Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมา โรงเรียนวิชาการเมือง ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) ร่วมกับห้องเรียนสันติภาพ สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี จัดบรรยายสาธารณะหัวข้อ "เมื่อมุสลิมเผชิญความขัดแย้ง: คิดใคร่ครวญถึง ‘หลักเจตนารมณ์แห่งชารีอะห์’ ในประสบการณ์ของมุสลิมตะวันตก" โดย ศ.ดร.ยาซิร อูดะฮฺ (Jasser Auda) นักวิชาการมุสลิมชาวแคนาดา ผู้อำนวยการสถาบันมะกอศิด กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร โดยมีการแปลเป็นไทยโดย อันวาร์ กอมะ นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยโดคุซเอลุล ประเทศตุรกี การบรรยายครั้งนี้จัดขึ้น ณ ห้องประชุมศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ อาคารเรือนพักรับรอง ม.อ.ปัตตานี เนื้อหาในการนำเสนอและการแลกเปลี่ยนมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ว่าด้วยเรื่องสงครามและสันติภาพ

ศ.ดร.ยาซิร กล่าวเริ่มต้นวงด้วยการบอกว่า การทำกิจกรรมต่างๆ เป็นสิ่งที่สำคัญ แต่ในกิจกรรมเหล่านั้นจำเป็นต้องทำด้วยวิทยปัญญา มิฉะนั้นแล้วก็จะเป็นสิ่งที่อันตราย ในครั้งนี้เช่นกัน ที่ได้มาเรียนรู้กันในอีกประเด็นก็คือ เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับ “ชะรีอะห์” สำหรับเราหลายครั้งเมื่อกล่าวถึงชะรีอะห์แล้วก็เป็นสิ่งที่น่ากลัว และถูกนำเสนอในทางที่ผิด ซึ่งในความเป็นจริงแล้วชะรีอะห์มีความหมายที่กว้างกว่านั้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีสงครามซึ่งได้ถูกระบุไว้ ชะรีอะห์เป็นแนวทางการใช้ชีวิตที่ถูกระบุไว้ในกุรอ่านและซุนนะห์ (แบบอย่างของศาสดา) ซึ่งกุรอ่านก็ได้ระบุทั้งสงครามและสันติภาพ แต่สิ่งที่สำคัญตรงนี้คือการตั้งคำถามว่า “ทำไมต้องมีสงคราม?” เหตุผลของสงครามในกุรอ่านก็คือเพื่อนำไปสู่สันติภาพ แต่สันติภาพในอิสลามก็ต้องอยู่บนฐานของความยุติธรรม ดังที่ระบุไว้ในซูเราะห์อัลหุจญรอต โองการที่ 9 ว่า

“หากมีสองฝ่ายจากบรรดาผู้ศรัทธาทะเลาะวิวาทกัน พวกเจ้าก็จงไกล่เกลี่ยระหว่างทั้งสองฝ่าย หากฝ่ายหนึ่งในสองฝ่ายนั้นละเมิดอีกฝ่ายหนึ่ง พวกเจ้าก็จงปรามฝ่ายที่ละเมิดจนกว่าฝ่ายนั้นจะกลับสู่พระบัญชาของอัลลอฮฺ ฉะนั้นหากฝ่ายนั้นกลับ (สู่พระบัญชาของอัลลอฮฺ) แล้ว พวกเจ้าก็จงประนีประนอมระหว่างทั้งสองฝ่ายด้วยความยุติธรรม และพวกเจ้าจงให้ความเที่ยงธรรม (แก่ทั้งสองฝ่าย) เถิด แท้จริงอัลลอฮฺทรงรักใคร่บรรดาผู้ให้ความเที่ยงธรรม”

ฉะนั้น หากสันติภาพสามารถที่จะเกิดขึ้นได้โดยปราศจากสงครามแล้ว การทำสงครามก็ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็น ความยุติธรรมคือสิ่งที่ทำให้เกิดดุลยภาพ แม้ว่าอาจจะดูเหมือนเป็นอุดมคติ แต่ก็สามารถทำได้

ว่าด้วยชารีอะห์กับความยุติธรรม

สำหรับ ศ.ดร. ยาซิร ชะรีอะห์ก็คือความยุติธรรม ยิ่งความยุติธรรมเกิดขึ้นมากเท่าไหร่ ชะรีอะห์ก็สามารถประยุกต์ใช้ได้มากขึ้นเท่านั้น ฉะนั้น หากสังคมหนึ่งสามารถสถาปนาความยุติธรรมได้แล้ว ดินแดนนั้นสำหรับท่านก็ถือว่าเป็นดินแดนที่ประยุกต์ใช้ชะรีอะห์แล้ว สำหรับท่านเอง ซึ่งอยู่ในแคนาดา เมื่อแคนาดามีระบบที่ยุติธรรม แคนาดาก็ถือว่าประยุกต์ใช้ชะรีอะห์เช่นเดียวกัน ในขณะที่ท่านได้เห็นประเทศอาหรับบางประเทศที่ใช้ชื่อว่าเป็นประเทศอิสลาม แต่กลับไม่สามารถสถาปนาความยุติธรรมได้ ฉะนั้น ในที่นี้พวกเขาก็ถือว่าไม่ได้ประยุกต์ใช้ชะรีอะห์ ดังที่ อิบนุก็อยยิม ปราชญ์มุสลิมคนสำคัญในประวัติศาสตร์ ได้ระบุว่า ถ้าคุณมองหาว่าชะรีอะห์ได้ถูกนำไปประยุกต์ใช้หรือไม่ จงมองหาในที่ซึ่งมีการประยุกต์ใช้ความยุติธรรม ท้ายสุดแล้วคำตอบของคำถามที่ว่า ชะรีอะห์คืออะไรนั้น คำตอบก็คือ “ความยุติธรรม” นั่นเอง

ท่านได้ตั้งอีกหนึ่งคำถามว่า “แล้วอะไรเล่าคือรัฐอิสลาม?” แน่นอนว่าต้องเป็นรัฐที่ความยุติธรรมได้ถูกสถาปนาขึ้น ในที่นี่ความยุติธรรมเป็นเรื่องที่จะต้องประยุกต์ให้เข้าได้กับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นมุสลิมหรือไม่ก็ตาม ฉะนั้น กฎต่างๆ ที่ใช้ขึ้นก็เป็นสิ่งที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นในกฎหมายแพ่งหรืออาญา ซึ่งจะต้องให้เกิดความยุติธรรมแก่มวลมนุษยชาติทุกคน มีกฎข้อบังคับหลายอย่างที่จำเป็น เช่น การให้การศึกษาที่ดี การรักษาสิ่งแวดล้อมและปลอดมลพิษ การมีสุขภาวะที่ดี ภาวะเศรษฐกิจที่ดี รวมถึงการมีส่วนร่วมทางการเมือง เป็นต้น แม้ว่าสิ่งแวดล้อมนั้นจะเป็นที่อยู่ของมุสลิมส่วนใหญ่ แต่หากสกปรกก็ไม่ใช่แนวทางอิสลาม ถ้ามีผู้นำเผด็จการก็ไม่ใช่แนวทางอิสลาม เฉกเช่นเดียวกับแนวทางอื่นๆ ฉะนั้น เมื่อมองหารัฐอิสลามแล้ว สิ่งที่เรามองหาก็คือ “รัฐที่มีสุขภาวะที่ดีและมีความยุติธรรม”

“ทุกสิ่งล้วนแล้วมีความเชื่อมโยงและไม่คงที่ ไม่มีสิ่งใดที่จะเป็นแนวทางของอิสลามได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือไม่มีแนวทางใดที่จะปราศจากอิสลามเลย ก็ล้วนแล้วแต่มีการปรับขึ้นลงได้ ในที่นี้ เราสามารถหาจุดร่วมในการจัดการความขัดแย้งได้ หากคู่ขัดแย้งมาตกลงกันแล้วหาแนวทางร่วมกันในการยุติความขัดแย้ง คำถามที่จะต้องตอบต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่นี้ (ชายแดนใต้/ปาตานี) ของคุณ คนในพื้นที่ควรหาคำตอบด้วยตัวเอง แต่คำตอบจะต้องอยู่บนฐานของหลักการที่ถูกต้อง หนึ่งในหลักการนั้นก็คือความยุติธรรม”

หลักเจตนารมณ์ของชะรีอะห์และความยุติธรรม

ในช่วงการเปิดวงให้สามารถการแลกเปลี่ยน ได้มีการแลกเปลี่ยน ตั้งคำถาม ถึงประเด็นต่างๆ หลากหลาย อาทิ คำถามจากฟารีดา ปันจอร์ อาจารย์นักวิจัย CSCD ที่ย้ำให้วิทยากรปูพื้นฐานโดยอธิบายเกี่ยวกับ “หลักเจตนารมณ์ของชะรีอะห์” หรือ “Maqasid Syariah” ว่าคืออะไร ซึ่งศ.ดร.ยาซิร ได้อธิบายว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน ซึ่งจำต้องมีการศึกษาอย่างละเอียดเพื่ออธิบาย กล่าวโดยสรุปก็คือ หลักการของชะรีอะห์นั้นมาจากกุรอ่าน การตัดสินใจใช้ชะรีอะห์ก็จำต้องเข้าใจวัตถุประสงค์ของชะรีอะห์ก่อนจึงมีความเข้าใจอย่างชัดเจน สิ่งที่จำเป็นที่สุดก็คือความยุติธรรม หากปราศจากความยุติธรรมแล้วก็ไม่ใช่แนวทางของอิสลาม เพราะเป็นสิ่งที่ระบุในอัลกุรอ่านหลายครั้ง ต่อกรณีการทำสงครามเพื่อให้ได้มาซึ่งสันติภาพ เพราะเราไม่ได้ทำสงครามเพื่อสงคราม แต่ทำสงครามเพื่อสถาปนาสังคมที่ดีกว่าเดิม และเงื่อนไขที่จำเป็นที่สุดที่อัลกุรอ่านระบุถึงก็คือ ความยุติธรรม ซึ่งเปรียบเสมือนเป้าหมายปลายทางของสงคราม สงครามก็เป็นเพียงแค่แนวทางหนึ่งเท่านั้น อิสลามไม่ใช่เพียงการใช้คำแล้วจะตัดสินว่าเป็นแนวทางอิสลาม แต่แนวคิดชะรีอะห์เป็นแนวทางสากลที่เป็นความต้องการขั้นพื้นฐานสำหรับมนุษย์ทุกคน หากปราศจากสิ่งนี้มนุษย์ก็ไม่อาจมีชีวิตที่ดีได้

คำถามต่อมา จากจุฬารัตน์ ดำรงวิถีธรรม เจ้าหน้าที่มูลนิธิเบิร์กฮอฟมีอยู่ว่า เมื่อชะรีอะห์คือความยุติธรรมนั้น ปัญหาคือเป็นความยุติธรรมของใคร? และถ้าใช้ประยุกต์ชะรีอะห์ต่อกฎหมายอาญาแล้วจะก่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อสังคมได้จริงหรือไม่? ซึ่ง ศ.ดร. ยาซิร ได้ตอบคำถามนี้ว่า ความยุติธรรมนี้จะต้องให้สิทธิขั้นพื้นฐานและความยุติธรรมจะสามารถเกิดขึ้นได้หากปกป้อง 5 สิ่ง คือ ศาสนา ชีวิต สายตระกูล สติปัญญา และทรัพย์สิน ขณะเดียวกันก็จะต้องทำให้เกิดความสมดุลระหว่างความสุดโต่งของสองด้าน ไม่ว่าจะเป็นระหว่างคนจนกับคนรวย หรือระหว่างผู้มีอำนาจและคนทั่วไป หากคนทั่วไปสามารถมีส่วนร่วมในการเมืองแล้ว ก็จะลดช่องว่างได้ ซึ่งในที่นี้ก็ได้กล่าวไว้ในเรื่องที่เกี่ยวกับการชูรอ (หรือการปรึกษาหารือ) ฉะนั้น จึงเป็นระบบที่หาดุลยภาพในสังคมนั่นเอง

ส่วนประเด็นเรื่องกฎหมายอาญา (หุดูด) ท่านระบุว่าไม่ใช่ทุกอย่างในชะรีอะห์ที่จำเป็นต้องเป็นกฎหมาย ดังนั้นกฎหมายอาญาในชะรีอะห์จึงไม่จำเป็นที่จะต้องเหมือนกับกฎหมายของประเทศ เมื่อไหร่ก็ตามที่กฎหมายอาญาเหล่านี้จะใช้ในกฎหมายของประเทศนั้น จำเป็นที่จะต้องมั่นใจว่าจะเกิดความยุติธรรมขึ้น หากไม่สามารถนำไปสู่ความยุติธรรมได้แล้วก็ไม่อาจใช้ในกฎหมายของประเทศนั้นๆได้ ทว่าก็มีกฎของการลำดับความสำคัญ ที่จะต้องเน้นในประเด็นความยากจน สุขภาวะหรือการศึกษาก่อน และบทลงโทษในกฎหมายอาญาในสังคมที่มีความหลากหลายอาจจะเกิดปัญหาได้ หากกฎเหล่านี้กลายเป็นกฎหมายของประเทศโดยผ่านกระบวนการทางประชาธิปไตยก็มีความเป็นไปได้ แต่หากไม่ได้รองรับด้วยรัฐธรรมนูญแล้วก็ไม่ได้ถูกประยุกต์ใช้ แน่นอนว่าชะรีอะห์ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง แต่ชะรีอะห์ก็ไม่ได้หมายความว่าจะขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญได้ แต่ประเด็นนี้เป็นส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทุกส่วน เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ในชะรีอะห์เท่านั้น ฉะนั้นเราจึงต้องจัดลำดับความสำคัญให้ดี มุสลิมควรจะให้ความสำคัญกับเรื่องที่ใหญ่กว่านี้ มีสิ่งที่เป็นประเด็นร่วมภายใต้มุมมองแบบอิสลามอยู่หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือคนยากจน คนที่ถูกลิดรอนสิทธิ เป็นต้น

ศ.ดร.บัซมะห์ อับเดลจัฟฟาร์ (Basma Abdelgafar) ภรรยาของ ศ.ดร.ยาซิร ผู้ที่เดินทางติดตามมาด้วย กล่าวเสริมว่า เมื่อคนพูดถึงชะรีอะห์คนมักจะไปมองแต่ประเด็นการลงโทษ แล้วมองข้ามประเด็นอื่นๆ ซึ่งเป็น 98-99 % ของชะรีอะห์ มีประเด็นที่ใหญ่กว่าที่เราอาจจะต้องมองเมื่อบทลงโทษถูกใช้ในยุคปัจจุบันแล้วคนมุ่งไปมองแต่จุดนั้น ว่าท้ายสุดแล้ว สิ่งเหล่านี้กำลังดำเนินไปด้วยวัตถุประสงค์อะไร หากมองจากแง่มุมการลงโทษเราก็จะเข้าใจวัตถุประสงค์เป้าหมายเพียงการถูกควบคุมและถูกกดขี่ นี่คือสิ่งที่มุสลิมต้องการกระนั้นหรือ? เราจึงจำเป็นที่จะต้องคิดเชิงวิพากษ์ต่อเรื่องนี้ให้มาก

อิสลามมีคุณูปการต่อการสร้างสันติภาพอย่างไร?

คำถามต่อมา ดร. มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ตั้งคำถามว่า ในปัจจุบันมีการอ้างความยุติธรรมในการต่อสู้ว่าถูกละเมิดความยุติธรรมจึงต่อสู้ ภายใต้หลักเจตนารมณ์แห่งชะรีอะห์ เราจะสามารถหาแนวทางที่จะก้าวพ้นจากการใช้สิ่งนี้เป็นเพียงข้ออ้างได้อย่างไร? และในกระบวนการพูดคุยสันติภาพ อิสลามจะสามารถสร้างคุณูปการสิ่งใดที่เกิดประโยชน์ต่อการพูดคุยได้อย่างไร? ในขณะที่ตูแวดานียา ตูแวแมแง ผู้อำนวยการ LEMPAR ขอให้ยกกรณีตัวอย่างที่ความรุนแรงสามารถใช้ได้เพื่อให้เกิดความยุติธรรมอย่างชอบธรรม และกรณีใดที่ไม่ชอบธรรม

ศ.ดร.ยาซิร ตอบว่า อิสลามสามารถสร้างสรรค์สันติภาพได้หากเข้าใจอิสลามอย่างถูกต้อง แก่นหลักของอิสลามนั้นคือสันติภาพในตัวเองอยู่แล้ว สิ่งที่น่าสนใจที่จะต้องคิดต่อคือประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับความยุติธรรมที่จะนำไปสู่สันติภาพ ซึ่งเงื่อนไขต่างๆ ที่จะต้องได้มาซึ่งความยุติธรรมให้เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ในประเด็นเรื่องของการใช้ความรุนแรงนั้นก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เพราะในบางสถานการณ์นั้นความรุนแรงก็เป็นสิ่งที่จำเป็น เช่น ถูกรุกราน มีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อชีวิต ศักดิ์ศรี และทรัพย์สิน เป็นต้น

หากในที่สุดแล้วการทำสงครามนี้จะสามารถมั่นใจได้ว่าจะนำไปสู่สันติภาพและปกป้องชีวิตของผู้คนได้ ศ.ดร.ยาซิร ก็ชี้ว่าสงครามนั้นก็มีความชอบธรรม แต่หากพิจารณาถึงบริบทนี้แล้ว คุณอาจคิดว่าเกิดความอยุติธรรม แต่ไม่ว่าที่ใดก็ไม่มีสิ่งที่เป็นความยุติธรรมที่แท้จริง ความยุติธรรมก็เป็นสิ่งที่สัมพัทธ์และขึ้นลงได้ เช่น ในซูดานใต้ ต้องการที่จะแยกตัวเป็นอิสระ แต่เมื่อแยกแล้วกลับต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ หรือกรณีที่คนอ้างว่าดินแดนหนึ่งเป็นขอบเขตของอิสลาม แต่กลับไม่มีความปลอดภัย ประชาชนถูกละเมิดสิทธิและศักดิ์ศรีก็ถือว่าไม่ใช่แนวทางของอิสลาม ดังเช่นในอิรักและซีเรียตอนนี้ สถานการณ์ก็มีความย่ำแย่กว่าเดิม แม้ว่าจะอ้างว่าเป็นดินแดนอิสลาม พวกเขาอ้างว่าถึงผู้คนล้มตายหมดแต่ยังเหลือแผ่นดิน เช่นนี้ก็ไม่ใช่แนวทางของอิสลาม ความยุติธรรมเป็นเรื่องของความเชื่อมั่นด้วยเช่นกัน แม้แต่พระนามของอัลลอฮฺก็มีหนึ่งพระนามที่หมายความถึงผู้ทรงยุติธรรม ฉะนั้นแล้ว ความยุติธรรมก็จำเป็นต้องคำนึงถึง เมื่อเราจะคิดถึงเรื่องสันติภาพ

ฟาเดล หะยียามา มุสลิมจากอำเภอรือเสาะ ผู้ประสานงานภาคสนามสถาบันคีนันเอเชีย ได้ร่วมอภิปรายในประเด็นแง่มุมของความขัดแย้ง โดยเฉพาะในเรื่องคุณค่าที่ขัดกันที่ต่างฝ่ายต่างนำเสนอ คำถามคือเมื่อเราพูดถึงคุณค่าสากลที่มีอยู่ เราจะสามารถดึงออกมาใช้ได้อย่างไร? ศ.ดร.ยาซิร ตอบว่า ไม่ว่าอย่างไรอิสลามก็ยังจำเป็นที่จะต้องเป็นฐานหลักในการคิด เราก็ยังไม่ควรก้าวไปเหนือกรอบของอิสลาม แล้วไปมองหาคุณค่าร่วมกันที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอิสลาม เพราะอิสลามก็คือตัวตนของมุสลิม หากไม่นำตัวตนนี้เข้าสู่กระบวนการจัดการปัญหาแล้ว ก็จะยังคงเป็นปัญหาที่ก้าวพ้นไม่ได้ ในสังคมมุสลิม หากเรามองก้าวข้ามความเป็นอิสลามแล้ว เชื่อว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่แท้จริงได้ ฉะนั้น สิ่งที่เราจำเป็นต้องทำไม่ใช่การทำลายให้อิสลามหายไป หากแต่เป็นการทบทวนอิสลามในแบบที่เราเข้าใจอิสลามที่แท้จริงได้มากขึ้น

คำถามที่น่าสนใจถัดมาจากอาจารย์กริยา หลังปูเต๊ะ คือ การสานเสวนาระหว่างศาสนาเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาได้หรือไม่ อย่างไร ศ.ดร.ยาซิร ตอบว่า ในประสบการณ์ของท่านแน่นอนว่าการสานเสวนาเป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อให้เห็นถึงจุดร่วมต่อกันที่เราอาจมองข้าม และทำให้คนเข้าใจกันมากขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างชุมชนและนำไปสู่สันติภาพต่อไป อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญก็คือ เป้าหมายของการสานเสวนาจะต้องไม่ใช่เพื่อเน้นที่จะเปลี่ยนศาสนาของอีกฝ่าย เพราะหากเป็นเช่นนั้นแล้วจะบทสนทนาจะกลายเป็นการถกเถียง ซึ่งต้องการเอาชนะต่อกันเท่านั้น

บทบาทของผู้หญิงในงานสันติภาพ

ยาสมิน ซัตตาร์ มุสลิมะฮ์จากปัตตานีที่กำลังศึกษาปริญญาเอกที่ประเทศตุรกี ได้ตั้งคำถามถึงประเด็นปัญหาระหว่างมุสลิมกันเองว่า เราจะก้าวข้ามกันได้อย่างไร? ศ.ดร.บัซมะห์ ได้ให้ความเห็นว่า ปัญหาหลักก็คือการที่มุสลิมเราขาดซึ่งองค์ความรู้และความมั่นใจ เราจึงจะต้องมีความรู้ เพื่อที่จะเห็นว่าในความเป็นจริงแล้วไม่ได้มีแค่แนวทางเดียว แน่นอนว่ามีความจริงเพียงหนึ่งเดียวนั่นคือ อัลลอฮฺ แต่มีหลากหลายทางเลือก และทางเดียวที่เราจะเข้าใจทางเลือกเหล่านั้นได้ก็คือความรู้ ตัวอย่างเช่น ความเข้าใจต่อรากเหง้าของความคับข้องหมองใจที่เกิดขึ้น หลายครั้งก็เกี่ยวเนื่องกับเรื่องของเศรษฐกิจ คนต้องการที่จะหาเลี้ยงปากท้อง เราจึงจำเป็นต้องมีความรู้เพื่อสิ่งนี้ด้วยเช่นกัน

ยาสมิน ถามต่อเกี่ยวเนื่องกับสถานะและบทบาทของผู้หญิงภายใต้กฎหมายชะรีอะห์ต่อการจัดการความขัดแย้งว่าจะสามารถทำได้อย่างไร? ศ.ดร.ยาซิร มองว่าไม่มีความแตกต่างใดระหว่างบทบาทของผู้หญิงและผู้ชาย ขณะที่ ศ.ดร.บัซมะห์ เสริมว่า ผู้หญิงมีบทบาทเฉพาะที่จะมีส่วนต่อการพูดคุย การเจรจา และการชูรอ (ปรึกษาหารือ) และนี่คือจุดแข็งของผู้หญิง ในสงครามอุฮุด เมื่อครั้งที่ท่านนบีได้ขอความเห็นในเรื่องสงครามจากวงที่ปรึกษาของท่าน ซึ่งมีทั้งผู้หญิงและผู้ชาย โดยได้ตัดสินใจว่าจะทำสงคราม หากแต่ได้มีคำแนะนำจากที่ปรึกษาหญิงท่านหนึ่งว่าให้ใช้แนวทางการเจรจามากกว่า และมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ประกอบที่ว่าผู้หญิงจะมีความสามารถในการเจรจาตกลงกันได้มากกว่าผู้ชายและโดยธรรมชาติแล้ว ผู้หญิงก็คือครูหรือผู้ให้ความรู้ ผู้หญิงให้ความรู้แก่เยาวชนในรุ่นถัดไป เราสอนในบ้าน ในโรงเรียน และในชุมชน ฉะนั้น จงให้ความรู้ในเรื่องสันติภาพ ขณะเดียวกัน ผู้หญิงจะต้องปลูกฝังลูก ให้เติบโตเป็นพลเมืองที่มีความยุติธรรมต่อไปได้

ว่าด้วยระบบคิดอิสลาม ประชาธิปไตย และความชอบธรรมของสงคราม

ดร.นอร์เบิร์ต โรเปอร์ส นักวิจัยชาวเยอรมันของ CSCD ได้แลกเปลี่ยนในสองประเด็นที่เขาเห็นว่ายังมีคำอธิบายที่ไม่เข้มแข็งมากพอ กล่าวคือ ประเด็นแรก หากเราใช้ระบบคิดนี้ในสังคมประชาธิปไตยที่มีความต่างระหว่างคนกลุ่มใหญ่และคนกลุ่มน้อยแล้ว ผลลัพธ์ที่ออกมามักจะมีความขัดแย้งได้ เช่นที่เห็นในกลุ่มมุสลิมในฝรั่งเศสหรือคริสเตียนในปากีสถาน คำถามคือ แนวคิดดังกล่าวนี้ทำงานอย่างไรในสังคมที่เป็นประชาธิปไตย? ประเด็นต่อมาคือ การกล่าวถึงความยุติธรรมในฐานะที่เป็นเป้าหมายของสงคราม แต่สิ่งที่เราค้นพบโดยส่วนใหญ่แล้วกลับมีหลักฐานที่ยืนยันสิ่งนี้ได้น้อยมากว่าความยุติธรรมจะเกิดขึ้นภายหลังจากสงครามได้ เรามักจะเห็นว่าหลังจากสงครามก็มักจะมีสถานการณ์ที่เลวร้าย เช่น ในอัฟกานิสถานและอิรัก เป็นต้น

ศ.ดร.ยาซิร เห็นว่าประเด็นเกี่ยวกับประชาธิปไตยนั้น เขามองว่าไม่ใช่ปัญหาของระบบอิสลาม หากแต่เป็นปัญหาของระบบประชาธิปไตยเอง เมื่อได้กลายเป็นระบบเผด็จการโดยเสียงข้างมาก และเราจำเป็นต้องก้าวข้ามผ่านบรรทัดฐานของประชาธิปไตยแบบเดิมเช่นนี้และก้าวสู่ในแนวทางประชาธิปไตยแบบใหม่ ซึ่งสามารถให้ความมั่นใจได้ว่าคนกลุ่มใหญ่จะไม่รังแกคนกลุ่มน้อย ในกรณีของฝรั่งเศสนั้นเป็นปัญหาของระบบคิดโลกวิสัยนิยม (secularism) มากกว่า ฝรั่งเศสไม่ต้องการให้ศาสนาอยู่เหนือรัฐ จึงพยายามผลักออกไป ในความเห็นของเขา เราจำเป็นต้องมีแนวทางเซคคิวล่าร์ในแบบเสรีนิยมที่วางที่ทางของศาสนาใหม่ในความสัมพันธ์กับรัฐ

ส่วนในกรณีของสงครามเพื่อสันติภาพนั้น เขาเองก็คาดหวังว่าถ้าเป็นไปได้การไม่มีสงครามเลยนั้นย่อมเป็นสิ่งที่ดีที่สุด และหวังว่าสงครามจะเป็นเพียงประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ให้รักษาแนวคิดเรื่องสงครามเอาไว้ ท่านมองว่าหากจะให้อิสลามมองแค่เพียงสันติภาพ ในขณะที่คนอื่นพูดเกี่ยวกับสงครามก็คงจะไม่ใช่ หากเราบอกว่าอิสลามมีกฎที่จะป้องกันตนเองได้ นั่นอาจเป็นหนทางที่นำไปสู่สันติภาพได้มากกว่า

เงื่อนไขของการประกาศใช้ชะรีอะฮ์

รอมซี ดอฆอ มุสลิมจากยะลา เจ้าหน้าที่ภาคสนามมูลนิธิเอเชีย ถามถึงเงื่อนไขของการประยุกต์ใช้ชะรีอะห์ในทางปฏิบัตินั้นมีอะไรบ้าง? ศ.ดร.ยาซิร ได้ให้ความเห็นว่าไม่จำเป็นที่จะต้องมีเงื่อนไขใดๆ ก่อนเลย ในเมื่อชะรีอะห์คือหลักการพื้นฐานที่เราสามารถกระทำได้อยู่แล้วในชีวิตประจำวัน แต่หากหมายถึงกฎหมายอาญาแล้ว ก็เป็นสิ่งที่ยากที่จะประยุกต์ใช้ จำเป็นต้องพิจารณาถึงองค์ประกอบของพื้นที่ ตลอดจนผู้คนที่มีความหลากหลายด้วยเช่นเดียวกัน และเขาไม่คิดว่าจะนี่เป็นการเปลี่ยนแปลงกฎที่ระบุในอัลกุรอ่าน กฎนั้นมีแต่เมื่อนำไปประยุกต์ใช้ในกฎหมายของประเทศซึ่งมีความหลากหลายและมีรัฐธรรมนูญอยู่ คำถามสำคัญคือเราจะประยุกต์อย่างไรให้นำไปสู่ความดีและความยุติธรรม เราจำเป็นต้องพิจารณาถึงผลประโยชน์ส่วนรวมหรือสวัสดิการที่ดีของทุกคนประกอบด้วยเช่นเดียวกัน

ศ.ดร.บัสมะห์ กล่าวเสริมว่า เป็นสิ่งที่อันตรายอย่างยิ่งหากคิดใคร่ครวญถึงประเด็นนี้อย่างไม่รอบคอบ เราอาจจะคิดว่าเมื่อไม่มีเงื่อนไขที่สามารถใช้ชะรีอะห์ได้แล้วก็จะดีกว่าหากเราประกาศแยกตัวเสีย และหากรัฐธรรมนูญใหม่ที่จะใส่เข้าไปได้ เราจำเป็นต้องเข้าใจถึงการเรียงลำดับความสำคัญว่า เป้าหมายสำคัญของชะรีอะห์นั้นคืออะไร ผลประโยชน์ส่วนรวมแบบรอบด้านของพลเมืองทุกคนเป็นเช่นไร ไม่ใช่กฎหมายอาญาที่ใช้ลงโทษ หากกฎหมายอาญาเหล่านั้นไม่สามารถตอบโจทย์ผลประโยชน์ของสังคมแล้วก็ไม่ควรใช้ เธอมองว่าแม้แต่ในแคนาดาเองก็อาจประยุกต์ใช้ชะรีอะห์มากกว่าอียิปต์ เนื่องจากได้พยายามนำไปสู่ความยุติธรรมมากกว่า แต่แน่นอนว่าในประเด็นเช่นการแต่งงานของเพศเดียวกันนั้นเป็นที่อนุญาตในแคนาดา แต่อียิปต์ไม่อนุญาต ในแง่นี้ก็พอกล่าวได้ว่าอียิปต์ได้ประยุกต์ใช้ชะรีอะห์ได้ดีกว่า เป็นต้น ดังเช่นที่ มูฮำหมัด อับดุห์ นักฟื้นฟูคนสำคัญท่านหนึ่งได้ถามท่านเมื่อกลับจากฝรั่งเศสว่าเห็นอะไรที่นั่นบ้าง ท่านตอบว่า “เมื่อฉันไปฝรั่งเศส ฉันเห็นอิสลามมากกว่ามุสลิม แต่เมื่อฉันกลับมาอียิปต์ ฉันกลับเห็นมุสลิมเต็มไปหมด แต่กลับเห็นอิสลามเพียงน้อยนิด”

โชคชัย วงษ์ตานี จากสถาบันสันติศึกษา ม.อ.หาดใหญ่ ถามถึงประเด็นที่ว่า เมื่อในการตัดสินต่างๆ ก็ต้องขึ้นอยู่กับบริบท และในบริบทของพื้นที่ปาตานีเองก็มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นในตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา แต่ไม่ได้มีการสร้างความเข้าใจว่าในเวลานี้ปาตานีอยู่ในบริบทใด จะเป็นดารุสสลาม (ดินแดนแห่งสันติ) ดารุลฮัรบี (ดินแดนสงคราม) หรือพื้นที่สีเทา ในสถานการณ์เช่นนี้จะประยุกต์ใช้ชะรีอะห์อย่างไร? ศ.ดร.ยาซิร  ได้ตอบว่า เมื่ออยู่ร่วมกันแล้ว ย่อมมีพื้นที่สีเทาอยู่ สิ่งที่ต้องหาร่วมกันก็คือค่านิยมร่วม ไม่ว่าจะเป็นความมั่นคงปลอดภัยหรือความยุติธรรม นอกจากนั้น เราจำเป็นต้องคำนึงถึงสภาพความเป็นจริงในสังคม การที่จะต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งระบอบคิลาฟะห์แล้วเราจะได้มาซึ่งความยุติธรรมหรือไม่ ระบบในปัจจุบันเอื้อให้เกิดการสร้างรูปแบบการปกครองเช่นในอดีตหรือไม่ ดังนั้นหากไม่ใช่สิ่งที่เป็นจริงได้ ก็ไม่ได้ตอบโจทย์เป้าหมายได้ และในยุคปัจจุบันที่อยู่ในกรอบของระบบรัฐชาติ เราเองก็จำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบรัฐชาติดังกล่าวนี้ไปด้วยเช่นกัน

การทำความเข้าใจ ชะรีอะห์ ฟิกฮฺ และกอนูน เป็นสิ่งที่จำเป็น

ในช่วงสุดท้ายของวงได้มีการให้ข้อคิดเห็นจาก ดร.มูฮัมหมัดอิลยาสว่า เมื่อเรากล่าวถึงผลประโยชน์ส่วนรวมนั้นอาจต้องระวัง เพราะการจัดสรรผลประโยชน์ที่ว่านี้ก็จำต้องกลับไปสู่การพิจารณาอำนาจของรัฐที่เป็นผู้ตัดสินแนวทางที่ให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์นั้น ฉะนั้น ก็อาจมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การกดขี่โดยผู้มีอำนาจได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ยังต้องเจอกับความสับสนของความเข้าใจต่อความหมายของชะรีอะห์ กฎหมายอิสลาม กฎหมายของรัฐ ว่าคืออะไร ด้วยเหตนี้เราจึงต้องทำความเข้าใจให้มาก

ส่วนชารีฟ พุฒวัจน์ มุสลิมจากปัตตานี กรรมการสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทยให้ความเห็นว่า จากการสนทนาทั้งหมดนี้ เราพบว่ายังมีความสับสนในประเด็นสำคัญอยู่มาก และเห็นว่าจะเป็นการดีหากผู้เข้าร่วมได้อ่านหนังสือและบทความเพื่อทำความเข้าใจในคำจำกัดความพื้นฐานของเป้าประสงค์ของชะรีอะห์มาก่อนที่จะเข้าร่วมวงในครั้งนี้ ขณะที่ ผศ.ดร.สุกรี หลังปูเต๊ะ ได้เชิญชวนให้ทำความเข้าใจและทำการวิจัยในเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ให้มากขึ้น

ศ.ดร.ยาซิร ได้กล่าวส่งท้ายว่า ผลประโยชน์สาธารณะแน่นอนว่าถูกจำกัดด้วยอำนาจรัฐ แต่จะทำอย่างไรให้ผลประโยชน์ส่วนรวมตอบโจทย์คนส่วนรวมได้ดีที่สุด โดยหลักแล้วเมื่อจะกำหนดผลประโยชน์สาธารณะแล้วก็มักจะใช้การมองจากข้างบนลงสู่ข้างล่าง แต่เขาก็เสนอว่าจะต้องมองจากล่างขึ้นบนด้วยเช่นกัน คือมองความต้องการของประชาชนและผลประโยชน์ส่วนรวมที่จะตอบสนองต่อหลักเจตนารมณ์แห่งชะรีอะห์ได้

ศ.ดร.ยาซิร กล่าวทิ้งท้ายว่า ความสับสนในเรื่องแนวคิดดังกล่าวนี้เป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างคำว่า ชะรีอะห์ ฟิกฮฺ และกอนูน  ซึ่งชะรีอะห์ก็คือกุรอ่านและซุนนะห์ ส่วนความเข้าใจของชะรีอะห์ก็คือฟิกฮฺ ซึ่งอาจจะถูกก็ได้ผิดก็ได้ ส่วนกอนูนก็คือกฎหมายของแต่ละประเทศ ซึ่งดึงออกมาจากชะรีอะห์และฟิกฮฺมาร่างเป็นกฎหมายของแต่ละพื้นที่ขึ้น ฉะนั้นการทำความเข้าใจสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่จำเป็น แน่นอนว่าฟิกฮฺพยายามกำหนดว่าอะไรถูกอะไรผิด แต่ในทุกๆ ความผิดนั้นก็อาจจะไม่ถูกนำไปแปรรูปเป็นกฎหมายก็ได้ เมื่อไหร่ที่ความผิดกระทบต่อสังคมโดยรวม นั่นจึงเป็นอำนาจของรัฐที่จะต้องเข้าไปจัดการในประเด็นนั้นๆ เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้อื่น รัฐมีหน้าที่ที่จะบอกว่าคุณทำผิดกฎหมาย ซึ่งในกฎหมายนี้แน่นอนว่าไม่ใช่ความผิดทุกอย่างจะถูกนำไปประยุกต์เป็นกฎหมายเสมอไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net