Skip to main content
sharethis

วงเสวนา “เมื่องานวิจัยชาวบ้านขึ้นปกวารสารเมืองโบราณ” ประกาศตัวตนคนท้องถิ่นผู้ศึกษาบ้านเกิดเมืองนอนของตนมากว่า 10 ปี ฉายภาพสันติภาพให้เห็นชีวิตจริง เพื่อย้อนหาจุดสมดุล โดยนักวิจัยท้องถิ่น 5 คนจากงานวิจัย 3 ชิ้น “จากยาลอเป็นยะลาและการเปลี่ยนแปลงในรอบทศวรรษ” โดยทรัยนุง มะเด็ง “หาอยู่หากินในอ่าวปัตตานี” โดยมะรองนิง สาและ, ดอเลาะ เจ๊ะแต และ “บ้านเมืองขนาดเล็กในแผ่นดินปาตานีตอนใน” โดย ณายิบ อาแวบือสา, งามพล จะปะกิยา ร่วมกับวลัยลักษณ์ ทรงศิริ จากมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์

วารสาร “เมืองโบราณ” เป็นวารสารราย 3 เดือน มีอายุมากกว่า 40 ปี โดยเน้นนำเสนอบทความเชิงวิชาการผ่านการพิจารณาของมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ เพื่อเผยแพร่ความรู้ หลักฐานข้อมูลทางประวัติศาสตร์โบราณคดีและศิลปวัฒนธรรมมาตลอดอย่างต่อเนื่อง

ทว่า ศรีศักร วัลลิโภดม บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา ประกาศให้บทบรรณาธิการเรื่อง โฉมใหม่ของวารเมืองโบราณว่า ตั้งแต่นี้ต่อไป จึงเปิดพื้นที่ให้เป็นการนำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมท้องถิ่น “โดยคนใน”

เป็นบทบรรณาธิการประจำฉบับปีที่ 41 ฉบับที่ 1 มกราคม – มีนาคม 2558 ที่มีภาพปกเป็นภาพวาดพื้นที่อ่าวปัตตานี แสดงภูมิทัศนวัฒนธรรมอ่าวปัตตานีที่มีทั้งเครื่องมือประมงและพื้นที่ประกอบอาชีพไว้อย่างเรียบง่าย เข้าใจง่ายเช่นเดียวกับในเนื้อหาที่ใช้ภาพวาดในการอธิบายเป็นส่วนใหญ่ด้วย ซึ่งวาดโดยดอเลาะ เจ๊ะแต ชาวประมงแห่งบ้านดาโต๊ะ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี และเป็นนักวิจัยท้องถิ่นในโครงการสร้างนักวิจัยท้องถิ่นที่มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ สนับสนุนร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

นักวิจัยชาวบ้าน - ทรัยนุง มะเด็ง, ดอเลาะ เจ๊ะแต, มะรองนิง สาและ, อานัส พงศ์ประเสริฐ, งามพล จะปะกิยา, ณายิบ อาแวบือสา และวลัยลักษณ์ ทรงศิริ

 

ประกาศตัวตนคนท้องถิ่นผ่านงานวิจัย 3 ชิ้น

นับเป็นฉบับแรกที่เรื่องของชาวบ้านได้ขึ้นปกวารสารเมืองโบราณ ด้วยเหตุนี้ ทางมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ร่วมกับกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมสามจังหวัดชายแดนใต้ และวารสารเมืองโบราณ จัดเสวนาวงเล็กๆ ขึ้นที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา

โดยใช้ชื่องานว่า “...เมื่องานชาวบ้านขึ้นปกวารสารเมืองโบราณ” การประกาศตัวตนของคนท้องถิ่น พูดคุยกับผู้ทำงานศึกษาบ้านเกิดเมืองนอนของตนมากว่า 10 ปี โดยนำนักศึกษาวิจัยเรื่องราวของท้องถิ่นตนเอง 5 คนจากงานวิจัย 3 เรื่องมาร่วมเสวนา ดังนี้

1.งานวิจัยเรื่อง “จากยาลอเป็นยะลาและการเปลี่ยนแปลงในรอบทศวรรษ” โดยทรัยนุง มะเด็ง จากยะลา

2.งานวิจัยเรื่อง “หาอยู่หากินในอ่าวปัตตานี” โดยมะรองนิง สาและ, ดอเลาะ เจ๊ะแต จากยะหริ่ง อ่าวปัตตานี

3.งานวิจัยเรื่อง “บ้านเมืองขนาดเล็กในแผ่นดินปาตานีตอนใน” โดย ณายิบ อาแวบือสา, งามพล จะปะกิยา จากนราธิวาส

โดยมีวลัยลักษณ์ ทรงศิริ จากมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ มาร่วมเสวนาด้วย ดำเนินรายการโดย อานัส พงศ์ประเสริฐ จาก SAIBURI LOOKER

สำหรับเนื้อหาจากวงเสวนา มีประเด็นต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นการฉายภาพการทำงานวิจัยที่ใช้ประสบการณ์จริงมาถ่ายทอดเป็นงานวิจัยอย่างน่าสนโดยสรุปดังนี้

 

ดอเลาะ เจ๊ะแต : หากินในอ่าวปัตตานี

นายดอเลาะ เจ๊ะแต กล่าวว่า ตนทำหามากินอยู่กับอ่าวปัตตานีมานานมาก จนครั้งหนึ่งอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง จากสำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เคยแนะนำให้ทำวิจัยเกี่ยวกับอ่าวปัตตานี แต่ตนยอมรับว่าไม่รู้วิธีการทำวิจัยเลยเพราะไม่ได้เรียนสูงเหมือนคนอื่น และเขียนหนังสืออย่างงานวิจัยก็ไม่ได้ จึงมีแนวคิดที่จะวาดรูปอธิบายเรื่องราวต่างๆ ของอ่าวปัตตานีขึ้นแทน

“บางรูปสามารถอธิบายได้เป็นวันๆ และผมขอขอบคุณนักวิชาการหลายๆ ท่านที่มาช่วยให้ความรู้กับชาวบ้านจนเกิดเป็นนักวิจัยท้องถิ่นหลายคนในปัจจุบัน สามารถอธิบายเรื่องราวของตัวเองให้คนนอกได้เข้าใจ” นายดอเลาะ กล่าว

 

มะรองนิง สาและ : ทำวิจัยจากประสบการณ์ชีวิตจริง

นายมะรองนิง สาและ กล่าวว่า ตนไม่ได้เกิดและอาศัยที่อ่าวปัตตานีตั้งแต่เด็ก เพราะมาจากอำเภอยะหา จ.ยะลา โตมากับภูเขาและการทำสวน แต่มาได้ภรรยาที่อยู่ริมอ่าวปัตตานีทำให้ได้ทำวิจัยที่เกี่ยวกับอ่าวปัตตานีด้วย การทำวิจัยเกิดจากแรงผลักดันของนักวิชาการหลายๆ ท่าน แม้เราไม่ได้เรียนสูงแต่ก็อาศัยประสบการณ์จากการใช้ชีวิตจริงในอ่าวปัตตานี พร้อมกับเขียนออกมาด้วยจิตวิญญาณจากภายใน ซึ่งในอดีตไม่ได้มีเทคโนโลยีเหมือนปัจจุบัน นักวิจัยจะต้องเขียนด้วยลายมือของตัวเองและส่งไปรษณีย์ไปยังกรุงเทพฯ

“งานวิจัยในจังหวัดชายแดนใต้มีเยอะมาก แต่งานวิจัยในลักษณะเรื่องเล่า ตนยังมองว่ายังมีอยู่น้อยในปัจจุบันโดยเฉพาะงานที่คนในท้องถิ่นเขียนเล่าเรื่องราวของตัวเอง ที่สำคัญการที่งานจะออกมาดีได้จะต้องมีคนคอยช่วยอ่านช่วยดู ซี่งเราโชคดีและต้องขอขอบคุณบรรณาธิการที่ช่วยอ่านและเกลาภาษาให้งานออกมาดีได้” มะรองนิงกล่าว

 

ณาญิบ อาแวบือซา: งานวิจัยด้านประวัติศาสตร์ทั่วๆไปยังไม่ลึกพอ

ณาญิบ อาแวบือซา กล่าวว่า ตนเรียนสายเทคนิคมาก่อนแต่สนใจงานด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โดยมีแนวคิดว่า งานในลักษณะนี้แหละจะเป็นพื้นฐานในการที่จะสามารถสร้างความสุขให้กับผู้คนได้ และเท่าที่อ่านงานวิจัยด้านประวัติศาสตร์หลายๆ ชิ้นที่ผ่านมา เหมือนกับว่ายังไม่ลึกพอแต่ก็ไม่ได้แปลว่าผิด และไม่ได้แปลว่างานที่ตนทำจะถูกที่สุด แต่งานที่ตนทำมันมาจากการเห็นหรือได้ยินเขาเล่ามาด้วยตัวเอง และทำออกมาเพื่อให้ผู้คนได้ถกกันหรือนำไปต่อยอด

“ตัวอย่างเช่น เรามักจะเข้าใจว่าปาตานีในอดีตแบ่งออกเป็น 7 หัวเมืองตามคำบอกเล่าในงานประวัติศาสตร์ แต่ใน 7 หัวเมืองดังกล่าวยังมีเมืองต่างๆ อีกหลายเมือง ซึ่งเวลาเราไปเก็บข้อมูลตามท้องถิ่นทำให้ได้รู้เรื่องราวต่างๆ ของเมืองเล็กๆ ภายใต้ 7 หัวเมืองที่ไม่ได้ถูกบันทึกในงานประวัติศาสตร์ทั่วไป” ณาญิบกล่าว

 

ทรัยนุง มะเด็ง: งานวิจัยทำให้รู้สึกรักท้องถิ่นมากขึ้น

ทรัยนุง มะเด็ง กล่าวว่า ได้มาเป็นนักวิจัยท้องถิ่นจากการผลักดันของนักวิชาการที่ทำงานเรื่องอ่าวปัตตานี ที่มีแนวคิดว่าน่าจะมีงานวิจัยที่เกี่ยวกับเรื่องราวทางฝั่งภูเขาบ้าง ตอนแรกก็ยังไม่ได้เข้าใจเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมากนัก เพราะเรียนจบทางด้านกฎหมายมา เมื่อเก็บข้อมูลไปสักพักหนึ่งทำให้เกิดความรู้สึกความรักต่อท้องถิ่นมากขึ้น เรายังได้ทำวิจัยเกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนหนุ่มสาวในพื้นที่ยาลอหรือยะลาในปัจจุบัน ซึ่งพบว่าจุดเด่นของคนหนุ่มสาวจะมีอยู่ในตัวอยู่แล้ว แต่จากสถานการณ์ความไม่สงบคนหนุ่มสาวถูกสงสัยว่าจะเข้าไปร่วมกับขบวนหรือเปล่า ทั้งที่สังคมควรให้ความสำคัญในเรื่องการส่งเสริมอาชีพหรือการพัฒนาศักยภาพของคนหนุ่มสาวมากกว่า

 

งามพล จะปะกียา : ทรัพยากรธรรมชาติเป็นสิ่งที่สำคัญ

งามพล จะปะกียา กล่าวว่า ประวัติศาสตร์ปาตานีส่วนใหญ่มักจะพูดถึงเรื่องการเมืองหรือการสู้รบ แต่ไม่ค่อยพูดถึงประเด็นทรัพยากรธรรมชาติ พอเราพูดถึงทรัพยพากรธรรมชาติแน่นอนว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะทรัพยากรธรรมชาติเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็ต้องการได้มาครอบครอง ซึ่งจุดเด่นของทรัพยากรธรรมชาติมีอยู่มากมายในพื้นที่จากอดีตจนถึงปัจจุบันโดยที่ท่านจะต้องไปสัมผัสเองถึงจะเข้าใจ

 

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ : ศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเพื่อย้อนไปหาจุดที่สมดุล

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ กล่าวว่า โครงการนี้ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2547 ถึงแม้ว่ามันจะไม่ได้ถึงที่สุดจากที่เคยตั้งเป้าหมายไว้ แต่ก็ถือว่ามีอะไรที่เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีเยอะมาก เช่น มีเด็กใหม่ๆ กลับบ้านมาทำงานด้านท้องถิ่นมากขึ้น ในอดีตงานประวัติศาสตร์มองแต่รัฐชาติที่ส่วนกลางเป็นส่วนใหญ่ อย่างพิพิธภัณฑ์มักจะมองแต่ประวัติศาสตร์ในส่วนกลางอย่างเดียว เรื่องที่เกี่ยวกับท้องถิ่นจะมีอยู่น้อยมาก ครั้งหนึ่งในช่วงปี 2520 กว่าๆ เป็นต้นมา มีงานศึกษาประวัตฺศาสตร์ท้องถิ่นจำนวนมาก มีอยู่ครั้งหนึ่งมาทำที่ปัตตานี แค่เรื่องลิ่มกอเหนียวก็จะตีกันตาย แต่วันนั้นอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล สรุปว่าไม่มีปัญหาใดๆ

ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในปาตานีมักจะถูกซ่อนไว้ใต้พรม อย่างเรื่องราวของเมืองยะรังที่มีการตรวจสอบแต่ไม่มีการเปิดเผยข้อมูล เมืองยะรังถือเป็นเมืองที่มหัศจรรย์และใหญ่มาก ที่สำคัญข้อมูลประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจังหวัดชายแดนใต้ไม่ได้เคลื่อนไหวมานานแล้ว ที่มาของงานนี้จึงเกิดจากแนวคิดที่ว่าคนในท้องถิ่นสามารถสื่อสารเรื่องราวของตัวเองได้และจะทำได้ดีด้วย โดยเราเชื่อในศักยภาพของผู้คน แต่ปัญหาอยู่ที่ระบบราชการไม่เชื่อโดยที่ระบบราชการเชื่อว่าชาวบ้านไม่ควรที่จะรับเงินโดยตรง ทำให้งานเหล่านี้ไม่ถึงมือเช้าบ้าน ทำให้เราต้องสู้ค่อนข้างเยอะตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา

ช่วงแรกงานก็เขียนด้วยลายมือและส่งกันไปมาก่อนเทคโนโลยีจะพัฒนาดังเช่นปัจจุบัน การทำวิจัยของพวกเราจะออกแนวสุขนิยมคือบางวันจะไปนอนกันริมชายหาด ที่น่าสนใจคือคนต่างพื้นที่ไม่ค่อยมีข้อมูลเท่าไหร่ แม้แต่เวทีของ สกว. หรือของ กอ.รมน. หรือเวทีอื่นๆ มักจะไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่นี่ ดังนั้นพวกเราจึงมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะประวัติศาสตร์หากถูกนำไปใช้ในทางที่ไม่ดีก็จะเกิดนักปฏิวัติหรือนักต่อสู้เพิ่มขึ้น แต่หากเรานำไปใช้ในทางที่ดีก็จะเกิดสิ่งดีๆ อย่างเกิดนักวิจัยท้องถิ่นมากมาย

เมื่อพูดถึงประเด็นกระบวนการสร้างสันติภาพ สิ่งหนึ่งที่ผู้ดำเนินการเรื่องนี้มาตลอดกว่า 10 ปี ไม่ได้ทำ คือทำให้ความจริงปรากฏ ไม่ว่าจะที่ตากใบหรือที่กรือเซะ หรือกรณีอื่นๆ มันไม่มีกระบวนการทำให้ความจริงได้ปรากฏ คำถามก็คือแล้วท่านจะไปหาสันติภาพจากใครในเมื่อคนที่ผิดไม่ได้ถูกกล่าวถึงเลย สิ่งทิ่นักสันติภาพทำคือโหยหาสันติภาพที่เป็นแค่วาทกรรมเท่านั้นเอง

จากที่มีการเก็บข้อมูลเรื่องคนหนุ่มสาว พอจะเห็นปัญหาต่างๆ มากมาย เช่น ปัญหาโสเภณี ปัญหายาเสพติด เป็นต้น หรือปัญหาอื่นๆ ที่ค้างอยู่ เช่น ปัญหาการสร้างเขื่อนสายบุรี ปัญหาการสร้างนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ซึ่งกฏหมายนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลก็ยังไม่มี เหล่านั้นเป็นต้น ประเด็นก็คือจะสร้างสันติภาพได้อย่างไรในเมื่อผู้คนท้องยังหิว หรือบางกรณีต้องออกจากโรงเรียนไปทำงานที่ประเทศมาเลเซียตั้งแต่เด็กๆ

สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ตนมองว่าไม่ว่าจะอย่างไรก็ต้องกลับมามองอัตลักษณ์ของตัวเอง ความเป็นท้องถิ่นที่ถูกปฏิเสธโดยรัฐ เพื่อย้อนไปหาจุดที่สมดุล สิ่งที่นักวิจัยท้องถิ่นพบเจอในสังคมก็คือพวกเขาจะอยู่ตรงไหนของสังคมวิชาการ หรือจะอยู่ตรงไหนในส่วนของงานการพัฒนาหรือการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ แต่สิ่งที่สำคัญคืองานของพวกเขาไม่ได้ทำแล้วเอาไปเก็บไว้บนหิ้ง แต่สามารถเอาไปใช้ได้เลย และอยากแนะนำให้นักวิชาการนำประเด็นไปทำต่อหรือต่อยอดเพราะพวกเราคงทำทั้งหมดไม่ไหว 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net