Skip to main content
sharethis

กรณีผู้เสียชีวิต 4 ราย หลัง จนท.ปิดล้อมพื้นที่ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ล่าสุด ผวจ.ปัตตานี ร่วมกับคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงแถลงข่าวยอมรับว่าผู้เสียชีวิตทั้ง 4 ราย ไม่มีอาวุธ ไม่ใช่ผู้ก่อเหตุรุนแรง ไม่ใช่แนวร่วม โดยเสนอให้เยียวยาผู้สูญเสีย และดำเนินคดี จนท. ด้านแม่ทัพภาค 4 กล่าวขออภัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ขอบคุณต่อคำขออภัย ขอให้ทุกฝ่ายมีความเมตตาและเห็นใจ

จุดเกิดเหตุที่บ้านโต๊ะชูด อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ภายหลังเกิดเหตุปิดล้อมตรวจค้นพื้นที่โดยเจ้าหน้าที่ ศชต. และกองกำลังทหารพรานที่ 41 เมื่อวันที่ 25 มี.ค. ที่ผ่านมา และมีผู้เสียชีวิตจากเหตุดังกล่าว 4 ราย มีผู้ถูกควบคุมตัว 22 ราย ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 เม.ย. ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี และคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงได้แถลงยอมรับว่าผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ไม่ใช่แนวร่วมผู้ก่อเหตุ และอาวุธในที่เกิดเหตุไม่ใช่ของผู้เสียชีวิต

 

7 เม.ย. 2558 - กรณีเจ้าหน้าที่เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนคดีสำคัญของศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนใต้ (ศชต.) ร่วมกับกองกำลังทหารพรานที่ 41 เข้าปิดล้อมพื้นที่ และมีการใช้อาวุธปืนยิงบริเวณบ้านที่กำลังก่อสร้างไม่มีเลขที่ บ้านโต๊ะชูด อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี โดยมีผู้ถูกเจ้าหน้าที่ยิงเสียชีวิตไป 4 ราย และสามารถควบคุมตัวอีก 22 รายเหตุเกิดเมื่อช่วงเย็นวันที่ 25 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา

โดยผู้เสียชีวิตทั้งหมดเป็นชาวปัตตานีได้แก่ นายสุไฮมี เซ็นและ อายุ 32 ปี ชาว ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง, นายคอลิด มาแม็ง อายุ 24 ปี ชาว ต.ปากู อ.ทุ่งยางแดง, นายมะดารี แมเราะ อายุ 23 ปี ชาว ต.ท่าน้ำ อ.ปะนาเระ และนายซัดดัม วานุ อายุ 24 ปี ชาวต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง อย่างไรก็ตามชาวบ้านไม่เชื่อว่าผู้เสียชีวิตเป็นคนร้าย ทำให้ต่อมามีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกำหนดเวลาทำงาน 7 วันนั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 เม.ย. ที่ห้องพิมพ์มาดา โรงแรมปาร์ควิว รีสอร์ท ปัตตานี นายวีรพงค์ แก้วสุวรรณ ผู้ว่าราชการ จ.ปัตตานี และคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีบ้านโต๊ะชูด อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนถึงผลการสอบข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว เมื่อวันที่ 25 มี.ค. โดยคณะกรรมการดังกล่าวได้รับการแต่งตั้งจากผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้พิสูจน์ข้อเท็จจริงดังกล่าว และเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบตามหลักนิติศาสตร์และคุณธรรม โดยมีกำหนดเวลาทำงาน 7 วัน

ใน ใบแถลงข่าว ผู้ว่าราชการ จ.ปัตตานี กล่าวว่า มีประเด็นที่คณะกรรมการได้ร่วมกันค้นหาข้อเท็จจริงและหาข้อสรุปร่วมกัน โดยสามารถแบ่งออกเป็นประเด็นสำคัญได้ 3 ประเด็นได้แก่ ประเด็นแรก ผู้ตายทั้ง 4 คน เป็นผู้กระทำผิดกฎหมายอาญาหรือเป็นกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงหรือแนวร่วมหรือไม่? ประเด็นที่สอง การริเริ่มปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ครั้งนี้ถูกต้องและสมเหตุผลหรือไม่? และประเด็นสุดท้าย การวิสามัญฆาตกรรมครั้งนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และอาวุธปืน รวมทั้งวัตถุระเบิดของกลางเป็นของผู้ตายหรือไม่? นอกจากนี้คณะกรรมการยังได้สรุปข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์อีกด้วย

นายแวดือราแม มะจิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำ จ.ปัตตานี หนึ่งในคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงแถลงผลการสอบว่า เมื่อคณะกรรมการได้พิจารณาถ้อยคำและหลักฐานจากฝ่ายต่างๆ แล้ว ฟังความได้ว่า เมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่บ้านโต๊ะชูด ก่อนเกิดเหตุ ได้มีคน 3 กลุ่มไปที่บ้านที่กำลังก่อสร้าง ซึ่งเป็นจุดเกิดเหตุ อันได้แก่ กลุ่มคนงานก่อสร้างบ้าน กลุ่มที่เข้าเจรจาค่าเสียหายเรื่องรถยนต์ที่เกิดอุบัติเหตุ และกลุ่มคนที่เข้าไปมั่วสุมเพื่อที่จะเสพยาเสพติดบริเวณที่เกิดเหตุ ต่อมาเมื่อเวลาประมาณ 17.00 น. ได้มีกองกำลังของเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษช่วยส่วนรวม (นปพ.ช่วยส่วนรวม) เข้าปิดล้อมตรวจค้น บริเวณที่เกิดเหตุ และควบคุมตัวบุคคลทั้ง 3 กลุ่ม จำนวน 22 คน โดยใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก โดยสงสัยว่าเป็นกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง

กรรมการสอบข้อเท็จจริงกล่าวต่อว่า ขณะปิดล้อมตรวจค้นได้มีกลุ่มคนในที่เกิดเหตุจำนวน 5 คน ได้วิ่งหลบหนีการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ไปด้านหลังของบ้านที่กำลังก่อสร้าง โดยมีกำลังเจ้าหน้าที่บางส่วนโอบล้อมไล่ติดตาม ต่อมาได้มีการใช้อาวุธปืนฆ่ากันตายที่บริเวณสวนยางพารา ห่างจากบ้านที่กำลังก่อสร้างที่เกิดเหตุประมาณ 300 เมตร ทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน ประกอบด้วย นายคอลิด สาแม็ง นายมะดารี แม้เราะ นายซัดดัม วานุ และนายสูไฮมี เซ็นและ โดยตรวจพบอาวุธปืนและวัตถุระเบิดจำนวนหลายรายการตกอยู่บริเวณศพผู้ตายทั้ง 4 ราย ซึ่งเจ้าหน้าที่อ้างว่ากระทำวิสามัญฆาตกรรมผู้ตายทั้ง 4 คน

โดยสรุปแล้ว คณะกรรมการลงความเห็นว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมีความต่อเนื่องที่สามารถแบ่งออกเป็น 2 ช่วงเวลา นั่นคือ ช่วงแรก คือ การปิดล้อมตรวจค้นของเจ้าหน้าที่บริเวณบ้านที่กำลังก่อสร้าง และช่วงที่สอง ซึ่งเป็นเหตุการณ์วิสามัญฆาตกรรมบริเวณสวนยางพารา ห่างจากจุดแรกประมาณ 300 เมตร

ต่อประเด็นที่ว่า ผู้ตายทั้ง 4 คน เป็นผู้กระทำความผิดกฎหมายอาญาหรือเป็นกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง/แนวร่วมหรือไม่ ทางคณะกรรมการได้ตรวจสอบจากพยานหลักฐานคำให้การยืนยันของผู้นำชุมชน ตลอดจนอาจารย์มหาวิทยาลัยฟาฏอนี รวมทั้งจากการตรวจสอบด้านการข่าว ไม่ปรากฏว่าผู้ตายทั้ง 4 คน มีพฤติการณ์เป็นผู้ก่อเหตุรุนแรงหรือแนวร่วมมาก่น จะมีเพียงผู้ตายบางคนมีส่วนเกี่ยวข้องและเคยถูกจับกุมในคดียาเสพติด คือเสพน้ำกระท่อม และจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากพยานบุคคล ยืนยันว่าก่อนที่จะเกิดเหตุถึงแก่ความตาย และขณะวิ่งหลบหนีการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ไม่ปรากฏว่าผู้ตายทั้ง 4 คน ครอบครองอาวุธปืนแต่อย่างใด นอกจากนี้ ผลการตรวจพิสูจน์อาวุธปืนที่พบใกล้ศพผู้ตายก็ไม่ปรากฏประวัติในการก่อเหตุรุนแรงในคดีอื่น

"ในชั้นนี้ คณะกรรมการมีความเห็นเชื่อว่า ผู้ตายทั้ง 4 คน ไม่ใช่ผู้ก่อเหตุรุนแรงและไม่ใช่แนวร่วมกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงแต่อย่างใด" นายแวดือราแมกล่าว

สำหรับประเด็นคำถามที่ว่าการริเริ่มปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ครั้งนี้ถูกต้องและสมเหตุผลหรือไม่  ประธานคณะกรรมการอิสลาม จ.ปัตตานี แถลงข้อสรุปของคณะกรรมการว่า จากการให้ถ้อยคำของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการและผู้เกี่ยวข้องดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมการมีความเห็นร่วมกันว่าจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในครั้งนี้ น่าเชื่อว่ามีเหตุผลเพียงพอเนื่องจากประการแรก เมื่อพิจารณาจากข้อมูลด้านข่าวกรองแล้วเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการอ้างว่า ปรากฏข้อมูลข่าวสารความเคลื่อนไหวผู้ก่อเหตุรุนแรงรายสำคัญในพื้นที่ปฏิบัติการคือนายอันวาร์ ดือราแม ซึ่งเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรงระดับสั่งการ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าผลจากการซักถามผู้ถูกควบคุมตัวในกรณีนี้ เจ้าหน้าที่ยืนยันว่าบุคคล 3 คนในจำนวน 22 คน ที่ถูกควบคุมตัวมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงในกลุ่มของนายอันวาร์ ซึ่งเจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็นผลจากการซักถาม มีคำรับสารภาพของผู้ถูกควบคุมตัว

นอกจากนี้เหตุผลของเจ้าหน้าที่ยังเกี่ยวงข้อกับการที่เขต อ.ทุ่งยางแดง เป็นพื้นที่ประกาศใช้กฎอัยการศึกและพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหารสามารถปฏิบัติการได้ทันทีเมื่อมีเหตุจำเป็น โดยไม่ต้องมีหมายค้น ในขณะที่การจัดกำลังเข้าปฏิบัติการที่มีจำนวนเพียง 40 นาย และปฏิบัติการมุ่งก่อเป้าหมายเฉพาะนั้นก็เป็นไปตามนโยบายของ กอ.รมน.ภาค 4 สน.

"ในชั้นนี้ คณะกรรมการมีความเห็นว่าจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นครั้งนี้ชอบด้วยเหตุผลในการปฏิบัติการ" หนึ่งในคณะกรรมการระบุ

สำหรับประเด็นที่ว่า การวิสามัญฆาตกรรมครั้งนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และอาวุธปืนรวมทั้งวัตถุระเบิดของกลางเป็นของผู้ตายหรือไม่ ทางคณะกรรมการเห็นว่าเหตุการณ์ที่เป็นเหตุให้มีการเสียชีวิตทั้ง 4 รายนั้น เกิดขึ้นห่างจากจุดเริ่มต้นของปฏิบัติการประมาณ 300 เมตร ในบริเวณป่าสวนยางพารา มีเฉพาะเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการเท่านั้นที่เห็นเหตุการณ์ ประกอบกับคณะกรรมการมีเวลาจำกัดในการแสวงหาข้อเท็จจริงเพียง 7 วัน จึงไม่สามารถหาประจักษ์พยานอื่นใดมาให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการได้ ส่วนหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์

"จากการให้ถ้อยคำของเจ้าหน้าที่ และพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องหลายคน ให้ข้อมูลยืนยันว่าก่อนเกิดเหตุวิสามัญฆาตกรรมไม่ปรากฏว่าผู้ตายทั้ง 4 คน ครอบครองอาวุธปืนแต่อย่างใด คณะกรรมการจึงมีความเห็นน่าเชื่อว่าอาวุธปืนของกลางไม่ใช่เป็นของผู้ตายตั้งแต่เริ่มต้น"

นายแวดือราแม กล่าวว่า จากการประมวลวิเคราะห์ที่ผ่านมาและสาเหตุของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ได้มีความเห็น และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการเยียวยา ตลอดจนมาตรการในการแก้ไขป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำซ้อนในลักษณะเดียวกันขึ้นมาอีก รวมทั้งเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ดีต่อกัน สร้างความสมานฉันท์ และนำไปสู่การร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้เกิดความสันติสุขที่ยั่งยืนต่อไป ดังนี้

ประการแรก เนื่องจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐดังกล่าวข้างต้น ก่อให้เกิดความเสียหายและเกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประชาชน ดังนั้น เจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำจะต้องถูกดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และหากมีความจำเป็นต้องคุ้มครองพยานในคดีนี้ผู้รับผิดชอบทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญกับการดำเนินการให้ความคุ้มครองพยานดังกล่าว

ประการที่สอง กรณีที่เกิดขึ้น อันเป็นเหตุให้มีผู้ถึงแก่ความตาย จำนวน 4 คน เนื่องจากเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐกระทำต่อผู้บริสุทธิ์ และเป็นเหตุสืบเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเข้าองค์ประกอบการช่วยเหลือเยียวยาตามระเบียบ กพต.ว่าด้วยการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหาย และผู้ได้รับผลกระทบอันเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐสืบเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555 จึงเห็นสมควรเสนอให้มีการเยียวยาตามระเบียบดังกล่าวโดยเร็ว

ประการสุดท้าย เป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายของคณะกรรมการฯ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้คือ

การปรับปรุงระบบงานข่าวกรองให้มีความแม่นยำ รวมทั้งการเข้าปิดล้อมตรวจค้นควรประสานผู้นำในพื้นที่เข้าร่วมด้วยทุกครั้ง

ในการปฏิบัติการควรมีกลไกในการควบคุมและบังคับบัญชาในลักษณะกองบัญชาการร่วมระหว่างผู้บัญชาการเหตุการณ์ กับผู้บังคับบัญชาในระดับเหนือขึ้นไป เพื่อให้มีการตัดสินใจร่วมกันในการปฏิบัติทั้งก่อน ระหว่าง และหลังปฏิบัติการอย่างรอบคอบ ทั้งนี้ เมื่อปฏิบัติการเสร็จเรียบร้อยแล้วต้องมีการทบทวนและสรุปบทเรียนทุกครั้ง

กรณีเกิดเหตุที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน เจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูงต้องเร่งแก้ไขปัญหา โดยให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงของหน่วยปฏิบัติโดยเร็ว หากพบว่ามีการปฏิบัติผิดพลาดในสาระสำคัญ ต้องดำเนินการทางการบริหารและทางอาญาด้วยทุกกรณี

รายงานการสอบข้อเท็จจริงกรณีที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างรุนแรง ควรเผยแพร่ต่อสาธารณะอย่างเปิดเผย ทั้งนี้ เพื่อความโปร่งใสของการทำงาน และการสร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจของประชาชนต่อรัฐ

ในการปฏิบัติการทางยุทธวิธีของหน่วยกำลัง ควรคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อแนวทางการเมืองนำการทหาร และการสร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อกระบวนการสันติภาพที่มุ่งแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี

 

แม่ทัพภาค 4 ขออภัยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และ จนท.ไม่สามารถปฏิบัติตามนโบบาย

ในรายงานของ DSW พล.ท.ปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาค 4 กล่าวด้วยว่า ขอน้อมรับพิจารณาข้อแนะนำของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จริง และจะนำไปปฏิบัติในพื้นที่เพื่อให้เกิดผลที่ดี โดย พล.ท.ปราการ ระบุด้วยว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ใช้แนวทางสันติในการปฏิบัติการ 4 ครั้งที่ผ่านมา และตัวแม่ทัพภาค 4 เองได้รับปากกับคณะกรรมการสภาอุลามาอฺฟาฏอนีย์ว่า การปฏิบัติการเจ้าหน้าที่จะต้องมีความอดทนถึงที่สุดในการควบคุมตัวเอง

ส่วนกรณีทุ่งยางแดง พล.ท.ปราการ กล่าวว่า "กระผมในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชา กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต้องกล่าวคำว่า ขออภัยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซึ่งมีความรุนแรงที่ไม่สามารถทำตามนโยบายที่ได้มอบหมายให้ ขออภัยต่อพี่น้องประชาชน ขออภัยต่อผู้ที่เป็นญาติของพี่น้องผู้สูญเสีย ขออภัยต่อท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ขออภัยนะครับ ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น จะนำไปแก้ไข"

"ขอให้พี่น้องร่วมกันก้าวข้ามวิกฤตในครั้งนี้ด้วยกัน ผมเชื่อว่าวิกฤตวันนี้ร้ายแรงครับ แต่หากเราพร้อมใจกันเชื่อและมั่นใจ ผมขอเรียกร้องความเข้าใจและความมั่นใจ จับมือพร้อมกับก้าวข้ามไปด้วยกัน เราจะทำงานอย่างโปรงใส่และตรงไปตรงมา ยึดหลักมนุษยธรรมและกรอบกฎหมาย คุณธรรม และจริยธรรม"

ผศ.ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี กล่าวด้วยว่า "ในเหตุการณ์นี้ผมมีลูก 2 คน คนอื่นก็เหมือนกัน คิดว่าเป็นลูกของพวกเรา เยาวชนของเรา ที่เราต้องรับผิดชอบในการนำเขาสู่ชีวิตที่ดี เพื่อให้พวกเขาสร้างความดีงามต่อประเทศชาติได้"

"ผมดีใจที่วันนี้ แม้ว่าทุกอย่างจะไม่สิ้นสุดภายในวันนี้ แต่ได้รู้ว่าลูกๆ ของเราบริสุทธิ์... ขอบคุณคำขออภัยของแม่ทัพ เป็นคำที่มีคุณค่ามหาศาลสำหรับผม...  ขอให้พวกเราทำใจให้มากที่สุด โดยเฉพาะครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พวกเราต้องเดินทางสู่ความสำเร็จอีกมากมายในการสร้างความปรองดอง ความสุข และความเจริญในพื้นที่แห่งนี้ โดยความตั้งใจของพวกเรา"

"วันนี้อาจจะยังไม่สิ้นสุด เพราะด้วยน้ำใจของผู้ใหญ่ของพวกเรา แม่ทัพ เลขาธิการ ศอ.บต. ทุกท่านได้แสดงความบริสุทธิ์ใจ ยืนยันที่จะต่อสู้รูปแบบสันติวิธีต่อไป ต้องเข้าใจว่าสันติวิธีเป็นสิ่งใหม่ในบ้านเรา เหมือนเด็กๆ ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เราต้องเข้าใจในส่วนนี้ เราจะใช้ความพยายามในการอดทนอดกลั้น ในการเปลี่ยนแปลงการบริหารประเทศชาติของเราไปสู่สันติวิธีที่ถูกต้องและเต็มใบ ไม่เกิดความผิดพลาดต่อชีวิตของพวกเราต่อไป"

"ผมขอบคุณทุกฝ่าย ขอให้ทุกฝ่ายมีความเมตตาและความเห็นใจ ให้ความเป็นธรรมซึ่งกันและกัน อันนี้เป็นคำสอนของศาสนาอิสลามและศาสนาพุทธ ผมในฐานะประธานร่วมองค์กรศาสนาเพื่อสันติภาพ สภาศาสนสัมพันธ์แห่งประเทศไทย ขอแสดงความเสียใจ เราเจอกับปัญหาอุปสรรคต่างๆ เราต้องพยายามใช้วิกฤตที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ให้เป็นโอกาสในการสร้างสันติสุขหรือสันติภาพต่อไป ขอบคุณครับ"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net