Skip to main content
sharethis

29 เม.ย.2558 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จังหวัดนนทบุรี นายวิชา มหาคุณ  กรรมการป.ป.ช. กล่าวถึงการเข้าให้ถ้อยคำของนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ในฐานะพยานของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีสลายการชุมนุมปี 2553 ว่า ถือเป็นอำนาจการพิจารณาของที่ประชุมองค์คณะไต่สวน คณะกรรมการป.ป.ช. ส่วนการชี้แจงรายละเอียดตัวเลขผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ช่วงที่มีการสลายการชุมนุม ถือเป็นรายละเอียดการให้ถ้อยคำของนายถวิล ซึ่งป.ป.ช.ต้องเคารพการให้ข้อมูล ทั้งนี้ นายถวิลยังยืนยันในส่วนของพยานหลักฐาน ซึ่งทางป.ป.ช. จะพิจารณาว่าพยานหลักฐานมีความเพียงพอแล้วหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้นายอภิสิทธิ์ ได้ยื่นชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรมายังป.ป.ชแล้ว ซึ่งทางองค์คณะไต่สวน คณะกรรมการป.ป.ช.กำลังพิจารณาว่าจะมีพยานหลักฐานเพียงพอหรือไม่

เมื่อถามถึงกรณีที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในฐานะพยานของนายอภิสิทธิ์ จะชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรนั้น นายวิชา กล่าวว่า  โดยเบื้องต้นตนยังไม่เห็นเอกสารคำชี้แจงแต่อย่างใด ทั้งนี้ เป็นอำนาจขององค์คณะไต่สวนจะพิจารณาและส่งการไต่สวน เมื่อครบกำหนดการให้พยานเข้าชี้แจงข้อมูลในคดีดังกล่าวแล้ว

ส่วนคดีกล่าวหา คณะรัฐมนตรีในรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง (ตั้งแต่ปลายปี 48-พฤษภาคม 53) รอบแรกจำนวน 524 ราย วงเงินรวม 577 ล้านบาทนั้น นายวิชากล่าวว่า ขณะนี้กำลังอยู่ในการพิจารณาว่าจะแจ้งข้อกล่าวหาหรือไม่

"ถวิล" ยัน ไม่มีสลายการชุมนุม′ 53 เป็นเพียงกระชับพื้นที่

ขณะที่วานนี้(28 เม.ย.58) นายถวิล เข้าให้ปากคำต่อ องค์คณะไต่สวน ป.ป.ช. ในฐานะพยานของนายอภิสิทธิ์ ในคดีดังกล่าว และเปิดเผยก่อนเข้าให้ถ้อยคำว่า ป.ป.ช.น่าจะมีการสอบถามถึงการควบคุมสถานการณ์ในขณะนั้น เพราะมีการตั้งข้อกล่าวหานายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ว่ามีการใช้กำลังจนทำให้มีผู้ชุมนุมเสียชีวิต

โดยตนก็คงจะมาชี้แจงว่าเราได้ควบคุมสถานการณ์ในช่วงนั้นอย่างไร การชุมนุมในช่วงเวลาดังกล่าวก็ต้องถือว่าเป็นการชุมนุมที่ใช้ความรุนแรง ทั้งกลุ่มผู้ชุมนุมมีการเคลื่อนขบวนไปปิดล้อมสถานที่ต่างๆ

ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มที่ใช้อาวุธ หรือกลุ่มชายชุดดำใช้อาวุธกระทำต่อสถานที่ และเจ้าหน้าที่ในหลายเหตุการณ์ เริ่มตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์ 53 ที่กลุ่มชายชุดดำได้ปะปนกับกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งก่อเหตุทั้งในนอกพื้นที่ชุมนุม อาทิ บริเวณแยกราชประสงค์ที่มีการใช้ความรุนแรงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่หลายครั้ง รวมทั้งบริเวณสวนลุมพินี

โดยเฉพาะเมื่อครั้งที่เจ้าหน้าที่ได้ตั้งจุดตรวจรอบพื้นที่ชุมนุม ในมาตรการที่เรียกว่ากระชับวงล้อมและกระชับพื้นที่ และได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ว่ามีการจู่โจมเจ้าหน้าที่ตามจุดตรวจรอบพื้นที่ชุมนุมโดยชายชุดดำจึงทำให้เกิดการสูญเสียเกิดขึ้น

นายถวิลกล่าวอีกว่าเรื่องของการสลายการชุมนุมนั้นในช่วงการควบคุมสถานการณ์ช่วงเมษายน-พฤศจิกายน53 รวมทั้งเหตุการณ์ความวุ่นวายในปี 52 นั้น ทางเจ้าหน้าที่ไม่มีการใช้กำลังในการสลายการชุมนุม เพราะในปี 52 ไม่มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตเลย

ส่วนในปี 53 ตั้งแต่ช่วงเดือน มีนาคม 53 จนถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 53 ก็ไม่มีการใช้กำลังเข้าไปสลายการชุมนุม ที่ตนพูดเช่นนี้ไม่ได้เป็นการเล่นคำ หรือหลีกเลี่ยงคำว่าสลายการชุมนุม แต่เป็นเช่นนั้นจริงๆเพราะไม่มีการสลายการชุมนุม ซึ่งเหตุการณ์ที่ถูกผู้ชุมนุมเรียกว่าเป็นการสลายการชุมนุมมี 2 เหตุการณ์

คือเหตุการณ์ในวันที่ 10 เมษายน 53 บริเวณแยกคอกวัว ซึ่งเป็นการขอคืนพื้นที่

ส่วนอีกเหตุการณ์ในช่วง วันที่ 11-19 พฤษภาคมนั้น ก็ไม่ได้เป็นการใช้กำลังสลายชุมนุม แต่เป็นการกระชับวงล้อม ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่ได้ใช้กำลังเข้าไปสลายการชุมนุมแม้แต่ในวันที่ 19  พฤษภาคม ที่มีการยุติสถานการณ์โดยแกนนำประกาศยุติการชุมนุมเอง

หลังจากนั้นก็เกิดเหตุการณ์จลาจลมีการเผาสถานที่ต่างๆในกรุงเทพฯรวม 37 จุด และเผาศาลากลางจังหวัดอีก 4 แห่ง ซึ่งเจ้าหน้าที่เองก็ยุติสถานการณ์เพียงแค่นั้น ไม่ได้เข้าไปสลายการชุมนุม

เมื่อถามว่าส่วนที่มีการระบุว่าพบการใช้กระสุนจริงในพื้นที่แยกราชประสงค์นายถวิลกล่าวว่าหลังจากการชุมนุมยุติลงในวันที่20 พฤษภาคม เจ้าหน้าที่ก็ได้เข้าตรวจสอบพื้นที่ชุมนุม ซึ่งก็พบอาวุธในพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์ สวนลุมพินี รวมทั้งในวัดปทุมวนาราม  ซึ่งเป็นอาวุธสงครามทั้งM79 ลูกระเบิดเพลิง ระเบิดขว้า

เมื่อถามต่อว่ามองว่าอาวุธที่พบไม่ใช่อาวุธที่เจ้าหน้าที่ใช้ใช่หรือไม่ นายถวิล กล่าวว่า ก็ไม่แน่ เพราะก่อนหน้านั้นวันที่ 10 เมษายน เจ้าหน้าที่ได้รับการกำชับว่าให้ใช้กระบองและโล่ ห้ามใช้อาวุธกับผู้ชุมนุมเป็นอันขาด จนกระทั่งเมื่อวันที่ 10 เมษายน มีความสูญเสียเกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่ทหาร อาทิ พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม อดีตรองเสนาธิการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล. ร.2 รอ.) และยังมีประชาชนสูญเสียอีกรวม 26 คน หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จึงรู้ว่ามีการใช้อาวุธจากผู้ชุมนุม และในวันดังกล่าวก็เป็นครั้งแรกที่มีการปรากฏตัวของชายชุดดำ จนมีการอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธซึ่งก็ต้องใช้ให้เป็นไปตามกฎ 7 ขั้นตอน

เมื่อถามว่า กรณีที่ศาลอาญาเคยมีคำวินิจฉัยสาเหตุการณ์เสียชีวิตของผู้ชุมนุมว่าเกิดจากการใช้อาวุธ นายถวิลกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องการพิสูจน์การตาย ซึ่งมีหลายกรณี เช่นกรณีนายพัน คำกอง ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่มี นายธาริต เพ็งดิษฐ์ ในฐานะอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษในขณะนั้น ได้มีการพิสูจน์การเสียชีวิตตามที่ศาลมีคำวินิจฉัย และได้มีการกล่าวหานายอภิสิทธิ์และนายสุเทพว่าทำให้มีผู้เสียชีวิต ก็คือข้ามว่ามีคนสั่งถึงมีคนตาย แต่ใครทำให้ตายนั้นไม่รู้ข้ามช่วงกลางไปแล้ว ส่วนช่วงปลายว่ามีคนตายจึงได้ตั้งข้อกล่าวหากับบุคคลทั้ง 2 ว่าฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล ทำให้มีผู้เสียชีวิต ซึ่งกรณีดังกล่าวศาลอาญาก็ได้ยกฟ้องไปแล้ว โดยระบุว่าเป็นอำนาจของ ป.ป.ช.

 

ที่มา มติชนออนไลน์, 28 เม.ย.58 และ 29 เม.ย.58

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net