Skip to main content
sharethis
15 สถาบันวิชาการและองค์กรประชาสังคมทั้งในและนอกพื้นที่แถลงข่าวร่วมจัดทำโครงการสำรวจ ความคิดเห็นของประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ (Peace Survey) เพื่อรับรู้ ความต้องการของประชาชน เพื่อให้ทั้งฝ่ายรัฐและขบวนการใช้ประกอบการพูดคุยบนโต๊ะเจรจา ทั้งนี้เตรียมลงเก็บข้อมูลภาคสนามสัปดาห์หน้า
 
18 ม.ค. 59 ผู้แทนของสถาบันทางวิชาการและองค์กรประชาสังคม 15 องค์กรแถลงข่าวการดำเนินงานโครงการสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพ จังหวัดชายแดนภาคใต้ (Peace Survey) ณ ห้องประชุมศรีวังสา คณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี โดยการสำรวจความคิดเห็นประชาชนครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อสะท้อนเสียงของประชาชนในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสี่อำเภอในจังหวัดสงขลา อย่างเป็นระบบตามหลักวิชาการ ว่ามีความคิดเห็นและความรู้สึกอย่างไรต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้น เพื่อให้รัฐบาล กลุ่มขบวนการต่อสู้ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และสาธารณชนได้รับรู้ความต้องการที่แท้จริงของ ประชาชน ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญในการกำหนดทิศทางการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของปัญหาและความต้องการของประชาชนในพื้นที่
 
บางส่วนของ 15 องค์กรได้แก่ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้, สถาบันพระปกเกล้า, สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติวิธีศึกษา ม.มหิดล, ม.ฟาฎอนี, ม.อ., และมูลนิธิเอเชีย 
 
พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาส ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า นี่เป็นครั้งแรกที่การทำสำรวจมีความเป็นระบบและมาจากการทำงานร่วมกันขององค์กรที่หลากหลายจำนวนมากขนาดนี้ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการยอมรับมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้จากทุกฝ่าย และสามารถนำผลที่ได้ไปประกอบการตัดสินใจกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาในแต่ละห้วงเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
ผศ.ดร. ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรม ภาคใต้ กล่าวว่า การทำการสำรวจครั้งนี้เน้นความถูกต้องเที่ยงตรง ถือทางหลักวิชาการ และ ความน่าเชื่อถือในทางการเมืองให้ได้มากที่สุด ซึ่งการทำสำรวจอย่างต่อเนื่องอาจปูทางสู่การทำโพลสันติภาพได้ในอนาคต ศรีสมภพกล่าวต่อว่า
 
ศรีสมภพกล่าวต่อว่า การสำรวจนี้จะสำรวจต่อประชาชนที่ถูกสุ่มเลือกมา 1,560 คน  เพื่อให้แน่ใจว่า จะได้ผลสำรวจที่ปราศจากความลำเอียง การสำรวจระดับครัวเรือนจะใช้วิธีการสุ่มจับฉลากเลือกอย่างเป็นระบบ และกระจายพื้นที่ไปทั่วทุกพื้นที่ในเขตสามจังหวัดและสี่อำเภอในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กระจายอย่างทั่วถึง นอกจากนี้ยังมีการสัมภาษณ์ผู้นำทางความคิดอีก 150 คน เพื่อนำมาเปรียบเที่ยบ ซึ่งภายในกลุ่ม 150 คนนั้นจะสัมภาษณ์กลุ่มผู้นำความคิดในพื้นที่ กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระดับนโยบาย และกลุ่มผู้มีความเห็นต่างจากรัฐด้วย จะมีการลงพื้นที่สำรวจ20 มกราคม – 20 กุมภาพันธ์ เมื่อสำรวจเสร็จสิ้น นักวิชาการและภาคประชาสังคมจะร่วมกันวิเคาาะห์ข้อมูล และรายงานผลสู่สาธารณะภายในต้นเดือนเมษายน
 
ด้านพอลลีน ทวีดี้ จาก มูลนิธิเอเชีย ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรร่วมในการทำสำรวจครั้งนี้ พูดถึงประสบการณ์การของมูลนิธิที่ได้ร่วมทำการสำรวจความเห็นต่อกระบวนการสันติภาพที่มินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ว่า ผลสำรวจนั้นมีประโยชน์ต่อโต๊ะเจรจาอย่างยิ่ง เพราะทำให้คู่ขัดแย้งทราบและเข้าใจความต้องการของประชาชน และในบางครั้งยังทำให้สถานการณ์ที่เคยอึมครึมกระจ่างขึ้นได้อีกด้วย เช่น เมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์มามาซาปาโน (Mamasapano clash) เมื่อม.ค. 2558 ซึ่งมีปฏิบัติการปราบนักรบแบ่งแยกดินแดน และทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เหตุการณ์ความรุนแรงเช่นนี้ทำให้นักการเมืองฟิลิปปินส์กลุ่มหนึ่งอ้างว่า ประชาชนต้องการให้การพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์และกลุ่มนักรบยุติลง อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการทำการสำรวจ ก็จะเห็นว่า ประชาชนยังสนับสนุนให้กระบวนการสันติภาพ และการเจรจาเดินหน้าต่อไป 
 
“หลายครั้งในกระบวนการสันติภาพ มีคนอ้างเสียงประชาชนตลอดเวลา และ Peace Survey ก็คือการทำหน้าที่ให้เสียงประชาชนเปล่งออกมาโดยต้องทำตามกระบวนการทำงานที่เป็นไปตามหลักวิชาการและมีส่วนร่วมจากทุกๆ ฝ่ายอย่างแท้จริง” พอลลีนกล่าว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net