Skip to main content
sharethis

1 ก.ค.2559 จากกรณีวานนี้ (30 มิ.ย.59) กระทรวงต่างประเทศสหรัฐเผยรายงานค้ามนุษย์ปี 2559 โดยประเทศไทยได้รับการเลื่อนอันดับอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 2 ซึ่งต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) หลังจากเมื่อปีที่แล้วอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 (Tier 3) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีสถานการณ์ค้ามนุษย์ระดับเลวร้ายที่สุด โดยเมื่อปี 2557 ไทยถูกลดอันดับอัตโนมัติจากบัญชีกลุ่มที่ 2 ซึ่งต้องจับตามอง ไปอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 (Tier 3) (อ่านรายละเอียด)

ที่มาภาพ กระทรวงการต่างประเทศ

ล่าสุดวันนี้ ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แถลงข่าวกรณีดังกล่าวว่า เป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญมาตลอด มุ่งขจัดการค้ามนุษย์ให้หมดไปจากสังคมไทย หลังเรื้อรังมากว่า 10 ปี โดยความร่วมมือของหน่วยราชการ ทั้งศาล อัยการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และตำรวจ จนเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่การดำเนินคดีและมีผลลงโทษสูงขึ้นอย่างชัดเจน สามารถจับกุมหัวหน้าขบวนการได้ และคุ้มครองเหยื่อได้เพิ่มขึ้น หลังจากนี้ไป จะเดินหน้าแก้ปัญหาอย่างมุ่งมั่นโดยไม่นิ่งนอนใจ และหวังว่าผลการดำเนินงานในปีต่อๆไปจะดีขึ้น โดยยอมรับว่าปัญหาการทุจริตมีส่วนสำคัญ ที่ต้องเร่งการบังคับใช้กฎหมายให้ดีขึ้น

"เรื่องนี้เป็นผลงานรัฐบาลที่ชัดเจน ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยในระยะเวลา 1 ปีกว่า ตั้งแต่ประกาศให้การค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติ 3 เม.ย.58 เป็นผลจากการที่รัฐบาลใช้คำสั่งตามอำนาจมาตรา 44 ออกกฎหมายและเร่งรัดแก้ไขค้ามนุษย์อย่างรวดเร็ว และเกิดผลสำเร็จด้วยการแก้ไขปัญหาแบบไทยจนเกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม" ดอน กล่าว
 
ต่อประเด็นสหรัฐระบุว่า แม้จะจัดระดับดีขึ้น แต่การแก้ปัญหายังไม่ได้มาตรฐานขั้นต่ำ ดอน กล่าวว่า จะมีการประเมินอย่างไรนั้นอยู่ที่การกระทำ ยืนยันว่า การแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ไม่ได้ทำเพื่อสหรัฐอย่างเดียว แต่ทำเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของคนไทย โดยไทยไม่อาจนิ่งนอนใจ เพราะมีบางประเทศที่ปีที่แล้วได้รับการยกระดับขึ้นเทียร์2 แต่ในปีนี้กลับมาอยู่ในเทียร์ 3 โดยการปรับอันดับครั้งนี้ ถือเป็นข่าวดีในความสัมพันธ์ระหว่างไทยสหรัฐ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาอาชญากรรม 

สำหรับแผนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ต่อจากนี้ ดอน กล่าวว่า ภารกิจของกระทรวงการต่างประเทศเป็นในเรื่องการสร้างความเป็นหุ้นส่วนพันธมิตรกับต่างชาติ และภาคประชาสังคม ซึ่งไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานอาเซียน-อียู จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียน-อียู ในเดือนตุลาคมนี้ ที่กรุงเทพฯ โดยเราตั้งใจจะหยิบยกผลการดำเนินงานแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ของรัฐบาลเล่าให้กับอียูได้ทราบ อย่าง เรื่องสิทธิมนุษยชนที่เราพยายามอธิบายกับอียูมาโดยตลอด จะได้เข้าใจและเห็นว่ารัฐบาลไทยมีการปฏิบัติเพื่อดูแลสิทธิและมีมนุษยธรรมมาโดยตลอด

ชี้โยงกับไอยูยู

สำหรับความคาดหวังต่อผลการพิจารณาของกฎระเบียบว่าด้วยการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไร้การควบคุม (IUU) นั้น ดอน กล่าวว่า รายงานค้ามนุษย์และไอยูยูมีความเชื่อมโยงกัน แยกกันไม่ออก เพราะปัญหาใช้แรงงานประมงผิดกฎหมายเป็นส่วนหนึ่งของการค้ามนุษย์ อย่างไรก็ตาม ทุกเรื่องราวอยู่ที่การประเมินว่าเป็นอย่างไร

ประยุทธ์ไม่สนคำวิจารณ์ของทูตสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตามเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ระบุว่า แม้การประกาศรายงานประจำปีสถานการณ์การค้ามนุษย์  ไทยจะถูกจัดอันดับดีขึ้น จากเทียร์ 3  เป็นเทียร์ 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง แต่ก็ยังไม่ได้ถึงมาตรฐานเกณฑ์ขั้นต่ำ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า เป็นเพียงความเห็นของคนเพียงคนเดียว ขออย่าให้ความสนใจ และรัฐบาลต้องทำต่อไป เพราะทุกอย่างได้เคยบอกไปแล้วว่า ไม่ได้ทำเพื่อใคร แต่ทำเพื่อประชาชน  เรื่องใดที่เป็นปัญหา รัฐบาลจะแก้ทั้งหมด โดยนำหลักการมาพิจารณาและวางแนวทางแก้ไข

“ยืนยันว่า แม้ไม่ถูกบังคับ รัฐบาลก็จะแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างเต็มที่ และต่อจากนี้ทุกรัฐบาลก็ต้องทำเช่นเดียวกัน โดยต้องนำปัญหาทั้งหมดมาดู หาวิธีการแก้ปัญหา บริหารการจัดทำงบประมาณให้ถูกต้อง บูรณาการให้สามารถแก้ปัญหาได้สำเร็จตามเป้าหมาย ที่ต้องวางไว้เป็นระยะ เพราะที่ผ่านมาไม่สำเร็จและผมก็ทำงานอย่างเต็มที่ ขออย่าไปฟังทุกคนที่พูด อย่าไปเชื่อทุกอย่างที่ได้ยิน และอย่าไปพูดตามในสิ่งที่ทุกคนพูด แค่นี้ก็จะทำให้ไม่ทะเลาะกัน” นายกรัฐมนตรี กล่าว

รมว.แรงงานปลื้มไทยหลุด 'เทียร์ 3'

ขณะที่ ธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงานในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ. ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานผิดกฎหมาย กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า บ่งชี้ถึงความมุ่งมั่นในความพยายามของรัฐบาลชุดปัจจุบันในการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ ซึ่งมีหลายภาคส่วนที่ร่วมดำเนินการจนมีความคืบหน้าในการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ โดยเป้าหมายหลักในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ นอกจากเป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ประกาศเป็น “วาระแห่งชาติ” แล้ว ยังมุ่งเน้นให้การดำเนินงานของไทยเป็นไปตามหลักสากล เพื่อประโยชน์ของชาติโดยรวมด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านแรงงาน ซึ่งภายใต้รัฐบาลชุดนี้ ได้มีการปรับระบบการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวใหม่ทั้งระบบ มุ่งเน้นปรับสถานะแรงงานผิดกฎหมายให้เข้าสู่การทำงานที่ถูกต้อง ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น และเพิ่มบทลงโทษที่รุนแรง พร้อม ๆ กับแสวงหาความร่วมมือกับประเทศต้นทาง ร่วมแก้ไขปัญหาร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย ตลอดจนดึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมแก้ไข ทั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) รวมทั้งสหภาพยุโรป (EU) และประเด็นสำคัญ คือ การปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อเอื้อต่อการแก้ปัญหาค้ามนุษย์ ซึ่งในส่วนของกระทรวงแรงงานได้มีการปรับปรุงกฎหมายหลายส่วนด้วยกัน อาทิ พ.ร.ก. การนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศ โดยการนำเข้าแรงงานตาม MOU ผ่านผู้รับใบอนุญาตที่ถูกต้องตามกฎหมาย และเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากนายจ้างเท่านั้น พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานที่มีการแก้ไขเพิ่มโทษการกระทำผิดที่เกี่ยวกับแรงงานเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากนายจ้างจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ทำงานทั่วไปหรือทำงานในงานเกษตรกรรม หรืออายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานในงานประมงทะเล เพิ่มโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่น้อยกว่า 400,000 บาท แต่ไม่เกิน 800,000 บาท ต่อลูกจ้าง 1 คน หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนั้นยังได้ออกแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเปรียบเทียบปรับตาม พ.ร.บ. การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 โดยให้เปรียบเทียบปรับในอัตราสูงสุด 100,000 บาทต่อคน ในการกระทำผิดในงานประมงทะเลและแปรรูปสัตว์น้ำ และทั้ง 2 กิจการนี้ให้สามารถเปลี่ยนนายจ้างได้ด้วย

ธีรพล กล่าวต่อไปว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ขอบคุณ ILO และ EU ที่ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยเหลือทางวิชาการในการต่อต้านรูปแบบการทำงานที่ไม่เป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเล รวมทั้งนายจ้างแสวงหาประโยชน์จากแรงงาน โดย ILO สนับสนุน 19.5 ล้านบาท EU สนับสนุน 144.3 ล้านบาท ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของไทย ทำให้นานาชาติสนับสนุนงบประมาณร่วมแก้ไขปัญหาสำคัญนี้ พร้อมขอบคุณทุกส่วนราชการที่ร่วมทำงานอย่างเข้มแข็ง และจะต้องดำเนินการอย่างเข้มข้นต่อไปอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออกสินค้าโดยเฉพาะอาหารทะเลแช่แข็งไทย เนื่องจากไทยดูแลเรื่องแรงงานทั้งภาคอุตสาหกรรมประมงและแปรรูปสัตว์น้ำ รวมทั้งอุตสาหกรรมอื่น ๆ เป็นไปตามหลักสากล ซึ่งจะส่งผลต่อคำสั่งซื้อสินค้าไทยเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน อันจะเป็นประโยชน์โดยรวมต่อเศรษฐกิจไทย

 

เรียบเรียงจาก สำนักข่าวไทยและคมชัดลึกออนไลน์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net