Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

สนั่น ชูสกุล นักสู้ของประชาชนผู้วายชนม์บัดนี้เหลือเพียงเถ้าธุลีแล้ว ทิ้งความใฝ่ฝันถึงสังคมใหม่ให้นักสู้ที่ยังอยู่สืบสานต่อไป สังคมที่เสมอภาคปราศจากการกดขี่ข่มเหง และประชาชนมีส่วนร่วมกำหนดชะตากรรมของแผ่นดินด้วยประชาธิปไตยทางตรงที่ลงไปถึงหน่วยย่อยที่สุดของชุมชน คำถามที่พวกเราควรขบคิดอย่างมีวิตกวิจารคือ จะทำอย่างไรดีให้การสืบสานปณิธานที่สำคัญยิ่งของเขานี้ปรากฎเป็นจริง

เพื่อการคิดใคร่ครวญต่อคำถามนี้ เราสามารถเรียนรู้จากการทบทวนชีวิตและงานของสนั่นเองในช่วงประมาณสิบปีสุดท้ายของชีวิต ขณะที่เขาทุ่มเทชีวิตและจิตใจมาอย่างยาวนานให้กับการต่อสู้ของประชาชนเพื่อต้านทานการรุกรานชุมชนภาคอีสานของอำนาจรัฐและกลุ่มทุนที่เข้ามาในนามการพัฒนา และสร้างต้นแบบสังคมใหม่ในระดับชุมชนที่ประสานการผลิตเกษตรอินทรีย์และการรักษาสิ่งแวดล้อมป่าบุ่งป่าทาม กับการตลาดสีเขียวที่เป็นมิตรกับผู้บริโภคและการสร้างรายได้ให้กับพี่น้องอย่างมีคุณภาพชีวิต และสอดคล้องกับวัฒนธรรมพื้นถิ่น เขาก็ได้ทบทวนว่าการต่อสู้ในชีวิตประจำวันเช่นนี้เริ่มวนเวียนซ้ำซากอยู่ในเขาวงกตของการต่อสู้รวมตัวยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐโดยทำได้เพียงเป็นผู้เสนอ แต่ไม่เคยได้เป็นผู้ทำให้ข้อเสนอบรรลุเป็นจริงในระดับชาติเพื่อพี่น้องประชาชนเลย ส่วนชุมชนต้นแบบที่ดีงามเช่นนี้ก็มิได้ถูกบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาสังคมที่ประชาชนสามารถสร้างให้เกิดขึ้นได้ในระดับประเทศ

เมื่อระลึกรู้ได้เช่นนี้ สนั่นได้คิดเชื่อมโยงการรุกรานของรัฐและกลุ่มทุนไปถึงรากเง่าของโครงสร้างระบบทุนนิยมไทยที่รัฐราชการและประชาธิปไตยแบบนายทุนยึดครองอำนาจในกลไกรัฐและทุนมาอย่างยาวนานและกอบโกยส่วนเกินของสังคมเป็นของกลุ่มตนอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ของสังคมที่เหลื่อมล้ำ กดขี่ขูดรีด และจำกัดประชาธิปไตยของประชาชน และเข้าใจว่าหนทางการดับทุกข์เชิงโครงสร้างนี้ไม่ใช่ด้วยเพียงการต่อสู้ประจำวัน ทว่าต้องเชื่อมโยงกับการปฏิวัติของประชาชนที่พร้อมใจกันลงสู่ท้องถนนเพื่อโค่นอำนาจของผู้ปกครองที่ไร้ซึ่งความชอบธรรมและสถาปนาอำนาจของประชาชนเข้าแทนที่ เพื่อการนี้ สนั่นจึงให้ความสนใจต่อการสร้างพรรคการเมืองทางเลือกของประชาชนในฐานะการรวมตัวของนักต่อสู้ของประชาชนที่มีข้อเสนอเพื่อการนำประชาชนทำการปฏิวัติสังคม

นี่เป็นส่วนหนึ่งแห่งความเคลื่อนไหวทางความคิดในช่วงสุดท้ายของชีวิตสนั่นที่เกิดขึ้นท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมืองโดยการลุกฮือของประชาชนถึงสองครั้งในปีพ.ศ.2549 และปีพ.ศ.2557 ซึ่งเป็นการลุกฮือของประชาชนภายใต้การนำและการสนับสนุนของชนชั้นนำ กลไกรัฐ และกลุ่มทุน และจบลงที่การโค่นรัฐบาลของระบบประชาธิปไตยแบบนายทุนที่เป็นกลุ่มทุนคู่ปฏิปักษ์โดยการรัฐประหารของทหาร สนั่นร่วมกับกลุ่มศึกษาประชาธิปไตยประชาชน(กปป.) สรุปบทเรียนอย่างชัดเจนว่า ทั้งการผูกขาดอำนาจของรัฐบาลที่มาจากระบบประชาธิปไตยรัฐสภาและการทำให้ประชาชนลุกฮือและนำไปสู่การยึดอำนาจของทหารโดยชั้นชนนำคู่ขัดแย้งนั้น หาใช่ทางออกที่ตั้งอยู่บนผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ และขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับการปฏิวัติที่กระทำขึ้นโดยประชาชน ภายใต้การนำของกลุ่มนักสู้ที่ประชาชนเลือกขึ้นมา และมีข้อเสนอเพื่อสร้างสังคมใหม่ที่ดีงามแทนที่สังคมเดิม ทว่าความคิดเหล่านี้มาสดุดหยุดลงเมื่อกายและใจของเขาต้องแตกดับไปเพราะความเจ็บป่วยจากโรคร้าย

เท่าที่การสืบสานเจตนารมณ์ของสนั่น ชูสกุลควรได้รับการตระหนักถึง เราท่านที่ยังอยู่ควรได้ใช้การเรียนรู้ถึงการทบทวนการต่อสู้ของเขาดังกล่าวข้างต้น มาย้อนมองการต่อสู้ของพวกเราแต่ละคน ด้วยคำถามที่ว่า ยังมีทางออกของการต่อสู้ที่ดีที่เราควรกระทำให้ยิ่งๆขึ้นไปอีกหรือไม่ เพื่อเราจะไม่เก้อเขินเมื่อถูกสภาพปัญหาสังคมและประชาชนเรียกร้องในภายหลัง และด้วยคำถามที่ว่า วันคืนล่วงไปๆบัดนี้เราทำอะไรอยู่

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net