Skip to main content
sharethis

เปิดแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวพัฒนาเศรษฐกิจไทย หนุน โลจิสติกส์ 4.0 ลดขั้นตอนราชการ เผยเป้าหลุดพ้นประเทศรายได้ปานกลางภายใน 10 ปี

16 ก.พ. 2559 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกับสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย จัดงาน "การพัฒนา Trade Facilitation กับการเพิ่มโอกาสทางการค้าของประเทศไทย" ณ ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น 3 โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ รัชดาภิเษก

เริ่มต้นด้วย นางสาวสุนันทา กังวาลกุลกิจ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวเปิดงานว่า Trade Facilitation เป็นงานที่จัดร่วมกันโดยหลายฝ่าย เพื่อยกระดับการค้า การลงทุน และแนวโน้มการนำเข้าส่งออกของเอสเอ็มอีไทย ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ มีเป้าหมายในการรักษาผลประโยชน์รอบด้านของการค้าระหว่างประเทศให้ทุกภาคส่วนมีการปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอสเอ็มอีไทย ที่เปรียบเสมือนฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ให้สอดคล้องกับนโยบายทางเศรษฐกิจ

สำหรับความคืบหน้าระบบอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitation) ในประเทศไทย นางสาวศศิธร พลัตถเดช รักษาการผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์การผลิตและบริการ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ชาติ ระยะยาว 20 ปี โดยแบ่งออกเป็น 4 แผน ระดับระยะกลางแผนละ 5 ปี ซึ่งเป้าหมายที่ได้วางไว้เพื่อขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยหลุดจากกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง ขึ้นมามีรายได้เฉลี่ย 12,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนต่อปี ภายใน 10 ปี และจีดีพีประเทศต้องไม่ต่ำกว่า 5% โดยตัวเลขในปี 2558 ที่ผ่านมาอยู่ที่ 2.8% และคาดการณ์ว่าในปีหน้าจะโตเพียงแค่ 3.3% ในปัจจุบันใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ซึ่งภายในปี 2559 จะเริ่มปรับใช้ฉบับที่ 12 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากประเทศรายได้ปานกลางภายใต้ยุทธศาสตร์นี้

ในด้านยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานจะมีการพัฒนาทั้งโลจิสติกส์ การสื่อสาร คมนาคม การขนส่งมนุษย์และสินค้า โดยไม่ละเลยนโยบายและกฎระเบียบเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพภาครัฐ และมีการลดขั้นตอนการทำงานให้ประชาชนได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น จากเดิมที่ต้องมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากกว่า 10 หน่วยงาน การดำเนินการ 18 ขั้นตอน และมีการใช้เอกสารมากถึง 586 ฉบับ ในส่วนนี้ก็จะพัฒนาให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น รวมถึงลดขั้นตอนลง

นอกจากประเด็นเรื่องของการขอความร่วมมือระหว่างทางด้านเอกชนและเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว ด้านความมั่นคงทางการเมืองก็มีส่วนในการขับเคลื่อนสร้างเสถียรภาพให้หลายฝ่ายได้เข้ามาทำการค้าและการลงทุนและขยับจีดีพีประเทศรวมถึงผลักดันยุทธศาสตร์แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ นางสาวศศิธร พลัตถเดช รักษาการผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์การผลิตและบริการ ชี้แจงว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะถูกประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ไม่ว่ารัฐบาลชุดใดหรือการเมืองจะเป็นทิศทางใด แผนนี้จะต้องถูกผลักดันนำมาใช้ในระยะยาว ซึ่งขับเคลื่อนโดยหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง โดยสำนักงานจัดสรรงบประมาณ จะทำหน้าที่จัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาแผนดังกล่าวเดินไปข้างหน้าด้วยกัน เพียงแต่ว่าสถานการณ์ทางการเมืองอาจทำให้สะดุดเล็กน้อย ไม่ว่าอย่างไรก็จะต้องเดินหน้าไปตามแผน

ด้านนางจันทิมา สิริแสงทักษิณ รองประธานอนุกรรมการเพื่อปรับลดขั้นตอนกระบวนการทำงานของหน่วยงานภาครัฐรายสินค้ายุทธศาสตร์ แสดงความคิดเห็นประเด็นนี้ว่า แน่นอนว่าการเมืองเป็นตัวกำหนดและมีบทบาท แต่ถ้าประเทศไทยมีนโยบายและกฎระเบียบที่ชัดเจน การเมืองไม่สามารถทำร้ายเศรษฐกิจไทยได้ เพราะระบบที่มีการนำอิเล็กทรอนิกส์มาใช้มากขึ้น จะมีความแข็งแกร่งสามารถตรวจสอบการทำงานได้ จะช่วยลดปัญหาต่างๆ ลงได้แน่นอน

“การเมืองเป็นตัวกำหนดและมีบทบาท แต่ถ้าเรามีกฎระเบียบที่ชัดเจน การเมืองทำอะไรไม่ได้ การเมืองจะไม่มีบทบาทสำคัญเลยถ้าระบบมีการวางไว้และถูกบังคับใช้ ซึ่งระบบมีความชัดเจนโปร่งใส โดยมีการนำไอทีเข้ามาใช้มากขึ้น จะสามารถลบความไม่ถูกต้องลงได้” นางจันทิมากล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net