Skip to main content
sharethis

สมชัย ศรีสุทธิยากร เผย กกต. พร้อมออกระเบียบที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง ธ.ค. นี้ แม้ คสช. ยังไม่ปลดล๊อคให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมืองก็ตาม พร้อมวิจารณ์กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. จะทำให้การเลือกตั้งวุ่น ชี้หากเกิดข้อผิดพลาดไม่ใช่ปัญหาจาก กกต.

แฟ้มภาพ

8 พ.ย. 2560 สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กล่าวถึงการประชุมกกต. ของเมื่อวานนี้ซึ่งไม่ได้หารือเรื่องการประกาศระเบียบ กกต. ที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง เนื่องจากมีวาระการประชุมจำนวนมาก และตอนนี้การทำงานยังอยู่ในกรอบระยะเวลา 60 วันตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ไม่ได้เห็นว่า ไม่ควรพิจารณาก่อนที่ คสช. จะปลดล็อคพรรคการเมือง เพราะเมื่อถึงเวลาอย่างไรก็ต้องประกาศระเบียบ คาดว่าจะประกาศในต้นเดือน ธ.ค. ซึ่งจะครบ 60 วัน ตามที่กฎหมายพรรคการเมืองกำหนด

“ไม่ว่าจะปลดล็อคพรรคการเมืองหรือไม่ กกต. ต้องประกาศระเบียบ แต่พรรคการเมืองอาจจะยังทำอะไรไมได้ เพราะมีคำสั่งคสช. ที่ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมอยู่ อย่างไรก็ตาม ในบ่ายวันนี้ ผมจะแถลงข่าวเพื่อชี้แจงสิ่งที่พรรคการเมืองต้องดำเนินการภายในกรอบ 90 วัน ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง” สมชัย กล่าว

สมชัย กล่าวต่อถึงกรณีที่ มีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) มีแนวคิดตั้งกรรมาธิการเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกิบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้ม่าซึ่ง ส.ว. เพื่อให้การพิจารณากฎหมายเร็วขึ้น ว่า ตามกระบวนการ กรธ. ต้องส่งร่างกฎหมายลูกให้ สนช. พิจารณา ทาง สนช.ต้องตั้งกรรมาธิการพิจารณา ซึ่งมีตัวแทนกรธ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายนั้นร่วมพิจารณา เมื่อกระบวนการพิจารณาของ กมธ. เสร็จ จะต้องนำเสนอต่อที่ประชุม สนช. เมื่อ สนช.พิจารณาเสร็จ จะต้องส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูว่ามีประเด็นหรือมีความเห็นขัดแย้งหรือไม่ภายในเวลา 14 วัน ถ้าไม่มีประเด็นโต้แย้งกฎหมายจะเข้าสู่กระบวนการที่นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ 

“จากการที่ผมติดตามร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ไม่เห็นมีประเด็นที่จะต้องโต้แย้ง เพราะเนื้อหาไม่มีประเด็นขัดรัฐธรรมนูญ เพราะจะทำให้กระบวนการร่างกฎหมายล่าช้า การที่ผมเสนอความเห็นเรื่องกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ในช่วงนี้ ยืนยันว่าไม่ได้ตีรวน แต่ต้องการนำเสนอให้ประชาชนสนใจ และติดตามการร่างกฎหมาย เพื่อให้กฎหมายฉบับนี้อยู่ในสายตาของประชาชนและพรรคการเมือง รวมทั้งสะท้อนให้ สนช. ที่จะพิจารณาเรื่องนี้รับทราบด้วย” สมชัย กล่าว

ต่อมาในช่วงบ่าย สมชัย ได้ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้า ในการออกระเบียบและประกาศ กกต. ที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองว่า ขณะนี้สำนักงาน กกต. ได้เตรียมพร้อมไปเกือบ 100% แล้ว โดยจะนำเข้าที่ประชุม กกต.ในวันจันทร์ที่ 13 พ.ย. เพื่อตรวจดูความเรียบร้อย 

ทั้งนี้ นายสมชัย ยังแสดงความกังวลใจ ในบทเฉพาะกาลของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง โดยเฉพาะในมาตรา 141 ที่กำหนดกรอบระยะวลาให้พรรคการเมืองต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 90 วัน ซึ่งใน มาตรา 141 (1) กำหนดให้พรรคการเมืองต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงสมาชิกพรรค

“พรรคการเมืองต้องแจ้งว่า มีสมาชิกเหลืออยู่แตกต่างไปจากเดิมอย่างไร โดยจะต้องแจ้งภายในวันที่ 5 มกราคม 2561 ที่จะครบ 90 วัน หากไม่สามารถแจ้งได้ภายในกรอบเวลาที่กำหนด พรรคการเมืองจะต้องทำหนังสือขอขยายเวลามาที่นายทะเบียนพรรคการเมือง ซึ่งจะขยายเวลาได้ไม่เกิน 3 ปี และในระหว่างขยายเวลา จะไม่สามารถส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง และจะไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง และเมื่อครบกำหนดเวลา พรรคการเมืองใดไม่แจ้งการเปลี่ยนแปลงสมาชิกพรรค กกต. ก็ต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้พรรคการเมืองนั้นสิ้นสภาพไป”สมชัย กล่าว

สำหรับเรื่องของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. นั้น สมชัยได้แสดงความเห็นว่า มุมมองการร่างกฎหมายของคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)ชุดนี้กลับมีด้านที่ล้าหลัง ไม่เกิดประโยชน์ ไม่สามารถป้องกันทุจริต และทำให้ประชาชนเกิดความยากลำบากในการใช้สิทธิ ซึ่งเห็นว่ามีข้อเสนอที่พิลึกพิลั่นมากมาย คือ

1.ให้หมายเลขผู้สมัครของพรรคการเมืองในแต่ละเขตเป็นคนละเบอร์ แทนที่จะใช้หมายเลขเดียวกันทั้งประเทศให้ประชาชนจดจำได้ง่าย และส่งเสริมระบบพรรคให้เข้มแข็ง

2.การกำหนดให้วิธีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งต้องใช้บัตร และกำหนดเงื่อนไขปิดกั้นการใช้วิธีการอื่นที่ทันสมัยและสะดวกต่อประชาชน

3.การกำหนดวิธีการรับสมัครให้ใช้วิธีการสมัครด้วยตนเองและให้ย้ายสถานที่รับสมัครได้หากเกิดความวุ่นวาย ทั้งๆที่เคยมีประสบการณ์การถูกปิดล้อมจนทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ

4.การเพิ่มจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงเป็น 1,000 คน ต่อหนึ่งหน่วยเลือกตั้ง ทำให้จำนวนหน่วยเลือกตั้งทั้งประเทศลดลง ประชาชนต้องเดินทางไกลขึ้น และจำนวนผู้รอในแถวเพื่อขอใช้สิทธิจะยาวขึ้นกว่าเดิม

5.การลดจำนวนกรรมการประจำหน่วยให้เหลือไม่น้อยกว่า 5 คน จากเดิมใม่น้อยกว่า 9 คน การดูแลจัดการจะยากขึ้น การทุจริตซื้อกรรมการยกหน่วยง่ายขึ้น

6.การให้บัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิหน้าหน่วย ไม่ต้องมีหมายเลขประจำตัวประชาชน เพิ่มความยุ่งยากในการจัดพิมพ์ เนื่องจากบัญชีในหน่วยยังต้องมีหมายเลขประจำตัวประชาชน ทำให้ต้องพิมพ์สองรอบ และ เปิดช่องให้ทุจริตส่งผีเข้าบ้านเลขที่ปลอมได้โดยง่าย

7.การห้ามทำโพลล์ที่มีผลต่อการตัดสินใจการใช้สิทธิ ซึ่งเป็นการปิดกั้นสื่อและสถาบันการศึกษาในการใช้หลักวิชาการเพื่อส่งเสริมการเลือกตั้ง

“หลักการที่หยิบยกขึ้นมาทั้ง 7 เรื่อง ถือเป็นความล้าหลังของกฎหมายฉบับนี้ เป็นเรื่องของการออกแบบวิธีการจัดการเลือกตั้งที่ลงรายละเอียดมากเกินไป และไม่ได้รับฟังความเห็นจากฝ่ายปฏิบัติ แต่ไม่ใช่ประเด็นที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องมีการโต้แย้งโดยการตั้งกรรมาธิการร่วม อย่างไรก็ตามขอเสนอแนวคิดบันทึกไว้หากมีการจัดการเลือกตั้งเกิดขึ้นและเกิดปัญหาต่างๆตามมา เพื่อให้ประชาชนรับทราบไว้ว่าปัญหานั้นมาจากผู้ออกแบบ คือ กรธ. และผู้ผ่านกฎหมาย คือ สนช. ไม่ใช่ ผู้ปฏิบัติ อย่าง กกต." สมชัย กล่าว

เรียบเรียงจาก : สำนักข่าวไทย 1 , 2 , เดลินิวส์ออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net