Skip to main content
sharethis

บ.ก.บห.เดอะอีสานเรคคอร์ด เผยผิดหวังต่อ กสม. หลังมีมติไม่พบการละเมิดสิทธิฯ ปมร้อง 2 ตำรวจผู้ใหญ่ ละเมิดเสรีภาพในการเสนอความคิดเห็นและเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร จากการข่มขู่คุกคามนักวิชาการและสื่อมวลชน ระบุ กสม. ไม่ได้เชิญผู้ถูกร้องมาให้ปากคำด้วยซ้ำ

21 พ.ย.2566 จากกรณี 3 ม.ค.2566 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในเรื่องเสรีภาพในการเสนอความคิดเห็นและเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร กรณีกล่าวอ้างว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจข่มขู่คุกคามนักวิชาการและสื่อมวลชน โดยมี เดวิด สเตร็คฟัสส์ ที่ปรึกษาประจำคณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหทัยรัตน์ พหลทัพ บรรณาธิการสำนักข่าวออนไลน์เดอะอีสานเรคคอร์ด โดยมีผู้ถูกร้องคือ พ.ต.ท.ชัชวาล หมั่นนอก ขณะเกิดเหตุปี 2564 ดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้กำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจสันติบาล 1 ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการสืบสวนหาข่าวความมั่นคงในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ พล.ต.ท.สราวุฒิ การพานิช (ยศขณะนั้น)

โดยมติของ กสม.วันที่ 3 ม.ค.66 ว่ายังไม่ปรากฏว่าผู้ถูกร้องทั้ง 2 ได้กระทำการอันเป็นการละเมิดต่อผู้ร้องทั้ง 2 เห็นว่าพฤติการณ์ของ พ.ต.ท.ชัชวาล ที่ปรากฏระหว่างการพูดคุยกับผู้ร้องยังไม่ถือว่าเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน คณะที่กรณี พล.ต.ท.สราวุฒิ แม้การใช้ถ่อยคำที่ถูกบันทึกเสียงการสนทนาไว้จะไม่ปรากฎพฤติการณ์ในลักษณะการข่มขู่คุกคาม และไม่ได้ทำให้ผู้ถูกร้องทั้ง 2 ถูกจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกซ่องความคิดเห็นและการนำเสนอข่าวสารที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ ม.112 หรือสถาบันกษัตริย์โดยสิ้นเชิง อันจะถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่การใช้ถ่อยคำดังกล่าวได้สร้างความไม่ไว้วางใจต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งสร้างผลกระทบในทางลบให้เกิดขึ้นต่อการใช้เสรีภาพของผู้ร้องทั้งสอง อีกทั้งหากพล.ต.ท.สราวุฒิ เห็นว่าการกระทําของผู้ร้องทั้งสองเป็นความผิด ก็ควรดําเนินการให้เป็นไปตามกระบวนการอันชอบธรรมตามกฎหมาย (Due Process of Law) ภายใต้อํานาจหน้าที่ที่มีอยู่ ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในลักษณะเช่นเดียวกันนี้อีก เห็นควรเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครอง สิทธิมนุษยชนต่อสํานักงานตํารวจแห่งชาติ ในฐานะต้นสังกัดของผู้ถูกร้องที่ 2 หรือ พล.ต.ท.สราวุฒิ เพื่อดําเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปนั้น

หทัยรัตน์ ซึ่งปัจจุบันเป็นบรรณาธิการบริหารสำนักข่าวออนไลน์เดอะอีสานเรคคอร์ดให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวประชาไทว่า หลังจากร้องเรียนไปที่ กสม. ถึงเหตุการณ์ถูกคุกคามที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม 64 มีเจ้าหน้าที่จาก กสม. โทรมาสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเสมือนหนึ่งว่า มีการรับเรื่องการถูกละเมิดสิทธิแล้ว กระทั่งต้นปี 66 มีหนังสือมาที่บ้านระบุถึงมติของ กสม.ที่บอกว่า ไม่พบการละเมิดสิทธิตามการร้องเรียนดังกล่าว

"ตอนนั้นเราก็ไม่หวังอยู่แล้วว่า กรรมการสิทธิจะมีมติที่คุ้มครองเรา แต่สาเหตุเราที่แจ้งเรื่องไปที่กรรมการสิทธิเป็นตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ UN ที่ต้องการให้กลไกการคุ้มครองในประเทศนี้ทำงาน แต่สุดท้ายเขาก็ไม่ได้ทำงานจริงๆ ด้วย" บ.ก. เดอะอีสานเรคคอร์ด กล่าว พร้อมทั้งเปิดเผยว่า ล่าสุดเหตุการณ์ที่ทำให้ผิดหวังมากกว่าเดิม คือ ตนได้รับโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ กสม. ที่โทรมาสอบถามพอใจผลของลงมติของ กสม.หรือไม่ หากพอใจก็จะยุติการสืบสวน ตนได้บอกกลับไปว่า ไม่มีความพึงพอใจแม้แต่นิดเดียว เพราะตนถูกคุกคาม ถูกละเมิดสิทธิ ถูกข่มขู่ซึ่งหน้าจากผู้มีอำนาจที่ตอนนั้นเป็นผู้ช่วย ผบ.ตร.และตอนนี้ก็มีตำแหน่งสูงขึ้น

"เรารู้มาว่า กรรมการสิทธิ์ไม่ได้เชิญผู้ถูกร้องมาให้ปากคำด้วยซ้ำไป แล้วสรุปผลว่า ไม่มีการละเมิดสิทธิ ไม่มีการคุกคาม อย่างนี้จะให้ยอมรับผลได้อย่างไร ใช้หลักอะไรตัดสิน ถ้าจะให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ร้อง กรรมการสิทธิ์จะต้องเชิญผู้ร้องมาชี้แจงต่อสาธารณะ ให้เปิดเผยกันไปเลยว่า เขาได้ทำจริงไหม ถ้าทำจริงก็ควรมีบทลงโทษที่เป็นรูปธรรม และไม่ควรให้เกิดการข่มขู่ คุกคามกับสื่อมวลชนหรือใครอีกในอนาคต" หทัยรัตน์ กล่าว

บ.ก. เดอะอีสานเรคคอร์ด ยังเรียกร้องให้ กสม. ทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิของสื่อมวลชนและสิทธิของประชาชนในประเทศนี้ไม่ให้ถูกละเมิด ถูกคุกคามเหมือนที่เป็นมา อย่าให้ประชาชนเสียความรู้สึกกับองค์กรอิสระที่กินเงินเดือนจากภาษีประชาชน

รายงานผลการตรวจสอบกรณีเดวิดและหทัยรัตน์ร้องเจ้าหน้าที่ตำรวจคุกคาม นักวิชาการและสื่อมวลชนโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 3 ม.ค.2566 : 

 

ทั้งนี้ตามข้อร้องเรียนเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.64 ผู้ร้องทั้ง 2และผู้ถูกร้องทั้ง 2 นัดสนทนากันที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เพื่อหารือเกี่ยวกับความกังวลของ เดวิด สเตร็คฟัสส์ ที่อาจจะถูกเพิกถอนการอนุญาตให้อยู่ในประเทศจากการเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรมแสดงออกทางการเมือง โดยระหว่างสนทนาผู้ถูกร้องได้โน้มน้าว เกลี้ยกล่อมและในบางช่วงมีการใช้ถ่อยคำรุนแรงในลักษณะข่มขู่ไม่ให้ผู้ร้องทั้งคู่ไปยุ่งเกี่ยวหรือนำเสนอข่าวในประเด็นที่เกี่ยวกับ ม.112 หรือสถาบันกษัตริย์ ไม่เช่นนั้นจะถือเป็นศตรูและจำดำเนินการให้เดวิด สเตร็คฟัสส์ออกจากประเทศ อีกทั้งวันที่ 21 ธ.ค.64 เดวิด สเตร็คฟัสส์ ทราบจากแหล่งข่าวด้วยว่าตำรวจกำลังเตรียมเอกสารเพื่อดำเนินการเพิกถอนการอนุญาตให้อยู่ในประเทศ จึงนำมาสู่การร้องเรียนต่อ กสม.ดังล่าว

สำหรับมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่ กสม.เห็นควรเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อสํานักงานตํารวจแห่งชาติ ระบุ ตามรัฐธรรมนูญ 60  มาตรา 247 (3) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการ สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 60 มาตรา 26 (3) ประกอบมาตรา 42 โดยให้กําชับไปยังเจ้าหน้าที่ตํารวจ ในสังกัดทุกรายให้ระมัดระวังการปฏิบัติหน้าที่ การใช้วาจา หรือการประพฤติตน ไม่ให้ไปกระทบกับ สิทธิและเสรีภาพของประชาชนจนเกินสมควร โดยเฉพาะต่อการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นการนําเสนอข่าวสาร หรือการแสดงออกในรูปแบบอื่น รวมถึงจึงงดเว้นการกระทําใดๆ ที่เข้าข่ายหรืออาจถูกมองได้ว่าเป็นการกดดันหรือคุกคามประชาชนด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net