Skip to main content
sharethis

คณิต ณ นคร ชี้ประหารชีวิตไม่แก้ปัญหา ระบุคนไม่ได้กลัวโทษแต่กลัวประสิทธิภาพกระบวนการยุติธรรม แต่เรายังมีความผิดเพี้ยนของกระบวนการยุติธรรม เผยเคยดันยกเลิกโทษประหาร เมื่อครั้งเป็นสสร. 40 เหตุมันขัดแย้งกับการยอมรับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ขณะที่ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาทางนิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ปรีดีฯ  แนะการลงโทษควรเน้นที่การพัฒนามนุษย์

เมื่อวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา ณ ห้องสัจจา เกตุทัต อาคารสำนักอธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ คณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จัดงานเสวนาวิชาการในหัวข้อ “โทษประหารชีวิตแก้ปัญหาสังคมไทยหรือไม่” โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.คณิต ณ นคร ที่ปรึกษาคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และอดีตประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ผศ.ดร.ธานี วรภัทร์ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาทางนิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ปรีดีฯ ร่วมเสวนา  จิรวุฒิ ลิปิพันธ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรมหาบัณฑิต สาขานิติศาสตร์เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

รายละเอียดดังนี้

ประหารไม่แก้ปัญหา คนไม่ได้กลัวโทษแต่กลัวประสิทธิภาพกระบวนการยุติธรรม

คณิต กล่าวว่า คำถามที่ขึ้นในหัวข้อการเสวนาในวันนี้ตอบได้เลยว่าไม่ช่วยแก้ปัญหา กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เราจะพูดถึงวันนี้มีอยู่ 3 กฎหมายคือกฎหมายอาญา, กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและกฎหมายว่าด้วยการบังคับโทษ ซึ่งตนจะพูดในมิติของกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อย่างที่กล่าวมาข้างต้นว่าคำถามในหัวข้อวันนี้ช่วยแก้ปัญหาไม่ได้เลย คือมนุษย์เราหรือคนที่กระทำความผิดเขาไม่ได้กลัวโทษแต่เขากลัวประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรม แต่กระบวนการยุติธรรมของเราไม่เข้าท่า การปฏิรูปตำรวจถ้าฟังดูก็ไปไม่ถึงไหน อัยการเองก็ไม่ค่อยได้เรื่องและรวมถึงศาลด้วย เพราะฉะนั้นแล้วตอบได้เลยว่าผู้กระทำความผิดนั้นเขากลัวกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ กระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพหมายความว่าการทำงานของกระบวนการยุติธรรมต้องถูกต้องและเป็นไปตามกฎหมาย

กฎหมายวิธีพิจารณาความหรือว่ากฎหมายอาญาของเรานั้นมีการปฏิรูปสองครั้งในอดีต ครั้งแรกก็คือในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีการตั้งศาลยุติธรรม ครั้งที่สองปฏิรูปขนานใหญ่คือรัฐธรรมนูญปี 40 ในกรณีของครูจอมทรัพย์นี่คือเหยื่อของกฎหมายฉบับนี้ ความผิดพลาดของกระบวนการยุติธรรมนั้นมันผิดพลาดโดยรัฐ รัฐเท่านั้นที่จะแก้ไข รัฐก็คือพนักงานอัยการที่จะแก้ไข ซึ่งคุณจอมทรัพย์ท่านรู้สึกว่าไม่ถูกต้องเลยฟ้องให้รื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่แล้วท่านก็ถูกดำเนินคดี เมื่อคุณจอมทรัพย์ถูกดำเนินการอย่างนี้แล้วอัยการควรจะสั่งไม่ฟ้องครูจอมทรัพย์ คนในกระบวนการยุติธรรมก็มีข้อด้อยอีกอันหนึ่งคือมีความกลัว ทำงานก็ไม่ลงลึก

ลองเปรียบเทียบกระบวนการยุติธรรมเราเหมือนการเล่นฟุตบอล ฟุตบอลจะมีสูตร 4:3:3 และในกระบวนการยุติธรรมก็มีสูตรคือสูตร 3:3:3 โดยที่ 3 ตัวแรกก็คือการทำงานของกระบวนการยุติธรรมไม่มีประสิทธิภาพ 3 ที่สองประจบการเมือง ส่วน 3 สุดท้ายคือกฎหมาย นักกฎหมายและการศึกษากฎหมาย ซึ่งกล้ายืนยันว่ากฎหมายเราทันสมัยไม่แพ้ประเทศใด แต่นักกฎหมายเราแย่เพราะการเรียนการสอนมันแย่เพราะฉะนั้นจึงมองว่ามีความแย่อยู่ 3 ประการ แย่แรก คือประสิทธิภาพแย่ จะลงโทษได้นั้นน้อยมาก สองคือกระบวนการยุติธรรมคุกคามสิทธิมากที่สุดแม้กระทั้งคนที่เป็นทนายความยังโดนจับ สามคือแพงมาก ประเทศอื่นๆ มีผู้พิพากษาแค่ไม่กี่คนแต่ของไทยมีเป็นร้อยเพราะฉะนั้นถึงแพงมาก ดังนั้นคำตอบก็คือโทษประหารช่วยสังคมไม่ได้แต่เราก็ไม่ใช่ว่าจะปล่อยเลยตามเลยต้องมีการปรับปรุงกัน

เคยดันยกเลิกโทษประหาร เมื่อครั้งเป็นสสร. 40

คณิต กล่าวว่า ตอนที่ตนเป็น สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) 40 ตนเคยผลักดันให้มีการยกเลิกโทษประหารเพราะเห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 40 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ของโลกที่พูดถึง Human Dignity หรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เมื่อเรายอมรับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แล้วเราก็จะต้องยกเลิกโทษประหารเพราะมันขัดแย้ง จึงเสนอว่าให้ยกเลิกแต่คณะกรรมการยกร่างไม่เห็นด้วย หลังจากรัฐธรรมนูญปี 40 ของปี 50 ก็ยังมีอยู่แม้กระทั้งปีรัฐธรรมนูญปี 60 ก็ยังคงมีอยู่ เท่าที่ติดตามข่าวที่มีการประหารชีวิตเมื่อเร็วๆนี้รู้สึกว่าญาติๆเขาไม่รู้เรื่องเลยนี่ก็คือจุดบกพร่องอีกประการหนึ่ง ของเยอรมันมีมาตรา 1 เขาบอกว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไม่สามารถละเมิดได้ และในมาตรา 120 หรือ 122 ก็บอกว่าโทษประหารชีวิตให้เป็นอันยกเลิกซึ่งเขายกเลิกโดยรัฐธรรมนูญในต่างประเทศเขาทยอยยกเลิกไปเหลืออยู่ประมาณ 20 ประเทศ แต่ของเรานั้นยังมีติดกันมา 3 ฉบับ แต่สิ่งที่น่าเศร้าสำหรับบ้านเราคือคนที่เป็นทนายความสู้อยู่เรื่องเดียวคือข้อเท็จจริงไม่คิดหาข้อกฎหมายมาต่อสู้ด้วย

ความผิดเพี้ยนของกระบวนการยุติธรรม

อดีตประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า อัยการจริงๆ แล้วมีบทบาทสูงมากในทางกฎหมาย เป็นผู้รับผิดชอบก่อนคดีถึงศาลไม่ใช่ปล่อยให้พนักงานสอบสวนทำไปอย่างในบ้านเรา เพราะในความเป็นจริงประเทศที่เจริญแล้วอัยการจะมีบทบาทมากเพื่อให้การตรวจสอบความจริงขั้นต้นสมบูรณ์แบบ พอพิพากษาเสร็จแล้วบทบาทอัยการอีกแบบหนึ่งคือเป็นผู้ขอให้มีการลงโทษ ของไทยคือปล่อยให้ผู้พิพากษาทำหมด ความจริงบทบาทของอัยการในกระบวนการยุติธรรมจะสูงมาก ผู้พิพากษาจะมุ่งไปที่ (concentrate) เฉพาะการพิจารณาพิพากษาเท่านั้น มีผู้เชี่ยวชาญด้านปรัชญาท่านหนึ่งบอกไว้ว่าเขาสามารถประกอบอาชีพอะไรได้หมดยกเว้นพนักงานอัยการเพราะอัยการทำงานคนเดียว ของเรามีเรื่องหนึ่งที่ยังบกพร่องอยู่ในวิธีการพิจารณาอาญา คือความผิดที่ร้ายแรงและเป็นผู้เยาว์รัฐจะจัดหาทนายให้ แต่ถ้าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นคนหูหนวก ตาบอดคือไม่ได้จัดหาให้ ซึ่งต่อไปน่าจะต้องแก้ไขให้สมบูรณ์ เพราะที่แก้ไขกันไปไม่ค่อยได้เรื่อง อัยการควรจะเข้าไปสอบสวนดูแลไม่ใช่ให้ตำรวจทำจนเสร็จ อัยการเองเป็นผู้บริหารงานคดี ศาลเป็นผู้พิจารณาพิพากษา จริงๆศาลไม่มีอำนาจหน้าที่บริหารงานคดี การที่จะให้ศาลลงโทษคืออัยการต้องมีบทบาท การที่จะแก้ไขกฎหมายให้เกิดความถูกต้องดีงามมีอยู่น้อยมาก แต่ที่ยังผิดเพี้ยนอยู่ก็เพราะความผิดพลาดของมนุษย์หรือของกระบวนการยุติธรรม

ถ้าพูดถึงวงการพระแนะนำให้ไปอ่านนิติศาสตร์แนวพุทธ ศีลกับกฎหมายอันเดียวกันศีลคือข้อฝึก กฎหมายก็คือข้อฝึกเอาไว้ใช้ฝึกมนุษย์ เรื่องโทษประหารในอนาคตไม่น่าจะมีประเทศไหนใช้แล้วน่าจะลดลงเรื่อยๆ ในอังกฤษเป็นประเทศที่แปลก เขาจะรักตำรวจมากจะสังเกตได้ว่าตำรวจจะไม่พกปืนจะพกเป็นกระบองแทน เพราะตำรวจคือเพื่อนของประชาชน ต่อมาอังกฤษก็มีการตัดสินให้ฆ่าตำรวจ ชาวบ้านก็เรียกร้องว่ามาฆ่าเพื่อนทำไม สุดท้ายก็ต้องยกเลิกอย่างถาวร ดังนั้นจึงคิดว่าการประหารชีวิตมันเป็นอารมณ์ของคนเราจึงควรทำใจให้เป็นกลาง

การลงโทษควรเน้นที่การพัฒนามนุษย์

ธานี กล่าวว่า ตนมีความคิดเห็นตรงกันกับ อ.คณิต ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทางวิชาการในเชิงความคิดเห็นนั้นถามว่าโทษประหารชีวิตช่วยให้เกิดประโยชน์อะไรในสังคม คำตอบยังคงเหมือนกันว่าไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรในทางสังคมเลย ลองมาดูในมุมมองทางศาสตร์ในการบังคับโทษ ในส่วนแรกลองคิดไปในช่วงนับหนึ่งกันก่อนเพราะไม่ค่อยมีคนคิดกัน โดยเฉพาะนักกฎหมายเราชอบไปออกกฎบังคับมนุษย์ด้วยกันโดยที่เราไม่รู้จักว่ามนุษย์นั้นเป็นยังไง สิทธิหรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์คืออะไร ในทางนิติปรัชญาสิ่งสำคัญอันหนึ่งก็คือเรื่องของธรรมชาติที่ออกแบบแล้วมีมนุษย์เกิดขึ้นมาบนโลกสิทธิของความเป็นมนุษย์สำคัญยิ่ง

มนุษย์เกิดมาตามธรรมชาติและตายไปตามธรรมชาติ มีรักโลภโกรธหลง มีความขัดแย้งกันเองได้ ถ้าเราลองมองอะไรที่ต่ำลงไปกว่ามนุษย์ในตามธรรมชาติ เช่น เสือฆ่ากวาง ซึ่งก็เป็นธรรมชาติและเป็นสมดุลของโลกมนุษย์ แต่มนุษย์จะสามารถพัฒนาได้มากกว่า จึงมีมนุษย์กลุ่มหนึ่งที่ตั้งกฎเกณฑ์ขึ้นมา กฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและโทษคือสิ่งที่มนุษย์คิด คนที่คิดกฎหมายนี้ขึ้นมาแรกๆ เพื่อให้สังคมมีความสงบเรียบร้อย จึงเริ่มคิดว่าคนจะมีโทษยังไง มนุษย์ยุคก่อนเขายังใช้ความรุนแรงกันแต่ก็ค่อยๆ พัฒนามา มีการวางทฤษฎีวางรัฐธรรมนูญออกมาเรื่อยๆ จากความโหดร้ายทารุณป่าเถื่อนก็ค่อยๆ ศิวิไลซ์เพิ่มมากขึ้น เพราะฉะนั้นช่วงเปลี่ยนผ่านของโลกที่มีการใช้ความรุนแรงก็เริ่มเปลี่ยนไปใช้เหตุใช้ผล เพราะฉะนั้นกระบวนการยุติธรรมหรือกฎหมายต้องมีไว้เพื่อฝึกมนุษย์หรือแก้ไขมนุษย์ทำให้มนุษย์ดีขึ้นถึงจะตรงกับแนวทางที่มนุษย์ออกแบบมา

หลายๆ ประเทศได้ยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงโทษที่ทำลายมนุษย์ โทษที่ทำลายมนุษย์โทษแรกเลยคือการประหารชีวิตนั้นเริ่มหมดไปจากหลายประเทศ อันนี้เป็นปัจจัยสำคัญมากในการพัฒนาประเทศพัฒนามนุษย์ โทษจำคุกแต่ก่อนบอกให้จำคุกแรงๆ โหดร้าย แต่วันนี้โทษจำคุกก็เปลี่ยน มันเป็นการพัฒนาโทษช่วงเปลี่ยนผ่าน มีบางประเทศที่เขายกเลิกไปหมดเลยเพราะเขามีการพัฒนาความรู้ความคิดไปไกลกว่าคนอื่น แต่ในขณะเดียวกันหลายประเทศก็ยังมีอยู่หรือยังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน มันอยู่ในนโยบายของรัฐ อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ของเรานั้นช่วงเปลี่ยนผ่านที่ยาวมา 9 ปี ต้องยอมรับว่ามันก็ถูกเบรกไปเรื่อยๆ แต่พอถึงยุคนี้อาจจะมีผู้เกี่ยวข้องบางท่านมุมมองความคิดยังเป็นอย่างนั้นอยู่ ถ้ากฎหมายดีสมดุลก็สร้างสมดุลให้กับสังคมและไม่ไปทำร้ายสังคมทำร้ายมนุษย์ พื้นฐานโครงสร้างทางสังคมไทยก็เป็นปัญหามากและเป็นส่วนสำคัญที่มารับกับกฎหมายกับกระบวนการยุติธรรมที่ยังต้องการการพัฒนาอีกมากจึงทำให้การลงโทษมีการคลาดเคลื่อน

การตรวจสอบค้นหาความจริงไม่มีประสิทธิภาพมากพอ ในยุคสมัยก่อนยังคิดเรื่องแก้แค้นเป็นหลัก ความคิดนี้เป็นความคิดที่ยังติดอยู่ในกฎหมายหลายฉบับแล้วยังถูกสอนไปยังผู้ที่เรียนกฎหมายคือเน้นเรื่องแก้แค้นทดแทน การลงโทษข่มขู่ทำให้กลัว แต่ก็ไม่ได้แก้แค้นเสมอไปยังมีบอกไว้ว่ามีไว้แก้ไขคนที่กระทำความผิดให้ดีขึ้น ซึ่งวัตถุประสงค์ของการบังคับโทษนั้นต้องกระทำเพื่อให้เขาดำเนินชีวิตในอนาคตได้ ดำรงไว้ซึ่งการดำรงเผ่าพันธุ์ความเป็นมนุษย์ ดังนั้นการลงโทษควรเน้นที่การพัฒนามนุษย์หรือเพื่อความเปลี่ยนแปลงดีกว่า คือใช้โทษเพื่อการสร้างสรรค์พัฒนามนุษย์ไม่ควรใช้โทษเพื่อไปทำลายมนุษย์ด้วยกันเอง เหนือสิ่งอื่นใดประเทศใดก็ตามที่จะมั่นคงและนำไปสู่การบังคับโทษที่มีประสิทธิภาพกระบวนการยุติธรรมต้องมีประสิทธิภาพด้วย

เรื่องใหญ่คือนักกฎหมายยิ่งคนที่จะมารับไม้ต่อต้องศึกษามากเรียนรู้มากใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ กระบวนการยุติธรรมเป็นเส้นสำคัญที่จะทำให้ประเทศชาติมั่นคงทุกคนมีชีวิตที่ดี มันสะท้อนถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ ถ้าเกิดกระบวนการยุติธรรมไม่เข้าแข็งก็เพราะนักกฎหมายเพราะฉะนั้นการพัฒนาในกระบวนการยุติธรรมต้องพัฒนาที่ตัวมนุษย์หรือตัวนักกฎหมาย วันนี้คนที่เกิดมาในยุคปัจจุบันอยู่ในทุนนิยมไม่เหมือนกับอดีต ดังนั้นการที่จะเข้าถึงแก่นแท้ของชีวิตเด็กรุ่นใหม่จะไม่ค่อยเข้าใจ ยึดวัตถุนิยม ยึดเงินเป็นตัวตั้งของชีวิต จนล้ำศีลธรรมที่อยู่ในตัวล้ำเกินเส้นของกฎหมายถ้าคนในกระบวนการยุติธรรมจัดการกับคนที่ล้ำเส้นไม่ได้หรือจัดการได้แต่ผิดวิธีสังคมก็จะมีปัญหาแน่นอน ยิ่งถ้าเป็นคนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมแล้วติดกับดักพวกนี้จะยิ่งแย่ กระบวนการยุติธรรมที่ซื้อด้วยเงินมันทำลายประเทศชาติเพราะฉะนั้นนักกฎหมายควรจะมีสติปัญญาและความกล้าหาญคุณธรรมจริยธรรมเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง โทษประหารควรทำให้ถูกต้อง ถ้าเลือกระหว่าง

จิรวุฒิ กล่าวโดยสรุปว่า ถูกใจแต่ไม่ถูกต้องคือถูกใจประชาชนแต่ไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมายในการลงโทษหรือหลักสากล หรือว่าถูกต้องแต่ไม่ถูกใจ สิ่งที่เราพยายามทำคือพยายามนำเสนอสิ่งที่เชื่อว่าน่าจะจรรโลงสังคมน่าจะแก้ไขสังคมได้แต่ในเมื่อไม่ถูกใจ เราคงต้องต่อสู้กันต่อไป ในที่สุดแล้วเรามีสิ่งที่น่าจะทดแทนสิ่งที่เรียกว่าประหารชีวิตได้ทั้งในทางปฏิบัติและทางทฤษฎี อยากให้คนรุ่นใหม่ได้ไปศึกษาว่าจริงๆ แล้วมันคืออะไรไม่ใช่ไปฟังกระแสสังคม ศึกษาว่าจริงๆแล้วทาประหารชีวิตเขามีไว้ทำไมและมีในบริบทไหนและไม่มีในบริบทไหน เพราะฉะนั้นอยากให้ลองคิดดูว่าจริงๆ แล้วโทษประหารชีวิตแก้ปัญหาสังคมได้แค่ไหน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net