารโสภณ ดำนุ้ย ภายในสวนสัตว์เชียงใหม่เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2556
ที่มาภาพ : เพจเฟชบุ๊คค้านการโอนย้ายสวนสัตว์เชียงใหม่ องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์

 

สถานการณ์ปัจจุบันยังคงเป็นไปรูปการณ์เดิม คือพนักงานสวนสัตว์ยังคงเดินหน้าคัดค้านการเข้าสังกัด สพค. และ สพค. ยังยืนว่า จะควบรวม โดยล่าสุดนายวิเชียร พุฒิวิญญู ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่คนใหม่ประกาศเดินหน้าในส่วนของสำนักงานพัฒนาพิงคนครเป็นการเร่งด่วน [9]  ไม่ว่าจะเป็นการดึงอุทยานหลวงราชพฤกษ์เข้ามา วางแผนเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี สวนสัตว์เชียงใหม่ และศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ 7 รอบพระชนมพรรษา รวมถึงการโอนย้ายหน่วยงานต่างๆ

จากรอยปะทะและความขัดแย้งกรณีนี้ ประเด็นที่เราเห็นได้ชัดเจน คือความกังวลของพนักงานเกี่ยวกับการเปลี่ยนสภาพองค์กรซึ่งจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนสภาพการจ้างงานใหม่ ทำให้พนักงานในองค์กรเดิมนั้นรู้สึกไม่มั่นคง จนนำมาสู่การใช้กลยุทธ์การตั้งสหภาพเพื่อประท้วงการเปลี่ยนองค์กรสังกัด

 

รอยปะทะและความขัดแย้ง 2: การกลับมาของกระเช้าลอยฟ้า ไนท์ซาฟารี-ดอยปุย

กรณีโครงการกระเช้าลอยฟ้า ไนท์ซาฟารี-ดอยปุย เป็นกรณีล่าสุดที่ทำให้เห็นการฟื้นโครงการเมกะโปรเจ็กด้านการท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ดังที่กล่าวมาตั้งแต่ตอนที่ 1 นอกจากนี้ ยังทำให้เราเห็นร่องรอยแห่งความขัดแย้งระหว่างแผนพัฒนาในสังกัดสำนักพัฒนาพิงคนคร กับความต้องการของคนในพื้นที่และองค์กรปกครองท้องถิ่นบางส่วนที่กระเช้าไฟฟ้าจะพาดผ่าน

อนึ่งโครงการกระเช้าไฟฟ้า เคยมีแผนจะสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร โดยมีจุดตั้งต้นที่ทางขึ้นดอยสุเทพ และปลายทางที่วัดพระธาตุดอยสุเทพ แต่ถูกต่อต้านอย่างหนักจนต้องถูกยกเลิกไป

แผนโครงการกระเช้าไฟฟ้าโผล่มาให้เห็นเป็นที่ประจักษ์อีกครั้งเมื่อวันที่ 26 พ.ย. 56 ที่ผ่านมา เมื่อสำนักงานพัฒนาพิงนคร (องค์การมหาชน) หรือ สพค. เปิดตัวโครงการศึกษาสำรวจและออกแบบกระเช้าลอยฟ้า (Cable Car) [10]  เชื่อมโยงเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ดอยปุย ดอยผาดำ ณ ห้องธาราทอง บอลรูม ชั้น 2 โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ จ.เชียงใหม่ โดยเชิญตัวแทนส่วนราชการ ผู้แทนองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และสื่อมวลชนเข้าร่วม ประมาณ 150 คน

นายอดุลย์ อิสลาม ผู้จัดการโครงการศึกษาสำรวจและออกแบบกระเช้าลอยฟ้า (Cable Car) เชื่อมโยงเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี-ดอยปุย-ดอยผาดำ กล่าวว่า โครงการศึกษาสำรวจและออกแบบกระเช้าลอยฟ้าฯ ครอบคลุมพื้นที่ 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลสุเทพ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่ ตำบลบ้านปง และตำบลหนองควาย อำเภอหางดง โดยมีระยะเวลาศึกษาทั้งสิ้น 10 เดือน สำหรับแนวเส้นทางจะเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพในบริเวณเชิงดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี อุทยานหลวงราชพฤกษ์ ดอยผาดำ และดอยปุย ระยะทางรวมประมาณ 10 กิโลเมตร

นายอดุลย์ ชี้แจงถึงขั้นตอนการดำเนินงานของโครงการนี้ว่า ประกอบด้วยกระบวนการการศึกษา รวบรวม และทบทวนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงการ ลักษณะรูปแบบโครงการที่คล้ายคลึงกันทั้งในประเทศและต่างประเทศ ข้อมูลพื้นฐานโครงการและพื้นที่โดยรอบ ทั้งด้านกายภาพ ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และปัจจัยที่จะมีผลหรือได้รับผลจากโครงการทั้งทางบวกและลบ จากนั้นจะเป็นการกำหนดรูปแบบแนวทางเลือกที่เหมาะสม ด้วยเกณฑ์พิจารณาทั้งด้านวิศวกรรม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจการลงทุน การมีส่วนร่วมของประชาชน อีกทั้งศึกษาวิเคราะห์ด้านการเงิน และการลงทุน รวมทั้งโครงการด้านเศรษฐกิจ เพื่อให้ได้ข้อสรุปแนวทางเลือกและรูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมที่สุด

ดร.ศราวุธ ศรีสกุน รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาพิงนคร (สพค.) กล่าวเสริมว่า โครงการนี้เป็นนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวและพัฒนาเมืองเชียงใหม่เป็นเมืองอันดับ 2 ของประเทศ ต้องมาดูเส้นทางว่า จุดใดเข้าถึงยาก เพราะโครงการนี้จะช่วยเติมเงินให้กับเมืองเชียงใหม่ด้วยการเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว

เขายกตัวอย่างจากการไปดูงาน ในพื้นที่ลังกาวี ประเทศมาเลเซียว่า ค่าขึ้นกระเช้า 300 บาทต่อคน 1 ปีมีคนใช้บริการ 1 ล้านคน 1 ปีรับรายได้ 300 ล้าน นอกจากจะคืนทุนได้แล้ว ยังสามารถส่งรายได้ให้กับรัฐบาลกลางได้ด้วย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้โครงการสร้างกระเช้าลอยฟ้ายังไม่มีการตั้งงบประมาณ จะต้องผ่านกระบวนการศึกษาความเป็นไปได้ และออกแบบตามขั้นตอน เพื่อให้ประชาชนรับฟังข้อมูลครบถ้วนก่อน

 


ภาพเส้นทางกระเช้าลอยฟ้า (ที่มาภาพ : ประชาธรรม)

 

โครงการกระเช้าลอยฟ้ามีแผนการหลังจากชี้แจงโครงการจัดทำกระเช้าลอยฟ้าเชื่อมโยงเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ดอยปุย ดอยผาดำ ครั้งที่หนึ่งแล้ว คือ จะลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์โครงการในกลุ่มย่อยตามชุมชนต่างๆ  จากนั้นจะแจ้งให้ทราบถึงผลกระทบ แนวทางป้องกันแก้ไข และสอบถามความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ รวมถึงข้อกังวลในเรื่องต่างๆ จากประชาชน รวมระยะเวลาในการประเมินผลกระทบทั้งหมด 1 ปี

อย่างไรก็ดี ในวงรับฟังความคิดเห็น ผู้เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นได้ลุกขึ้นมาแสดงความคิดเห็นจำนวนหนึ่ง บางส่วนติติงเรื่องของกระบวนการศึกษาและแผนของโครงการ อีกส่วนวิพากษ์แนวคิดพร้อมแสดงความไม่เห็นด้วย

บัณรส บัวคลี่ ได้แสดงความเห็นว่า การเก็บข้อมูลเพื่อประเมินผลกระทบโดยใช้เวลา 10 เดือน เป็นวิธีการรวบรัด อย่างที่เคยทำกับโครงการไนท์ซาฟารี หรือโครงการน้ำ คือ หนึ่ง ศึกษาความเป็นไปได้หรือความเหมาะสม แล้วจ้างโดยใช้เงินอีกก้อนหนึ่งออกแบบก่อสร้าง ระหว่างออกแบบก่อสร้างก็ทำไปเลย หรือที่เรียกว่า Design & Build  ดังนั้นงบ 10 ล้านบาท จึงไม่ใช่งบที่รวมเรื่องการออกแบบก่อสร้าง แต่เป็นเงินเฉพาะการศึกษาความเป็นไปได้ เพราะเมื่อปี 2548-2549 อพท.เคยจ้างบริษัทเทสโก้ออกแบบก่อสร้างไปแล้ว 40 ล้านบาท ดังนั้นที่บอกว่า เงินก้อนนี้ให้ศึกษาผลกระทบ และให้ออกแบบก่อสร้างด้วย ถ้าแบ่งอย่างละ 5 ล้านแล้ว จึงไม่พอแน่นอน

“กระเช้าลอยฟ้านี้ก็เหมือนกัน จ้าง 10 เดือน 10 ล้านบาท ทั้งศึกษาความเป็นไปได้ ออกแบบ รวมทั้งทำอีไอเอด้วย มันจึงเป็นไปไม่ได้ ผมจึงตั้งข้อสงสัยว่า หนึ่ง ต้องมีงบอีกก้อนหนึ่ง สอง ถ้าไม่ติดตาม รายงานอีไอเอพร้อมแบบก็จะออกมาทันที ซึ่งจริงๆแล้ว ผมคิดว่า เทคโนโลยีต่างๆ รวมถึงแบบมันเสร็จตั้งแต่ปี 2549 แล้ว แค่หาจุดที่ตั้งและเอาข้อมูลเดิมมาใส่สวม แต่ไม่กล้าบอกประชาชน วิธีการแบบนี้จึงไม่เคารพกระบวนการ ไม่เคารพกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 ที่บอกให้ต้องรับฟังความคิดเห็นประชาชน เป็นแต่ทำให้เป็นพิธีเท่านั้น จึงตกม้าตายหลายรอบ”

รศ.ชูโชค อายุพงศ์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มองว่า โครงการนี้อาจจะไม่คุ้มทุน และซ้ำรอยโครงการขนาดใหญ่ในเชียงใหม่ก่อนหน้านี้

“ที่บอกว่ากระเช้าลอยฟ้าที่สร้างจะยาวที่สุดในโลก ก็รู้สึกไม่สบายใจ หากเป็นเช่นนั้นจริง ความไม่คุ้มทุนจะเกิดขึ้นทันที เพราะหลักการของกระเช้าลอยฟ้า ต้องผ่านในที่สำคัญ เป็นวิว และดึงดูดคนให้มากที่สุด ด้วยระยะทางที่สั้นที่สุด เนื่องจากจุดที่ผ่านเป็นป่า ตอนนั่งแรกๆ อาจจะตื่นเต้นกับป่า แต่ถ้านั่งนานเป็นชั่วโมง จะรู้สึกว่ามันนาน ตัวอย่างกระเช้าไฟฟ้าต่างประเทศที่ตัวโครงการฯ หยิบยกมาเป็นตัวอย่าง ทั้งสิงค์โปร์ เวียดนาม ลังกาวี ล้วนเป็นกระเช้าที่มีเส้นทางผ่านวิวที่แตกต่างหลากหลาย และมีระยะทางสั้น”

"สิ่งที่เราต้องบอกกับประชาชน คือ เมื่อเราทำแล้ว เราจะเห็นอะไรในขณะที่เรานั่งกระเช้า มันถึงจะคำนวณความคุ้มทุนได้ แต่ถ้าเราไม่เห็นอะไร แรกๆ ก็จะมีคนขึ้น แต่ต่อมาก็จะไม่มีคนขึ้น บทเรียนของเชียงใหม่ เวลาเราสร้างอะไรใหญ่ระดับโลก สุดท้ายเราก็ไม่มีคนใช้ ตัวอย่างเช่น หอประชุมนานาชาติ ก็ไม่รู้ว่าใช้ประชุมอะไร ต้องรอให้รัฐบาลมาประชุมอย่างเดียว"

นอกจากนี้เขายังเห็นว่า ระยะเวลาในการศึกษาผลกระทบเพียงแค่ 6 เดือนนั้นน้อยเกินไป อย่างน้อยการทำข้อมูลอีไอเอรองรับต้องใช้เวลาถึงหนึ่งปี โดยเฉพาะเรื่องผลกระทบเกี่ยวกับน้ำนั้นก็ต้องรอให้ครบรอบปี

ส่วนอนุชาติ ธนัญชัย ผู้เข้าร่วมรายหนึ่งจากตำบลสุเทพกล่าวว่า การรับฟังความเห็นหรือการมีส่วนร่วม ลำพังแค่พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 4 อปท. คงไม่เพียงพอ เพราะดอยสุเทพเป็นของทุกคน จึงน่าจะเปิดกว้างให้คนเชียงใหม่ หรือคนที่สนใจด้านสิ่งแวดล้อมเข้าร่วม การสร้างโดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่จึงจะเปิดกว้างขึ้น ดังนั้นจึงไม่เห็นด้วยกับการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นไปบนดอย และจะต่อต้านให้ถึงที่สุด

ธัชชัย โกมลรัตน์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านแม่เหียะในหมู่ 5 แสดงความเห็นว่า "เวทีวันนี้ คิดว่ามาแล้วจะได้อะไร แต่ปรากฏว่า ไม่ได้อะไรเลย ไม่รู้ว่าจะนับหนึ่งตรงไหน และจะเอาอะไรไปคุยกับชาวบ้าน เช่น เสาจะปักในเขตป่าหมู่บ้านผมกี่ต้น คือข้อมูลที่ให้มา มันเอาไปพูดต่อไม่ได้ ถ้าจะลงชุมชนที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด ข้อมูลต้องมากกว่ากว่านี้ อย่างน้อยน่าจะมีแบบต้นร่าง (Master plan) ให้เราดูว่า เสาจะผ่านป่าตรงนี้กี่ต้น จะต้องกินพื้นที่ป่าเท่าไหร่ ถ้าไม่รู้หรือบอกไม่มี มันก็ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะถ้าไม่รู้จะไปศึกษาผลกระทบได้อย่างไร"

"ถ้าไม่มีแบบ ไม่มีอะไรไปให้ชาวบ้านดู ลงชุมชนแต่ละทีก็ต้องไปนับหนึ่งใหม่ อันดับแรกจึงต้องขอข้อมูลที่มันชัดเจนมากกว่านี้  สอง การมีส่วนร่วมของชุมชนก็ขอให้มันชัดเจนทั้ง 3 ตำบล เราอยากรู้ว่า เราจะได้อะไร หรือเราจะเห็นแต่เสาเท่านั้น มันต้องมีแผนชุมชนที่ชัดเจน เราเคยรบกับไนท์ซาฟารีมาแล้ว 7-8 ชุมชน รบจนเหลือแผนเดียว ที่เหลือตายเรียบ กระเช้าควรจะเป็นของคนเชียงใหม่ใช่ไหม ถ้าถามมา มันก็ใช่ แต่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง มันต้องชัด ไม่ใช่ว่าสร้างเสร็จเอารั้วไปล้อม เอาคนไปเฝ้า ตรงนี้ถ้ายังไม่มีรูปธรรมชัดเจนก็ยังไม่ต้องลงชุมชน เพราะมันไม่มีคำตอบให้ชาวบ้าน" ธัชชัย กล่าว

ด้าน อินถา หลวงใจ กำนัน ต.หนองควาย กล่าวว่า การเริ่มสร้างนั้นไม่รู้ว่าจะทำได้หรือไม่ เพราะอยู่ในเขตป่าอุทยานดอยสุเทพ-ปุยทั้งหมด ที่ผ่านมาชาวบ้านในชุมชน 3-4 ตำบล เคยขอเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ก็ยังไม่ได้รับอนุญาตเลย เช่น ขอสร้างที่เก็บน้ำสำหรับฤดูแล้ง ดับไฟป่า และนำมาอุปโภคบริโภคก็ไม่ได้ แล้วจะไปวางเสา 30-40 ต้น มันจะเป็นไปได้อย่างไร และถ้าสร้างได้จริง สิทธิประโยชน์ของชุมชน 3-4 ตำบลจะได้อะไรบ้าง จะได้เพียงขยะกับน้ำเสียอย่างที่ผ่านมาหรือไม่ ต้องศึกษาผลกระทบให้รอบด้าน นอกจากนี้แนวทางการสร้างที่ดูจากแผนที่ เริ่มจากไนท์ซาฟารี ไปพื้นที่ ตำบลหนองควาย และบ้านปง พื้นที่ตรงนั้นหน้าแล้งจะเผชิญกับไฟป่าหมอกควัน ดังนั้นควรจะไปศึกษาตรงนั้นด้วยว่า จะแก้ไขปัญหาอย่างไร

 


บรรยากาศการรับฟังความคิดเห็น (ที่มาภาพ : ประชาธรรม)

 

เพียงแค่การรับฟังความคิดเห็นครั้งแรกก็มีการปะทะกันค่อนข้างดุเดือด และสะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นต่อไปในภายภาคหน้า อันเป็นผลมาจากการปฏิบัติการของพิงคนครกับพื้นที่ ซึ่ง สพค.จะจัดการกับปัญหานี้อย่างไร จึงจะเกิดความลงตัว นี่เป็นโจทย์ที่ไม่ง่ายเลยทีเดียว

โปรดติดตามอ่านตอนต่อไป

เจาะ ‘พิงคนคร’ (จบ): ปฏิบัติการทางอำนาจ วิธีบริหารแบบเลี่ยงระบบราชการ และคำถามถึงนอนาคต

 

โครงการให้ทุนเพื่อทำข่าวเชิงลึกได้รับการสนับสนุนทุนจากโครงการสะพาน โดยการสนับสนุนจากองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา โดยเปิดรับสมัครผู้สนใจเสนอประเด็นเพื่อขอรับทุนตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2556 โดยคณะกรรมการได้คัดเลือกประเด็นจำนวน 41 ประเด็น จากผู้สมัครเข้าขอรับทุนทั้งหมด 39 ราย จนได้ผู้มีสิทธิได้รับทุนจำนวน 10 ราย และผ่านเกณฑ์มาตรฐานเพียงพอที่จะนำเผยแพร่จำนวน 8 ประเด็น  โดยเว็บไซต์ประชาไทได้ทยอยนำขึ้นเผยแพร่ ดังปรากฏอยู่ในหน้านี้แล้ว

 

อ้างอิง:

  1. สัมภาษณ์วันที่ 26 พฤศจิกายน 2556
  2. สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2556
  3. สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2556
  4. วิกิพีเดีย. 2556. องค์การสวนสัตว์. แหล่งที่มา : http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B9%8C%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%A7%E0%B9%8C . 16 พฤศจิกายน 2556 และ องค์กรสวนสัตว์. 2552. เกี่ยวกับองค์กรสวนสัตว์. แหล่งที่มา : http://www.zoothailand.org/ . 16 พฤศจิกายน 2556
  5. ASTVผู้จัดการรายวัน. 2556. “พิงคนคร” เจ๊ ด.ปั้นมากับมือ “ปลอด”ต่อจิ๊กซอว์ฮุบ“สวนสัตว์”. แหล่งที่มา http://www.manager.co.th/AstvWeekend/ViewNews.aspx?NewsID=9560000102297 . 16 พฤศจิกายน 2556
  6. เรื่องเดียวกัน
  7. เห็ดลมนิวส์. 2556. บอร์ดยืนกรานโอนย้ายสวนสัตว์ฯ ชี้ทำตามนโยบายรัฐไร้โต้แย้ง ด้านพนักงานฯอกสั่นหวั่นสวัสดิการแย่. แหล่งที่มา : http://www.hedlomnews.com/hot-news/%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%94%E0%B8%A2%E0%B8%B7%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%A2%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%AA%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%A7%E0%B9%8C%E0%B8%AF-%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B9%82%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B9%81%E0%B8%A2%E0%B9%89%E0%B8%87.html . 16 พฤศจิกายน 2556
  8. ASTVผู้จัดการออนไลน์. 2556. พนักงานสวนสัตว์เชียงใหม่แห่สมัครสมาชิกสหภาพฯ รอดูท่าทีผู้บริหาร ก่อนยกระดับค้านเข้า “พิงคนคร”. แหล่งที่มา : http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9560000110562 . 16 พฤศจิกายน 2556
  9. ASTVผู้จัดการออนไลน์. 2556. ผวจ.เชียงใหม่คนใหม่ลั่นร่วมทุกภาคส่วนพัฒนาเมือง เล็งเร่งเดินหน้า “พิงคนคร”. แหล่งที่มา : http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9560000123396 . 16 พฤศจิกายน 2556
  10. ประชาธรรม. 2556. 'พิงคนคร'เปิดตัวกระเช้าลอยฟ้าไนท์ซาฟารีข้ามดอยสุเทพ-ปุย ด้านคนชม.ฮือต้านสุดกำลัง. แหล่งที่มา : http://prachatham.com/detail.htm?code=n1_26112013_01 . 26 พฤศจิกายน 2556

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net