Skip to main content
sharethis

กระทรวงการต่างประเทศ แก้ไขเกณฑ์ออกวีซ่า 'M' ให้นักข่าวต่างประเทศ ผู้ขอวีซ่าต้องแสดงผลงานเขียนในรอบ 1 ปี มีสังกัดชัดเจน ทำงานเต็มเวลา ไม่ประกอบอาชีพอื่น ไม่มีผลงานหรือพฤติกรรมที่เป็นภัยสังคม หรือจะก่อเหตุร้ายต่อความสงบสุข-ความมั่นคงราชอาณาจักร หรือถูกออกหมายจับ ด้านสโมสรผู้สื่อข่าว ตปท. หวั่นรัฐบาลไทยขีดวง-จำกัดการทำงานสื่อต่างชาติ

เมื่อวันที่ 18 ก.พ. นี้ กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เผยแพร่ใบแถลงข่าว "แนวทางปรับปรุงการพิจารณาการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว รหัส M ให้แก่สื่อมวลชนต่างประเทศ" มีรายละเอียดดังนี้ (ภาคภาษาอังกฤษดูที่นี่)

แนวทางปรับปรุงการพิจารณาการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว รหัส M ให้แก่สื่อมวลชนต่างประเทศ

ด้วยกระทรวงการต่างประเทศได้ปรับปรุงแนวทางการพิจารณาการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว รหัส M ให้แก่สื่อมวลชนต่างประเทศที่ประสงค์จะเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยเป็นเวลามากกว่า 3 เดือน เพื่อให้มีแนวทางที่ชัดเจนในการพิจารณา และให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของคำนิยามของสื่อมวลชนในปัจจุบันและลักษณะการทำงานของคนต่างชาติในประเทศไทย โดยมีรายละเอียด ดังนี้

คุณสมบัติของผู้สื่อข่าวต่างชาติที่จะได้รับการพิจารณาการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว รหัส M

1. ต้องอยู่ในสังกัดสำนักข่าวที่ได้รับการจดทะเบียนจัดตั้งสำนักงานอย่างถูกต้องในประเทศไทยหรือในต่างประเทศ

2. ประกอบอาชีพผู้สื่อข่าวเต็มเวลา และต้องไม่ประกอบอาชีพอื่นใดระหว่างพำนักในประเทศไทย นอกจากเป็นผู้สื่อข่าว

3. รายงานข่าวหรือผลิตผลงานที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยในระหว่างที่พำนักในประเทศไทย โดยต้องพำนักเพื่อทำข่าวเป็นระยะเวลา 3 เดือนขึ้นไป

4. ต้องไม่มีผลงานหรือพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อว่าเป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคม หรือจะก่อเหตุร้ายให้เกิดอันตรายต่อความสงบสุขหรือความปลอดภัยของประชาชน หรือความมั่นคงของราชอาณาจักร หรือเป็นบุคคลซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐบาลต่างประเทศได้ออกหมายจับ

5. ต้องไม่มีประวัติเป็นผู้บิดเบือนข้อมูลในการขอรับการตรวจลงตรา

6. ผู้สื่อข่าวในที่นี้ครอบคลุมถึงผู้สื่อข่าวด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ในส่วนของผู้เขียนบทความหรือเผยแพร่ข่าวสารด้านบันเทิง สันทนาการ กีฬา แฟชั่น ตกแต่งบ้าน และเผยแพร่ศาสนา จะได้รับการพิจารณาตามเอกสารเพิ่มเติมที่ร้องขอเป็นรายกรณี

การมีผลบังคับใช้แนวทางข้างต้นจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2559

สำหรับบุคคลที่ไม่เข้าข่ายที่จะได้รับการตรวจลงตรา รหัส M หลังจากการบังคับใช้แนวทางข้างต้น จะสามารถใช้เอกสารตรวจลงตราเดิมต่อไปได้จนถึงวันสิ้นสุดอายุของเอกสารตรวจลงตรา

สำหรับบุคคลที่ไม่เข้าข่ายที่จะได้รับการตรวจลงตรา รหัส M และเอกสารเดิมจะหมดอายุในระหว่างวันที่ 18 กุมภาพันธ์ – 20 มีนาคม 2559 กระทรวงการต่างประเทศจะพิจารณาแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขยายอายุการตรวจลงตราและเอกสารที่เกี่ยวข้องเป็นเวลา 120 วัน และผู้ที่เอกสารตรวจลงตราหมดอายุระหว่างวันที่ 21 มีนาคม – 21 พฤษภาคม 2559 จะขยายเป็นเวลา 90 วัน เพื่อให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบสามารถดำเนินการเปลี่ยนประเภทการตรวจลงตราและทำงานในประเทศไทยได้ต่อไป

เอกสารประกอบการพิจารณาการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว รหัส M

1. สำเนาหนังสือเดินทางของผู้สื่อข่าว (มีอายุไม่ต่ำกว่า 6 เดือน)

2. หนังสือรับรองผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวถึงอธิบดีกรมสารนิเทศ ระบุตำแหน่งและระยะเวลาปฏิบัติงานของผู้สื่อข่าวในประเทศไทย

3. ประวัติส่วนตัวของผู้สื่อข่าว

4. ประวัติสำนักข่าว (company profile)

5. หลักฐานการจดทะเบียนจัดตั้งสำนักข่าวในไทยหรือในต่างประเทศ

6. ใบประวัติอาชญากรรมของผู้สื่อข่าว ออกโดยหน่วยงานราชการของประเทศที่ผู้สื่อข่าวถือสัญชาติ หรือโดยประเทศที่พำนัก (หากมี)

7. หลักฐานการรายงานข่าว/ ผลงานต่อเนื่องภายใน 1 ปี รวมทั้งผลงานเกี่ยวกับประเทศไทย (หากมี)

เอกสารประกอบการพิจารณาต่ออายุการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว รหัส M

1. สำเนาหนังสือเดินทางของผู้สื่อข่าว (มีอายุไม่ต่ำกว่า 6 เดือน)

2. หลักฐานการตรวจลงตรากับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

3. ใบอนุญาตทำงาน

4. บัตรผู้สื่อข่าว (หากมี)

5. หนังสือรับรองผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวถึงอธิบดีกรมสารนิเทศ ระบุตำแหน่งและระยะเวลาปฏิบัติงานของผู้สื่อข่าวในประเทศไทย

6. ประวัติส่วนตัวของผู้สื่อข่าว

7. ประวัติสำนักข่าว (company profile)

8. หลักฐานการจดทะเบียนจัดตั้งสำนักข่าวในไทยหรือในต่างประเทศ

9. ใบประวัติอาชญากรรมของผู้สื่อข่าว ออกโดยหน่วยงานราชการของประเทศที่ผู้สื่อข่าวถือสัญชาติ หรือโดยประเทศที่พำนัก (หากมี)

10. หลักฐานการรายงานข่าว/ ผลงานต่อเนื่องภายใน ๑ ปี รวมทั้งผลงานเกี่ยวกับประเทศไทย

11. เอกสารแสดงหลักฐานรายได้และการเสียภาษีในไทยในกรณีที่ผู้สื่อข่าวชาวต่างประเทศมีเงินได้พึงประเมิน

 

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า เมื่อเปรียบเทียบกับแนวทางเดิมของกระทรวงการต่างประเทศ ที่ประกาศใช้ระหว่างปี พ.ศ. 2555 ถึง 2558 ในแบบฟอร์มขอวีซ่าประเภท M กำหนดเพียงการยื่นเอกสาร ข้อมูลของสำนักข่าว ประเภทการทำงานของสำนักข่าว รายนามเจ้าของและบรรณาธิการ รายชื่อสิ่งพิมพ์ที่เกี่ยวข้อง ในส่วนของผู้ขอวีซ่า ให้แนบชิ้นงานข่าวในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาอย่างน้อย 3 ชิ้น (ดูหลักเกณฑ์)

 

สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศห่วงระเบียบวีซ่าใหม่จำกัดการทำงานสื่อต่างชาติ

การทำงานของช่างภาพและผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ในช่วงหลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 (ที่มา: ประชาไท/แฟ้มภาพ)

ในเพจ บีบีซีไทย รายงานว่าสโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย หรือ FCCT ได้ออกแถลงการณ์เมื่อ 18 ก.พ. ระบุว่า แนวทางที่กระทรวงการต่างประเทศประกาศออกมาใหม่ได้มีผลให้มีการเข้มงวดมากขึ้นกับการออกวีซ่าอนุญาตให้ผู้สื่อข่าวต่างประเทศทำงานในไทย ซึ่งหลายเรื่องมีผลในทางปฏิบัติไปแล้วในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยมีนักข่าว โดยเฉพาะช่างภาพหลายคนที่ทำงานในประเทศไทยมานานไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในประเทศไทยต่อไป

แถลงการณ์ของสโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศระบุอีกว่า สโมสรยอมรับว่าเป็นอำนาจของกระทรวงการต่างประเทศที่จะกำหนดแนวทางหรือระเบียบในเรื่องนี้ และยินดีที่ได้รับโอกาสให้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางใหม่ในการอนุญาตให้ผู้สื่อข่าวต่างประเทศทำข่าวในไทย ซึ่งหลายเรื่องก็เป็นที่ยอมรับ ในที่นี้รวมไปถึงการผ่อนผันให้เวลาสำหรับหลายคนที่จะต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงในอาชีพของตน แถลงการณ์ขอให้เจ้าหน้าที่ไทยตีความแนวทางใหม่ในทิศทางที่จะช่วยให้นักข่าวที่เป็นคนทำงานอย่างแท้จริงได้รับการรับรองและสามารถรายงานข่าวได้อย่างเสรีและเป็นธรรม

โจนาธาน เฮด ประธานคณะทำงานด้านวิชาชีพของสโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศกล่าวว่า “เราเป็นห่วงว่า นักข่าวบางคนที่ทำงานในไทยมานานหลายปี โดยเฉพาะช่างภาพ จะไม่ได้รับอนุญาตหรือได้วีซ่า เราเชื่อว่าเป็นเรื่องที่เหมาะควร ที่กระทรวงต่างประเทศจะพยายามทำให้ชัดเจนว่า มีเฉพาะนักข่าวที่แท้จริงเท่านั้นที่จะได้วีซ่าทำงาน แต่เราก็เป็นห่วงที่แนวทางนี้จะมีผลกระทบต่อประชาคมผู้สื่อข่าวนานาชาติในไทยซึ่งมีความหลากหลายให้หดเล็กลง และที่ผ่านมาคนกลุ่มนี้มีบทบาทอย่างมากในการสร้างความเข้าใจและความสนใจให้กับภูมิภาคนี้”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net