Skip to main content
sharethis

เหตุรุนแรงรอบล่าสุดในรัฐยะไข่ ชายแดนพม่าที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 400 ราย มีชาวโรฮิงญาอพยพเข้าบังกลาเทศนั้น ขณะเดียวกันพื้นที่โซเชียลมีเดียทั้งสองฝ่ายก็มีการเผยแพร่เรื่องราวที่เป็น "ข่าวปลอม" ซึ่งนักสิทธิมนุษยชนเตือนว่าการทำเช่นนี้ยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้าย และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้วาทกรรมความขัดแย้งในพม่าซับซ้อน

ในรายงานของเดอะการ์เดียนเผยแพร่คำให้สัมภาษณ์ของ แมทธิว สมิธ ผู้บริหารขององค์กรสิทธิมนุษยชนฟอร์ติฟายไรท์ (FortifyRights) ซึ่งกล่าวว่า การโพสต์ภาพที่ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ หรือภาพข่าวปลอมใดๆ ก็ตาม กลายเป็นอุปสรรคในการทำงานของพวกเขา และทำให้เกิดความไม่น่าเชื่อถือมากขึ้นด้วย

ความรุนแรงรอบล่าสุดในรัฐยะไข่ ประเทศพม่า เกิดขึ้นหลังจากที่กลุ่มติดอาวุธ Harakah al-Yaqin หรือ ARSA โจมตีป้อมของกองกำลังรักษาความมั่นคงพม่า ที่ชายแดนบังกลาเทศ-พม่า ทำให้กองทัพพม่าตอบโต้กลับด้วยปฏิบัติการใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ จนลามไปถึงการเผาบ้านเรือนประชาชน ทั้งนี้จากคำบอกเล่าของผู้ลี้ภัยที่เข้าสู่บังกลาเทศ ขณะที่รัฐบาลพม่าก็โทษว่ากลุ่มติดอาวุธเป็นผู้เผาบ้านเรือนของตัวเอง รวมทั้งสังหารชาวพุทธยะไข่ กับกลุ่มชาติพันธุ์ที่นับถือศาสนาฮินดู ซึ่งคนในพื้นที่บางคนก็ให้การเช่นนี้

อย่างไรก็ตามท่ามกลางคำบอกเล่าที่ต่างกันจากทั้งสองฝ่ายที่เสียงต่อการใส่ไฟไม่ว่าจะจากฝ่ายใดก็ตาม สิ่งที่นำเสนอผ่านโซเชียลมีเดียก็มีการนำรูปและเหตุการณ์ที่ต่างบริบทกันมาใช้อย่างผิดๆ จากทั้งสองฝ่าย กรณีแรกคือรองนายกรัฐมนตรีของตุรกี เมห์เม็ต ซิมเซ็ค ผู้ที่ใช้รูปการสังหารหมู่ในรวันดาตั้งแต่ปี 2537 พูดถึงเหตุการณ์โรฮิงญาล่าสุดผ่านทวิตเตอร์ หลังจากที่มีคนทักท้วงว่ารูปที่เขาใช้เป็นรูปเหตุการณ์ในพม่าจริงหรือไม่ ซิมเซ็คถึงได้แก้ไขและขอโทษที่ใช้รูปผิด แต่ทวีตของเขาก็มีคนแชร์ไปแล้วจำนวนมาก

ภาพที่รองนายกรัฐมนตรีตุรกีเผยแพร่ในทวิตเตอร์ ก่อนที่แมทธิว สมิธ นักสิทธิมนุษยชนจาก FortifyRights จะต้องเตือนว่าไม่ใช่ภาพจากเหตุการณ์ในรัฐยะไข่

สมิธกังวลว่าการกระทำของซิมเซ็กถึงแม้จะดูเป็นห่วงสถานการณ์พลเรือนชาวโรฮิงญาถูกสังหาร แต่การนำภาพที่ผิดบริบทมาโยงกับข้อกล่าวหาที่มีความชอบธรรม จะส่งผลต่องานการบันทึกและค้นหาความจริงโดยนักสิทธิมนุษยชนอย่างพวกเขาถูกทำให้เสียภาพลักษณ์ไปด้วย

สำหรับนักวิจัยแล้วการพยายามค้นหาว่าภาพที่นำมาใช้เป็นภาพเหตุการณ์จริงหรือไม่นั้นเป็นปัญหาท้าทายพวกเขามาเป็นเวลานาน เมื่อปี 2559 รายงานของคณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติระบุว่าพวกเขาจะไม่ใช้ภาพหรือวิดีโอจากที่อื่นที่พวกเขาไม่ได้ถ่ายเองในการรายงานเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวโรฮิงญา

อีกฝ่ายหนึ่งก็มีการใช้ภาพและเรื่องราวปรุงแต่งในการใส่ร้ายป้ายสีเช่นกัน ตัวอย่างคือกรณีที่มีคนอ้างว่าพลเรือนชาวโรฮิงญาเป็นกลุ่มติดอาวุธ โดยอ้างจากรูปภาพที่จริงๆ แล้วเป็นรูปภาพฝึกทหารของบังกลาเทศเมื่อปี พ.ศ. 2514 (ดูภาพ)

สมิธกล่าวว่ามีรูปและวิดีโอปลอมหลายชิ้นถูกแชร์ออกไปไม่ว่าจะโดยไม่รู้หรือโดยจงใจใส่ร้าย สมิธเชื่อว่ามีบางส่วนที่แพร่ข่าวปลอมเหล่านี้หวังดีแต่ก็เชื่อไปว่าประชาคมโลกเข้าใจผิด เป็นส่วนที่ทำให้วาทกรรมความขัดแย้งในพม่าครั้งนี้มีความซับซ้อน

เรียบเรียงจาก

Fake news images add fuel to fire in Myanmar, after more than 400 deaths, The Guardian, 05-09-2017

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net