Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช น่าจะเป็นสถานที่แรกในปีนี้ ที่จัดงานบรรยายทางวิชาการเรื่อง “84 ปีเปลี่ยนแปลงการปกครอง” ในงานนี้ได้เชิญวิทยากรที่สำคัญ เช่น ณัฐพล ใจจริง ซึ่งได้เสนอให้เห็นจุดเริ่มต้นของขบวนการอนุรักษ์นิยมต่อต้านประชาธิปไตยที่ก่อความรุนแรงตั้งแต่กรณีกบฎบวรเดช พ.ศ.2476 นอกจากนี้ ก็คือ ชาตรี ประกิตนนทการ เสนอเรื่องการปฏิวัติ 2475 กับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลังรัฐประหารกันยายน พ.ศ.2549 ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่อยากจะชวนแลกเปลี่ยนในที่นี้

การปฏิวัติ 24 มิถุนายน พ.ศ.247 นั้น ถือว่ามีความสำคัญอย่างมากในประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ของไทย เพราะการที่คณะราษฎรยึดอำนาจจากรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น เป็นจุดเริ่มต้นของระบอบรัฐธรรมนูญ อันนำมาซึ่งการเมืองในแบบประชาธิปไตยที่รองรับอำนาจของประชาชน เป็นจุดเริ่มต้นของนิติรัฐในประเทศไทย และนำมาสู่การปฏิรูปสังคมและเศรษฐกิจครั้งสำคัญ แต่กลุ่มอนุรักษ์นิยมเจ้าไม่เคยยอมรับอย่างยินยอมพร้อมใจ เพราะเห็นว่า ที่มาแห่งอำนาจอันชอบธรรมต้องมาจากพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่ประชาชน การปฏิวัติของคณะราษฎรจึงเป็นการกบฎ การฟื้นอำนาจของฝ่ายอนุรักษ์นิยมเห็นได้ชัดเจนหลังจากการรัฐประหาร พ.ศ.2490 ซึ่งถือเป็นเริ่มต้นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ และยุติระบอบการเมืองของคณะราษฎร ยิ่งกว่านั้น กือ หลังจากที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กระทำรัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2501 สร้างระบอบเผด็จการทหารและทำลายรากฐานของระบอบประชาธิปไตย แต่ก็ถือกันว่า ระบอบเผด็จการเช่นนี้พังทะลายหลังจากกรณี 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตยครั้งใหม่

ดังนั้น ตั้งแต่หลัง พ.ศ.2501 จึงเกิดวาทกรรมต่อต้านคณะราษฎรอย่างชัดเจน เช่น การโจมตีว่า คณะราษฎรนำอำนาจสูงสุดของพระเจ้าแผ่นดินมาใช้ในทางที่ผิด ชิงสุกก่อนห่ามเพราะทำลายประชาธิปไตยที่รัชกาลที่ 7 เตรียมการพระราชทานอยู่แล้ว ผู้นำคณะราษฎรขัดแย้งแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์กันเอง จนนำมาสู่การรัฐประหาร ดังนั้น ประชาธิปไตยเมื่อ พ.ศ.2475 จึงไม่ได้มาจากคณะราษฎร แต่มาจากการตระเตรียมมาแล้วตั้งแต่รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 นำมาสู่การพระราชทานสมัยรัชกาลที่ 7 รัฐธรรมนูญก็ไม่ใช่ของแปลกใหม่อะไร เพราะไทยมีรัฐธรรมนูญใช้มาตั้งศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง แม้กระทั่งในกระแสการเคลื่อนไหว 14 ตุลา ขบวนการนักศึกษาก็สนับสนุนข้อเสนอลักษณะเช่นนี้ เพราะมีการโยงให้เห็นว่า ระบอบถนอม-ประภาสนั้นเป็นความสืบเนื่องมาจากการปฏิวัติ 2475 และจอมพล ป.พิบูลสงคราม กรณีต่อต้านเผด็จการ 14 ตุลา จึงเป็นการรื้อฟิ้นประชาธิปไตยของรัชกาลที่ 7 และอุดมการณ์กู้บ้านกู้เมืองแบบพระองค์เจ้าบวรเดช

หลังจากกรณี 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 เกิดกระแสที่ตั้งคำถามกับการอธิบายการปฏิวัติ 2475 แบบอนุรักษ์นิยมเช่นนั้น โดยเฉพาะเมื่อเกิดกระแสการรื้อฟื้นบทบาทของปรีดี พนมยงค์ ตั้งแต่หลัง พ.ศ.2526 แต่ชาตรี ประกิตนนทการ ตั้งข้อสังเกตว่า การเชิดชูบทบาทของปรีดี พนมยงค์ ก็มีลักษณะเป็นการเชิดชูคนเดียว ไม่ค่อยเกี่ยวกับคณะราษฎร แม้ว่าจะมีความสนใจคณะราษฎรเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังถือว่าน้อยมาก กลุ่มที่นำเสนอเรื่องราวของคณะราษฎร และยืนยันความชอบธรรมของการปฏิวัติ 2475 มีเพียงนักวิชาการปีกก้าวหน้ากลุ่มหนึ่ง นอกจากนี้ ก็คือ กลุ่มลูกหลานของคณะราษฎร ที่จะรวมตัวกันไปทำบุญที่วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน ทุกปีในวันที่ 24 มิถุนายน และก็จะมีผู้สื่อข่าวจำนวนหนึ่งไปทำข่าวบ้าง แล้วก็หายไป เรื่องของคณะราษฎรและการปฏิวัติ 2475 ยังไม่ได้ไปอยู่ในกระแสแห่งมหาชน และถ้าจะกล่าวถึงบทบาทการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย กลุ่มคนเดือนตุลาจะได้รับความสนใจและอยู่ในกระแสมากกว่า เหตุผลส่วนหนึ่งมาจากการที่ขบวนการเดือนตุลาได้ผลิตนักร้องเพลงเพื่อชีวิต และกลายเป็นกระแสเพลงที่ขายดี เป็นที่รู้จักในหมู่ประชาชน

แต่หลังจากการรัฐประหาร พ.ศ.2549 ซึ่งเป็นการฉีกทิ้งรัฐธรรมนูญ และรื้อฟื้นระบอบเผด็จการทหารครั้งแรก เกิดการล่มสลายของคนเดือนตุลา เพราะผู้นำคนเดือนตุลาที่โดดเด่นหลายคน รวมทั้งบรรดาพวกนักร้องเพลงเพื่อชีวิต กลับกลายเป็นฝ่ายสนับสนุนรัฐประหาร ต่อต้านประชาธิปไตย และในที่สุดกลายเป็นพวกเหลืองสลิ่มมาจนถึงการสนับสนุน กปปส. สิ่งที่ตามมาคือ ขบวนการฝ่ายคนเสื้อแดงและนักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตยจำนวนหนึ่ง จึงเริ่มตั้งคำถามกับขบวนการคนเดือนตุลาอย่างจริงจังว่า มีจิตสำนึกประชาธิปไตยจริงหรือไม่ 14 ตุลาจึงเสื่อมความหมายจากการเป็นหมุดหมายประชาธิปไตย การปฏิวัติ 2475 จึงกลายเป็นเหตุการณ์อันโดดเด่นมากยิ่งขึ้น

ปรากฏการณ์นี้เห็นได้ชัดตั้งแต่ พ.ศ.2550 เมื่อสมยศ พฤกษาเกษมสุข ตั้งกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย และเริ่มรณรงค์เผยแพร่ความรู้เรี่องการปฏิวัติของคณะราษฎรอย่างจริงจัง และกระแสการเคลื่อนไหวเช่นนี้ ยังได้รับการขานรับจาก นปช. ในนิตยสารมหาประชาชนของ วีระ มุสิกพงศ์ ก็ได้นำเสนอเรื่องราวการปฏิวัติ 2475 และเริ่มกล่าวถึงผู้นำคณะราษฎรคนอื่น เช่น พระยาพหลพลพยุหเสนา หลวงพิบูลสงคราม พระยาทรงสุรเดช เป็นต้น และในระหว่างการชุมนุมเมื่อ พ.ศ.2553 กลุ่ม นปช.ก็ได้มาหยุดที่อนุสาวรีย์ปราบกบฎ หลักสี่ และมีการทำพิธีทางศาสนา ซึ่งเป็นการแสดงการยอมรับและสืบทอดประชาธิปไตยแบบคณะราษฎร และปราบกบฎที่ทำลายประชาธิปไตย จากนั้น ก็นำมาสู่การตั้งกลุ่มคณะราษฎร พ.ศ.2555 นำโดย ภรต เฉลิมแสน ที่เคลื่อนไหวสนับสนุนอุดมการณ์คณะราษฎร ในขณะเดียวกัน กลุ่มนิสิตฝ่ายประชาธิปไตย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้จัดตั้งคณะราษฎรที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2555 มีการอ่านแถลงการณ์ของคณะราษฎรใหม่และเสนอหลัก 6 ประการใหม่ ดังนั้น การเคลื่อนไหวจัดงาน 24 มิถุนายน ในสังคมไทยจึงใหญ่ขึ้นทุกปี จนกระทั่งเกิดรัฐประหาร พ.ศ.2557 จึงได้มีการระงับกระแสนี้

ข้อเสนอที่น่าสนใจในที่นี้ก็คือ 24 มิถุนา ได้ถูกรื้อฟื้นความสำคัญขึ้นแล้ว และกลายเป็นสัญลักษณ์ใหม่ของการต่อสู้เพื่อรื้อฟื้นประชาธิปไตย และที่สำคัญกระแสนี้ได้กลายเป็นที่รับรู้ในหมู่ประชาชนคนทั่วไป แต่ก็จะเห็นได้ว่า กลุ่มเสื้อเหลืองสลิ่มและนักวิชาการกระแสหลัก-อนุรักษ์นิยม อยู่นอกกระแสนี้ นี่เป็นทิศทางอันน่าสนใจอย่างยิ่ง


0000


เผยแพร่ครั้งแรกใน โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 569 วันที่ 18 มิถุนายน 2559

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net