Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

หากพิจารณาการต่อสู้ตามหลักอหิงสา-สัตยาเคราะห์และอารยะขัดขืนของมหาตมะ คานธี จะเห็นว่ามีส่วนผสมระหว่างความคิดเรื่องสิทธิ เสรีภาพแบบตะวันตกกับวัฒนธรรมทางศาสนาตะวันออกอย่างลงตัว

ดังเห็นได้จากการเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพที่จะปกครองตัวเองของประชาชนชาวอินเดียจากอำนาจกดขี่ของประเทศเจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษ ทำให้สหรัฐและหลายประเทศในยุโรปที่ตื่นตัวในเรื่องปกป้องสิทธิ เสรีภาพมาก่อนแล้วหันมาให้ความสนใจ สื่อตะวันตกและนักคิดสำคัญระดับโลกหลายคนก็แสดงความเห็นสนับสนุน

ขณะเดียวกันการใช้ความเชื่อทางศาสนาอันเป็นพลังทางวัฒนธรรมของอินเดีย เช่นหลักอหิงสา-สัตยาเคราะห์ที่มีส่วนผสมระหว่างแก่นสารของคำสอนฮินดู-พุทธ ประกอบกับทรรศนะที่เปิดกว้างต่อทุกศาสนาของคานธี ทำให้ศาสนิกของศาสนาต่างๆ ทั้งในและนอกอินเดียหันมาสนับสนุนด้วย

การแสดงอารยะขัดขืนของคานธีด้วยปณิธานที่ยึดหลักสัจจะ สันติ อหิงสา การให้อภัยในภาพลักษณ์ของศาสนิกผู้สมถะเคร่งศาสนา และอุทิศชีวิตเพื่ออิสรภาพของประชาชนราวกับนักพรตผู้ทุ่มเทชีวิตบำเพ็ญตบะเพื่อบรรลุความดีสูงสุดทางศาสนา ย่อมเป็นภาพที่กระตุ้นมโนธรรมทางสังคมและดึงดูดจิตใจชาวอินเดียจำนวนมหาศาลให้เข้ามามีส่วนร่วมในการต่อสู้จนประสบความสำเร็จ

แปลว่า ที่คานธีใช้กลไกทางวัฒนธรรมต่อสู้สำเร็จได้ เนื่องจากเป็นการใช้กลไกวัฒนธรรมศาสนาภายใต้บริบทสังคมอินเดียยุคนั้นที่มีวัฒนธรรมศาสนาเข้มแข็งเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ภาษาทางศาสนาที่คานธีนำมาใช้ในบริบทเช่นนั้นจึงกระตุ้นมโนธรรมและดึงดูดจิตใจของผู้คนได้อย่างทรงพลัง ขณะเดียวกันการใช้พลังความเชื่อทางศาสนาผสมผสานกับความคิดเรื่องสิทธิ เสรีภาพแบบตะวันตกอย่างวิพากษ์และลงตัว ประกอบกับทรรศนะที่เปิดกว้างทางศาสนา ก็ทำให้คานธีได้รับการสนับสนุนจากนานาประเทศที่นับถือศาสนาต่างกันอย่างกว้างขวาง

บทเรียนที่คานธีทิ้งไว้ จึงไม่ใช่เพียง “ตัวความคิด” เรื่องอหิงสา-สัตยาเคราะห์ และอารยะขัดขืนเท่านั้น แต่ที่สำคัญคือให้เราพิจารณาการใช้ความคิดดังกล่าวนั้นภายใต้บริบทสังคมวัฒนธรรมอย่างไรด้วย เพราะความเชื่อทางศาสนาอันเป็นกลไกสำคัญทางวัฒนธรรมจะใช้อย่างได้ผล ต่อเมื่อใช้ในสังคมที่มีวัฒนธรรมความเชื่อทางศาสนาเข้มแข็งอยู่ก่อน

เมื่อหันมาดูการแก้ปัญหาความขัดแย้งและสร้างความปรองดองในบ้านเรา เป็นไปไม่ได้เลยที่จะแก้ด้วย “กฎหมาย” เพียงอย่างเดียว หรือแม้แต่จะแก้ด้วยหลักที่พูดๆ กันบ่อยว่าต้องใช้ทั้งหลักนิติศาสตร์และรัฐสาสตร์ เพราะปัญหาความขัดแย้งแตกแยกทั้งลึกและแผ่ขยายกว้างมาก กลไกทางวัฒนธรรมจึงน่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ควรนำมาใช้

แต่ปัญหาคือ เมื่อเราพูดถึง “วัฒนธรรมไทย” เรามักจะเหมารวมว่า “วัฒนธรรมไทยล้วนมีรากฐานมาจากพุทธศาสนาทั้งนั้น” และเมื่อถามว่ากลไกวัฒนธรรมพุทธศาสนาเข้ามามีส่วนอย่างไรในปัญหาความขัดแย้งที่เป็นมา เรากลับพบว่ามีการใช้ความเชื่อทางพุทธศาสนาเป็นกลไกสร้างความขัดแย้งและความรุนแรงมากว่าที่จะใช้เป็นกลไกสนับสนุนสันติวิธีและความปรองดอง

การอ้างศีลธรรม ความดี ความเป็นคนดีตามความเชื่อของพุทธศาสนาที่ผ่านมา ไม่ได้อ้างเพื่อสนับสนุนสิทธิ เสรีภาพแบบที่คานธีเคยทำสำเร็จมาก่อน แต่อ้างเพื่อสนับสนุนอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมที่ปฏิเสธความคิดเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตยแบบตะวันตก ทว่ายืนยัน “ประชาธิปไตยแบบไทย” ที่ให้ประชาชนมีสิทธิ เสรีภาพได้เท่าที่ชนชั้นปกครองยินยอม เพราะนี่คือประเทศไทย เราเป็นคนไทยเราต้องเป็นของเราแบบนี้ ไม่ควรตามฝรั่ง

แต่ถามว่า ถ้าไม่ตามฝรั่งและหันมามองความเป็นไทยในบริบทตะวันออก เราจะเห็นอะไร นักปรัชญาตะวันออกอย่างขงจื่อเสนอว่า “รัฐบาลที่ดีต้องมีสามสิ่งคือ มีอาหารเพียงพอ มีกองทัพเพียงพอ และมีความไว้วางใจจากประชาชนส่วนใหญ่” ในสามสิ่งนั้นหากจำเป็นต้องตัดอย่างใดอย่างหนึ่งออก ขงจื่อให้ตัดกองทัพออกก่อน ต่อมาให้ตัดเสบียง ส่วนความไว้วางใจจากประชาชนเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดจะตัดออกไม่ได้ เพราะถ้าประชาชนส่วนใหญ่ไม่ไว้วางใจ รัฐบาลก็ไม่สามารถจะมี “ความชอบธรรม” ในการสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจและสร้างกองทัพให้เข้มแข็งได้จริง

ส่วนเล่าจื่อ อธิบายว่า “ผู้ปกครองที่ดีนั้น ราษฎรเพียงแต่รู้ว่าเขามีอยู่ ที่ดีรองลงมา ราษฎรรักและยกย่อง ที่ดีรองลงมาอีก ราษฎรกลัวเกรง และอันดับสุดท้าย ราษฎรชิงชัง” แปลว่าผู้ปกครองที่ดีนั้นแทบจะไม่ได้ใช้อำนาจอะไรเลย ยิ่งใช้อำนาจมากยิ่งเป็นผู้ปกครองที่ดีน้อยลงเรื่อยๆ และเลวที่สุดคือใช้อำนาจกดขี่จนประชาชนเกลียดชัง

พุทธศาสนาก็มองคล้ายกับขงจื่อและเล่าจื่อว่า ความชอบธรรมของผู้ปกครองขึ้นอยู่กับการยอมรับของประชาชน (อัคคัญญสูตร) รัฐควรใช้อำนาจน้อยที่สุด และให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนทุกกลุ่มอย่างเสมอภาค (จักกวัตติสูตร)

จะเห็นว่าเพื่อมองจากปรัชญาการเมืองตะวันออกและคำสอนของพุทธศาสนาเอง โดยแก่นสารจริงๆแล้วไม่มีความคิดใดสนับสนุนอำนาจเผด็จการกดขี่ประชาชนเลย โดยเฉพาะหลักการปกครองพุทธศาสนาที่ปรากฏในจักกวัตติสูตรนั้นระบุชัดว่า บ้านเมืองเกิดความเดือดร้อนระส่ำระสาย ศีลธรรมเสื่อม เพราะผู้ปกครองใช้อำนาจเผด็จการตามอำเภอใจ

ฉะนั้น ถึงแม้ปรัชญาการเมืองตะวันออกและพุทธศาสนา จะไม่ได้พูดถึงความคิดเรื่องประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพไว้ชัดเจนแบบปรัชญาตะวันตก แต่โดยสาระสำคัญแล้วก็ไม่ได้ขัดกัน ทั้งพุทธะ เล่าจื่อ ขงจื่อ เรื่อยมาถึงคานธี ต่างยืนยันว่าผู้ปกครองที่มีคุณธรรมต้องไม่ใช้อำนาจเผด็จการกดขี่ประชาชน แต่ใช้อำนาจน้อยที่สุด ให้ประชาชนมีอิสระปกครองตนเองมากที่สุด เพียงแต่ว่าในประวัติศาสตร์ที่ผ่านๆ มาชนชั้นปกครองมักตีความศาสนาสนับสนุนอำนาจของตนเอง

คานธี และ ดร.อัมเบ็ดการ์เข้าใจปัญหาที่ชนชั้นปกครองในยุคเก่าใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือเป็นอย่างดี แต่เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไป ก็ควรตีความศาสนาใหม่ คือตีความสนับสนุนสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และอำนาจปกครองตัวเองของประชาชน และตีความศาสนาสนับสนุนการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและความยุติธรรมด้วยสันติวิธี โดยเฉพาะการยืนยันหลักเมตตากรุณาที่มนุษย์พึงมีต่อกัน ถือว่า “โลกทั้งผองพี่น้องกัน” ซึ่งสนับสนุนหลักภราดรภาพอย่างมีพลัง

การใช้หลักนิติศาสตร์และหลักรัฐศาสตร์ในการแก้ปัญหาขัดแย้งและสร้างความปรองดองนั้นมีความจำเป็นแน่ แต่อาจยังไม่เพียงพอ เครื่องมือหนึ่งที่เราควรนำมาใช้ควบคู่กันไปคือกลไกทางวัฒนธรรม นั่นคือการช่วยกันสื่อสารให้สังคมตระหนักในคุณค่าของวัฒนธรรมความเชื่อของพุทธศาสนาและปรัชญาตะวันออกที่ปฏิเสธอำนาจกดขี่ทุกรูปแบบ แต่สนับสนุนการใช้คุณธรรมมาก ใช้อำนาจน้อย ใช้เมตตากรุณา ยึดถือความเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ โลกทั้งผองพี่น้องกัน 

ฉะนั้น ไม่ว่าจะอ้างหลักเสรีภาพ ประชาธิปไตยแบบตะวันตก หรือหลักปรัชญาศาสนาอันเป็นวัฒนธรรมความเชื่อของตะวันออกและของไทยเอง ทางแก้ปัญหาความขัดแย้งและสร้างความปรองดองจะเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากต้องเคารพเสรีภาพของนักศึกษาประชาชน ใช้อำนาจให้น้อยลง ใช้เมตตาต่อกันและกันให้มากขึ้นและรีบกลับสู่ประชาธิปไตยอย่างสันติ

 

 

หมายเหตุ : เผยแพร่ครั้งแรกในโลกวันนี้วันสุข (11-17 กรกฎาคม 2558)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net