Skip to main content
sharethis
9 เม.ย. นี้ 'ร่างยุทธศาสตร์ชาติของ คสช.' จะถูกเสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติแล้ว ไอลอว์ชี้ประชาชนแทบไม่มีส่วนร่วม พรรคการเมือง-ประชาชนควรช่วยกันติดตาม เพื่อเตรียมความพร้อมรับอนาคตที่จะเกิดขึ้น หรือปรับเปลี่ยนและเสนอให้ยกเลิก
 
 
8 เม.ย. 2561 ร่างยุทธศาสตร์ชาติทั้งหกด้านที่จัดทำโดยคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติใกล้จะเสร็จสมบูรณ์แล้ว ตามปฏิทินของสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) วันจันทร์ที่ 9 เม.ย. 2561 ร่างที่แก้ไขเพิ่มเติมเสร็จแล้วทั้งหกด้านจะถูกนำเสนอต่อให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน รับไปพิจารณา ซึ่งเท่ากับเลยช่วงเวลาการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเพื่อนำไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงเนื้อหาใดๆ แล้ว
 
ณรงค์ศักดิ์ เนียมสอน เจ้าหน้าที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ กล่าวว่า “ร่างยุทธศาสตร์ชาติทั้งหกด้านจัดทำเสร็จสิ้นตั้งแต่ปลายเดือน ม.ค. 2561 และถูกนำไปจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นสี่จังหวัดในสี่ภูมิภาค คือ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา แม้จะมีการเปิดฟังความคิดเห็นจากช่องทางอื่นด้วย เช่น เปิดให้ส่งความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ของสภาพัฒน์ฯ แต่ประชาชนส่วนใหญ่แทบจะไม่ทราบข่าวสารและช่องทางการแสดงความคิดเห็นเหล่านี้เลย จึงไม่อาจเข้าร่วมแสดงความเห็นได้ทัน”
 
สำหรับเนื้อหาร่างยุทธศาสตร์ชาติ ที่กำลังจะถูกเสนอให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาในวันจันทร์ที่ 9 เม.ย. นี้มีจุดร่วมคล้ายกัน คือ การวาดภาพฝันของประเทศไทยในระยะ 20 ปีหลังจากนี้ไป ซึ่งเป้าหมายหลายอย่างอาจจะเป็นเรื่องที่ดี น้อยคนที่ไม่เห็นด้วย แต่ก็น่าตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้จริง เช่น เป้าหมายให้เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นร้อยละ 40 ขณะที่ข้อมูลปัจจุบัน ระบุว่าการใช้พลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ร้อยละ 7.10 หรือเป้าหมายการนำประเทศไทยสู่ประเทศพัฒนาแล้ว โดยเริ่มตั้งแต่ปีนี้ที่ประชาชนจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 7,800 บาทต่อคนต่อปีไปจนถึงปี 2579 หรือการตั้งเป้าให้ประเทศไทยติดหนึ่งในสิบของโลกตามดัชนีชี้วัดความสุขของประชากร ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับประเทศแคนาดากับออสเตรเลีย เหล่านี้เป็นเพียงเป้าหมายลอยๆ ที่ร่างยุทธศาสตร์ชาติเองก็ไม่ได้กำหนดวิธีการทำงานเพื่อนำไปสู่เป้าหมาย
 
"ความน่ากังวล คือ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหลังจากนี้จะมีหน้าที่ต้องทำตามยุทธศาสตร์ชาติ ต้องแถลงนโยบายและเสนองบประมาณให้สอดคล้องกัน โดยมี ส.ว. ที่ คสช. เลือกเอาไว้เป็นคนติดตาม กำกับการทำตามยุทธศาสตร์ชาติ เมื่อเป้าหมายแต่ละด้านตั้งไว้สูง โดยไม่ได้เขียนวิธีการไว้ หากรัฐบาลชุดหน้าทำไม่สำเร็จ ก็อาจจะกลายเป็นประเด็นปัญหาต่อไปได้" 
 
"น่าดีใจที่หลายพรรคการเมืองประกาศว่า ถ้าได้เป็นรัฐบาลจะยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติของ คสช. อย่างไรก็ตาม หากร่างฉบับนี้ถูกประกาศใช้ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับพรรคการเมืองที่จะยกเลิก เพราะต้องผ่านด่านคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ กับ ส.ว. แต่งตั้ง 250 คน เป็นอย่างน้อย ดังนั้นช่วงเวลานี้พรรคการเมืองหรือประชาชนที่มีความรู้ความเข้าใจในวิธีการปฏิรูปด้านต่างๆ จึงควรช่วยกันติดตามร่างยุทธศาสตร์ชาติของ คสช. เพื่อเตรียมความพร้อมกับอนาคตที่จะเกิดขึ้น หรือเพื่อปรับเปลี่ยนและเสนอให้ยกเลิก บรรดาสิ่งที่เขียนไว้แล้วแต่เป็นไปไม่ได้" ณรงค์ศักดิ์ กล่าว     
 
เมื่อคณะกรรมยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาร่างยุทธศาสตร์ชาติทุกด้านเสร็จแล้ว ขั้นตอนต่อไปร่างทุกด้านจะถูกส่งไปให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) และสภานิติบัญญัติชาติพิจารณา (สนช.) เห็นชอบตามลำดับ ทั้งนี้หาก ครม. ขอแก้ไข ร่างก็จะถูกส่งกลับไปให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติอีกครั้ง แต่หาก สนช. ไม่เห็นชอบ ก็ต้องเริ่มกระบวนการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติใหม่ซึ่งจะใช้เวลาอีกประมาณ 9 เดือนหลังจากวันที่พิจารณาไม่เห็นชอบ แต่หากทุกขั้นตอนผ่านฉลุย ประมาณกลางเดือน ก.ค. 2561 นายกรัฐมนตรีจะนำร่างยุทธศาสตร์ชาติที่ สนช. ให้ความเห็นชอบขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ต่อไป
 
 
 
 
 
ดูเพิ่มเติม เรื่องราวเกี่ยวยุทธศาสตร์ชาติของ คสช. https://ilaw.or.th/node/4775
ดูสรุปร่างยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน โดยไอลอว์ ได้ที่ https://ilaw.or.th/taxonomy/term/2233

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net