Skip to main content
sharethis

เวทีเสวนา "ฟ้องคดีปิดปาก" ส.รัตนมณี พลกล้า นักกฎหมายสิทธิยกกรณีเอกชน "เหมืองแร่เมืองเลย" ฟ้องคดีชาวบ้านหวังสร้างภาระทางคดีให้ยุ่งยาก เพื่อนำมาต่อรองเรื่องอื่น นอกจากนี้ในระยะหลังยังพบการใช้ "พ.ร.บ.ชุมนุม" เพื่อขวางชาวบ้านร้องเรียน ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ชี้การฟ้องคดีปิดปากกลายเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจทั้งในทางกฎหมาย อำนาจเงิน และอำนาจรัฐ

(ภาพใหญ่) เหตุการณ์เมื่อ 15 พ.ค. 2557 กรณีชายฉกรรจ์ร่วม 300 คน อำพรางใบหน้าพร้อมอาวุธ เข้าเปิดทางให้รถบรรทุกขนย้ายแร่ทองคำออกจากเหมืองแร่ทองคำ อ.วังสะพุง จ.เลย ชาวบ้านได้รับบาดเจ็บร่วม 30 คน ต่อมาชาวบ้านติดป้ายประท้วง "หมู่บ้านนี้ไม่เอาเหมือง" และ "ปิดเหมืองฟื้นฟู" ที่หน้าทางเข้าหมู่บ้าน ทำให้ในปี 2558 บริษัทเรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท (ภาพเล็ก) ส.รัตนมณี พลกล้า นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (ที่มา: แฟ้มภาพ/ประชาไท)

30 พ.ค. 2561 มีการจัดเวทีเสวนา "การพัฒนากฎหมายและกลไกป้องกันการ “ฟ้องคดีปิดปาก” เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ" โดยสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ที่ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

ทั้งนี้การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะ หรือ "SLAPP" (Strategic Lawsuit Against Public Participation) หรือที่เรียกว่า “การฟ้องคดีปิดปาก” เป็นรูปแบบหนึ่งของการใช้กระบวนการทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเพื่อยับยั้ง ขัดขวางการวิพากษ์วิจารณ์ การแสดงความคิดเห็น หรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะของประชาชนหรือชุมชน ซึ่งวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการฟ้องคดีปิดปาก โดยมิได้มุ่งที่ผลแพ้ชนะของคดี แต่มุ่งที่จะข่มขู่ให้หยุดการวิพากษ์วิจารณ์ หรือมุ่งก่อให้เกิดภาระที่ไม่จำเป็นแก่ผู้ถูกดำเนินคดี

โดยแนวทางแก้ไขนั้น ศาลยุติธรรมกำลังจะผลักดันให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความอาญา มาตรา 161/1 เพื่อป้องกันการฟ้องปิดปาก โดยการฟ้องไม่สุจริต หรือบิดเบือนข้อเท็จจริง หรืออาจจะกลั่นแกล้งเอาเปรียบกับฝ่ายจำเลย หรือว่ามีการมุ่งหวังประโยชน์ในทางที่มิชอบ

ตอนหนึ่ง ส. รัตนมณี พลกล้า มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC) ยกกรณีการใช้การฟ้องคดีปิดปาก กรณีเหมืองแร่เมืองเลย ที่เมื่อปี 2558 บริษัททุ่งคำฟ้องเรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% จากชาวบ้าน "กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด" 6 หมู่บ้าน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย กรณีทำป้าย “หมู่บ้านนี้ไม่เอาเหมือง” ทีซุ้มประตูทางเข้าหมู่บ้าน และป้าย “ปิดเหมืองฟื้นฟู” ริมถนนสาธารณะในหมู่บ้าน

โดยชาวบ้านร้องเรียนว่าการขนแร่ในพื้นที่มีกระบวนการไม่โปร่งใส และเกรงผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ขณะที่บริษัทไม่เลือกวิธีแก้ไขปัญหา แต่ใช้วิธีฟ้องกลับ ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าเอกชนใช้การฟ้องร้องคดีให้เกิดความยุ่งยาก โดยการฟ้องคดีไม่ใช่แค่ฟ้องปิดปาก แต่ใช้การฟ้องคดีเพื่อต่อรองหวังขนแร่ทองคำออกจากพื้นที่ด้วย

และไม่เพียงแต่กลุ่มชาวบ้านที่ถูกฟ้อง แต่นักวิชาการและผู้สื่อข่าวก็ถูกฟ้องข้อหาหมิ่นประมาท ว่าทำให้เกิดความเสียหายกับบริษัท เช่นสถานีโทรทัศน์ ThaiPBS ช่วงนักข่าวพลเมือง เผยแพร่รายงานข่าวของเยาวชนในพื้นที่วังสะพุง ก็ทำให้บริษัทฟ้องร้อง โดยศาลชั้นต้น ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องศาลยกฟ้อง เห็นว่าการนำเสนอเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ แต่พอถึงศาลอุทธรณ์ ศาลบอกว่าข้อความดังกล่าวยังไม่ต้องวินิจฉัย ให้ไต่สวนว่ามีมูลหรือไม่ จึงรับฟ้องคดี

นอกจากนี้ ยังมีกรณีของเจ้าหน้าที่รัฐ ใช้การฟ้องคดีหมิ่นประมาทเวลาชาวบ้านไปร้องเรียนว่ามีปัญหากับหน่วยงานนั้นๆ

เช่น เหมืองถ่านหินลิกไนต์ ที่ อ.งาว จ.ลำปาง มีกรณีที่ปลัดอำเภอฟ้องชาวบ้านในข้อหาหมิ่นประมาท หลังชาวบ้านร้องเรียนว่าปลัดอำเภอปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้องในช่วงรับฟังความคิดเห็น ชาวบ้านร้องเรียนว่าปลัดอำเภอเขียนรายงานไม่ถูกต้อง แต่คดีนี้ศาลไกล่เกลี่ยและให้ปลัดอำเภอการถอนฟ้อง

ส.รัตนมณี กล่าวว่า คดีเหล่านี้ถึงที่สุดถ้าไม่มีการกลั่นกรองโดยผู้ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ชั้นต้น เช่น ถ้าตำรวจไม่กรอง คดีก็ไปถึงอัยการ ไปถึงศาล

ทั้งนี้มีกรณีฟ้องนักวิชาการ ที่วิจารณ์โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โดยเอกชนฟ้องด้วยการนำข้อความที่นักวิชาการดังกล่าวโพสต์ ไปแจ้งความตำรวจ พอตำรวจสั่งฟ้องถึงชั้นอัยการ ก็มีการร้องเรียนที่ชั้นอัยการ แม้ว่าอัยการจะยังไม่ส่งฟ้องศาลทันทีโดยขอสอบสวนเพิ่ม แต่นักวิชาการที่ถูกแจ้งความ ยังต้องไปรายงานตัวกับอัยการทุกๆ 1 เดือน ซึ่งถ้ามีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ถูกฟ้องอาจยังไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าถูกฟ้องในต่างจังหวัดไกลๆ ก็จะเป็นปัญหา

ทนายความด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมกล่าวด้วยว่า นอกจากการฟ้องร้องหมิ่นประมาทแล้ว ในระยะหลังจะพบกรณีที่หน่วยงานราชการใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฟ้องชาวบ้านที่มายื่นหนังสือด้วย ซึ่งแทนที่ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะจะช่วยป้องกันไม่ให้มีการใช้กกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมมาควบคุมชาวบ้าน กลายเป็นว่าทุกฝ่ายนำกฎหมายนี้มาใช้เพื่อไม่ให้ชาวบ้านชุมนุม

กรณีของโรงไฟฟ้าเทพา ที่ จ.สงขลา เมื่อปลายปี 2560 ที่ชาวบ้านเดินทางจาก อ.เทพา จะไปยื่นหนังสือให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีก็ถูกดำเนินคดี ไม่เพียงแต่ข้อหา พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะเท่านั้น แต่มีการฟ้องเพิ่มทั้งเรื่องทำร้ายร่างกาย ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน พกพาอาวุธ ฯลฯ รวมกว่า 5 ข้อกล่าวหา นอกจากนี้ในบางกรณีอาจถูกฟ้องสูงสุดถึง 7-8 ข้อกล่าวหา

ทั้งนี้การใช้กฎหมายปิดปากชาวบ้านที่ออกมาเคลื่อนไหวร้องเรียนนั้น ได้สร้างภาระทางคดีความให้กับชาวบ้านอย่างมาก โดย ส.รัตนมณี ยกกรณีของชาวบ้านที่ประท้วงคัดค้านโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย ที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐฟ้องมาตั้งแต่ปี 2545 จนศาลฎีกายกฟ้องชาวบ้านทุกคดีความใช้เวลากว่า 12 ปี  นอกจากนี้ยังไม่นับระยะเวลาที่ชาวบ้านฟ้องคดีกับต่อเจ้าหน้าที่รัฐด้วย ซึ่งคดีความจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่จบ

ส.รัตนมณี กล่าวด้วยว่าขณะนี้ยังไม่มีกลไกเยียวยาและคุ้มครองสิทธิประชาชน หากพวกเขาชนะคดี ทั้งนี้พวกเขาต้องได้รับการเยียวยาที่เหมาะสมด้วย และถ้ามีการฟ้องกลับ ศาลต้องเข้าใจว่าไม่ใช่เรื่องการใช้สิทธิทางศาลของแต่ละฝ่าย

อย่างกรณีเขาภูผา เมื่อชาวบ้านชนะคดี มีการเรียกค่าเสียหาย เพื่อพิสูจน์ว่าพวกเขาควรได้รับความคุ้มครองหรือไม่ โดยศาลสืบพยานจนครบ โดยศาลเห็นด้วย ให้เอกชนชดเชยค่าเสียหาย ได้แก่ค่าใช้จ่ายทั้งหมด ค่าประสานงาน ส่วนเรื่องตอบแทนการขาดรายได้ ศาลใช้วิธีคำนวณรายได้ขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน แต่ก็ไม่ใช่ผู้พิพากษาทุกคนจะเข้าใจ เพราะพอใช้วิธีเรียกค่าเสียหายเดียวกันนี้กับอีกคดี ผู้พิพากษาไม่เข้าใจ บอกว่าที่บริษัทฟ้องหมิ่นประมาท เป็นการใช้สิทธิทางศาล ฟ้องโดยสุจริต

ส.รัตนมณี กล่าวว่า หากประชาชนต้องการแสดงออกในการมีส่วนร่วมกับประโยชน์สาธารณะ การเรียกร้องสิทธิ ต้องเป็นเรื่องใหญ่ ต้องได้รับความคุ้มครอง ปัจจุบันนี้เรายังไม่มีกฎหมายคุ้มครองเวลาคนมายื่นหนังสือร้องเรียนราชการ ต้องการคุ้มครองประชาชนว่าถ้าเป็นเรื่องยื่นหนังสือร้องเรียน ไม่สามารถเอาคดีมาฟ้องร้องประชาชนได้

ส่วน ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวว่า มีคนบางกลุ่มอาศัยยืมมือกระบวนการยุติธรรม เพื่อทำให้เป้าหมายของตัวเองบรรลุผล ทำให้คนที่ร้องเรียนเงียบเสียง ทำให้เขามีภาระทางศาลจนไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ หรือใช้วิธีฟ้องร้องเยอะๆ เพื่อต่อรอง แล้วขอแลกผลประโยชน์ที่พวกเขาต้องการ โดยไม่ได้หวังผลทางคดี ซึ่งเขาเชื่อว่าบุคลากรกระบวนการยุติธรรมก็เข้าใจ และคงเห็นปัญหาเหล่านี้

การฟ้องคดีปิดปาก ไม่ใช่ปัญหาสิทธิมนุษยชนอย่างเดียว ไม่ใช่นักต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชนเท่านั้นที่ประสบปัญหานี้ กรณีของคู่ค้าเอกชนเองก็ใช้วิธีฟ้องเช่นนี้ เพื่อให้ฝ่ายอีกฝ่ายเหนื่อยเล่นๆ ต้องไปศาลทุกนัด ทำให้คดีรกโรงรกศาล อาจกล่าวได้ว่า มีการใช้การฟ้องคดีปิดปากมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อผลประโยชน์ของคนที่มีอำนาจทั้งในทางกฎหมาย อำนาจเงิน และอำนาจรัฐ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net