Skip to main content
sharethis

หลังแผ่นป้าย "เขตใช้กระสุนจริง" บนถนนราชปรารภ-ซอยรางน้ำ-ซอยหมอเหล็ง-สามเหลี่ยมดินแดง เสียชีวิตกว่า 24 คนบาดเจ็บเกือบ 200 คน

จากจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด 58 ราย ผลจากการสลายชุมนุม หรือการกระชับพื้นที่ระหว่าง วันที่ 14-20 พฤษภาคม บอกได้ถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่บริเวณนั้น

บาดแผลผู้เสียชีวิตทั้ง 24 ศพเข้าศีรษะ หน้าอก และลำตัว

หนึ่งเดือนหลังการสลายชุมนุม ความจริงยังคงซุกซ่อนใต้พรม เสียงจากครอบครัวผู้สูญเสียแผ่วเบาราวเสียงกระซิบ....อะไรเกิดขึ้นในพื้นที่รอบนอก ก่อนสลายการชุมนุมบนพื้นที่ราชประสงค์ "ทีมข่าวคุณภาพชีวิต" ลงพื้นที่ย้อนรอยเหตุการณ์ บริเวณราชปรารภ ซอยรางน้ำ สามเหลี่ยมดินแดง เนื่องจากพบว่าพื้นที่ดังกล่าว มีผู้เสียชีวิตในช่วงหลังการประกาศ กระชับพื้นที่จำนวนมากถึง 24 ราย โดยในจำนวนดังกล่าวเกือบครึ่งหนึ่งเป็นประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้เข้าร่วมชุมนุมเสียชีวิต

"พื้นที่ราชปรารภ-ดินแดง ซอยรางน้ำ มีประชาชนคนทั่วไปได้รับบาดเจ็บ-เสียชีวิตค่อนข้างมาก โดยเฉพาะประชาชนทั่วไป เพราะตอนนั้นชาวบ้านไม่ค่อยรู้ว่ามีการกระชับพื้นที่ มาถึงแถวนี้ทำให้ใช้ชีวิตปกติ" พ.ต.ท.เทพพิทักษ์ แสงกล้า พนักงานสอบสวน (สบ 2) สถานีตำรวจนครบาลพญาไท บอก

พ.ต.ท.เทพพิทักษ์ เล่าว่า ตั้งแต่วัน 14-20 พ.ค. ทาง สน.พญาไทได้รับผิดชอบในการสอบสวนชันสูตรพลิกศพทั้งหมด โดยศพถูกส่งมาจากย่านราชปรารภ สามเหลี่ยมดินแดงและประตูน้ำ จากการชันสูตรศพพบว่า โดยมากมีบาดแผลตั้งแต่ลำตัวจนถึงศีรษะ อาวุธที่โดนส่วนใหญ่แพทย์จะบอกว่าวัตถุความเร็วสูง แต่เท่าที่ดูเป็นกระสุนความเร็วสูง
“ผลการตรวจสอบ ทุกศพไม่มีอาวุธข้างกาย หลังการตรวจสอบลายนิ้วมือบางรายพบเพียงแค่คดีการพนันเล็กๆ น้อยเท่านั้น ผมคิดว่าน่าจะเป็นชาวบ้านธรรมดานี้แหละครับ” พ.ต.ท.เทพพิทักษ์

พ.ต.ท.เทพพิทักษ์ บอกอีกว่า ลักษณะบาดแผล ส่วนใหญ่เป็นกระสุนความเร็วสูงไม่ใช่ปืนพกสั้น น่าจะเป็นอาวุธสงคราม ซึ่งหลังจากทำสำนวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน จะจัดส่งไปยังดีเอสไอ เนื่องจากคดีเหล่านี้เป็นคดีพิเศษ

"ศพส่วนใหญ่มีญาติมารับหมดแล้ว เหลือเพียง 3 รายเท่านั้นที่ยังไม่มีญาติมารับ โดยรายแรกเป็นเด็กชายอายุประมาณ 10-14 ขวบ ถูกยิงด้วยกระสุนทะลุผ่านหน้าท้องเสียชีวิต เมื่อคืนวันศุกร์ที่ 14 พฤษภาคม 2553 เวลาประมาณ 23.30 น.โดยมีลักษณะบาดแผลเกิดจากกระสุนปืนความเร็วสูงจากบริเวณเอวด้านหลังทะลุท้องด้านหลังบริเวณกระดูกซี่โครงไขสันหลังข้อที่ 4-5"

ส่วนอีกรายเป็นชายไม่ทราบชื่อ ถูกยิงบริเวณถนนราชดำริ ด้านหน้าตึก สก รพ.จุฬาลงกรณ์ ลักษณะผอมเหมือนอดข้าวมานาน ถูกยิงที่ศีรษะ ในวันที่ 19 พ.ค. เวลาประมาณ 10.00 น.

"ลักษณะศพรายนี้ เหมือนคนเร่ร่อน เพราะว่า ผอมมาก มีความเป็นไปได้ว่าเขาไม่น่าจะมีญาติพี่น้อง แต่ศพเด็กชายไม่น่าจะเป็นเด็กเร่ร่อน เพราะดูจากเสื้อผ้าที่เขาสวมใส่ สะอาด แต่น่าแปลกที่ไม่มีญาติมาตามหาเลย และรายสุดท้ายเป็นหญิงอายุประมาณ 50 ปี ถูกยิงที่ขา โดยกระสุนตัดเส้นเลือดใหญ่ขณะกำลังเก็บของเก่าบริเวณแยกสามเหลี่ยมดินแดง หญิงดังกล่าวยังไม่มีญาติมารับเช่นเดียวกัน"

ผลการสอบสวนจากจุดที่เกิดเหตุเพื่อสรุปสำนวนคดี พ.ต.ท.เทพพิทักษ์ บอกว่า จากการสอบสวนที่จุดเกิดเหตุส่วนมากไม่รู้ว่าใครยิง รู้แต่ว่าถูกกระสุนปืนบาดเจ็บแล้วนำส่งโรงพยาบาลและเสียชีวิต แต่ไม่มีประจักษ์พยานว่าใครยิง เนื่องจากเหตุการณ์ส่วนมากเกิดในช่วงกลางคืน รู้แต่ว่ามีเหตุกระชับพื้นที่ระหว่างฝ่ายทหารและชาวบ้าน สำนวนทั้งหมดจะส่งไปที่กรมสอบสวนคดีพิเศษและจะมีคำสั่งในการร่วมกันสอบสวนอีกครั้งหนึ่ง

แม้เจ้าหน้าที่พนักงานสอบสวนจะไม่สามารถระบุได้ว่า ใครยิงในพื้นที่ราชปรารภ สามเหลี่ยมดินแดง แต่สำหรับ นิค นอสติทซ์ ผู้สื่อข่าวอิสระชาวเยอรมัน จดจำเหตุการณ์วันที่ 15 พ.ค.ได้ไม่มีวันลืมและเขาคิดตลอดชีวิตของเขาคงลืมเหตุการณ์นี้ได้ยาก

วันนั้นผมติดในปั๊มเชลล์ ห่างจากซอยรางน้ำประมาณ 80 เมตร ผมเห็นกลุ่มคนที่ยิงมีเพียงฝ่ายเดียวคือทหาร และยิงไม่หยุด" นิคบอกว่า ประมาณบ่ายสามโมงของวันนั้น เขาเข้าไปทำข่าวในพื้นที่ ราชปรารภเพราะคิดว่า บริเวณนั้น คงไม่มีเหตุการณ์รุนแรงมากนัก และคิดว่า หากมีการปะทะกัน คงมีการยิงและมีผู้เสียชีวิตบ้างแล้วคงหยุดยิง ไม่แตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ ที่เขาไปทำข่าว เขาจึงตรงไปที่ ถนนราชปรารภ

"ผมพาตัวเองมาในจุดที่อันตรายที่สุด" นิดบอก ก่อนจะเริ่มเล่าว่า ช่วงเวลาบ่ายสามโมง ยังไม่มีเหตุการณ์อะไรรุนแรง ชุมนุมในพื้นที่ไม่มากนักเขาได้เดินสำรวจ เพื่อตรวจสอบว่ามีทหารอยู่จุดไหนและมีผู้ชุมนุมจุดไหน เขาพบว่าบริเวณปากซอยรางน้ำมีทหารตั้งบังเกอร์ จากนั้น เขากลับมาประจำบริเวณหน้าปั๊มเชลล์

เวลาใกล้ๆ บ่ายสี่โมง ผู้ชุมนุมบางคนย้ายยางรถยนต์หลายสิบอันมากองสุมเป็นด่านบริเวณหน้าปั๊มเชลล์ ผู้ชุมนุมรายหนึ่งได้โชว์หนังสติ๊ก แล้วบอกเขาว่า "นี้ไงอาวุธที่เราจะเอาไปสู้กับทหาร"

จากนั้นประมาณ บ่ายสี่โมง "ยังไม่ทันที่ ผู้ชุมนุมจะตั้งยางรถยนต์เสร็จ กระสุนมาจากทิศทางที่ทหารตั้งบังเกอร์ เริ่มยิงและจากนั้นก็ยิงตลอดเวลาไม่หยุด" นิคบอกว่า ผู้ชุมนุมคนคนแรกซึ่งเป็นคนเดียวกับที่เอาหนังสติ๊กมาโชว์ ถูกยิงที่แขนและหน้าท้องของเขา อาการสาหัส ซึ่งทราบชื่อภายหลังว่า คือ นายชาญณรงค์ พลศรีลา อายุ 45 ปี

นิคเข้าไปหลับบริเวณกำแพงปั๊มเชลล์ห่างจากจุดบังเกอร์ยางรถยนต์ของผู้ชุมนุมไม่มาก มีผู้ชุมนุมบางคนหลบอยู่ใกล้ๆ กับเขาพยายามโยนเชือกเข้าไปช่วยดึงผู้บาดเจ็บออกมา แต่ทำไม่สำเร็จ การยิงไม่เคยหยุดลงเลย ผู้ชุมนุมอีกคนหนึ่งพยายามคลานหนีออกมาถูกยิงแนวยางรถยนต์เข้ามาหลบในปั๊มน้ำมันเขาถูกยิงที่ ขาและไหล่

ประมาณสี่ถึงห้านาที ผู้ชุมนุมบริเวณแนวยางรถยนต์คนหนึ่งข้ามมาในปั๊มเชลล์ได้ อีกคนหนึ่งถูกยิงทีแขน หลังจากนั้น สักพักสองคนที่บาดเจ็บไม่มากวิ่งเข้ามาที่ปั๊มเชลล์ได้

"คนหนึ่งล้มลงและคลานต่อไปจนถึงที่ปลอดภัย ผมเกรงว่าเขาจะถูกยิงอีกแล้ว เสียงปืนดังขึ้นตลอดเวลาไม่หยุด ผู้ได้รับบาดเจ็บสามคนหลบออกมาสำเร็จ ข้างหลังของปั๊มน้ำมันมีห้องสุขาซึ่งกลายเป็นโซนปลอดภัยชั่วคราว" นิดบอกว่าเสียงปืนยังยิงตามหลังเขาไม่ยอมหยุด เขาวิ่งไปรวมกับผู้ชุมนุมบริเวณหน้าห้องสุขา

ผมวิ่งกลับไปที่ห้องสุขา ประมาณ 40 เมตรถัดไป รู้สึกว่าผมถูกไล่ยิงขณะวิ่ง ขาของผมล้าจนแทบล้มลง มันน่ากลัวมากตั้งแต่ผมทำข่าวมาไม่เคยกลัวมากขนาดนี้ เพราะเขายิงไม่เลือกเลย"

หลังจากนั้นผู้บาดเจ็บ และผู้ชุมนุมพยายามจะปีนกำแพงออกไปหลังห้องน้ำ เพราะทหารเข้ามายังพื้นที่ "ผมเห็นมีคนพยายามยกตัวคนเจ็บออกมา ผมไปที่กำแพงเพื่อพยายามช่วย และผมก็กระโดดข้ามกำแพงเข้าไปในบ้านสวยหลังหนึ่งติดปั๊ม พร้อมกับผู้ชุมนุมและผู้บาดเจ็บ"

นิคบอกว่า เขาเอาตัวแนบกำแพงเพราะกระสุนยังคงวิ่งตามเขาเข้ามา หลังกำแพงเขาได้ยินเสียงทหารวิ่งเข้ามาในปั๊ม และเขาได้ยินเสียงรองเท้าทหารทำร้ายร่างกาย ผู้ชุมนุมที่ข้ามกำแพงเข้ามาภายในบ้านหลังนั้นไม่ได้

ผมเห็นคนเจ็บหลบเข้าไปในบ่อเลี้ยงปลาในบ้านหลังนั้นห่างจากผมไปประมาณ 10 เมตร ผมได้ยินเสียงทหารตะโกนจากหลังกำแพงฝั่งปั๊มน้ำมัน ผมก็ได้ยินเสียงปืนรัวติดกันหลายนัด เห็นปลอกกระสุนบินข้ามกำแพงมา ได้ยินเสียงร้องขอชีวิต ผมได้ยินเสียงทหารสั่งว่า ให้ออกมาไม่อย่างนั้นจะยิงตาย ตอนแรกผมนึกว่าเขาหมายถึงผม จนผมเห็นหัวทหารโผล่พ้นกำแพง ตะโกนเข้ามา"

นิคบอกว่า เขาตัดสินใจเลยตะโกนออกไปว่าผมเป็นนักข่าวต่างชาติ ขอร้องว่าอย่ายิงผมเลยครับ ผมตะโกนอยู่สองสามครั้ง ก่อนที่ทหารจะมองเห็นผมชูมือให้เห็นว่าว่างเปล่า เขาสั่งให้ผมเดินออกมา ผมเดินไปหาเขาและอธิบายว่าคนที่อยู่ในน้ำ ถูกยิงที่ท้องและแขน อาการสาหัส เขาลอยตัวอยู่ในน้ำ ทหารคนหนึ่ง สั่งให้นิคดึงชายบาดเจ็บออกมาแต่ชายคนนั้นตัวใหญ่ทำให้นิดไม่สามารถช่วยได้คนเดียว ขณะที่นิดพยายามดึงตัวเขาขึ้น ผู้บาดเจ็บวิงวอนด้วยเสียงอ่อนว่าเขาทนไม่ได้แล้ว

"ผมขอให้ทหารคนหนึ่งมาช่วยผม ดึงคนเจ็บเพื่อไปส่งโรงพยาบาล แต่ทหารคนหนึ่งตะโกนว่าผู้ชายบาดเจ็บสมควรตาย ไม่ควรจะมีชีวิตอยู่ แล้วเขาก็เดินออกไปผู้ชายบาดเจ็บคนหนี้ ร่วงลงไปในน้ำอีกครั้ง จนมีทหารคนที่สองช่วยผมดึงตัวเขาขึ้นมา ขณะที่ทหารคนแรกยังตะโกนไม่หยุดว่า คนเหล่านี้สมควรตาย"

นิคบอกว่า ทหารสั่งให้นำเปลมาช่วยคนเจ็บออกไป และสั่งไม่ให้ผมถ่ายรูป ซึ่งภายในบ้านหลังนั้นมีทั้งผู้ชุมนุม และผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ผู้สื่อข่าวไทยคือช่างภาพหนังสือพิมพ์แนวหน้า นักข่าวของ Spiegel, ทีมช่างภาพจากอินโดนีเซีย, ช่างภาพท้องถิ่นทีทำงานให้กับ ABC News, โดย ผู้ชุมนุมหลายคนที่อยู่กับพวกเรา กลายเป็นคนขับรถจำเป็นให้กับพวกเราเหล่านักข่าวต่างชาติเพราะเราต้องรักษาชีวิตพวกเขา

นิคยืนยันว่า วันนั้น ทหารไทยทำผิดกฎและขาดระเบียบวินัย ผู้ชุมนุมยังไม่ทันได้ทำอะไร ไม่ได้ต่อสู้ พวกเขามือเปล่า แต่ ทหารยิง ทหารทำผิดกฎของเขาเอง ทหารไม่ได้ทำตามขั้นตอนจากหนักไปหาเบา เขาไม่ได้ยิงแก๊สน้ำตา เขาไม่ได้ใช้กระสุนยาง แต่กระสุนใช้กระสุนจริงและไม่หยุดยิง

"ผมจะยอมรับได้หากวันนั้น มีการยิงปะทะ แต่ การยิงเกิดขึ้นฝ่ายเดียว จากฝ่ายทหารเท่านั้น ผู้ชุมนุมมีจำนวนไม่มาก สองมือเปล่า ไม่มีอาวุธ ผมไม่ต้องการเห็นใครสักคนตาย ไม่ว่าจะเป็นทหารหรือผู้ชุมนุม แต่ ผู้ชุมนุมเหล่านี้ไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย ไม่ใช่ชุดดำ เขาเป็นผู้ชุมนุม ซึ่งผมคิดว่า รัฐบาลไทยจะต้อง ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในบริเวณนี้"

นิค บอกว่า เขาได้ถาม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในวันที่ชี้แจงต่อสื่อมวลชนต่างชาติ นายอภิสิทธิ์ บอกว่า ให้เขาไปเป็นพยานในเรื่องนี้ ซึ่งเขาพร้อม เพราะทุกอย่างที่เขาเห็นเป็นข้อเท็จจริงที่เขามีหลักฐาน ที่จะบอกถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติของทหารไทย

ผู้สื่อข่าวชาวเยอรมันรายนี้บอกว่า เขาเป็นชาวต่างชาติที่พูดและฟังภาษาไทยได้ เขามีครอบครัวเป็นคนไทย เขาเป็นพ่อของลูก เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญเหนือการเมืองคือความเป็นมนุษย์ นิดและเพื่อนผู้สื่อข่าว และผู้ชุมนุม 11 คนติดอยู่บ้านหลังนั้น กระทั่ง 2 ทุ่มพวกเขาจึงพยายามหลบออกมาได้

เขาบอกทิ้งท้ายว่าผู้ชุมนุมจำนวนไม่มาก การปฏิบัติการไม่ควรจะยิงตรงเข้ามา และยิงไม่หยุด ผมเข้าใจว่าทหารกลัวชุดดำแต่เขาควรจะแยกออกว่าระหว่างผู้ชุมนุมกับชุดดำ ซึ่งผมเชื่อว่าเขาแยกออกได้ แต่ครั้งนี้ ผมเห็นเพียงการยิงซ้ำ โดยที่ชุมนุมไม่มีอาวุธ แม้แต่คนที่บาดเจ็บ เขายังไม่เปิดโอกาสให้หนี ทหารทำผิดกฎอย่างชัดเจน เรื่องนี้รัฐบาลไทยต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะสำหรับเขาคิดว่ามันคือการฆาตกรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net