อังคณา โยนคำถามกลางวงเสวนา “หากความขัดแย้งเกิดจากรัฐประหาร รัฐบาลจะปรองดองอย่างไร”

ประชาชนตั้งวงเสวนาเรื่องปรองดอง ระบุหากรัฐบาลอยากเห็นความปรองดอง ประชาชนต้องเห็นความจริงและความยุติธรรมก่อน ด้านอังคณา นีละไพจิตร ชี้หากจะปรองดองต้องเปิดพื้นที่ให้ประชานได้แสดงความคิดเห็น ขอรัฐหยุดใช้กฎหมายที่ปิดกั้น

ภาพจาก Banrasdr Photo

14 ก.พ. 2560 เวลา 16.30 น. ที่ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ได้มีการจัดเวทีเสวนา วาทกรรม ปรองดอง หรือลบลืม “แล้วเราจะรักกันได้อย่างไร” โดยมีวิทยากรประกอบด้วย อังคณา นีละไพจิตร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ คณะกรรมการ ป.ย.ป พะเยาว์ อัคฮาค แม่ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมพฤษภา 2553 วิบูลย์ บุญภัทรรักษา พ่อของไผ่ ดาวดิน หรือจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งถูกจับกุม ดำเนินคดีจากการแชร์บทความพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 จาก เว็บไซต์ BBC Thai และมีเจนวิทย์ เชื้อสาวถี เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

พะเยาว์ อัคฮาค: การปรองดองไม่มีวันสำเร็จ หากทหารมองไม่เห็นว่าตัวเองเป็นคู่ขัดแย้ง

พะเยาว์ เริ่มต้นด้วยการระบุว่า รู้สึกยินดีที่วันนี้มี พล.อ. เอกชัย ศรีวิลาศ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทำงานด้านการสร้างความปรองดอง ของ ป.ย.ป เข้ามาร่วมวงเสวนาด้วย เพราะจะได้นำความคิดเห็นของประชาชนในเวทีวันนี้เป็นรายงานให้ผู้มีอำนาจในการจัดกระบวนการสร้างความปรองดองทราบ

พะเยาว์ มองว่า การปรองดองที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ ไม่ได้มีพื้นที่ให้ประชาชนอย่างแท้จริง เพราะมีเพียงแต่การเชิญนักการ แกนนำกลุ่มการเมืองต่างๆ เข้าไปให้ความเห็น แต่ในแง่ของการฟังเสียง ฟังความต้องการของประชาชนยังไม่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และหากยังเป็นเช่นนี้กระบวนการสร้างความปรองดองอาจจะไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากการจะสร้างให้เกิดความปรองดองขึ้นได้ในสังคม สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งคือการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจ

สิ่งหนึ่งที่พะเยาว์เห็นว่า ยังคงเป็นปัญหาสำคัญคือ ประธานคณะกรรมการด้านการสร้างความปรอง และรองประธาน ซึ่งคือพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ยังคงมีท่าทีที่ไม่รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น และนอกจากที่จะไม่รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นแล้ว ยังไม่ยอมรับว่าตัวเองก็เป็นหนึ่งในปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย และคณะกรรมการปรองดองที่ตั้งขึ้นมาก็มีสัดส่วนของทหารเข้านั่งไปเกินครึ่ง ฉะนั้นนี่อาจจะไม่ใช่การปรองดอง แต่เป็นเพียงการต่อเวลาของ คสช. ไปเรื่อยๆ

ตลอดเวลาที่ผ่านมา พะเยาว์เห็นว่ามีความพยายามสร้างการปรองดองให้เกิดขึ้นมาหลายครั้งแต่ก็ไม่เคยประสบความสำเร็จ จนมาครั้งนี้ที่นำโดย ป.ย.ป. เธอก็มองอีกเช่นกันว่า อาจจะเป็นเพียงการปรองดองกันเฉพาะกลุ่มชนชั้นนำทางการเมือง และผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นอาจจะมาไม่ถึงประชาชนจริง และตอนนี้ก็ถึงเวลาที่ประชาชนควรที่จะลุกขึ้นมาพูดความจริง ลุกขึ้นมาบอกความต้องการของตัวเองให้ผู้มีอำนาจได้รับรู้

“ที่ผ่านมามีการเสนอให้ใช้ 66/23 ฉันบอกเลยว่า อย่าลืม 99/53 ด้วยเพราะต้องดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐและผู้สั่งการสลายการชุมนุมก่อน ประชาชนถึงจะยอมรับกระบวนการปรองดองได้” พะเยาว์กล่าว

อังคณา นีละไพจิตร: แล้วถ้าความจริงความขัดแย้งเกิดจากการรัฐประหาร รัฐบาลจะสร้างการปรองดองอย่างไร

อังคณา เริ่มต้นด้วยการกล่าวว่า ทหารเข้ามาทำรัฐประหาร ส่วนหนึ่งก็เป็นการอ้างว่าเข้ามาเพื่อสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้น กระบวนการปรองดองที่กำลังเกิดขึ้นนี้จึงถือเป็นพันธสัญญาที่รัฐบาลเคยให้ไว้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการปรองดองคือ การยอมรับความแตกต่างหลากหลาย และต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนแต่ละฝ่ายได้ออกมาแสดงความคิดเห็น โดยปราศจากความหวาดกลัว แต่ปัจจุบันภายใต้สถานการณ์ที่กระบวนการปรองดองกำลังเกิดขึ้น ก็ยังคงมีการบังคับใช้กฎหมายที่มีลักษณะของการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอยู่ ฉะนั้นสิ่งแรกที่รัฐบาลควรดำเนินการคือ การเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้แสดงออกอย่างเต็มที่ และรัฐบาลต้องอดทน รับฟัง แม้ประชาชนจะพูดในสิ่งที่รัฐบาลไม่ต้องการจะฟังก็ตาม

อังคณา กล่าวต่อว่า การปรองดองจะเกิดขึ้นได้สิ่งหนึ่งที่ต้องเกิดขึ้นคือ ประชาชนต้องได้รับรู้ความจริง และในหลักการสากลเองก็ระบุว่า การรับรู้ความจริงเป็นสิทธิของผู้สูญเสีย จากนั้นสิ่งที่ประชาชนต้องการหลังจากรู้ความจริงก็คือความยุติธรรม และการสร้างหลักประกันต่อไปในอนาคตว่า เหตุการณ์ความขัดแย้งที่นำไปสูญความสูญเสียแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก

“ที่ผ่านมาสังคมไทยโดยเฉพาะผู้มีอำนาจไม่ยอมรับความจริง และไม่ยอมรับผิดหรือรับโทษ แต่จะข้ามไปนิรโทษกรรมอย่างเดียว ซึ่งเป็นกระบวนการขั้นตอนสุดท้ายของการปรองดอง” อังคณา กล่าว

สิ่งหนึ่งที่อังคณาเห็นว่า สำคัญที่สุดสำหรับกระบวนการปรองดองคือ ทุกคนที่นั่งอยู่บนโต๊ะปรองดองจะต้องมีอำนาจเท่าเทียมกัน ไม่ควรมีใครมีอำนาจเหนือกว่าคนอื่นๆ การจะทำให้คนในสังคมหันมาคืนดี ปรองดองกัน ไม่สามารถที่จะใช้การออกกฎหมายมาบังคับแล้วทำให้คนคืนดีกันได้ แต่ต้องใช้หัวใจมานั่งคุยกันด้วย

ท้ายที่สุดอังคณา ย้ำด้วยว่า การจะปรองดองไม่จำเป็นที่จะต้องรอให้การรับฟังความคิดเห็นเสร็จสิ้น แล้วมีการออกมาตราต่างๆ ตามมา แต่สามารถที่จะเริ่มทำได้ตั้งแต่วันนี้เลย โดยการให้ความยุติธรรมกับผู้ต้องหาการเมือง เคารพหลักสิทธิมนุษยชน และเคารพสิทธิในการประกันตัวของผู้ต้องหา

“การเยียวยาที่ดีที่สุดคือ การให้ประชาชนได้รับรู้ความจริง และหากว่าความจริงคือ ความขัดแย้งเกิดขึ้นจากการรัฐประหาร รัฐบาลจะทำอย่างไร” อังคณา กล่าว

ภาพจาก Banrasdr Photo

วิบูลย์ บุญภัทรรักษา: ข้างบนบอกอยากปรองดอง แต่ข้างล่างยังเล่นงานยังกลั่นแกล้งประชาชนอยู่

วิบูลย์ เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึง ไผ่ ดาวดิน หรือ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ลูกชายซึ่งในเวลานี้ถูกจำคุกอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น จากการแชร์บทความจากเว็บไซต์ BBC Thai เขาระบุว่านับตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 ไผ่ถูกดำเนินคดีมากถึง 5 คดี ซึ่งถูกคดีมีมูลเหตุมาจากเหตุการณ์ทางการเมือง ซึ่งนี่เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยกำลังมีปัญหา

วิบูลย์ มองว่าการปรองดองจะเกิดขึ้นได้ยาก หากไม่มีความยุติธรรม และไม่มีการเคารพสิทธิของประชาชน ซึ่งไม่ใช่เพียงการเคารพสิทธิในทางการเมืองเท่านั้น เพราะประเด็นความขัดแย้งครั้งนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงเฉพาะเรื่องการเมือง แต่ยังมีความขัดแย้งในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ และทหารเองก็เข้าไปเป็นหนึ่งในความขัดแย้งเหล่านี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดกระบี่ เรื่องเหมื่องทอง และอีกหลายๆ เรื่อง ที่ผู้มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายในลักษณะที่เข้าข้างนายทุน

วิบูลย์มองว่า หากการปรองดองจะพูดคุยกันเพียงเฉพาะนักการเมือง และแกนนำ อาจจะไม่สามารถปรองดองได้จริง เพราะปัญหาความขัดแย้งครั้งนี้มีประชาชน มีชาวบ้านรวมอยู่ในความขัดแย้งด้วย ไม่ใช่เพียงแค่ผู้มีอำนาจสั่งว่าจะปรองดอง แต่ในทางปฏิบัติทางทหารในพื้นที่ยังคงละเมิดสิทธของประชาชนอยู่ ยังกลั่นแกล้งประชาชน หากจะปรองดองกันจริง ต้องเปิดเผยมาให้หมดว่าความจริงเป็นอย่างไร

พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ: การปรองดองมีพูดถึงกันมาหลายครั้งแต่ไม่ครั้งไหนที่ทำจริง ครั้งนี้เราจะทำให้เป็นรูปธรรม

พล.อ. เอกชัย เริ่มต้นด้วยการระบุว่า ตนเองได้เข้าร่วมคณะทำงานเรื่องการปรองดองมาแล้วหลายชุดตั้งแต่ปี 2552 จนทั่งถูกเชิญให้มาร่วมงานในชุดปัจจุบัน ปัญหาที่ผ่านของการสร้างความปรองดองคือ คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นแต่ละชุดได้ทำเพียงแค่การนำเสนอผลศึกษาว่าความขัดแย้งในรอบนี้เกิดขึ้นจากอะไร แต่ไม่ได้มีข้อเสนอว่าจะมีมาตราแก้ไขอย่างไร และจะมีกลไกอย่าง จะให้ใครเป็นคนนำไปปฏิบัติ ที่ผ่านมามีเพียงแค่ชุดของ สปช. ที่มี เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธานซึ่งได้มีการจัดทำข้อเสนอทั้งหมด 6 ข้อ และในปัจจุบันนี้กำลังจะนำข้อเสนอเหล่านั้นมาทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

พล.อ. เอกชัย กล่าวต่อว่า ตอนนี้มีการตั้งข้อสังเกตจากประชาขนว่า จะปรองดองกันได้จริงหรือไม่ ในเมื่อคณะกรรมการปรองดองมีทหารนั่งอยู่เต็มไปหมด แต่เขาเห็นว่าการปรองดองสิ่งทีสำคัญที่สุดคือ ความรู้ และปัญญา ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถทำสำเร็จได้ในชุดนี้ โดยเฉพาะในเวลานี้การปรองดองคืบหน้าไปมาก โดยเร็วๆ นี้ สนช. ก็จะมีการนำร่าง พ.ร.บ.อำนวยความยุติธรรมฯ เข้าสู่ที่ประชุมเพื่อพิจารณา ส่วนกระบวนการที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันนี้เป็นการสร้างแผนงานขึ้นมา จากนั้นคณะกรรมการต่างๆ ก็อาจจะหมดหน้าที่ไป และเหลือไว้เพียงแค่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ตามที่รัฐธรรมนูญได้ระบุ ต่อไปเมื่อมีการทำแผนเสร็จ การสร้างความปรองดองจะเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ภาพจาก Banrasdr Photo

ทั้งนี้ภายหลังจากการเสวนาได้จบลง กลุ่มญาติผู้ได้รับความสูญเสียจากเหตุการณ์ทางการเมืองปี 2553 ได้อ่านแถลงการณ์ที่ระบุถึงจุดยืนและข้อเรียกร้องต่อ กระบวนการปรองดองที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน

โดยส่วนหนึ่งในแถลงการณ์ระบุว่า กลุ่มผู้สูญเสียฯ พร้อมที่จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่เพื่อให้เกิดความรัก ความสมัครสมานสามัคคีของคนในชาติ และเห็นพ้องด้วยในการให้อภัยกันระหว่างประชาชนพลเมืองที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์ทางการเมือง รวมทั้งเห็นด้วยหากจะมีการนิรโทษกรรมสำหรับความผิดที่ประชาชนได้กระทำไปโดยมีเจตนา หรือจุดมุ่งหมายทางการเมืองตลอดห้วงวิกฤติการณ์ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน

ขณะเดียวกันกลุ่มผู้สูญเสียได้มีการเรียกร้องให้มีกระบวนการในการค้นหาความจริงที่เป็นเหตุอันก่อให้เกิดวิกฤติการณ์ทางการเมืองและความสูญเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสูญเสียชีวิตและร่างกายรวมทั้งสิทธิเสรีภาพ อันเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งเห็นพ้องด้วยที่จะมีการสร้างบรรทัดฐานใหม่ในสังคม โดยการนำเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนในการก่อให้เกิดความสูญเสียขึ้นพิจารณาเป็นคดีอย่างเป็นธรรม

อย่างไรก็ตาม ในแถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า ไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งสำหรับบุคคลที่มีบทบาทสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างวิกฤติการณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรและกลุ่มบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการยึดอำนาจไปจากประชาชน องค์กรและกลุ่มบุคคลที่ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมทางการเมืองจนเป็นเหตุให้เกิดความสูญเสียในชีวิตและร่างกายของประชาชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งในปัจจุบันกลุ่มบุคคลเหล่านั้นได้เป็นผู้ใช้อำนาจแต่งตั้งและได้รับการแต่งตั้งให้มาทำหน้าที่ที่สำคัญในการสร้างความสามัคคีปรองดองของคนทั้งชาติ

ภาพจาก Banrasdr Photo

แถลงการณ์ญาติผู้ได้รับความสูญเสียจากเหตุการณ์ทางการเมือง 2553

ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลได้มีแนวนโยบายที่จะสร้างความสามัคคีปรองดองของคนในชาติ และผลักดันประเทศให้เดินหน้าอันสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังจะประกาศใช้ ปรากฏตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 3/2560 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง และหลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ประกาศทิศทางการปรองดองของคนในชาติแล้ว ปรากฎว่าได้รับทั้งเสียงสนับสนุนและคัดค้านอย่างแพร่หลาย รวมทั้งบางภาคส่วนยังมีการตั้งข้อสังเกตในการดำเนินงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เกี่ยวกับการส่งเสริมความสามัคคีของคนในชาติและการปรองดองเพื่อก้าวข้ามความขัดแย้งอันเป็นวิกฤติของสังคมในช่วงกว่าสิบปีที่ผ่านมา

พวกเราในฐานะพ่อแม่และญาติมิตรของผู้ที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ทางการเมืองในปี 2553 มีความเห็นและจุดยืนต่อการปรองดองดังนี้

1) พวกเราเห็นพ้องด้วยที่จะมีการสร้างความรัก ความสามัคคีของคนในชาติ เพื่อร่วมกันก้าวข้ามความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในห้วงวิกฤติการณ์การเมืองที่ผ่านมา และพร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่เพื่อให้เกิดความรัก ความสมัครสมานสามัคคีของคนในชาติ

2) พวกเราเห็นพ้องด้วยในการให้อภัยกันระหว่างประชาชนพลเมืองที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์ทางการเมือง รวมทั้งเห็นด้วยหากจะมีการนิรโทษกรรมสำหรับความผิดที่ประชาชนได้กระทำไปโดยมีเจตนา หรือจุดมุ่งหมายทางการเมืองตลอดห้วงวิกฤติการณ์ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน และหวังว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ จะได้ดำเนินการเป็นวาระเร่งด่วนหลังการจัดตั้งรัฐบาล ทั้งนี้เพื่อความสมัครสมานสามัคคีปรองดองและให้อภัยกันของคนทั้งชาติอย่างแท้จริง

3) พวกเราเห็นพ้องด้วยที่จะมีการค้นหาความจริงที่เป็นเหตุอันก่อให้เกิดวิกฤติการณ์ทางการเมืองและความสูญเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสูญเสียชีวิตและร่างกายรวมทั้งสิทธิเสรีภาพ อันเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งเห็นพ้องด้วยที่จะมีการสร้างบรรทัดฐานใหม่ในสังคม โดยการนำเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนในการก่อให้เกิดความสูญเสียขึ้นพิจารณาเป็นคดีอย่างเป็นธรรมในศาลสถิตยุติธรรม ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้เกิดวิกฤติการณ์ทางการเมืองและความสูญเสียขึ้นอีก

4) พวกเราเห็นพ้องด้วยในการเปิดให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการปรองดองของคนทั้งชาติ และเห็นด้วยให้มีการตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ มีความเป็นกลาง และมีความเป็นธรรมขึ้นมาทำหน้าที่เพื่อสร้างความสมัครสมานสามัคคีปรองดองของคนในชาติ แต่พวกเราไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งสำหรับบุคคลที่มีบทบาทสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างวิกฤติการณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรและกลุ่มบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการยึดอำนาจไปจากประชาชน องค์กรและกลุ่มบุคคลที่ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมทางการเมืองจนเป็นเหตุให้เกิดความสูญเสียในชีวิตและร่างกายของประชาชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งในปัจจุบันกลุ่มบุคคลเหล่านั้นได้เป็นผู้ใช้อำนาจแต่งตั้งและได้รับการแต่งตั้งให้มาทำหน้าที่ที่สำคัญในการสร้างความสามัคคีปรองดองของคนทั้งชาติในครั้งนี้ หากปล่อยให้บุคคลเหล่านั้นเข้ามาทำหน้าที่ สังคมย่อมมีข้อกังขาและไม่อาจสร้างความสามัคคีปรองดองของคนในชาติได้อย่างแท้จริง กลับจะนำพาสังคมไปสู่ความขัดแย้งครั้งใหม่ ลบลืมต้นเหตุของความขัดแย้ง ซึ่งพวกเราไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น

พวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความเห็นของพวกเราในฐานะผู้ได้รับความสูญเสียในเหตุการณ์ทางการเมือง จะเป็นประโยชน์ในการสร้างความสามัคคีปรองดองของคนในชาติต่อไป

ญาติผู้ได้รับความสูญเสีย

14 กุมภาพันธ์ 2560

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท