Skip to main content
sharethis

ผลสำรวจค่าจ้างรายอาชีพของคนไทยปี 2558 พบค่าจ้างต่อเดือนสูงสุด 38,000 บาท ต่ำสุด 7,800 บาท เฉลี่ยแล้ว 9,730 บาท เพิ่ม 32 บาทจากปี 2557 ค่าจ้างเฉลี่ยสูงสุดอยู่ที่ กทม. 11,136 บาท รองลงมาปริมณฑล 10,157 บาท ภาคกลาง 9,349 บาท ภาคใต้ 9,272 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8,997 บาท และภาคเหนือ 8,385 บาท

ปี 2558 ค่าจ้างรายอาชีพเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 9,730 บาท ส่วนช่างเชื่อโลหะมีรายได้เฉลี่ยที่ 9,504 บาท

จากรายงาน "ค่าจ้างรายอาชีพปี 2558" โดยกองวิจัยตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน ได้เริ่มดำเนินการปี 2553 เป็นครั้งแรก โดยศึกษาจากฐานข้อมูลการให้บริการจัดหางานในประเทศของกรมการจัดหางาน โดยการจัดทำข้อมูลค่าจ้างรายอาชีพปีล่าสุดคือปี 2558 กองวิจัยตลาดแรงงานได้ศึกษาจากฐานข้อมูลของการให้บริการจัดหางานของกรมการจัดหางานเท่านั้น จึงทำให้บางสาขาอาชีพอาจจะไม่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้

ทั้งนี้การคำนวณอัตราค่าจ้างคิดมาจากค่าจ้างที่เป็นตัวเงินตามที่ได้รับแจ้งเท่านั้น โดยได้นำข้อมูลตำแหน่งงานว่างจากฐานข้อมูลการให้บริการจัดหางานในประเทศที่มีการรับแจ้งตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2558 ซึ่งข้อมูลค่าจ้างมีอยู่ 3 ลักษณะ คือ ค่าจ้างรายชั่วโมง รายวัน และ รายเดือน มาประมวลผลให้อยู่ในรูปแบบเดียวกัน คือ (1) ค่าจ้างรายชั่วโมง กำหนดให้ทำงานวันละ 8 ชั่วโมง เดือนละ 26 วัน และ (2) ค่าจ้างรายวัน กำหนดให้ทำงานเดือนละ 26 วัน

สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับตัวเลขที่น่าสนใจจากรายงานค่าจ้างรายอาชีพปี 2558 มีดังต่อไปนี้

1. ค่าจ้างสูงสุด ต่ำสุด ละค่าจ้างเฉลี่ย ภาพรวมทั้งประเทศ

ภาพรวมทั้งประเทศพบว่าค่าจ้างต่อเดือนสูงสุด 38,000 บาท ต่ำสุด 7,800 บาท และค่าจ้างเฉลี่ยอยู่ที่ 9,730 บาท (เพิ่มขึ้น 32 บาทจากค่าจ้างเฉลี่ยเมื่อปี 2557 ที่ 9,698 บาท) ค่าจ้างต่อเดือนสูงสุดอยู่ในกรุงเทพมหานครและภาคใต้ 38,000 บาท รองลงมาภาคเหนือ 37,000 บาท จังหวัดในปริมณฑล ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 35,000 บาท เมื่อพิจารณารายจังหวัดพบว่าค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนสูงสุดอยู่ที่กรุงเทพมหานคร 11,136 บาท รองลงมาคือจังหวัดในเขตปริมณฑล 10,157 บาท ภาคกลาง 9,349 บาท ภาคใต้ 9,272 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8,997 บาท และภาคเหนือ 8,385 บาท ส่วนค่าจ้างต่อเดือนต่ำสุดเท่ากันทุกภาคทุกจังวัดที่ 7,800 บาท

2. อุตสาหกรรมใดมีค่าจ้างสูงสุด ต่ำสุด และค่าจ้างเฉลี่ยในแต่ละภาคอุตสาหกรรม

เมื่อพิจารณาเป็นรายอุตสาหกรรมพบว่าค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนสูงสุด อยู่ในภาคบริการ 9,773 บาท รองลงมาภาคอุตสาหกรรม 9,668 บาท และภาคเกษตรกรรม 9,307 บาท ค่าจ้างต่อเดือนสูงสุดอยู่ในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ 38,000 บาท รองลงมา ภาคเกษตรกรรม 30,000 บาท และค่าจ้างต่อเดือนต่ำสุด 7,800 บาท เป็นอัตราเดียวกันในทุกภาคการผลิต

3. ค่าจ้างสูงสุด ต่ำสุด และค่าจ้างเฉลี่ยในแต่ละอาชีพ

ค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนสูงสุดอยู่ในหมวดอาชีพ ได้แก่หมวดอาชีพผู้บัญญัติกฎหมาย ข้าราชการอาวุโส ผู้จัดการ 14,501 บาท รองลงมาผู้ประกอบวิชาชีพด้านต่างๆ 12,241 บาท ช่างเทคนิคและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง 10,560 บาท เสมียน เจ้าหน้าที 9,967 บาท ผู้ปฏิบัติงานโดยใช้ฝีมือในธุรกิจต่าง ๆ 9,388 บาท ผู้ปฏิบัติงานในโรงงาน ผู้ควบคุมเครื่องจักร และผู้ปฏิบัติงานด้านการประกอบ 9,205 บาท พนักงานบริการ พนักงานขายในร้านค้าและตลาด 9,063 บาท ผู้ปฏิบัติงานฝีมือด้านการเกษตรและการประมง 8,488 บาทและอาชีพงานพื้นฐาน 8,158 บาท

เมื่อจำแนกเป็นอาชีพเฉพาะ พบว่าอาชีพที่มีค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนมากที่สุด 5 อันดับได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวบำบัดอื่น ๆ 35,000 บาท ศัลยแพทย์ 35,000 บาท ผู้บริหารสถานศึกษา 28,000 บาท ผู้ควบคุมเครื่องกว้าน (งานโลหะ) 25,000 บาท และผู้จัดการฝ่ายอุตสาหกรรมสัมพันธ์ 25,000 บาท

ส่วนกิจการที่มีค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ การบริการตัดต่อภาพและเสียง 30,000 บาท กิจกรรมขององค์กรสมาชิกผู้ประกอบวิชาชีพ 18,714 บาท การขนส่งทางน้ำภายในประเทศ 17,400 บาท กิจกรรมของบริษัทตัวแทนและส่านักงานคัดเลือกนักแสดง 17,000 บาท และการผลิตน้ำมันมะพร้าว 16,475 บาท

 


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net