Skip to main content
sharethis

17 ส.ค. 2558 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุขอแสดงความเห็นเรื่องรัฐธรรมนูญบ้าง โดยเสนอว่า ควรเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมออกเสียงและตัดสินใจในกระบวนการรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ไม่เห็นความจำเป็นในการมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติที่จะมีอำนาจเหนือรัฐบาลและฝ่ายนิติบัญญัติ โดยเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจเร่งผลักดันการสร้างกติกาที่ยุติธรรม ป้องกันการทุจริตและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เพื่อให้สภาวะปกติกลับคืนสู่สังคมไทยโดยเร็ว ให้ประชาชนได้ใช้สิทธิ เลือกตัวแทนและนโยบายตามเจตจำนง ชี้ยิ่งยืดเวลาให้ทอดยาวออกไป ไม่น่าจะเป็นผลดี โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ เพราะปากท้องที่เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ปัญหาในขณะนี้ 

รายละเอียด มีดังนี้


"ขอใช้สิทธิในการเสนอความเห็นเรื่องรัฐธรรมนูญบ้างนะคะเพราะเป็นช่วงที่สปช.รัฐบาลและคสช.จะตัดสินใจ และหลายฝ่ายได้แสดงความห่วงใยและกังวลใจ
หวังว่าข้อคิดเห็นที่เสนอจะมีส่วนช่วยให้ประเทศ มีความเป็นประชาธิปไตยและเป็นที่ยอมรับกันกว้างขวางมากขึ้น

1) รัฐธรรมนูญต้องเป็นประชาธิปไตย.....ซึ่งหลายท่าน อาจจะเห็นว่าดิฉันเคยพูดคำนี้มาหลายครั้งแต่เชื่อว่า เราอาจมีความเห็นแตกต่างกัน ในสาระสำคัญ คือ "รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยต้องยึดโยงกับประชาชน"..กล่าวคือต้องเปิดกระบวนการให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้มีส่วนสำคัญ ในการออกเสียงและตัดสินใจ ไม่ใช่เพียงเลือกตัวแทนที่ว่าคัดสรรมาแล้ว จากคณะบุคคลก็ถือไม่ได้ว่า เกิดจากวิถีประชาธิปไตยที่แท้จริง

2) ถ้ารัฐธรรมนูญมีเนื้อหาสาระที่รับใช้และยึดโยงกับประชาชน ก็ไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องมีคณะยุทธศาสตร์ฯเพื่อมีอำนาจเหนือรัฐบาลและเหนือฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อตัดสินใจแทนแม้ในยามวิกฤติ
สิ่งที่ดีที่สุดในระบอบประชาธิปไตยที่อารยะประเทศทั่วโลกล้วนยอมรับ คือความเชื่อมั่นในประชาชนและใช้การคืนอำนาจการตัดสินใจกลับไปให้ประชาชนเป็นทางออกของประเทศ
ดังนั้นภาระของผู้มีอำนาจ จึงควรเร่งผลักดันการสร้างกติกาที่ยุติธรรม ป้องกันการทุจริตและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เพื่อให้สภาวะปกติ กลับคืนสู่สังคมไทยโดยเร็ว ให้ประชาชนได้ใช้สิทธิของเขา เลือกตัวแทนและนโยบายตามเจตจำนงตนให้กลับมาแก้ปัญหา ตามที่เขาต้องการ
การคืนสิทธิในการตัดสินใจ คือศักดิ์ศรีของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย

3) ความสงบสุขและเจริญรุ่งเรือง คือความปรารถนาร่วมกันของคนทั้งประเทศ
"บ้านเมืองจะสงบสุข จำเป็นต้องมีกติกาที่เป็นธรรม"..สังคมไทยเรามีบทเรียนในอดีตหลายครั้ง จากความขัดแย้งในกรอบกติกาที่ไม่เป็นธรรม และปัญหาที่ไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นกับทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน
ดังนั้น รัฐธรรมนูญจึงต้องสร้างโอกาสในการเข้าถึงความเท่าเทียมและกำหนดบทบาทของรัฐ ในการอำนวยความยุติธรรมทุกด้าน ให้เกิดขึ้นกับทุกคนเพื่อดำรงรักษาไว้ซึ่งความสุขและความปรองดองภายในสังคม

4) ประเทศเราได้รับผลกระทบ เกิดความเสียหายมามากพอแล้ว จึงขอให้ทุกท่านที่เกี่ยวข้อง ได้โปรดลำดับความสำคัญ เร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่น ให้ความเสมอภาค ความยุติธรรมอย่างทั่วถึง ผลักดันให้บ้านเมืองกลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด

ดังนั้นการที่เรายิ่งยืดเวลาให้ทอดยาวออกไป ไม่น่าจะเป็นผลดีนัก โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ ปากท้องที่เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ปัญหาในขณะนี้ รังแต่จะสร้างความเสียหายและความเดือดร้อนซ้ำเติมยิ่งขึ้นค่ะ

ด้วยความห่วงใยอย่างที่สุดค่ะ"

 

ก่อนหน้านี้ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เสนอแนวคิดคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ในมาตรา 260 ของร่างรัฐธรรมนูญ  โดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ประกอบด้วย ประธาน 1 คน และกรรมการอีกไม่เกิน 22 คน รวมเป็น 23 คน  มีกรรมการโดยตำแหน่ง 8 คน ได้แก่ ประธานรัฐสภา, ประธานวุฒิสภา, นายกรัฐมนตรี, ผู้บัญชาการกองทัพไทย, ผู้บัญชาการทหารบก, ผู้บัญชาการทหารเรือ, ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ มาจากผู้เคยดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ซึ่งเลือกกันเองประเภทละ 1 คน รวมเป็น 3 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกิน 11 คน แต่งตั้งตามมติรัฐสภา จากผู้มีความเชี่ยวชาญในการปฏิรูปด้านต่างๆ และการสร้างความปรองดอง

คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ มีอำนาจหน้าที่เสริมสร้างการปฏิรูป และกำกับการสร้างความปรองดอง และระงับเหตุที่อาจนำไปสู่การเกิดความรุนแรง และมีอำนาจพิเศษ กรณีหากคณะรัฐมนตรีไม่มีเสถียรภาพ จนไม่สามารถบริหารประเทศได้ กรรมการยุทธศาสตร์มีมติคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของกรรมการทั้งหมด มีอำนาจใช้มาตรการที่จำเป็นสำหรับจัดการกับสถานการณ์ดังกล่าว ภายหลังจากที่ได้รับการปรึกษากับ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานศาลปกครองสูงสุดแล้ว เพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ขณะเดียวกันประธานกรรมการยุทธศาสตร์มีอำนาจสั่งการระงับยับยั้งหรือกระทำการใดๆ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลทางนิติบัญญัติหรือในทางบริหาร ให้ถือว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งและการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้ และถือเป็นที่สุดและเมื่อได้ดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวแล้ว ให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ รายงานต่อประธานสภา ประธานวุฒิสภา รายงานต่อ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานศาลปกครองสูงสุด รับทราบโดยเร็ว และแถลงให้ประชาชนรับทราบ 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net