Skip to main content
sharethis

ธนาคารโลกคาดเศรษฐกิจโลกปีนี้โต 2.9% คาดไทยในปี 60 เติบโต 3.5% ปี 61 เติบโต 3.6% ต่ำสุดในภูมิภาคอาเซียนขณะที่ อินโด 5.1% มาเลเซีย 5.2% ฟิลิปปินส์ 6.6% เวียดนาม 6.3% กัมพูชา 6.8% ลาว 6.7% และพม่า 6.4%

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา ข่าวสดออนไลน์และ Voice TV รายงานว่า ชูเดียร์ แชตตี้ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เปิดเผยว่า ธนาคารโลกประเมินการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่คาดปีนี้โตได้ 2.9% ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกเติบโตได้อย่างเข้มแข็ง เห็นได้จากการฟื้นตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และการค้าโลกเป็นปัจจัยที่ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคจะเติบโตอยู่ที่ 6.4%ในปี 2560 เพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดโต 6.2%

ทั้งนี้ เป็นผลจากเศรษฐกิจจีนเติบโตมากกว่าเดิมที่คาดโต 6.7% รวมถึงประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเติบโตสูงขึ้นเล็กน้อยในปี 2560 อยู่ที่ 5.1% และปี 2561 อยู่ที่ 5.2% ซึ่งส่งผลดีต่ออุปสงค์ภายในประเทศไทยด้วย ทำให้คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2560 เติบโต 3.5% และปี 2561 เติบโต 3.6% ซึ่งถือว่าต่ำสุดในภูมิภาคอาเซียนเทียบกับเศรษฐกิจอินโดนีเซียที่ปีนี้คาดเติบโต 5.1% มาเลเซียคาดโต 5.2% ฟิลิปปินส์คาดโต 6.6% เวียดนามคาดโต 6.3% กัมพูชาคาดโต 6.8% ลาวคาดโต 6.7% และพม่า 6.4%

“เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้เร็วกว่าที่คาดไว้ เนื่องจากการส่งออกและการท่องเที่ยวที่เข้มแข็ง นโยบายการเงินที่ยังผ่อนคลายแต่ยังคงต้องมีหลักเกณฑ์กำกับดูแลที่เข้มงวด ที่สำคัญประเทศไทยังคงต้องพึ่งพาการลงทุนจากภาครัฐขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นหลัก” ซูเดียร์ กล่าว

รายงานข่าวระบุด้วยว่า อย่างไรก็ตาม ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียคงต้องระมัดระวังความเสี่ยงเรื่องการขาดดุลการคลัง เห็นได้จากนโยบายการคลังของหลายประเทศในภูมิภาคนี้ คาดว่าจะมีการขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้นในช่วงปี 2560-62 เทียบกับปี 2557-59 อีกทั้งหนี้ภาคเอกชนอยู่ในระดับสูง แม้ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศจะมีมากเพียงพอแต่ก็ต้องเผชิญกับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนของค่าเงินในระยะข้างหน้า หากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยภายนอกที่อาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการเติบโตที่ดี โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจของประเทศก้าวหน้าบางประเทศยังคงมีความไม่แน่นอน ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ยังคงเพิ่มขึ้น สหรัฐและยุโรปอาจเพิ่มความเข้มงวดในการดำเนินนโยบายการเงินเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้

วิคตอเรีย กวากวา รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการขยายตัวของการค้าโลกล้วนเป็นข่าวดีของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ซึ่งประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ต่างประสบความสำเร็จในการปรับปรุงมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ความท้าท้ายของประเทศต่างๆ อยู่ที่การสร้างสมดุลย์ระหว่างการจัดลำดับความสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้นกับการลดความเปราะบางทางเศรษฐกิจในระยะปานกลาง ซึ่งจะทำให้ภูมิภาคนี้มีรากฐานการเติบโตที่เข้มแข็งเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนและทั่วถึง โดยในประเทศจีน การสร้างความสมดุลย์ระหว่างการลงทุนและการบริโภคภายในประเทศนั้นคาดว่าจะดำเนินต่อไป เศรษฐกิจจีนคาดว่าจะชะลอการเติบโตลงอยู่ที่ร้อยละ 6.4 ในปีพ.ศ. 2561

สำหรับประเทศไทยและมาเลเซียคาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตเร็วกว่าที่คาดไว้ ในระยะแรกเนื่องมาจากการส่งออกที่เข้มแข็ง ซึ่งรวมถึงภาคการท่องเที่ยวและในระยะต่อมาจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้น การเพิ่มขึ้นของค่าแรงแท้จริงส่งผลให้การบริโภคในอินโดนีเซียเพิ่มสูงขึ้น ภาคการเกษตรและการผลิตของเวียดนามฟื้นตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วได้กระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโตไปด้วย ส่วนฟิลิปปินส์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตช้าลงกว่าปีพ.ศ. 2559 เล็กน้อยส่วนหนึ่งมาจากการดำเนินโครงการลงทุนของภาครัฐล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้

สุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นจากการส่งออก การท่องเที่ยวและการลงทุนสาธารณูปโภคพื้นฐานของภาครัฐ ขณะที่เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำทั้งเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.86% เงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.53% อัตราการว่างงานต่ำ อัตราเงินคงคลังยังสูงกว่าหนี้สาธารณะ 2-3 เท่า ขณะที่หนี้สาธารณะอยู่ที่ 41-42%

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net