Skip to main content
sharethis
คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต เสนอข้อเสนอต่อการปฏิรูป 11 ด้านและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ต้องมีการกระจายอำนาจสู่ประชาชนและสังคมอย่างแท้จริง เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถมีส่วนสำคัญในการจัดการการศึกษา ทรัพยากรของชุมชน พัฒนาองค์กรประชาชนให้เป็นฐานสำคัญของการพัฒนา
 
ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต (แฟ้มภาพ)
 
8 เม.ย. 2561 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้แสดงความเห็นต่อแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และ แผนปฏิรูปประเทศ 11 ด้านที่เพิ่งประกาศในพระราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 7 เม.ย. พ.ศ. 2561 ว่าแม้นว่าคณะกรรมการปฏิรูปจะมีเป้าหมายและความปรารถนาดีต่อชาติแต่เป็นยุทธศาสตร์และแผนปฏิรูปประเทศ 11 ด้านยังขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนและพรรคการเมืองต่างๆที่ต้องทำหน้าที่บริหารประเทศต่อไปหลังการเลือกตั้ง ขาดความยืดหยุ่นและขาดการเปิดกว้างให้สามารถปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์และตามเจตนารมณ์ของประชาชนผ่านการเลือกตั้งได้อย่างเหมาะสม ไม่ได้กล่าวถึงการปฏิรูปกองทัพเพื่อให้ทหารเป็นทหารอาชีพเพื่อแก้ปัญหาวังวนของการทำรัฐประหารซ้ำซากในประเทศไทย ไม่ได้มีข้อเสนอที่ชัดเจนเรื่องการปฏิรูประบบและกระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะการปฏิรูปตำรวจ รวมทั้งความปรับเปลี่ยนให้อำนาจตุลาการยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น รวมทั้งการปฏิรูปความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เหมาะสมระหว่าง สถาบันการเมือง สถาบันศาสนา สถาบันกษัตริย์ และประชาชน ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย นอกจากนี้ยังขาดรายละเอียดของมาตรการส่งเสริมให้พรรคการเมืองมีความเป็นสถาบันและการเมืองภาคประชาชนมีความเข้มแข็งมากขึ้น 
 
การเปิดกว้างให้มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนกัน จนเกิด “ฉันทามติ” ในสังคมจะส่งผลให้ยุทธศาสตร์และแผนปฏิรูปเกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ เพราะจะทำให้ทุกภาคส่วนร่วมกันผลักดันให้บรรลุเป้าหมาย ตนได้เคยร่วมคิดในการวางแผนทำยุทธศาสตร์ระยะยาวของประเทศเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้วก็ทำอยู่บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วม (Participation) ความโปร่งใส (Transparency) ความรับผิดชอบ (Accountability) ความชอบธรรมทางการเมือง (Political Legitimacy) ความเป็นธรรมของกฎระเบียบ (Fair Regulatory) ความเป็นนิติรัฐ (Rule of Law) เน้นประสิทธิภาพและประสิทธิผล (Efficiency and Effectiveness) ทั้งหมดนี้ เรียกว่า หลักธรรมาภิบาลในการกำหนดนโยบาย แผนปฏิรูปและแผนยุทธศาสตร์ของประเทศ เนื้อหาในแผนการปฏิรูป 11 ด้านระบุถึงการดำเนินการเรื่องการกระจายอำนาจน้อยเกินไป เป้าหมายหลักของการปฏิรูปต้องมุ่งไปที่การปรับ
 
ความสัมพันธ์เชิงอำนาจหรือเพิ่มอำนาจให้กับประชาชนผู้ด้อยโอกาสทั้งหลายให้พวกเขามีสิทธิมีเสียงมากขึ้นการยึดถือแนวทางการปฏิรูปเช่นนี้จะนำมาสู่การเกิดดุลยภาพเชิงอำนาจระหว่างคนกลุ่มต่างๆ แผนปฏิรูปของรัฐบาลไม่ได้พูดถึงแนวทางการแก้ปัญหาความอยุติธรรมหรือการถูกเลือกปฏิบัติจากโครงสร้างอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมมากเพียงพอ ซึ่งปัญหาความอยุติธรรมนี้นำมาสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำหรือความไม่เท่าเทียมในทุกด้าน ทั้งความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ด้านสิทธิ ด้านโอกาส ด้านอำนาจและด้านศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 
 
แผนปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติไม่ว่าจะสั้นหรือยาวต่อไปจะต้องตอบโจทย์ปัญหากับดักเชิงโครงสร้างของไทยในอนาคตให้ได้ การเตรียมรับมือกับกับดักปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ระบบสถาบันต่างๆและการเมือง รัฐบาล ภาคเอกชน ภาควิชาการ ขณะนี้ยังไม่มีทางออกหรือยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนว่า ประเทศไทยจะแก้ไขปัญหากับดักเชิงโครงสร้างอย่างไรในระยะยาว เช่น ปัญหาจากโครงสร้างสังคมผู้สูงอายุ ปัญหาจากเสถียรภาพระบบการเมืองในระยะเปลี่ยนผ่าน ปัญหาการศึกษาและคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ที่ทำให้ไม่สามารถสร้างนวัตกรรมและขีดความสามารถในการแข่งขันได้ ซึ่งปัญหาหลายประการจะทยอยปะทุขึ้นในช่วง 5-10 ปีข้างหน้าช่วงหนึ่งและ 10-20 ปีข้างหน้าอีกช่วงหนึ่ง โดยที่ระยะ 5-10 ปีข้างหน้า ในมิติด้านเศรษฐกิจ ไทยจะสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันในหลายธุรกิจอุตสาหกรรมรวมทั้งภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นหากไม่มีการปรับเปลี่ยนปัจจัยที่กำหนดขีดความสามารถในการแข่งขันให้ดีขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนทางด้านนวัตกรรม การลงทุนทางด้านการศึกษาและวิจัย ขณะที่ไทยมียอดการเกินดุลการค้าสูงมาก สะท้อนการลงทุนภาคเอกชนกระเตื้องขึ้นช้ามาก เอกชนไม่กล้าลงทุน ไม่สั่งนำเข้าสินค้าทุน วัตถุดิบ ไม่สั่งนำเข้าเครื่องจักร 
 
มีความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจในระดับสูงติดอันดับโลก แรงงานระดับล่างและเกษตรกรรายย่อยมีความยากลำบากทางเศรษฐกิจ มีสัดส่วนของหนี้สินต่อรายได้สูงมาก มิติทางด้านการศึกษา เด็กกว่า 40% ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ เด็กไทย 1 ใน 5 ของเด็กก่อนวัยเรียน มีพัฒนาการต่ำกว่าวัย 2 ใน 3 ของครอบครัวไทยไม่สามารถมีเงินส่งลูกเรียนในระดับมหาวิทยาลัยได้ มีความไม่เสมอภาคทางการศึกษาระหว่างเมืองใหญ่กับชนบทสูงมาก ทรัพยากรมนุษย์ที่อ่อนแอย่อมไม่สามารถแบกรับภาระที่มากขึ้นของโครงสร้างสังคมผู้สูงอายุในอนาคตได้ดีนัก การปฏิรูปการศึกษาที่ล้มเหลวในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้เกิดต้นทุนค่าเสียโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านล้านบาท คิดเป็น 10-11% ของจีดีพี (ตัวเลขจาก Thailand Future Analysis จากผลการศึกษาของ Hanushek and Woessman 2010) กับดักโครงสร้างทางการเมืองในรัฐธรรมนูญใหม่ที่อาจก่อให้เกิดวิกฤตการณ์การเมืองรอบใหม่ได้ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า 
 
ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวเสนอแนะว่า ยุทธศาสตร์ 6 ประการของแผนยุทธศาสตร์ระยะยาว 20 ปี (บรรลุเป้าหมายและสิ้นสุดปี พ.ศ. 2579) ที่จัดทำโดยสภาพัฒน์ภายใต้รัฐบาลชุดนี้ผมเห็นด้วยกับเนื้อหาบางส่วน แต่ยุทธศาสตร์ส่วนใหญ่เป็นยุทธศาสตร์พื้นฐาน ไม่มีอะไรแปลกใหม่ อาจไม่สามารถตอบสนองต่อพลวัตของเทคโนโลยีใหม่ที่พลิกผันระบบเศรษฐกิจ ระบบการผลิต ระบบการเงินและระบบการเมืองได้ดีนัก รวมทั้งยังติดกรอบคิดแบบราชการและอนุรักษ์นิยม รวมทั้งอาจไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเอาไว้ ไม่ได้มุ่งเป้าไปที่แก้ปัญหาในระดับโครงสร้างและฐานรากอย่างแท้จริง 
 
"ผมเห็นว่าควรมีมากกว่า 6 ยุทธศาสตร์ โดยยุทธศาสตร์ 15 ปี (พ.ศ. 2561-2575) ที่ผมเคยเสนอไว้เมื่อทำหน้าที่กรรมการและผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อปี พ.ศ. 2549 หรือ เมื่อเกือบ 12 ปีมาแล้ว มีทั้งหมด 10 ยุทธศาสตร์ ดังต่อไปนี้" ผศ.ดร.อนุสรณ์ ระบุ
 
ยุทธศาสตร์ที่หนึ่ง ยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างอำนาจและส่งเสริมประชาธิปไตยให้เข้มแข็งมั่นคง 
 
ยุทธศาสตร์ที่สอง ยุทธศาสตร์การเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืนโดยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเอา “คุณภาพชีวิตของพลเมือง” เป็นศูนย์กลาง (โดยให้อัตราการขยายตัวเฉลี่ยในระยะ 15 ปีข้างหน้าไม่ต่ำกว่า 5-6%) 
 
ยุทธศาสตร์ที่สาม ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงและ Greater Thailand/New Siam ยุทธศาสตร์นี้จะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ความมั่นคง ตามยุทธศาสตร์ 20 ปีของรัฐบาล คสช แต่ยุทธศาสตร์ที่ผมศึกษาวิจัยและคิดไว้นี้จะรวมแผนยุทธศาสตร์ทางด้านวัฒนธรรมและภาษาด้วย รวมทั้งการสร้างพลังเครือข่ายสยามและเชื้อชาติไทยอีกด้วย
 
ยุทธศาสตร์ที่สี่ ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและเครือข่ายความร่วมมือ ยุทธศาสตร์ลดอำนาจการผูกขาด สร้างความเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ เพิ่มการแข่งขัน เสรีภาพในการประกอบการ 
 
ยุทธศาสตร์ที่ห้า ยุทธศาสตร์ด้านลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาค ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม
 
ยุทธศาสตร์ที่หก ยุทธศาสตร์พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทุกช่วงวัยและการปรับโครงสร้างประชากรให้เหมาะสม
 
ยุทธศาสตร์ที่เจ็ด ยุทธศาสตร์การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรมและการเมือง
 
ยุทธศาสตร์ที่แปด ยุทธศาสตร์การปฏิรูประบบราชการ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และ ภาคการเมือง 
 
ยุทธศาสตร์ที่เก้า ยุทธศาสตร์ศูนย์กลางอาหาร การท่องเที่ยว และบริการทางการแพทย์ของโลก และ ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย 
 
ยุทธศาสตร์ที่สิบ ยุทธศาสตร์บูรณาการสู่การเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภูมิภาค 
 
ส่วนแผนการปฏิรูปทั้ง 11 ด้านนั้นจะต้องมีการกระจายอำนาจสู่ประชาชนและสังคมอย่างแท้จริง เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถมีส่วนสำคัญในการจัดการการศึกษา ทรัพยากรของชุมชน ตลอดจนการพัฒนาองค์กรประชาชนให้เป็นฐานสำคัญของการพัฒนา การกระจายอำนาจตามความหมายนี้ ก็คือ การเพิ่มอำนาจประชาชนและลดอำนาจรัฐนั่นเอง ปรับเปลี่ยนการจัดสรรงบประมาณเสียใหม่ให้ลงสู่พื้นที่และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนในการกำหนดเป้าหมายด้านคุณภาพชีวิตเพื่อให้ทุกคนมีหลักประกันในชีวิต เกิดสันติธรรมและความสงบสุข อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net