Skip to main content
sharethis

สำนักข่าวอิศราเผยบันทึก "รายงานผลการดำเนินกรรมวิธีซักถาม" อับดุลลายิ ดอเลาะ ซึ่งถูก จนท. ควบคุมตัวตั้งแต่ 11 พ.ย. และ "ซักถาม" ที่ค่ายอิงยุทธบริหาร และเสียชีวิตเมื่อ 4 ธ.ค. โดยบันทึก 3 ฉบับแรกยังไม่ลงลายมือชื่อ จนท.บันทึกว่าเป็นสมาชิกกลุ่มผู้ก่อเหตุ-เคยร่วมก่อกวน ส่วนฉบับสุดท้าย 3 ธ.ค. มีลายมือเขียนว่า "อับดุลลายิ" กำกับท้ายเอกสารทุกหน้า และลงวันที่เป็นเลขไทย

15 ธ.ค. 2559 กรณีที่นายอับดุลลายิ ดอเลาะ ชาวบ้านบ้านใหม่ ต.คอลอตันหยง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานีซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อ 11 พ.ย. 2558 จากบ้านที่ ต.คอลอตันหยง อ.หนองจิก จังหวัดปัตตานี และถูกนำไปควบคุมตัว และถูกดำเนินกรรมวิธีซักถามที่หน่วยข่าวกรองทางทหาร ส่วนหน้า จ.ชายแดนภาคใต้ ภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี และเสียชีวิตในวันที่ 4 ธ.ค. 2558 นั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ต่อมา กอ.รมน. ส่วนหน้าได้ทำหนังสือชี้แจงเมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2558 ระบุว่านายอับดุลลายิ ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมเมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2558 โดยหน่วยปฏิบัติการพิเศษร่วมจังหวัดปัตตานี และหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี 24 เข้าติดตามจับกุมในพื้นที่ ต.คอลอตันหยง อ.หนองจิก จังหวัดปัตตานี  และระบุว่านายอับดุลลายิ เป็นผู้ก่อเหตุรุนแรงระดับหัวหน้า Kompi

และยังระบุผลการซักถามขั้นต้นว่า นายอับดุลลายิ ได้ให้การยอมรับว่าเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรงเคยผ่านการซุมเปาะ ซึ่งในเวลาต่อมาเจ้าหน้าที่ได้นำไปลงบันทึกประจำวัน ณ สถานีตำรวจภูธรอำเภอหนองจิก และทำการส่งตัวนายอับดุลลายิดำเนินกรรมวิธีซักถาม ณ หน่วยข่าวกรองทางทหาร ส่วนหน้า จังหวัดชายแดนภาคใต้ จนกระทั่งเสียชีวิตในระหว่างถูกควบคุมตัว (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. สำนักข่าวอิศรา ได้เปิดเผยสาระสำคัญของเอกสาร "รายงานผลการดำเนินกรรมวิธีซักถาม" ตามที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าอ้างถึง โดยระบุว่า มีการสรุปรายงานดำเนินกรรมวิธีซักถามนายอับดุลลายิ 4 ฉบับ ลงวันที่ 16, 22, 29 พฤศจิกายน และวันที่ 3 ธันวาคม โดยแต่ละฉบับจะมีความคืบหน้าจากกรรมวิธีซักถามและข้อมูลที่ได้มากขึ้น (อ่านรายงานของสำนักข่าวอิศรา)

โดยเอกสารฉบับแรก ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน ความยาว 30 หน้า สำนักข่าวอิศราระบุรายละเอียดว่า เป็นประวัติส่วนตัว ในบันทึกนายอับดุลลายิ ยอมรับว่าเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มผู้ก่อเหตุรนแรง และเคยสาบานกับอุสตาซรายหนึ่งในพื้นที่ และเข้าฝึกหลักสูตรอาร์เคเคในจังหวัดปัตตานี มีการให้ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการฝึกและการเป็นสมาชิกในขบวนการ ตลอดจนสาธิตรูปแบบการฝึก แต่ปฏิเสธว่าไม่เคยร่วมก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่

ในตอนท้ายของเอกสารฉบับแรก ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน สำนักข่าวอิศรารายงานด้วยว่า "เจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินกรรมวิธีระบุข้อสังเกตว่า นายอับดุลลายิบ มีท่าทีวิตกกังวลและหวาดระแวงอย่างเห็นได้ชัด เพราะยังไม่ไว้เนื้อเชื่อใจและไม่เข้าใจระบบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ"

ในเอกสารฉบับที่ 2 และ 3 ลงวันที่ 22 และ 29 พฤศจิกายน ระบุว่า นายอับดุลลายิ เริ่มยอมรับว่าเคยก่อเหตุในลักษณะก่อกวน เช่น เผายางรถยนต์ พ่นข้อความบนพื้นถนน เมื่อปี 2543 ในพื้นที่อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี และมีการเข้าร่วมประชุมเพื่อเตรียมก่อเหตุรุนแรงในลักษณะโจมตีฐานปฏิบัติการ เมื่อปี 2557 แต่เจ้าตัวยืนยันว่าไม่ได้ร่วมก่อเหตุด้วย

สำนักข่าวอิศราให้ข้อสังเกตว่า "เอกสารทั้ง 3 ฉบับไม่มีลายเซ็น หรือการลงลายมือชื่อท้ายเอกสาร"

แต่ในเอกสารฉบับที่ 4 ลงวันที่ 3 ธันวาคม ก่อนนายอับดุลลายิบเสียชีวิต 1 วัน มีเนื้อหาคล้ายๆ 3 ฉบับแรกรวมกัน แต่มีข้อมูลเพิ่มเติมมากขึ้น โดยยอมรับว่าเคยก่อเหตุรุนแรงด้วยการซุ่มยิงเจ้าหน้าที่ เมื่อปี 2547 ที่อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี และมีการลงลายมือชื่อท้ายเอกสารทุกหน้า

ทั้งนี้สำนักข่าวอิศราให้ข้อสังเกตของการลงลายมือชื่อว่า เป็นการ "ลงลายมือชื่อท้ายเอกสารทุกหน้า" ลงว่า "อับดุลลายิบ" เป็นตัวเขียนด้วยปากกาหมึกน้ำเงิน แต่ไม่มีนามสกุล โดยเอกสารทุกใบลงวันที่ 3 ธันวาคม เป็นตัวเขียนด้วยปากกาหมึกน้ำเงิน และลงวันที่เป็นเลขไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net