Skip to main content
sharethis

วงคุยชี้ทั้งหนัง Insects in the Backyard และเฟสบุ๊คคือตัวเชื่อมหนึ่งที่ให้คนเข้าใจความหลากหลายทางเพศ ไม่ใช่แค่ LGBT แต่เรื่องเพศมีความหลากหลายไม่สิ้นสุด พบปัญหาคนมักยอมรับถ้าคนอื่นเป็น แต่รับไม่ได้เมื่อเป็นคนในครอบครัว เผยอุปสรรคเมื่อเปิดเผยตัวตน ครอบครัวถูกสังคมกดดัน แต่สิ่งสำคัญคือความรักในครอบครัว

 

วานนี้ (29 พ.ย.2560) ตรงกับวันสิทธิความหลากหลายทางเพศ นิตยสารไบโอสโคป ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ และโรงภาพยนตร์ house RCA จัดฉายภาพยนตร์ Insects in the Backyard “แมลงรักในสวนหลังบ้าน” รอบแรกในเมืองไทย หลังหนังโดนแบนมานาน 7 ปี อันเป็นหนังไทยเรื่องแรกในประวัติศาสตร์ที่โดนแบนภายใต้ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติพ.ศ.2551 และต่อสู้จนสุดกระบวนการ ศาลตัดสินให้ฉายได้โดยกำหนดเป็นผู้ชมอายุ 20 ปีขึ้นไป แต่ให้ตัดฉากที่เป็น “หนังเอ็กซ์” ออก

“7 ปีที่แล้ว เราอยากทำเรื่องนี้มาตลอด การที่เราถูกโดนแบนมันเป็นตราบาปในชีวิตมากๆ เราไม่เข้าใจว่าทำไมต้องโดนแบนเพราะเราคิดว่าสิ่งที่เราทำมันถูก แต่มีคนมาบอกว่ามันไม่ดี จนมาวันนี้ได้เห็นภาพทุกคนกำลังจะได้ดูหนังที่เราทำด้วยความตั้งใจ รู้สึกดีใจอย่างบอกไม่ถูก เราได้พิสูจน์แล้วว่าตลอด 7 ปีที่ผ่านมาเราไม่ได้ทำอะไรผิด และเราต่อสู้เพื่อสิ่งนั้นมาตลอด ขอบคุณทุกคนมากๆ จริงๆ” ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ผู้กำกับภาพยนตร์ Insects in the Backyard กล่าวทั้งน้ำตาหลังจบเวทีพูดคุยเรื่อง ทิศทางความหลากหลายทางเพศในเมืองไทย ซึ่งมี พอลลีน งามพริ้ง อดีตแกนนำกลุ่ม “เชียร์ไทย เพาเวอร์” ผู้ที่เคยท้าชิงตำแหน่งนายกสมาคมฟุตบอลไทยฯ และล่าสุดเผยตัวว่าเป็นทรานเจนเดอร์  และ นัยนา สุภาพึ่ง ที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ ร่วมเสวนา

Insects in the Backyard  พูดถึง ครอบครัวของธัญญ่า สาวประเภทสองที่เลี้ยงดูลูก 2 คน และพยายามสร้างครอบครัวแสนสุขขึ้นแต่ลูกๆ ของเธอกลับกระจัดกระจายไปเรียนรู้ความรักในรูปแบบของตัวเอง แม้เนื้อหาบางส่วนมี “หนังเอ็กซ์” ซึ่งทำให้เป็นปัญหา แต่ธัญญ์วาริน  ยืนยันว่าไม่ได้เจตนามีเพื่อปลุกเร้าอารมณ์ เมื่อพิจารณาเนื้อหาโดยรวมทั้งหมดจะพบว่าตนกำลังพูดถึงปัญหาสังคม ทั้งเรื่องความรักความเข้าใจในครอบครัว และเรื่องความหลากหลายทางเพศ 

ประชาไทถอดความเสวนา ภาพยนตร์ Insects in the Backyard หนึ่งในประตูเปิดสู่โลกที่สิทธิความหลากหลายทางเพศควรถูกพูดถึง และในปัจจุบันไม่ใช่เพียง LGBT แต่เพศนั้นเลื่อนไหลไม่ตายตัวไม่อาจจัดประเภท พร้อมรับฟังประสบการณ์ตรงจากการเผยตัวตน เปลี่ยนผ่านจากเพศชายเป็นเพศหญิง และอุปสรรคที่ต้องเผชิญจากคนรอบข้าง


0000


(ซ้ายไปขวา): พอลลีน, นัยนา, ธัญญ์วาริน 
 

Insects in the Backyard และเฟสบุ๊คคือตัวเชื่อมหนึ่งที่ให้คนเข้าใจความหลากหลายทางเพศ

ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ กล่าวว่า หนังเรื่อง Insects in the Backyard พูดเรื่องพื้นฐานที่สำคัญที่สุดคือครอบครัว ถ้าครอบครัวไม่เข้าใจสิ่งที่เราเป็น แล้วมันจะก้าวข้ามไปเข้าใจสังคมได้ยังไง

ที่เลือกวันนี้เป็นวันเปิดตัวนั้นมีเหตุผล เพราะเป็นวันสิทธิความหลากหลายทางเพศ มีคนเข้ามาถามว่ามีวันนี้ทำไม จะส่งเสริมให้คนเป็นเกย์หรือไง เราก็เลยเข้าไปตอบเขาว่า ที่มีวันนี้ก็เพื่อให้คนอย่างคุณเข้าใจว่าไม่ต้องส่งเสริมให้มีเกย์หรอก เพราะมีอยู่แล้ว การที่มีวันนี้เพื่อจะบอกคุณว่าคนเหล่านี้เขามีสิทธิเท่าเทียมกับคุณ เป็นมนุษย์ไม่แตกต่างกัน ถ้าเรามีความสามารถในการทำหนัง เราก็ใช้หนังนี่แหละในการบอกว่าเรามีตัวตนในสังคม ทำความเข้าใจกับสังคมว่าควรเคารพคนอื่นที่มีรสนิยมแตกต่างจากคุณด้วย ทุกคนมีสิทธิที่จะเป็นคนหลากหลายทางเพศ

เราทำหนังเรื่องนี้เมื่อ 7 ปีที่แล้ว แต่พอปีนี้มีพี่พอลลีนเปิดเผยตัวว่าเป็นทรานเจนเดอร์ขึ้นมา ก็กลายเป็นกรณีศึกษา ให้สังคมได้ แม้ว่าจริงๆ ไม่ว่าเมื่อไหร่ก็มีคนแบบนี้อยู่แล้ว แต่สังคมทุกวันนี้เริ่มทำความเข้าใจมากขึ้น จริงๆ ต้องขอบคุณเฟสบุ๊คซึ่งเป็นตัวเชื่อมให้คนทำความเข้าใจสังคมผ่านการเรียนรู้ในเฟสบุ๊ค มันมีการเผยแพร่รสนิยมของแต่ละคน ทำให้มีการแชร์ต่อๆ กันไป เมื่อคนดูเฟสบุ๊คของคนที่ไม่รู้จักก็ทำให้เขาเห็นความหลากหลาย มีกะเทยคบกับทอมแล้วมีลูก มีผู้ชาย-ผู้ชายแต่งงานกัน ผู้หญิง-ผู้หญิงแต่งงานกัน จากประเทศไทย ประเทศนั้นประเทศนี้ สื่อกระแสหลักก็นำเสนอชีวิตคนที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น


ไม่ใช่แค่ LGBT แต่เรื่องเพศมีความหลากหลายไม่สิ้นสุด เราต้องก้าวพ้นพันธการของสังคมแบบเดิม

นัยนา สุภาพึ่ง ที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ กล่าวว่า สถานการณ์สิทธิของคนที่มีความหลากหลายทางเพศเมื่อเจ็ดปีที่แล้วจนถึงตอนนี้ไม่ต่างกัน แต่บรรยากาศเฟสบุ๊กมันทำให้เราเห็นอะไรมากขึ้น ทั้งการเผยตน การสร้างหนัง รวมถึงเฟสบุ๊กเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่จะช่วยยุติการทำร้ายกันเรื่องเพศ

แต่องค์ความรู้เรื่องเพศเรายังติดกรอบว่ามีหญิงกับชาย เป็นเรื่องยากที่เราจะทำความเข้าใจได้ว่ามันมีหลากหลายเพศ ถ้าไม่มีหนังเรื่องนี้ หรือไม่มีการเผยตัวตนของคุณพอลลีน เราก็ยังไม่มีความเข้าใจในมนุษย์อย่างแท้จริง

“คนที่เผยตัว ไม่ได้อยากเรียกว่า LGBT เพราะมันมีเยอะไม่มีที่สิ้นสุด มนุษย์มีความแตกต่างหลากหลาย มันเป็นอิสรภาพเสรีภาพของเราที่จะแสดงออกเรื่องเพศ แต่มนุษย์ไม่รู้ เราเดินตามกันไปและคิดว่ามันคือความปกติ แต่จริงๆ แล้วความปกติคือความไม่ปกติ เราพาตัวเองเข้าไปอยู่ในพันธนาการและหาทางออกมาไม่ได้

“ครู พ่อ แม่ ลงโทษด้วยความปรารถนาดี บังคับให้ลูกเป็นชายหรือหญิงอย่างที่ตัวเองต้องการ อย่างที่ตัวเองถูกสอนมา ซึ่งเป็นความรุนแรงอย่างหนึ่ง สาหัสยิ่งกว่าการทำร้ายร่ายกาย เราทำร้ายกันด้วยการพันธนาการให้เรามีแค่สองเพศ เพราะฉะนั้นการเผยตนของมนุษยชาติในโลกนี้เป็นคุณูปการอย่างยิ่งที่จะปลดเปลื้องสังคมนี้ออกจากเรื่องนี้”

ถึงเวลาที่เราต้องแก้ไขความผิดพลาดในอดีต เริ่มจากฎหมายที่ออกแบบมาเพียงแค่สองเพศ ซึ่งเป็นความรุนแรงที่มองไม่เห็น มันเจ็บลึกๆ แล้วไม่รู้จะใส่ยาตรงไหน มันขมขื่น
 

อุปสรรคเมื่อเผยตัวตน ครอบครัวถูกสังคมกดดัน แต่สิ่งสำคัญคือความรักในครอบครัว

พอลลีน งามพริ้ง ทรานเจนเดอร์ที่เปิดตัวแก่สังคม กล่าวว่า สิ่งที่ยากที่สุดคือสังคม เป็นอุปสรรคสำคัญ คนในครอบครัวส่วนใหญ่ต้องรักกันอยู่แล้ว ความเข้าใจของครอบครัวอาจไม่มากเท่าความรัก เขาอาจไม่เข้าใจว่าทำไมหญิงต้องเป็นชาย ชายต้องเป็นหญิง เหมือนที่เขาไม่เข้าใจว่าทำไมผู้หญิงชอบซื้อกระเป๋า หรือผู้ชายชอบบอล ตอนแรกอาจไม่เข้าใจ แอนตี้ แต่เราคุยกันด้วยความรัก สุดท้ายไม่ว่าเราจะเป็นอะไร ความรักของเราก็ไม่เปลี่ยนแปลง

“อุปสรรคจริงๆ คือสังคม หรือชาวบ้านที่มีอิทธิพลต่อครอบครัว ต้องใช้ความอดทนต่อสู้กับเสียงรอบนอก เราก้าวพ้นเรื่องนี้ไปแล้ว แต่ก็ต้องให้เวลากับสมาชิกครอบครัวหลุดพ้นจากพันธนาการของชาวบ้าน ทุกคนต้องอดทนและยืนยันในความรักของสมาชิกในครอบครัวซึ่งกันและกันถึงจะแก้ปัญหาได้” พอลลีนกล่าว


ประสบการณ์ภายในครอบครัวเมื่อเผยตัวตน

ธัญญ์วาริน เล่าว่า ส่วนตัวเป็นคนโชคดีที่คนในครอบครัวไม่เคยว่าว่าเรามีรสนิยมอย่างไหน แม่รักและเข้าใจ น้องสาวก็เป็นคนที่รักและเข้าใจเราตลอด แม่ น้องสาว น้องชายไม่เคยว่าสักครั้งที่จะว่าเราให้เจ็บช้ำน้ำใจ มีครั้งหนึ่งน้องชายต่อยเพื่อนที่มาแซวว่าเราเป็นตุ๊ด แม่ก็ช่วยปกป้องเรากับญาติคนอื่นที่มาแซว แม่เราต้องเข้มแข็งขนาดไหนที่เราเป็นแบบนี้และต้องคอยตอบคำถามกับสังคม กว่าแม่จะก้าวข้ามเรื่องนี้ได้มันเป็นเรื่องยาก เรารักแม่มาก

พอลลีน กล่าวว่า โชคดีที่ครอบครัวเข้าใจ แต่ก็มีปัญหาก่อนนั้น เป็นการต่อสู้ทางความคิดกันอยู่พอสมควร ตอนที่เราจะเปลี่ยน มันจากหน้ามือเป็นหลังมือเลย จากชายแล้วเป็นหญิงเลย ไม่ได้มีอยู่ตรงกลาง ประมาณ 5 ปีที่เป็นกระบวนการยอมรับตัวเอง เริ่มต่อสู้ข้างในก่อน พอผ่านมาก็ถึงจะให้ครอบครัวรู้ เริ่มจากคนใกล้ตัว ไปสู่สังคม

พอลลีนเล่าถึงช่วงเวลาที่บอกภรรยาว่าอยากเป็นผู้หญิงว่า เริ่มจากเราแอบแต่งหญิง แอบใช้ฮอร์โมน แต่งหญิงหลังเลิกงาน เป็นงานอดิเรก แต่ปรากฏมีเส้นผมไปติดในเสื้อที่ใส่ทำงาน ภรรยาเป็นคนเอาผ้าไปซัก ซึ่งเมื่อก่อนเรายอมรับว่าเป็นคนเหยียดเพศนิดๆ โลกนี้เป็นโลกของผู้ชาย ภรรยาไม่ต้องทำงาน อยู่บ้าน เขาเห็นเส้นผม โทรมา ร้องไห้ คิดว่าเรามีผู้หญิงคนอื่น เราก็บอกว่าไม่ใช่ผู้หญิงคนอื่น ผู้หญิงคือพี่นี่เองแหละ ภรรยาก็ดีใจที่เราไม่มีเมียน้อย ดีใจได้อยู่พักหนึ่ง เขาถามว่าเรารู้สึกยังไง เราก็บอกว่าชอบมาก แล้วเราก็บอกว่าไปเจอจิตแพทย์มาแล้ว แล้วก็พาภรรยาไปคุยกับจิตแพทย์ด้วย เรายอมรับสลับกับปฏิเสธตัวเองมาหลายรอบ จนตอนนั้นยอมรับแล้วเลยไปหาจิตแพทย์ ให้เขามองในมุมวิชาการ

"คนอย่างเรามีอยู่แล้ว ไม่ว่าสังคมจะปิดหรือเปิด แต่เมื่อสังคมผ่อนปรนและเปิดโอกาสมันจะทำให้คนอย่างพวกเราอยู่อย่างมีความสุขมากขึ้น มีศักยภาพในการทำงาน ทำสิ่งต่างๆ"


คนมักยอมรับถ้าคนอื่นเป็น แต่รับไม่ได้เมื่อคนในครอบครัวเป็น

พอลลีนตั้งข้อสังเกตว่า ปัญหาอันหนึ่งที่สัมผัสมา เวลาที่เรื่องนี้เกิดกับใครที่ไม่ใช่ญาติเรา คนทั่วไปจะยอมรับได้ แต่พอมาเกิดขึ้นกับคนในครอบครัวกลับยอมรับไม่ได้ ซึ่งน่าเศร้า เพราะในความเป็นจริงคนในครอบครัวสมควรได้รับความรัก มากกว่าคนอื่นที่ไม่เข้าใจ

ธัญญ์วารินเล่าเสริมว่า วันหนึ่งไปเป็นวิทยากรที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น น้องไปทำวิดีโอสัมภาษณ์ว่าคิดยังไงที่มีกลุ่มคนหลากหลายทางเพศในสังคม ส่วนใหญ่ตอบว่าโอเค รับได้ แต่เมื่อถามว่า ถ้าลูกเป็นล่ะ ถ้าคนในครอบครัวเป็นล่ะ เขารับไม่ได้ พูดถึงขนาดให้ไปค้ายาบ้า ฆ่าคนตายดีกว่าเป็นตุ๊ดเป็นกะเทย

“นี่แหละที่เราต้องทำความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ เป็นสาเหตุที่ต้องทำหนัง ตอนทำหนัง ‘ไม่ได้ขอให้มารัก’ มีลูกที่เป็นเกย์พาแม่ไปดู แล้วแม่เขาก็ร้องไห้ออกมา มีคนหลังไมค์มาเยอะว่าขอบคุณที่ทำเรื่องนี้ เพราะมันเป็นสิ่งที่ไปบอกพ่อบอกแม่ได้มากกว่าการบอกตรงๆ” ธัญญ์วารินกล่าว

ขณะที่นัยนากล่าวเสริมว่า ที่คนในครอบครัวรับไม่ได้ เพราะเขากลัวว่าลูกหรือคนในครอบครัวจะใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก เอกสารอะไรต่างๆ มันมีปัญหาในการดำเนินชีวิตหมดเลย เขาอยากให้เราสะดวกสบาย อยู่ในระเบียบวินัย ปลอดภัย แต่เขาไม่รู้ว่าความปลอดภัย ระเบียบวินัยมันคือความผิดพลาดและต้องแก้ไข หนังเรื่องนี้และการเผยตัวคุณพอลลีนอาจเป็นการเปิดประตูให้คนตื่นรู้ แต่เราต้องรื้อสร้างใหม่ตั้งแต่กฎหมาย ต้องตระหนักว่าความหลากหลายทางเพศเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ รัฐธรรมนูญปี 2550 พูดเรื่องความหลากหลายทางเพศเป็นครั้งแรก ห้ามเลือกปฏิบัติทางเพศไม่ใช่เพียงเพศชายกับเพศหญิง


กฎหมายความหลากหลายทางเพศคือรากฐานสร้างความเข้าใจและการรับรู้แก่สังคม

นัยนากล่าวว่า การที่เรามีเครื่องมือหรือกลไกภายนอกยอมรับความหลากหลายทางเพศอย่างเป็นทางการ มันจะทำให้คนเข้าใจเรื่องนี้ และเปิดพื้นที่เปิดประตูที่จะทำให้คนเรียนรู้เข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น

เรื่องคำนำหน้าบัตรประชาชน การแต่งกายในโรงเรียน การใส่ชุดรับปริญญา หรือกระทั่งมันอาจไม่ใช่เพียงกฎหมายคนรักเพศเดียวกันแต่งงานกัน แต่มันควรเป็นกฎหมายที่คนทุกคนที่รักกันไม่ว่าเพศอะไรก็แต่งงานกันได้ มันคือความหลากหลาย คือความอุดมสมบูรณ์ของมนุษยชาติ คือธรรมชาติที่แท้ เหล่านี้ต้องมีกฎหมายความหลากหลายทางเพศ

“ตอนนี้เราเปิดประตูตื่นรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศแล้ว แล้วประตูต่อไปเราจะต้องทำให้ทุกคนตระหนักว่าเรื่องความหลากหลายทางเพศเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน คิดดูว่าถ้าเรายอมรับความหลากหลาย คนอย่างคุณพอลลีนจะได้แสดงศักยภาพอีกมากเท่าไหร่” นัยนากล่าว

พอลลีนกล่าวติดตลกว่า อาจจะเป็นนายกสมาคมฟุตบอลหญิงไปแล้วก็ได้ (หัวเราะ) เรายังไปเตะฟุตบอลกับผู้ชายอยู่เลย ความหลากหลายไม่ใช่แค่ LGBT มันเยอะมากเท่ากับประเภทของอาหารนั่นแหละ และมันคือความชอบของแต่ละคนที่จะมีวิถีชีวิตในแบบต่างๆ และไม่ต้องมีคำจำกัดความมากมายว่าเราอยู่ในประเภทไหน ดังนั้นหนังเรื่อง Insects in the Backyard จึงเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการให้ความรู้กับคนในสังคม
 

เว็บไซต์ไอลอว์ระบุว่า คดี Insects in the Backyard วางบรรทัดฐานใหม่ การห้ามฉายภาพยนตร์
คดี Insects in the Backyard เป็นครั้งแรกที่ปัญหาเรื่องการพิจารณาภาพยนตร์ ตามพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2550 ได้ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลปกครอง ซึ่งไม่ว่าผลการตัดสินจะออกมาเป็นอย่างไร ก็จะทำให้หน่วยงานรัฐระมัดระวังมากขึ้นในการใช้อำนาจออกคำสั่งห้ามฉายภาพยนตร์ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

1. คณะกรรมการฯ ให้เหตุผลละเอียดชัดเจนมากขึ้น
การไม่อนุญาตฉายภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard คณะกรรมการฯ ให้เหตุผลเพียงว่ามีเนื้อหา ขัดต่อศีลธรรมอันดี ซึ่งเป็นประเด็นที่ธัญญ์วารินยื่นฟ้องคดี โดยระบุว่าการให้เหตุผลเช่นนี้ไม่เพียงพอที่จะให้เข้าใจได้ ทำให้คำสั่งนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หลังจากการยื่นฟ้องคดีนี้ เห็นได้ว่าเมื่อคณะกรรมการฯ จะสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์อีก ก็จะระบุเหตุผลโดยละเอียดชัดเจนและเข้าใจได้มากขึ้น เช่น กรณีภาพยนตร์เรื่องฟ้าต่ำแผ่นดินสูง คณะกรรมการฯ ระบุถึงฉากที่คิดว่ามีปัญหาถึง 9 ฉากลงรายละเอียดเป็นวินาที และอธิบายเหตุผลประกอบการวินิจฉัยไว้ยาวเกือบ  1 หน้า

2. คณะกรรมการฯ ให้โอกาสเข้าชี้แจงข้อเท็จจริงและแก้ไขตัดทอนก่อน
การไม่อนุญาตฉายภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard คณะกรรมการฯ ไม่ได้เปิดโอกาสให้ ธัญญ์วาริน และผู้สร้างเข้าพูดคุยแสดงเหตุผลก่อนการออกคำสั่ง ซึ่งเป็นประเด็นที่ธัญญ์วารินยื่นฟ้องคดี หลังจากการยื่นฟ้องคดีนี้ เห็นได้ว่าเมื่อคณะกรรมการฯ จะสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์อีก ก็จะเชิญผู้สร้างภาพยนตร์มาพูดคุยให้โอกาสโต้แย้งอย่างเต็มที่ก่อนทุกครั้ง เช่น กรณีภาพยนตร์เรื่องเช็คสเปียร์ต้องตาย และกรณีภาพยนตร์เรื่องฟ้าต่ำแผ่นดินสูง เป็นต้น

3. คณะกรรมการฯ อ้างอิงอำนาจตามกฎกระทรวงได้ถูกต้องมากขึ้น
การไม่อนุญาตฉายภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard คณะกรรมการฯ ให้เหตุผลว่ามีเนื้อหาขัดต่อศีลธรรมอันดี ซึ่งเป็นเหตุผลตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 29 ของพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ขณะที่ธัญญ์วารินยื่นฟ้องคดีว่า การสั่งห้ามฉายภาพยนตร์จะอาศัยเพียงหลักเกณฑ์ในมาตรา 29 ไม่ได้ แต่ต้องอาศัยหลักเกณฑ์ในกฎกระทรวงด้วย  ถ้าไม่ได้อ้างอิงถึงหลักเกณฑ์ในกฎกระทรวงก็ถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย หลังจากการยื่นฟ้องคดีนี้ เห็นได้ว่าเมื่อคณะกรรมการฯ จะสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์อีก ก็จะให้เหตุผลอย่างละเอียดรอบคอบมากขึ้นโดยอ้างอิงหลักเกณฑ์ตามกฎกระทรวงให้ชัดเจน  เช่น กรณีภาพยนตร์เรื่องเช็คสเปียร์ต้องตาย คณะกรรมการให้เหตุผลว่าเพราะมีเนื้อหาที่อาจก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ และกรณีภาพยนตร์เรื่องฟ้าต่ำแผ่นดินสูง คณะกรรมการให้เหตุผลว่า มีเนื้อหาก่อให้เกิดความแตกสามัคคีระหว่างคนในชาติ และมีเนื้อหาที่มีผลกระทบกระเทือนต่อสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นถ้อยคำตามที่ระบุไว้ในกฎกระทรวง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net