Skip to main content
sharethis

24 ก.ย. 2558 คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) และองค์กรเครือข่ายภาคประชาชน กว่า 30 องค์กร ออกแถลงการณ์ "กระชับเวลา เดินหน้าปฏิรูป สู่ประชาธิปไตย" เสนอสูตร 4-3-3-3  เรียกร้องปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดิน ปฏิรูปการเมือง ปฏิรูประบบการเลือกตั้ง ปฏิรูปการสวัสดิการสังคม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทันที  ส่วนสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปควรประกอบด้วยบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเป็นที่ประจักษ์และต้องมีสัดส่วนหญิงชายด้วย ทั้งนี้ไม่ควรมีข้าราชการเพราะข้าราชการมีงานเต็มเวลาที่ต้องทำ จึงเป็นการขัดกันในการปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูป

    
แถลงการณ์
กระชับเวลา เดินหน้าปฏิรูป สู่ประชาธิปไตย

ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กำหนดระยะเวลาในการจัดทำรัฐธรรมนูญ การปฏิรูป และการลงประชามติ สู่ประชาธิปไตยไว้ 20 เดือน คือ ร่างรัฐธรรมนูญ 6 เดือน ประชามติ 4 เดือน ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 6 เดือน เตรียมการเลือกตั้ง 4 เดือน และจะมีการจัดตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศทำหน้าที่ต่อเนื่องจากสภาปฏิรูป

องค์กรผู้มีชื่อท้ายแถลงการณ์นี้มีความเห็น ดังต่อไปนี้

1. กระชับเวลา การกำหนดเวลา 20 เดือนนานเกินสมควร สามารถดำเนินการได้เร็วกว่านี้ เพราะร่างรัฐธรรมนูญได้มีการจัดทำแล้วเสร็จส่วนใหญ่แล้ว การที่สภาปฏิรูปแห่งชาติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะสังคมมีความเห็นต่างไม่กี่ประเด็น เช่น

การให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ การที่สมาชิกวุฒิสภาส่วนใหญ่มาจากการสรรหา หรือนายกรัฐมนตรีคนนอก เป็นต้น

ดังนั้น คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จึงสามารถนำร่างรัฐธรรมนูญที่ได้ทำไว้แล้วมาปรับปรุงและหาข้อยุติในประเด็นที่มีความเห็นต่างให้เสร็จได้ภายในไม่เกิน 4 เดือน ระยะเวลาการทำประชามติ กระชับได้ภายใน 3 เดือน การจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญสามารถเตรียมการไว้ล่วงหน้า หากรัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติสามารถเร่งรัดได้ภายใน 3 เดือน เช่นเดียวกับการเตรียมการเลือกตั้งไม่ควรใช้เวลาเกิน 3 เดือน ด้วยเหตุดังกล่าว จึงสามารถกระชับเวลาสู่ประชาธิปไตยได้ ภายใน 13 เดือน 4-3-3-3

2. ปฏิรูปทันที มีเรื่องสำคัญซึ่งจำเป็นต้องปฏิรูปเพื่อวางรากฐานสำหรับการปฏิรูปในระยะต่อไปหลังจากประเทศมีประชาธิปไตย ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการปฏิรูป และเรากำลังอยู่ในช่วงปฏิรูปประเทศ แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการปฏิรูปเชิงระบบตามที่กล่าวถึง ดังนั้นจากปัจจุบันไปถึงวันที่มีประชาธิปไตย จึงต้องนำเรื่องสำคัญมาดำเนินการปฏิรูปให้แล้วเสร็จ เช่น การปฎิรูประบบบริหารราชการแผ่นดิน การปฏิรูปการเมือง การปฏิรูประบบการเลือกตั้งหรือ กกต. และเร่งปฏิรูปการสวัสดิการสังคมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทันที เป็นต้น

3. การแต่งตั้งสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปที่กำลังจะมีการแต่งตั้งจำนวน 200 คน สมาชิกควรประกอบด้วย บุคคลที่มีความรู้ความสามารถในด้านที่จำเป็นต้องปฏิรูปก่อนมีประชาธิปไตยเป็นที่ประจักษ์และต้องมีสัดส่วนหญิงชายด้วย ทั้งนี้ ไม่ควรมีข้าราชการ ทหาร ตำรวจ เป็นสมาชิกสภาปฏิรูป เพราะการปฎิรูปต้องการผู้ที่มีเวลาทำงานอย่างจริงจัง แต่ข้าราชการ มีงานเต็มเวลาที่ต้องทำ ขณะเดียวกันระบบบริหารราชการแผ่นดินเป็นระบบที่ต้องมีการปฎิรูป การเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูป จึงเป็นการขัดกันในอำนาจหน้าที่

ต้องกระชับเวลา เดินหน้าปฏิรูป สู่ประชาธิปไตย และ หยุดคุกคามเสรีภาพประชาชนคนเห็นต่างทันที

ด้วยจิตคารวะ
กันยายน ๒๕๕๘

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช)
ศูนย์เผยแพร่และส่งเสริมงานพัฒนา
มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ
เครือข่ายผู้หญิงอีสาน
สมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบประเทศไทย
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน
มูลนิธิพัฒนาภาคอีสาน
เครือข่ายพลังงานจังหวัดสุรินทร์
สมาคมป่าชุมชนภาคอีสาน
เครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสาน
เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน
มูลนิธิชุมชนอีสาน
โครงการทามมูล
เครือข่ายชาวบ้านอนุรักษ์แก่งละว้า
ศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนน้ำชีตอนล่าง
มูลนิธิชุมชนเกษตรนิเวศ
เครือข่ายปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน
ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อความเป็นธรรม
สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้
เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้
สมาคมรักษ์ทะเล
สมาคมผู้บริโภคสงขลา
สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน
มูลนิธิอันดามัน
สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย
โครงการปฎิรูปการเกษตรและพัฒนาชนบท
ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove)
เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ
ศูนย์ส่งเสริมความเสมอภาค
กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ
สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net