Skip to main content
sharethis

คอบช. ชี้กองทุนน้ำมันฯหมดความจำเป็นไม่มีเหตุผลต้องออกเป็นกฎหมายใหม่ เหตุรัฐเดินหน้าปล่อยลอยตัวราคาน้ำมันทุกชนิดหมดแล้ว เสนอยุบกองทุนน้ำมันฯดีกว่า

เมื่อวันที่ 29 พ.ค. ที่ผ่านมา ศูนย์ข้อมูลและงานสื่อสารเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.)  แจ้งว่า คอบช. ด้านบริการสาธารณะ ประกอบด้วย ผศ.ประสาท มีแต้ม บุญยืน ศิริธรรม ในฐานะกรรมการ คอบช. ด้านบริการสาธารณะ รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ด้านพลังงาน และ อิฐบูรณ์  อ้นวงษา ผู้แทนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ร่วมกันแถลงข่าวให้ความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. ....ที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้ประกาศการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ..... เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2560 ที่ผ่านมา และจะเปิดเวทีสัมมนารับฟังความเห็นที่สโมสรทหารบก วิภาวดีรังสิต ในวันที่ 1 มิ.ย. ที่จะถึงนี้

ประสาท ได้เปิดเผยว่า คอบช.ด้านบริการสาธารณะได้มีการประชุมและมีความเห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. .... ของรัฐบาล อาจมีเนื้อหาวัตถุประสงค์ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 77 วรรคหนึ่ง ซึ่งได้บัญญัติว่า “รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จําเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมาย ที่หมดความจําเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดํารงชีวิตหรือการประกอบอาชีพ โดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และดําเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ได้โดยสะดวกและสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่ายเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง” คอบช. ด้านบริการสาธารณะ จึงไม่เห็นด้วยต่อร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. .... ของรัฐบาลทั้งฉบับซึ่งรวมทั้งหลักการ เหตุผลและความจำเป็นในการตรากฎหมายฉบับนี้ และขอให้รัฐบาลยกเลิกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยโดยเร็ว 

อิฐบูรณ์  ผู้แทนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การจัดตั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นไปตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2547 เรื่อง กำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวการณ์ขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 3 แห่งพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2516  ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินได้เคยมีมติ และได้มีหนังสือส่งถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2557 เพื่อให้ยกเลิกคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2547 เรื่อง กำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2547 

“เหตุผลสำคัญที่ผู้ตรวจการแผ่นดินให้ยกเลิกคำสั่งดังการจัดตั้งกองทุนน้ำมันฉบับกล่าว เพราะเมื่อพิจารณาพระราชกำหนดฉบับนี้แล้ว ไม่พบว่ามีบทบัญญัติใดที่ให้อำนาจในการจัดตั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง การมีคำสั่งนายกฯดังกล่าวนี้ จึงเป็นการออกคำสั่งที่มีเนื้อหาเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ทำให้การจัดตั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในปัจจุบันไม่มีกฎหมายรองรับและไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งการเรียกเก็บเงินและการใช้จ่ายเงินกองทุนน้ำมันฯตามคำสั่งนายกฯที่กำหนดให้มีการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันโดยไม่นำส่งคลังก่อน จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.เงินคงคลัง พ.ศ. 2491 มาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 6 และมาตรา 12 รวมถึง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ 2502 ด้วย ปัจจุบัน กองทุนน้ำมันฯที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวนี้ยังดำเนินการอยู่ โดย ณ วันที่ 21 พฤษภาคม 2560 มีฐานะกองทุนสุทธิ 39,958 ล้านบาท” อิฐบูรณ์ กล่าว

อิฐบูรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าการแก้ปัญหาการจัดตั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนี้ จะกระทำได้โดยการตราเป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ แต่เมื่อพิจารณาในวัตถุประสงค์การจัดตั้งกองทุนน้ำมัน 5 ข้อที่ปรากฏในมาตรา 3 ของร่างกฎหมาย และการกำหนดวงเงินสะสมของกองทุนน้ำมันไว้ในมาตรา 26 สูงถึงสี่หมื่นล้านบาท และกรณีที่กองทุนมีจำนวนเงินไม่เพียงพอ ซึ่งสามารถรวมได้ถึงกรณีที่กองทุนมีสถานะติดลบดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วก็ยังให้กองทุนสามารถกู้ยืมเงินได้ถึงสองหมื่นล้านบาท  ว่าเป็นความจำเป็นในการตรากฎหมายนั้น คอบช.ด้านบริการสาธารณะ ไม่เห็นด้วยและเห็นว่า เป็นร่างกฎหมายที่ไม่มีความจำเป็นและไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นอุปสรรคและเป็นภาระต่อการดำรงชีวิตของประชาชน

โดยในวัตถุประสงค์การจัดตั้งกองทุนน้ำมันฯในข้อที่ 1 – 3  อิฐบูรณ์ ได้ให้ข้อมูลและเหตุผลที่ คอบช.ด้านบริการสาธารณะ ไม่เห็นด้วยว่า

1. วัตถุประสงค์เพื่อ “รักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ในกรณีที่เกิดวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง” คอบช.ด้านบริการสาธารณะ  ไม่เห็นด้วย และเห็นว่า การมีกองทุนน้ำมันเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศนั้นไม่เป็นความจริง เป็นเหตุผลที่ไม่สอดคล้องกับคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในข้อ 6.9 เรื่องนโยบายการปฏิรูปโครงสร้างราคาเชื้อเพลิงประเภทต่างๆ

อีกทั้งยังไม่สอดคล้องกับมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2557 ที่ได้กำหนดกรอบและแนวทางในการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงโดยให้ราคาพลังงานต้องสะท้อนต้นทุนแท้จริง ดังนั้นการกำหนดวัตถุประสงค์ของกองทุนน้ำมันในข้อนี้จึงไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบันแล้วและเป็นการสร้างภาระแก่ประชาชน เพราะในปัจจุบันราคาน้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิดทั้งเบนซิน ดีเซล ก๊าซ LPG และก๊าซ NGV รัฐบาลได้เดินหน้าใช้นโยบายยกเลิกการควบคุมราคาแบบคงที่และให้ใช้ราคาลอยตัวตามราคาในตลาดโลกหมดแล้ว

2. วัตถุประสงค์เพื่อ “สนับสนุนราคาเชื้อเพลิงชีวภาพให้มีส่วนต่างราคาที่สามารถแข่งขันกับน้ำมันเชื้อเพลิงได้” คอบช. ด้านบริการสาธารณะไม่เห็นด้วย เพราะว่า การใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเพื่อสนับสนุนราคาเชื้อเพลิงชีวภาพ ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาด้านราคาของเชื้อเพลิงชีวภาพในประเทศอย่างแท้จริง ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นไบโอดีเซลและเอทานอล ต่างมีราคาที่แพงกว่าราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดสิงคโปร์ และบางครั้งอาจแพงกว่าราคาเชื้อเพลิงชีวภาพในตลาดสำคัญของโลกด้วย ชี้ให้เห็นว่าการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพของประเทศไทยมีต้นทุนที่สูงจนไม่สามารถแข่งขันราคากับประเทศอื่นได้ ดังนั้น รัฐบาลจึงควรมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาเพื่อลดต้นทุนการผลิตของเชื้อเพลิงชีวภาพของเกษตรกรและโรงงานผลิตเอทานอลและไบโอดีเซลให้ลดต่ำลงมา โดยไม่ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรและคุณภาพสินค้า เพื่อให้สามารถแข่งขันราคาตามกลไกตลาดโลกที่แท้จริงได้

การใช้เงินจากกองทุนน้ำมันไปจ่ายชดเชยให้ผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพถือเป็นการช่วยเหลือที่ปลายน้ำ และเป็นการบิดเบือนราคา ทำให้ราคาไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง การส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งเป็นพลังงานหมุนเวียนชนิดหนึ่งนั้น ไม่ควรอยู่ภายใต้การดำเนินการของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงฯ ที่ไม่ได้มีภารกิจในด้านนี้เป็นการเฉพาะ การส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการอย่างจริงจังภายใต้นโยบายและกฎหมายที่มีเป้าหมายที่ชัดเจนกว่า ทั้งนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติกำลังดำเนินการจัดทำร่างกฎหมายพลังงานหมุนเวียนอยู่แล้ว

3. วัตถุประสงค์เพื่อ บรรเทาผลกระทบจากการปรับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาส คอบช.ด้านบริการสาธารณะ เห็นว่า การที่รัฐบาลจะนำเงินจากกองทุนน้ำมันซึ่งเก็บจากประชาชนผู้ใช้น้ำมันมาช่วยเหลือกลุ่มประชาชนผู้ใช้น้ำมันที่มีรายได้น้อยและด้อยโอกาสซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลโดยตรง จึงเป็นการไม่สมควรเป็นการเบียดบังประชาชน และเป็นการสร้างภาระซ้ำซ้อนให้กับประชาชนมากขึ้น รัฐบาลควรนำรายได้จากภาษี เช่น ภาษีสรรพสามิตที่เก็บจากราคาน้ำมัน ซึ่งรัฐบาลมีรายได้จากภาษีส่วนนี้เฉลี่ยวันละไม่น้อยกว่า 514.6 ล้านบาทหรือเฉลี่ยเดือนละ  15,438 ล้านบาท หรือเท่ากับ 185,256 ล้านต่อปี นำมาสนองนโยบายของรัฐบาลในการบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อยและด้อยโอกาสจะเป็นการเหมาะสมและเป็นธรรมต่อประชาชน โดยไม่ต้องเพิ่มภาระให้กับประชาชนด้วยการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯอีก

สำหรับวัตถุประสงค์การจัดตั้งกองทุนน้ำมัน ในวัตถุประสงค์ข้อที่ 4 และ 5 รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปด้านพลังงาน ได้ให้ข้อมูลว่า ในวัตถุประสงค์ข้อที่ 4 เพื่อ สนับสนุนการลงทุนในการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ เพื่อป้องกันภาวะ การขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง และเพื่อประโยชน์แก่ความมั่นคงทางด้านพลังงาน คอบช.ด้านบริการสาธารณะ มีความเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องมีการตราพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นเลย เพราะการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์นั้นถือเป็นหน้าที่ตามกฎหมายที่ผู้ค้าน้ำมันต้องสำรองน้ำมันอยู่แล้ว

ทั้งนี้มีกฎหมายที่กำกับดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว คือ พระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2509 มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการกลั่นและค้าน้ำมันเชื้อเพลิงให้เป็นไปโดยเหมาะสม เกี่ยวกับคุณภาพของน้ำมันเชื้อเพลิงและการให้มีการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงไว้ มีปริมาณพอควร เพื่อประโยชน์แก่ประเทศและประชาชน ประเทศไทยจึงเริ่มสำรองน้ำมันเชื้อเพลิง โดยภาคเอกชน (ผู้ค้าน้ำมัน) ตั้งแต่ปี 2509 เป็นต้นมา

ในอดีตรัฐบาลเคยมีประกาศปรับลดและเพิ่มอัตราสำรองตามความเหมาะสมของ สถานการณ์ และเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2558 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติมีมติให้ลดอัตราสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายให้เหลือจำนวนวัน สำรองประมาณ 25 วัน โดยแบ่งเป็นอัตราสำรองน้ำมันดิบร้อยละ 6 และน้ำมันสำเร็จรูปร้อยละ 1 จากเดิมที่มีการสำรองน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปในอัตราสำรองร้อยละ 6 เท่ากัน

นอกจากนี้ภาครัฐยังมีเครื่องมือทางกฎหมายและกลไกการกำกับดูแลที่เพียงพอและชัดเจนอยู่แล้วในการป้องกันและแก้ไขการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง เช่น มี พ.ร.บ.ควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 พ.ร.บ. การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543  พ.ร.ก.แก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2516  และมี พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ซึ่งกำกับดูแลให้มีการผลิตและจำหน่ายให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน อีกด้วย

ส่วนวัตถุประสงค์ข้อที่ 5 ที่อ้างว่าเพื่อสนับสนุนการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อประโยชน์ แก่ความมั่นคงทางด้านพลังงาน คอบช.ด้านบริการสาธารณะ ไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะเบียดบังและเพิ่มภาระให้แก่ประชาชนด้วยการตราพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้สามารถใช้เงินจากกองทุนน้ำมันที่มีอยู่ในปัจจุบันประมาณ 4 หมื่นล้านบาท หรือจะต้องมีการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพิ่มเติมอีก รวมทั้งยังให้อำนาจแก่กองทุนในการกู้ยืมเงินได้อีกสองหมื่นล้านบาท เพื่อนำไปสนับสนุนการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานน้ำมันเชื้อเพลิงอันเป็นการเพิ่มภาระแก่ประชาชนอย่าหนักหนาสาหัสและอาจเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ภาคเอกชนมากจนเกินควร

หากรัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน ปัจจุบันรัฐบาลสามารถนำรายได้จากกิจการพลังงานในหลายลักษณะ คือจากภาษีน้ำมัน จากเงินรายได้จากการถือหุ้นในกิจการพลังงานร่วมกับภาคเอกชน นอกจากนี้รัฐบาลยังมีรายได้จากการประกอบกิจการปิโตรเลียมในรูปแบบของค่าภาคหลวง เงินผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ และภาษีเงินได้ปิโตรเลียม นับแต่ปี 2524 จนถึงปัจจุบัน รวมเป็นเงินไม่น้อยกว่า 1.7 ล้านล้านบาท มาดำเนินการได้ โดยรัฐบาลอาจนำรายได้ส่วนนี้ไปสนับสนุนการลงทุนร่วมกับภาคเอกชน หรือรัฐอาจใช้วิธีกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินเองโดยผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีหรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติเสียก่อน ไม่ควรที่จะสร้างภาระอันซ้ำซ้อนให้กับประชาชนด้วยการจัดตั้งและเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯอีก

บุญยืน กรรมการ คอบช. ด้านบริการสาธารณะ กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่ร่างกฎหมายกองทุนน้ำมันกำหนดให้ กองทุนมีเงินเพียงพอเมื่อรวมกับเงินกู้ต้องไม่เกิน 4 หมื่นล้านบาท เมื่อกองทุนมีเงินไม่เพียงพอที่จะดำเนินการตามวัตถุประสงค์ 1 , 2 หรือ 3 ให้กองทุนกู้ยืมเงินได้ ไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาทนั้น ขอตั้งคำถามเพื่อให้ประชาชนได้ร่วมตรวจสอบว่า การออกกฎหมายนี้ รัฐบาลมุ่งหมายที่จะนำเงินจากกองทุนน้ำมันฯที่มีอยู่ในปัจจุบัน 4 หมื่นล้านบาท เพื่อไปอุ้มการลงทุนของภาคเอกชนในการสร้างท่อก๊าซ ท่อน้ำมัน รวมไปสถานีรับก๊าซ LNG ที่เอกชนมีแผนการลงทุนอยู่แล้วใช่หรือไม่ และการนำวัตถุประสงค์ 1 , 2 และ 3  ที่อ้างว่าจะช่วยรักษาระดับราคาน้ำมันและช่วยเหลือคนยากคนจนมาประชาสัมพันธ์ต่อประชาชนให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีกองทุนน้ำมันต่อไปนั้น เป็นเพียงฉากบังตาการนำเงินกองทุนน้ำมันฯ ไปสนับสนุนการลงทุนของเอกชนใช่หรือไม่ ? ขอตั้งเป็นคำถามเพื่อให้สังคมได้พิจารณากัน

ประสาท กล่าวว่า คอบช.ด้านบริการสาธารณะ ไม่เห็นด้วยต่อเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. ... ของรัฐบาลทั้งฉบับ และเห็นควรให้รัฐบาลยกเลิกกองทุนน้ำมัน ส่วนเงินที่มีอยู่ 4 หมื่นล้านบาทในกองทุนปัจจุบัน ขอเสนอให้รัฐบาลจัดเวทีรับฟังความเห็นประชาชนทั่วทุกภูมิภาคว่าควรนำเงินส่งเข้าคลัง หรือนำเงินส่งคืนประชาชนในรูปแบบของการปรับลดราคาน้ำมัน

“หากรัฐบาลไม่สนใจฟังเสียงทักท้วงของผู้บริโภคและประชาชนในการยกเลิกการออกกฎหมายและไม่ยกเลิกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ทางคอบช. จะร่วมมือกับเครือข่ายประชาชนทั่วประเทศเพื่อนำเรื่องฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไป ด้วยเห็นว่า การจัดทำร่าง พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. ....ของรัฐบาลและการมีอยู่ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 77” ประสาท กล่าว

คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน(คอบช.) เกิดขึ้นภายใต้โครงการ “พัฒนาศักยภาพองค์กรและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคเพื่อองค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภค” ซึ่งเป็นโครงการที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ร่วมกับ เครือข่ายผู้บริโภคพัฒนาขึ้นและได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  โดยนำแนวคิดและจำลองรูปแบบการรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และ พุทธศักราช 2560 ได้บัญญัติไว้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net