Skip to main content
sharethis

กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แถลงแผนเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 61 เน้นยุติสถานการณ์รุนแรง สร้างความปลอดภัยในพื้นที่ ดึงประชาชนมีส่วนร่วมเสริมสร้างสันติสุข เร่งพัฒนาเศรษฐกิจ เยกระดับคุณภาพชีวิต

26 ก.ย. 2560 รายงานข่าวจาก กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) แจ้งว่า วันนี้(26 ก.ย.60) เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี  พล.ท. ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 เป็นประธานในการประชุมแถลงแผนเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปี 2561 โดยมีผู้แทนเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้แทนผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9  ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด ที่ปรึกษา ผอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจจังหวัด ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธิน กองทัพเรือ ผู้บังคับหน่วยขึ้นตรง และ ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนแผนเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปี 2561 นั้น พล.ท.ปิยวัฒน์ มีแนวทางให้ ทุกภาคส่วนใช้หลักบูรณาการแผนการปฏิบัติงานร่วมกันในการแก้ปัญหา โดยปัจจุบันพบว่า สถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีแนวโน้มในทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากภาครัฐ  มีทิศทางและพัฒนาการในการแก้ไขปัญหา มีความเข้าใจในวิถีชีวิตและความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม รวมทั้งรับรู้ปัญหาและความต้องการ ของประชาชน ในพื้นที่ การเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ของภาคประชาชน ภาคประชาสังคมและเยาวชนเพิ่มขึ้น กรอปกับนานาชาติและองค์กรต่างประเทศ มีความเข้าใจและให้ความร่วมมือต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มมากขึ้น

สำหรับ นโยบายและยุทธศาสตร์ที่นำมาขับเคลื่อนการปฏิบัติงานนั้น ยึดนโยบายของรัฐบาล โดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ้งได้จัดทำนโยบายการบริหารและพัฒนา  จังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2560-2562  เพื่อใช้เป็นนโยบายหลักของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยึดแนวทางการแก้ปัญหาตามยุทธศาสตร์ความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2560-2564  ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายมุ่งไปสู่การขจัดปัญหาที่เป็นเงื่อนไขที่เอื้อต่อการใช้ความรุนแรงทั้งในระดับบุคคล ระดับโครงสร้างและระดับวัฒนธรรม ซึ่งครอบคลุม ทั้งในมิติของงานความมั่นคง งานพัฒนาและงานอำนวยความยุติธรรม ซึ่งได้กำหนดกรอบเวลาการแก้ไขปัญหาไว้ 3  ระยะ 3 ขั้น ปัจจุบันกำลังจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ขั้นที่ 3 คือการเสริมสร้างสันติสุขและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ในการปฏิบัติงานแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ได้ยึดถือแนวทางการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา ของรัฐบาล คณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ คณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาล โดยกำหนดการขับเคลื่อนงานเป็น 7 กลุ่มงาน ซึ่ง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เป็นหน่วยรับผิดชอบหลัก ในการขับเคลื่อนงานการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งปวงในพื้นที่ และมอบหมายให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนราชการและหน่วยงานอื่นๆของรัฐ ซึ่งมีหน้าที่ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน เร่งรัดการดำเนินการในทุกด้านและทุกมิติ โดยเข้าถึงประชาชนในทุกพื้นที่อย่างแท้จริง และเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน  ตลอดจนสอดคล้องกับปัญหา ความต้องการของประชาชนและลักษณะพิเศษเฉพาะของแต่ละพื้นที่

รายงานข่าวระบุด้วยว่า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า รับผิดชอบในการบูรณาการ งานด้านความมั่นคง งานบังคับใช้กฎหมาย  งานด้านการพัฒนา งานอำนวยความยุติธรรม งานการเสริมสร้างความเข้าใจ และ แสวงหาทางออกจากความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2560 เป็นต้นไป เพื่อรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน พัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นและนำสันติสุขกลับสู่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างยั่งยืน ภายใต้บริบทของ สังคมพหุวัฒนธรรม โดย ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 มีเจตนารมที่จะยุติสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ให้ได้โดยเร็ว เพื่อสร้างสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มีความปลอดภัย ปราศจากเงื่อนไขความรุนแรง ประชาชน มีส่วนร่วมในกระบวนการเสริมสร้างสันติสุขอย่างยั่งยืน และ พัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นเกิดความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” นำมาสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขอย่างแท้จริง ภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net