คนดีที่อยู่เหนือประชาชน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

        

ภายใต้ภาวะอึดอัดทางเสรีภาพทางวิชาการ และประชาธิปไตย ในปัจจุบันคงไม่มีเรื่องใดสำคัญเท่ากับชะตากรรมของประชาธิปไตยไทยภายใต้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป ที่วางหลักไว้ให้พลเมืองเป็นใหญ่อย่างสวยหรู เป็นรัฐธรรมนูญที่เขียนระบุให้ประชาชนเป็นพลเมือง และระบุหน้าที่พลเมืองไว้อย่างชัดเจน จนนักวิชาการและนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองต่างตบหัวตัวเองอย่างนึกไม่ถึงว่า การสร้างประชาชนเป็นพลเมืองที่เพียรทำกันมานั้นที่แท้วิธีนั้นง่ายนิดเดียว คือแค่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญแค่นั้นก็เป็นได้แล้ว (ฮา)

แต่หลักการที่มุ่งหวังให้ประชาชนเป็นใหญ่ งดงาม สวยหรู ทั้งหลายทั้งปวง กลับถูกทำลายลงด้วยบทบัญญัติเพียงมาตราเดียว คือ มาตรา 260 ที่ให้มี "คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ" กำหนดอำนาจพิเศษของกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ไว้ในบทเฉพาะกาล มีสาระสำคัญ หากคณะรัฐมนตรีบริหารประเทศต่อไปไม่ได้จากสถานการณ์ความวุ่นวาย กรรมการยุทธศาสตร์ฯ จะประชุมขอมติคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 เพื่อใช้มาตรการที่จำเป็น โดยปรึกษาประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานศาลปกครองสูงสุด ซึ่งประธานกรรมการยุทธศาสตร์ฯ มีอำนาจสั่งการระงับยับยั้งหรือกระทำการใดๆ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลทางนิติบัญญัติหรือในทางบริหาร ให้ถือเป็นที่สุด ซึ่งอำนาจตามมาตรานี้ไม่เหมือนมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่ไม่มีอำนาจทางตุลาการ

แนวคิดที่ให้คนกลุ่มหนึ่งมีอำนาจเหนืออำนาจประชาชนนี้เด่นชัดขึ้น ในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองในช่วง พ.ศ.2549 – 2558 เป็นแนวคิดที่มักจะให้หยุดเสรีภาพหรือประชาธิปไตยไว้ชั่วคราว เมื่อบ้านเมืองมีวิกฤติก็มักจะหาคนกลางมาเป็นนายก มาเป็นผู้นำ รวมถึงแนวคิดผู้นำที่เป็นคนดีที่ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งมักเลวร้ายไว้วางใจไม่ได้ ถึงขนาดที่หลายคนที่เคยเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในอดีต เรียกร้องนายกจากการเลือกตั้งถึงขนาดออกมาหาทฤษฎีความชั่วร้ายของประชาธิปไตย  หรือมักอ้างว่าประชาธิปไตยเป็นของฝรั่งตะวันตกไม่เหมาะกับประเทศไทยเปรียบเหมือนเอาข้าวสาลีมาปลูกในดินสยาม

ผู้นิยมแนวคิดนี้มักอ้างแนวคิดของนักปรัชญาชาวกรีก คือเพลโตและอริสโตเติล นักปราชญ์ทั้งสองนี้ไม่เห็นด้วยกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพลโตได้แสดงความเห็นถึงผู้นำของรัฐในอุดมคติในหนังสือ The Republic อุตมรัฐ ว่า "ผู้นำของรัฐ ควรจะเป็นผู้นำกลุ่มน้อยที่ทรงภูมิความรู้และเปี่ยมด้วยคุณธรรม อุทิศตนเองให้กับรัฐ เมื่อรัฐมีผู้นำที่มีคุณภาพเช่นนี้ รัฐนั้นก็เจริญก้าวหน้า มีระบบการบริหาร ที่ดี ประชาชนจะมีชีวิตที่เป็นสุข" โดยเขาเห็นว่านักปราชญ์และนักปกครองเป็นผู้นำที่ดี โดยถือว่าการปกครองแบบอภิชนาธิปไตยเป็นรูปแบบการปกครองที่ดีที่สุด แต่ในความเป็นจริงทั้งเมื่อพันปีก่อนและในปัจจุบัน ระบอบนี้มีความอุดมคติสูง และเป็นไปได้ยาก เพราะ  จะหาคนที่ดีเลิศทั้งความรู้ และคุณธรรมได้จากไหน

ถ้ามีคนผู้นี้อยู่จริงก็คงไม่ยอมลดตัวมาเป็นผู้ปกครอง เพราะเต็มไปด้วยภาระและปัญหา  ในความเป็นจริงมีแนวโน้มว่าจะได้ผู้นำที่ด้อยความสามารถ และอาจกลายเป็นทรราชได้

คงมิพักต้องอธิบายเรื่องความจำเป็นของประชาธิปไตย ครั้งที่เท่าไรก็ไม่ทราบอีกครั้งว่า นิยามของประชาธิปไตยที่เรามักเอ่ยอ้างถึงบ่อยก็คือคำกล่าวของอับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln )ประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐอเมริกาที่กล่าวไว้ในสุนทรพจน์ที่เก็ตตีสเบิร์กของเขาใน ค.ศ.1863 ว่า “ประชาธิปไตยเป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน” เพราะเมื่อมนุษย์เต็มไปด้วยความหลากหลายทางฐานะ อาชีพ เพศ รสนิยม แนวคิดทางการเมือง ฯลฯ การหลีกเลี่ยงความขัดแย้งรุนแรงอันเกิดจากความหลากหลาย ก็คือการเปิดพื้นที่การแสดงออก การให้สิทธิให้เสียงแก่ประชาชน

และเมื่อประชาชนคือผู้ที่เป็นเจ้าของประเทศ อำนาจในการตัดสินใจใดๆย่อมต้องเป็นของประชาชน  แน่นอนในการคัดเลือกตัวแทนมาปกครองและบริหารบ้านเมืองแทนประชาชน ก็เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตย ในกระบวนการขั้นตอนของการเลือกตั้งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่มีการทุจริต คดโกง หรือในการบริหารประเทศมีการคอร์รัปชั่น ก็เป็นเรื่องปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่ามีอยู่จริง แต่ระบอบประชาธิปไตยก็ได้มีกลไกที่ถูกออกแบบขึ้นเพื่อตรวจสอบ ถ่วงดุล ลงโทษ ทั้งกลไกที่บัญญัติขึ้นและกลไกตามธรรมชาติของระบอบประชาธิปไตย คือการเลือกตั้งและการชุมนุม  เพียงแต่สิ่งที่ประเทศไทยมักขาดหายไปคือความอดทนอดกลั้นต่อสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น และปล่อยให้ประชาธิปไตยได้พัฒนาและเรียนรู้ แต่เรามักแก้ปัญหาด้วยการยกเลิกมันและเริ่มใหม่ทุกๆสิบปี ทำให้เวลาเรานับอายุของประชาธิปไตยไทยจริงๆก็คงไม่ใช่แปดสิบกว่าปี แต่ถ้านับจริงๆขณะนี้ อายุของประชาธิปไตยคือ 0 ปี

การยกอำนาจของประชาชนให้คนเพียงกลุ่มเดียวให้มีอำนาจเหนืออำนาจแห่งการตัดสินใจของประชาชน ไม่ว่าจะในรูปแบบใด แทบจะขัดหรือแย้งกับหลักการของประชาธิปไตยเกือบทุกข้อ แม้จะบอกว่าคนเหล่านั้นเป็นคนดีมีคุณธรรมแต่ในความเป็นจริง ต่อให้ได้ดีเลิศเป็นเทพบุตรสักปานใดแต่หากมิได้ฉันทานุมัติจากประชาชนแล้วไปใช้อำนาจแทนประชาชน ย่อมทำให้ประชาชนหวาดระแวง วิตกกังวล ไม่ไว้วางใจ ว่าคนกลุ่มนี้จะนำอำนาจของเขาไปใช้ในทางใด เพราะคนกลุ่มนั้นจะไร้การตรวจสอบ ถ่วงดุล เหตุใดประชาชนจึงต้องไว้ใจ เหตุใดประชาชนต้องยินยอมมอบอำนาจของตนมอบให้คนที่ไม่ได้ยึดโยงกับตนเอง อย่าว่าแต่จะให้เป็นพลเมืองเลย ที่ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนหรือไม่ ก็ยังต้องตั้งคำถามด้วยซ้ำ

แต่ในสภาวะบ้านเมืองเช่นนี้คงต้องคำเปรียบเปรยของประจักษ์ ก้องกีรติ ในคลิปวีดีโอ “ความหมาย คุณค่า และความสวยงามของประชาธิปไตย”ที่ว่า เราก็คงอยู่เหมือกับการเข้าไปดูวงออร์เคสตราบรรเลง เราก็ได้แต่เงียบ ฟัง และทำความเข้าใจในเรื่องที่ยากๆ ตามเพลงที่ผู้ควบคุมวง สั่งให้นักดนตรีบรรเลง  และหวังแค่วันหนึ่งจะมีคอนเสิร์ตเพลงร็อค ที่เราสามารถเข้าไปดูและร้องตาม รวมถึงขอให้นักร้อง ร้องเพลงที่ต้องการได้

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท