Skip to main content
sharethis
หลัง 'พิชัย รัตกุล' เสนอแนวทางปรองดองให้พรรคการเมืองจับมือทหารตั้งรัฐบาลแห่งชาติ 'อภิสิทธิ์' แบ่งรับแบ่งสู้ ไม่คัดค้านแต่เห็นว่ายังมีแนวทางอื่นที่ทำได้ ด้าน 'คณิน' ชี้การเลือกตั้งควรแล้วเสร็จภายในส.ค. 2561
 
 
 
10 ก.ย. 2560 สำนักข่าวไทยรายงานว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายพิชัย รัตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เสนอแนวทางปรองดองให้พรรคการเมืองจับมือทหารตั้งรัฐบาลแห่งชาติว่าเป็นเสียงสะท้อนของความห่วงใย ว่าขณะนี้สังคมยังอยู่ในวังวนของความขัดแย้ง เพราะต้องยอมรับว่าทุกคนต้องการให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้าโดยไม่มีปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชน ดังนั้นหากมีอะไรที่จะสร้างความมั่นใจเพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าไปได้ก็ต้องช่วยกันคิด แต่กระบวนการในขณะนี้สิ่งสำคัญคือต้องเดินหน้าตามโรดแมปเพื่อสร้างความเชื่อมั่น โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีหน้าที่ดูแลว่าเมื่อเดินไปแล้วจะทำอย่างไรไม่ให้บ้านเมืองกลับไปสู่ความขัดแย้งเหมือนเดิม ดังนั้นตรงนี้เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจแลกเปลี่ยนพูดคุยกับพรรคการเมือง 
 
“ผมไม่แน่ใจว่าข้อเสนอที่ว่านี้ก่อนหรือหลังเลือกตั้ง ผมว่าประเด็นที่ตั้งไว้ว่าจะทำให้เกิดความปรองดอง ทำให้ทุกอย่างเดินหน้าอย่างราบรื่นไม่ผิด แต่ผมมองว่ามีหลายวิธี หลายกระบวนการ สิ่งสำคัญคือ คสช. ต้องส้างสภาวะแวดล้อมของการเมืองเพื่อให้บ้านเมืองเดินได้” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
 
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์มีจุดยืนชัดในการทำงานหรือร่วมรัฐบาล โดยยึดแนวทางการนำพาประเทศเป็นหลัก หากจะร่วมงานกับใครต้องมั่นใจว่าเป็นไปในทิศทาง แนวทางที่เป็นประโยชน์ ไม่ใช่ทำงานโดยที่ต่างคนต่างคิดก็คงไม่เป็นประโยชน์และยืนยันประชาธิปัตย์ ไม่เป็นตัวสร้างปัญหาและพร้อมเดินตามกระบวนการเพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้า
 
'คณิน' ชี้การเลือกตั้งควรแล้วเสร็จภายในส.ค. 2561
 
ด้านนายคณิน บุญสุวรรณ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ( ส.ส.ร.) ปี 2540 เปิดเผยถึงกรณีที่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ระบุว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นปลายปี 2561 ไม่ใช่ กลางปี 2561 อย่างที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประมาณการไว้ว่า บทบัญญัติมาตรา 267 และมาตรา 268 ของรัฐธรรมนูญ กำหนดให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จัดทำและพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีอยู่ 10 ฉบับ ให้แล้วเสร็จภายใน 300 วัน นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ ต่อจากนั้นให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน นับแต่วันที่ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. มีผลใช้บังคับ ดังนั้นหากทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปอย่างปกติตามกรอบเวลาดังกล่าว และต่อให้ กรธ. และ สนช. ใช้เวลาเต็มพิกัดตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ควรจะมีขึ้นภายในวันที่ 31 พ.ค. 2561 โดยประมาณ 
 
นายคณิน กล่าวว่าการกำหนดการเลือกตั้งอาจต้องเลื่อนออกไปบ้าง ก็ต่อเมื่อเกิดกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง ไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่ สนช. ให้ความเห็นชอบ แล้วส่งกลับให้ สนช. ภายใน 10 วัน เพื่อตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 11 คน พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน ก่อนที่ สนช. จะพิจารณาให้ความเห็นชอบและนำไปประกาศใช้บังคับ กำหนดการเลือกตั้งก็อาจต้องเลื่อนออกไปอีกประมาณ 25 – 30 วัน แม้กระนั้น การเลือกตั้งก็ควรจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 1 ส.ค. 2561 อย่างที่ กกต. ประมาณการไม่ใช่ปลายปี 2561 อย่างที่ประธาน สนช. ยืนยัน 
 
"ถึงแม้จะเป็นอย่างที่ รองฯ วิษณุ กล่าวคือ ต้องรอการโปรดเกล้าฯ ลงพระปรมาภิไธยด้วย กำหนดการเลือกตั้งแล้วเสร็จ ก็ไม่น่าจะล่วงเลยไปถึงเดือน ก.ย. ปี 2561 ด้วยซ้ำ อย่าว่าแต่จะเดือน พ.ย.หรือ ธ.ค. เลย ดังนั้นจึงไม่เข้าใจว่าเพราะเหตุใดประธาน สนช. ถึงได้ ยืนยันว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นปลายปี 2561" นายคณิน กล่าว
 
นายคณิน กล่าวต่อว่า ตั้งข้อสังเกตว่าประธานอาจใช้ช่องโหว่ในมาตรา 267 วรรคห้า ของรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่า หาก สนช. มีมติไม่เห็นด้วยกับร่างที่คณะกรรมาธิการวิสามัญเสนอ ด้วยคะแนนเสียงเกินกว่า สองในสามของสมาชิกทั้งหมดของ สนช. ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป มาเป็นข้ออ้างที่จะเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ซึ่งอาจทำให้เกิดสูญญากาศและเกิดทางตันในการเลือกตั้ง ซึ่งไม่สามารถคาดเดาได้ว่า หลังจากนั้นจะเกิดอะไรขึ้นและสถานการณ์บ้านเมือง
 
ที่มาเรียบเรียงจากสำนักข่าวไทย [1] [2] 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net