Skip to main content
sharethis

ประจักษ์ ชี้ เป็นหนังสือที่ทันสมัยที่สุดที่เหมาะสำหรับผู้สนใจศึกษาการเมือง เริ่มตั้งแต่ก่อนรัฐสมัยใหม่ จนถึงปัจจุบัน เสนอไม่เพียงฝ่ายก้าวหน้าตั้งพรรค แต่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมควรตั้งด้วย เตือนการรัฐประหารตัวเอง อาจเกิดขึ้นอีก

เมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และสถาบันพระปกเกล้า จัดเปิดตัวหนังสือ 'การเมืองไทยร่วมสมัย' ของ ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ โดยมี ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ สาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้นำเสนอและพูดคุย

สำหรับหนังสือ 'การเมืองไทยร่วมสมัย' นี้ สถาบันพระปกเกล้า ระบุว่า เป็ฯหนังสือที่อธิบายประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลังการปฏิวัติ 24 มิ.ย. 2475 จนถึงปัจจุบันในฉบับย่อ เพื่อให้ผู้สนใจการเมืองไทยได้ทำความเข้าใจโดยใช้เวลาไม่นาน ทั้งนี้ เพื่อจะได้เห็นพัฒนาการใน ภาพรวม ตลอดจนประเด็นที่เป็นปมปัญหาการเมืองในช่วงกว่าแปดทศวรรษที่ผ่านมา ด้วยมี ความผันผวน และมีห้วงเวลาที่ความทรงจำบางส่วนถูกปรับเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขของการเมือง ภายในแบ่งออกเป็น 6 บท ซึ่งกล่าวถึง การเมืองไทยในช่วงเวลาต่างๆ นับตั้งแต่ภูมิหลัง การเมืองไทยยุคก่อนรัตนโกสินทร์ ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาจนถึงสมัยประชาธิปไตย การเมืองไทยในช่วงปฏิวัติสยาม คณะราษฎร กบฏในยุคนั้น และห้วงเวลาของการเมืองในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากนั้นเป็นช่วงการเมืองไทยในยุคต่างๆ นับตั้งแต่ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เรื่อยมาจนกระทั่งการเมืองไทยในยุคที่มีความขัดแย้งทางการเมือง 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภาทมิฬ ในปี 2535 การเมือง จวบจนถึงยุคประชาธิปไตย กระทั่งยุคหลังที่เป็นความขัดแย้งทางการเมือง ยุคปฏิรูปการเมือง เรื่อยมาจนถึงรัฐประหารใน พ.ศ. 2549 และ 2557 ตามลำดับ และการร่างรัฐธรรมนูญหลังปี 2557 เหมาะสำหรับผู้สนใจการเมืองไทยเบื้องต้น อย่างไรก็ดีผู้เขียนได้พยายามอธิบายภาพรวมของการเมืองไทยในพื้นที่อันจำกัดย่อมมีรายละเอียดทางประวัติศาสตร์จำนวนมากที่ถูกตัดทอนไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งผู้ได้รวบรวมบรรณานุกรมไว้ท้ายเล่ม เพื่อให้ผู้สนใจสามารถค้นคว้าเพิ่มเติมได้

ประจักษ์ แบ่งการพูดเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย 1. ส่วนชมเชย จุดดีของหนังสือ 2. สิ่งที่อยากจะเห็นหากจะปรับปรุงพิมพ์ครั้งต่อไป ของหนังสือเล่มนี้ และ 3. มีประเด็นอะไรที่ลองหยิบ คุยกับสถานการณ์การเมืองร่วมสมัยในปัจจุบัน

โดยประเด็นแรก ประจักษ์ กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ทันสมัยที่สุดที่เหมาะสำหรับผู้สนใจศึกษาการเมือง เริ่มตั้งแต่ก่อนรัฐสมัยใหม่ จนถึงปัจจุบัน เล่มนี้ตนอ่าน 2 วันจบเป็นหนังสือที่กระชับแต่ก็มีประเด็นบางอย่างที่ยังไม่จุใจ เข้าใจว่าความตั้งในให้เป็นตำราพื้นฐานก่อน แต่คนที่อยากลงลึกในบางประเด็นอาจรู้สึกว่าตรงนั้นหายไปและไม่ได้ลงลึก

ประจักษ์ ระบุว่า ในบทแรกๆ เน้นไปที่การต่อสู้ทางความคิด ซึ่งเป็นการเดินเรื่องช่วง ก่อนและหลัง 2475 เช่น การชี้ให้เห็นแนวคิดเรื่องระบบรัฐธรรมนูญ ที่เรียกทับศัพท์อังกฤษ เพื่อผลักออกไปจากความเป็นสังคมไทย นอกจากนี้แม้เป็นตำราค่อนข้างกระชับ แต่มีการโควทเอกสารชั้นต้นมาลงไว้ แต่ก็เสนอว่า อยากให้ใส่ประกาศคณะราษฏร ฉบับที่ 1 ลงไปด้วย 

สำหรับวาทกรรมแบบไทยๆ นั้น ประจักษ์ มองว่า เป็นวาทะกรรมที่เป็นกับดักที่สุดของสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นวาทกรรมประชาธิปไตยแบบไทยๆ มันอยู่กับที่คุณไปอยู่ที่ยุคไหน ที่เรียกว่าไทยนิยมนี้มันก็อยู่ที่ยุคไหน ดังนั้นเวลาที่เราจะย้อนกลับไปเป็นแบบไทย ก็ย้อนไปที่สมัยจอมพลสฤษดิ์เท่านั้น ซึ่งจริงๆ ก็เป็นการเอาโมเดลแบบฝรั่งเหมือนกันเรื่องการปกครองแบบเผด็จการทหาร

จุดที่เสียดายอีกประการที่ ประจักษ์ วิจารณ์หนังสือเล่มนี้ เนื่องจากผู้เขียนเดินเรื่องผ่านการถกเถียงทางความคิดไว้มากในช่วงแรก แต่มาช่วงหลังเป็นการอธิบายในทางรัฐศาสตร์เชิงสถาบันทางการเมือง แต่เรื่องการต่อสู้ในมิติทางความคิดหายไป จึงอยากเห็นเรื่องการต่อสู้ทางความคิดเข้ามาในช่วงหลังด้วย

ประจักษ์ ชี้ต่อว่า หนังสือเล่มนี้ มีการอัพเดทแนวคิดใหม่ๆ เช่น รัฐพันลึก หรือรัฐเร้นลึก (Deep State) หรือ Network Monarchy (เครือข่ายราชสำนัก) หรือการมองการเปลี่ยนแปลงในชนบท ที่มีการเกิดขึ้นของชนชั้นกลางใหม่ แต่ด้วยเนื้อที่มันจำกัด แนวคิดเหล่านี้ไม่ได้อธิบายเท่าที่ควร ดังนั้นจึงเสนอให้มีการนิยามคีย์เวิร์ดพวกนี้ด้วย

ประจักษ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีเรื่องเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่อยู่ในหนังสือ ผู้เขียนให้พื้นที่ของกบฎมาก ในเล่นนี้มีกบฎเยอะมาก มันสะท้อนว่าการเมืองไทยไม่มีใครผูกขาดอำนาจได้ยาวนาน แม้ในกองทัพหรือชนชั้นนำด้วยกันเองก็มีการก่อกบฎต่อต้าน

สิ่งที่อยากจะเห็น หากจะเขียน ฉบับที่ 2 นั้น ประจักษ์ เสนอว่า เหมือนหนังสือนี้มี 2 เล่ม ในเล่มเดียว ที่ช่วงแรกเป็นการพูดถึงการต่อสู้เชิงความคิดและอุดมการณ์ แต่ช่วงหลัง 14 ตุลา 16 ประเด็นการต่อสู้ตรงนี้ รวมทั้งการต่อสู้เชิงการเมืองเชิงวัฒนธรรมหายไป ถ้าใส่จะทำให้น่าสนใจ อ่านบทแรกๆ เหมืนบู้เลย มีประเด็นอัพเดทมาก เล่าเรื่องสนุกสนาน แต่เมื่อถึงบทที่ 5 ช่วงทศวรรษของความปั่นป่วนทางการเมือง 5 และ 6 เหมือนเป็นคนเขียนอีกคน เหมือนผู้เขียนเกรงทั้งที่เป็นช่วงที่วิกฤติ กำลังสู้เข้มขึ้น แต่ผู้เขียนกลับเข้าสู่การพรรณนา เล่าเหตุการณ์ว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น เป็นการเล่าที่อาจเห็นข้อเท็จจริงพื้นฐานดีมาก ไม่ใส่อคติข้อวิพากษ์ลงไป แต่มันควรจะมีบทวิเคราะห์หรือสรุปให้ความเห็นของผู้เขียนในต่ละช่วงในการเปลี่ยนผ่าน ไม่เช่นนั้นมันจะเหมือนประวัติศาสตร์แบบ ฟอร์เรสท์ กัมพ์ ที่เขาเป็นเพียงผู้สังเกตุการณ์ ไม่เห็นแง่มุมการวิเคราะห์ รวมทั้งช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลา 6 ตุลา นั้นน้อยไป น่าจะให้น้ำหนักมามากขึ้นได้อีก

อีกประเด็น ประจักษ์ วิจารณ์ว่า บทบาทของสามัญชน น้อยไป น่าจะชี้ให้เห็นวว่าในแต่ละยุคสามัญชนเข้ามาเสนอทางเลือความคิดแปลกๆ เข้ามาอย่างไร ใส่เข้ามาเพื่อให้เห็นภาพทั้ง 2 ด้าน ตั้งแต่ เทียนวรรณ ถวัติ ฤทธิเดช ฯลฯ

สำหรับประเด็นที่ 3 ที่หนังสือเล่มนี้ช่วยให้เราอ่านการเมืองไทยร่วมสมัยอย่างไรบ้างนั้น ประจักษ์ ชี้ว่า หนึ่ง การต่อสู้ทางความคิดอุดมการณ์ การเมืองไทยเดินทางมายาวนานมาก ถ้าจะเข้าใจคำว่าประชาธิปไตยไทยนิยม จะเห็นว่าเราต้องย้อนกลับไปไกลมาก เพื่อเข้าใจแนวคิดต่างๆ เช่น เรื่องความป็นชาติ เรื่องอะไรฝรั่งอะไรไทย เรื่องรูปแบบการปกครองที่เหมาะสมกับการเมืองไทย

สอง ประเด็นอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญมันกลับขึ้นมาใหม่ แนวคิดเรื่องอำนาจอธิปไตยของไทยที่มันไม่นิ่ง ที่สามารถอภิปรายได้อีกยาวไกล เมื่อมันไม่นิ่งทำให้ เกิดปรากฎการณ์ที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. เคยพูดถึงตัวเองเป็นองค์อธิปัตย์

สาม ตกลงรัฐไทยเป็นรัฐสมัยใหม่จริงหรือเปล่า มันมีอะไรบางอย่างที่มีเรื่องก่อนสมัยใหม่อยู่ในสังคมไทย ในมิติการสร้างรัฐที่ไม่สำเร็จ เรื่องชุมชนจินตนากรรมนี้มันสร้างไม่สำเร็จ

สี่ น้ำยาของรัฐราชการไทย ในยุคการเมืองมวลชน โลกาภิวัฒน์ คำถามคือ จะจัดการอย่างไร ปัญหารัฐราชการส่วนกลางที่ไม่ยืดหยุ่นและกระจายอำนาจ

ไม่เพียงฝ่ายก้าวหน้าตั้งพรรค แต่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมควรตั้งด้วย

ประจักษ์ กล่าวถึงการมีพรรคของคนรุ่นใหม่ฝ่ายก้าวหน้าตั้งพรรคนั้น ว่า เป็นเรื่องดี แต่ไม่พอ คิดว่าพวกฝ่ายอนุรักษ์นิยมควรมาตั้งพรรคด้วย โดยที่มีชุดอุดมการณ์มาเสนอด้วย อนุรักษ์นิยมไม่ใช่อำนาจนิยมเสมอไป แต่เป็นเรื่องที่เชื่อการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป ยึดขนบ ตรงนี้เป็นสิ่งที่อยากเห็น แต่ว่าที่ผ่านมาพรรคแนวนี้ไม่ค่อยเห็น ที่ใกล้เคียงที่สุดคือพรรคประชาธิปัตย์ที่ตั้งมาต่อสู้กับพรรคคณะราษฏร แต่เมื่อหลัง 14 ตุลา พรรคถูกครอบโดยนักธุรกิจ นักการเมืองท้องถิ่น ทำให้เราไม่มีชุดความคิดที่เป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยม คิดว่าถ้ามีและไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารน่าจะมีตั้งพรรคการเมืองเข้ามาสู้ในระบบ

การรัฐประหารตัวเอง อาจเกิดขึ้นอีก

ประจักษ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนพรรคทหารนั้นฝากความหวังไม่ได้ มีมาทุกยุคทุกสมัย ไม่ชนะการเลือกตั้ง เป็นพรรคขนาดเล็กมาก การที่พรรคทหารล้มเหลวในระบบเลือกตั้งทำให้ทหารเกิดการรัฐประหารตัวเองบ่อยๆ เช่นปี 2494 2501 2514 เพื่อกระชับอำนาจ เพราะกลับไปเลือกตั้งแล้วคุมอำนาจไม่ได้ จึงยกเลิกระบบรัฐสภา ทำไมถึงพูดเรื่องนี้เพราะมันอาจเกิดขึ้นอีก มันมีความรู้ที่สั่งสมกันมาสำหรับการรัฐประหาร

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net