Skip to main content
sharethis

กระทรวงต่างประเทศสหรัฐเผยรายงานค้ามนุษย์ปี 2559 ไทยเลื่อนอันดับจากบัญชี 3 สู่ 'บัญชีที่ 2 ต้องจับตา' ชี้ไทยพยายามขจัดการค้ามนุษย์ ดำเนินคดีข้าราชการทุจริต แต่ปัญหาทุจริตและข้าราชการสมรู้ร่วมคิดยังคงเป็นอุปสรรคต่อการปราบการค้ามนุษย์ ขณะที่พม่าถูกลดอันดับไปอยู่บัญชีที่ 3 สถานการณ์เลวร้าย ร่วมเกาหลีเหนือ และปาปัวนิวกินี

แผนที่ในรายงานประจำปี สถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2558 ของกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา แสดงสถานการณ์ด้านเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก โดยสีเขียวหมายถึงอยู่ในบัญชีที่ 1 (Tier 1) สีเหลืองอยู่ในบัญชีที่ 2 (Tier 2) สีส้มอยู่ในบัญชีที่ 2 ซึ่งต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) สีแดงหมายถึง บัญชีที่ 3 (Tier 3) สถานการณ์เลวร้าย โดยไทยขึ้นมาอยู่ในบัญชีที่ 2 ซึ่งต้องจับตามอง ขณะที่พม่า เกาหลีเหนือ และปาปัวนิวกินี อยู่ในกลุ่มสีแดง หมายถึง บัญชีที่ 3 (ที่มา: TIP Report 2016)

 

เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา โดยนายจอห์น แครี่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา เผยแพร่รายงานประจำปี เรื่อง สถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2559 (Trafficking in Persons Report 2016 หรือ TIP Report 2016) เป็นการสำรวจทุกประเทศ (อ่านรายงานฉบับเต็ม)

โดยในปีนี้ประเทศไทย ได้รับการเลื่อนอันดับอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 2 ซึ่งต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) หลังจากเมื่อปีที่แล้วอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 (Tier 3) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีสถานการณ์ค้ามนุษย์ระดับเลวร้ายที่สุด โดยเมื่อปี 2557 ไทยถูกลดอันดับอัตโนมัติจากบัญชีกลุ่มที่ 2 ซึ่งต้องจับตามอง ไปอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 (Tier 3)

อย่างไรก็ตามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พม่าถูกลดอันดับจากบัญชีที่ 2 ซึ่งต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) ไปอยู่ในบัญชีที่ 3 (Tier 3) กลุ่มที่ 3 ประเทศที่มีสถานการณ์ค้ามนุษย์ระดับเลวร้ายที่สุด

โดยในรายงานประจำปี 2559 ประเทศที่ถูกจัดอันดับให้อยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 ประเทศที่มีสถานการณ์ค้ามนุษย์ระดับเลวร้ายที่สุด (Tier 3) มี 26 ประเทศ ได้แก่ แอลจีเรีย เบลารุส, เบลิส, พม่า, บุรุนดี, สาธารณรัฐแอฟริกากลาง, โคโมรอส, จิบูติ, อิเควทอเรียลกินี, เอริเทรีย, แกมเบีย, กินี-บิซเซา, เฮติ, อิหร่าน, เกาหลีเหนือ, หมู่เกาะมาร์แชล, มอริเตเนีย, รัสเซีย, เซาท์ซูดาน, ซูดาน, ซีเรีย, เติร์กเมนิสถาน, อุซเบกิสถาน, เวเนซุเอลา, ซิมบับเว

โดยใน คำแถลงเรื่องรายงานการค้ามนุษย์ประจำปี พ.ศ. 2559 ที่เผยแพร่อยู่ใน เว็บไซต์สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เมื่อ 30 มิถุนายน 2559 ระบุว่า

000

การค้ามนุษย์เป็นอาชญากรรมโหดเหี้ยมที่ไร้พรมแดน โดยในแต่ละปี มีประชาชนทั้งชาย หญิงและเด็กหลายสิบล้านคนทั่วโลกตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมอันร้ายกาจนี้ คำว่า “การค้ามนุษย์” และ “การค้าทาสสมัยใหม่” ต่างหมายถึงการแสวงหาประโยชน์จากบุคคลเพื่อบังคับใช้แรงงานหรือค้าประเวณีโดยการใช้อำนาจบังคับ กลฉ้อฉลหรือการขู่เข็ญบีบบังคับ การค้ามนุษย์มีหลายรูปแบบ ได้แก่ การค้าเพื่อบังคับใช้แรงงานหรือในธุรกิจทางเพศ ซึ่งรวมถึงพันธนาการหนี้และงานรับใช้ตามบ้าน เมื่อบุคคลที่อายุต่ำกว่า 18 ปีตกอยู่ในสถานภาพที่ต้องค้าประเวณีก็ถือว่าเป็นการค้ามนุษย์เพื่อธุรกิจทางเพศ แม้จะไม่มีการบังคับ ล่อลวงหรือขู่เข็ญก็ตาม

กระทรวงการต่างประเทศแถลงออกรายงานการค้ามนุษย์ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2559 โดยประเทศไทยได้เลื่อนอันดับขึ้นไปอยู่ในกลุ่มที่ 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง รายงานการค้ามนุษย์ประจำปี พ.ศ. 2559 ครอบคลุมความพยายามดำเนินการของรัฐบาลต่างๆ ระหว่างวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2559 การถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่ 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามองแสดงว่า รัฐบาลไทยได้ดำเนินความพยายามอย่างมีนัยสำคัญในการขจัดการค้ามนุษย์ในช่วงเวลาการทำรายงานจัดอันดับ ทว่า การดำเนินงานนั้นยังไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำสุดอย่างครบถ้วน

การถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่ 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามองนั้นเป็นการย้ำว่า ปัญหาการค้ามนุษย์ในประเทศไทยยังมีอยู่กว้างขวางและรัฐบาลต้องแสดงความเป็นผู้นำในการดำเนินการมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันโดยให้มีผลงานเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิผล สหรัฐฯ ขอให้ไทยดำเนินงานให้ก้าวหน้ามากขึ้นและอย่างต่อเนื่องในการต่อสู้กับการค้ามนุษย์ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายการค้ามนุษย์ของไทย รายงานฉบับนี้ได้รวมคำแนะนำต่างๆ ที่ตรงประเด็นการค้ามนุษย์ในไทยที่สหรัฐฯ เชื่อว่าจะช่วยให้รัฐบาลไทยดำเนินการได้ก้าวหน้าขึ้น เราขอให้รัฐบาลไทยดำเนินการตามคำแนะนำอย่างเต็มที่ หน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายบังคับใช้กฎหมายของสหรัฐฯ ยังคงเป็นหุ้นส่วนร่วมมือทำงานกับรัฐบาลไทยและภาคประชาสังคมในไทยในการพยายามขจัดปัญหาการค้ามนุษย์

ในปี พ.ศ. 2558 รัฐบาลไทยรายงานว่าในช่วงปีที่ผ่านมา ทางการได้เพิ่มความพยายามดำเนินการสืบสวนคดีการค้ามนุษย์เพื่อธุรกิจทางเพศ และคดีที่ต้องสงสัยว่ามีการบังคับใช้แรงงาน รวมถึงได้ดำเนินคดีและพิพากษาโทษนักค้ามนุษย์หลายร้อยคน นอกจากนี้ รัฐบาลยังเริ่มสืบสวนคดีการค้าแรงงานในภาคอุตสาหกรรมการประมงหลายสิบคดี กระนั้น การค้ามนุษย์เพื่อใช้แรงงานซึ่งรวมถึงพันธนาการหนี้ยังคงเป็นปัญหาสำคัญในไทย และการบังคับใช้แรงงานอย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมอาหารทะเลยังคงเป็นปัญหาอยู่ เจ้าพนักงานรัฐ นายจ้าง เจ้าของกิจการ นายหน้าและสำนักงานจัดหางานที่สมรู้ร่วมคิดค้ามนุษย์ส่วนใหญ่ยังคงดำเนินกิจการต่อโดยไม่ต้องรับโทษ รัฐบาลไทยได้เริ่มดำเนินคดีที่เกี่ยวกับผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาและบังกลาเทศที่ตกเป็นเหยื่อการกระทำทารุณ สหรัฐฯ ขอให้ทางการไทยติดตามผลการสอบสวน การดำเนินคดีและกระบวนการศาลยุติธรรมสำหรับคดีที่อยู่ในระหว่างดำเนินการอย่างขันแข็งและอยู่ในห้วงเวลาอันเหมาะสม ซึ่งรวมถึงคดีที่เจ้าพนักงานรัฐถูกกล่าวหาว่าสมรู้ร่วมคิดค้ามนุษย์ และขอให้รัฐบาลไทยใช้คดีที่ประสบความสำเร็จในปีที่ผ่านมาเป็นรากฐานในการระบุและสอบสวนคดีใหม่ด้านการบังคับใช้แรงงาน พันธนาการหนี้และการค้ามนุษย์เพื่อธุรกิจทางเพศ

ฝ่ายบังคับใช้กฎหมาย เจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์และภาคประชาสังคมของไทยร่วมมือกันระบุตัวบุคคลและให้ความช่วยเหลือผู้รอดชีวิตจากการค้ามนุษย์ในปี พ.ศ. 2558 อย่างไรก็ดี หน่วยงานต่างๆ ทุกหน่วยจำต้องเพิ่มความพยายามร่วมมือดำเนินการที่มีประสิทธิผลมากขึ้น พร้อมร่วมมือกับภาคประชาสังคมเพื่อตรวจพบสิ่งบ่งชี้ต่างๆ ได้ดีขึ้น ว่ามีการค้ามนุษย์ ตลอดจนให้ความช่วยเหลือและสร้างเสริมความสามารถให้แก่ผู้รอดชีวิตจากการค้ามนุษย์ รายงานฉบับนี้เรียกร้องให้ไทยดำเนินการต่อไปในการปรับปรุงความคงเส้นคงวาของกระบวนการระบุตัวบุคคลผู้เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ การจัดลำดับความสำคัญของสิทธิ เสรีภาพและความปลอดภัยของเหยื่อการค้ามนุษย์ จนถึงการออกกฎระเบียบใหม่ๆ ในการให้สถานภาพทางกฎหมายและใบอนุญาตทำงานแก่เหยื่อการค้ามนุษย์ นอกจากนี้ เราขอให้รัฐบาลไทยดำเนินการตรวจสอบแนวทางปฏิบัติว่าด้วยการจัดหาแรงงานอย่างละเอียดและแข็งขัน พร้อมทั้งดำเนินการปรับปรุงแนวปฏิบัติดังกล่าวผ่านช่องทางทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการเพื่อประโยชน์ของแรงงานอพยพ

ในปี พ.ศ. 2558 ประเทศไทยดำเนินมาตรการเกี่ยวกับกรณีข้าราชการสมรู้ร่วมคิดการค้ามนุษย์ ซึ่งได้แก่ การพิพากษาจำคุกข้าราชการสองคน แต่ปัญหาทุจริตและข้าราชการสมรู้ร่วมคิดยังคงเป็นอุปสรรคต่อความพยายามปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยหลายๆ คดีที่ข้าราชการถูกกล่าวหาว่าสมรู้ร่วมคิดยังคงอยู่ในระหว่างการพิจารณา มีรายงานหลายฉบับกล่าวว่า ข้าราชการบางคนได้รับผลประโยชน์จากเงินสินบนและมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการกรรโชกทรัพย์และขายผู้อพยพให้แก่นายหน้า อันเป็นการเพิ่มสภาวะอ่อนแอเปราะบางของผู้อพยพเหล่านี้ที่จะตกเป็นเหยื่อในธุรกิจทางเพศ แรงงานบังคับและพันธนาการหนี้ ประเทศไทยจัดตั้งแผนกคดีค้ามนุษย์ในศาลอาญาและสำนักงานคดีค้ามนุษย์ในสำนักงานอัยการสูงสุดซึ่งได้เริ่มดำเนินการพิจารณาคดีแล้ว สหรัฐฯ มีความยินดีและสนใจรอรับทราบผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่จัดตั้งพิเศษเหล่านี้ซึ่งหน่วยงานทั้งสองยังสรรหาทรัพยากรและความเชี่ยวชาญเพิ่มขึ้นต่อไป ในบรรดาคดีค้ามนุษย์เพื่อธุรกิจทางเพศนั้น ความพยายามในการสอบสวนคดีเด็กและการจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจเพื่อดำเนินงานป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ตที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดต่อเด็กและเยาวชนได้นำไปสู่การจับคุมนักค้ามนุษย์ทั้งชาวไทยและต่างชาติ

สหรัฐฯ จะยังขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการให้ก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมตามกรอบคำแนะนำในรายงานการค้ามนุษย์ประจำปี พ.ศ. 2559 รัฐบาลสหรัฐฯ มุ่งมั่นที่จะร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลไทยและประชาชนชาวไทยในการแก้ไขปัญหาสำคัญนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net