ทหารไม่มาชี้แจง-‘หมอนิรันดร์’ บุกเรือนจำอีก 3 เม.ย.เยี่ยมผู้ต้องหาที่อ้างถูกซ้อม

 30 มี.ค.2558 เวลา 14.00 น. ที่ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ มีการประชุมของคณะอนุกรรมการสิทธิสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยมี นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ เป็นประธาน ที่ประชุมหารือถึงกรณีเจ้าหน้าที่ซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัย 9 ราย คดีวางระเบิดหน้าศาลอาญา โดยมีตัวแทนจากสำนักข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ผู้แทนกองบังคับการปราบปราม ผู้แทนกองบังคับการตำรวจนครบาล ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และตัวแทนจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ในส่วนของตัวแทนจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารไม่มีการตอบรับเข้าร่วมการประชุม เนื่องจากปัญหาเอกสารที่ยังไม่ได้ส่งถึงผู้บัญชาการทหารบกเพื่อขออนุมัติ

นพ.นิรันดร์ กล่าวในที่ประชุมว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กสม.มีการตรวจสอบเรื่องการซ้อมทรมานผู้ต้องหา โดยเมื่อ 25 มี.ค. ตนกับเจ้าหน้าที่ กสม.และพญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ได้ยื่นจดหมายไปที่เรือนจำเพื่อเข้าพบผู้ต้องหาและทำการตรวจสอบข้อเท็จจริง ตรวจสอบร่างกาย แต่เมื่อเดินทางไปถึงทางเรือนจำ เจ้าหน้าที่เรือนจำชี้แจงว่ายังไม่มีหนังสือจากกรมราชทัณฑ์ ทางเรือนจำยืนยันว่าไม่มีคำสั่งจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ จึงได้ทำการเชิญตัวแทนจากหน่วยงานทั้งหมดเข้ามาชี้แจงในที่ประชุม เพื่อรับฟังข้อเท็จจริงไม่ได้กล่าวหาหน่วยงานใดว่าทำการซ้อมทรมาน

“ผมทำตามหน้าที่ไม่เกี่ยวกับคดีวางระเบิด ผมรู้ว่าอะไรควรพูด ไม่ควรพูด ผมเข้าใจ แต่ถ้าอธิบดีกรมราชทัณฑ์ไม่ให้เข้าไป ทางกรมราชทัณฑ์ต้องตอบคำถามสังคมให้ได้ว่าทำไมไม่อนุญาตให้ กสม. เข้าไปตรวจสอบ ขอยืนยันว่านี่ไม่เกี่ยวข้องเรื่องคดี แต่แม้ว่าจะใช้กฎอัยการศึกก็ไม่มีสิทธิไปซ้อมผู้ต้องหาไม่เช่นนั้นจะไม่เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ฝากไปบอกอธิบดีกรมราชทัณฑ์ด้วย ผมปฏิบัติหน้าที่มา 6 ปีจนจะหมดวาระ ยังไม่เคยมีปรากฏกรณีว่ากรมราชทัณฑ์ไม่อนุมัติ” นายนิรันดร์กล่าว

พลตำรวจตรี  จิตติ รอดบางยา รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ชี้แจงว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับตัวผู้ต้องหาจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ทั้ง 9 ราย โดยเรียกตัวแพทย์ผู้เข้าเวรในเวลาดังกล่าวจากโรงพยาบาลตำรวจเป็นผู้ตรวจร่างกายและรับมอบสิ่งของส่วนตัวของผู้ต้องหา ในวันส่งมอบตัวผู้ต้องหาทั้งหมดได้ปฏิบัติถูกต้องตามหลักการ มีหมายศาลทหารที่ออกในวันส่งหมอผู้ต้องหา มีการแจ้งข้อกล่าวหา แจ้งสิทธิผู้ต้องหา แล้วจึงเข้าสู่กระบวนการสืบสวนสอบสวนอยู่ในห้องกระจกที่สื่อและประชาชนทั่วไปสามารถเห็นได้ชัดเจน ไม่สามารถมีการทำร้ายผู้ต้องหาอย่างแน่นอน จากนั้นได้ควบคุมตัวเพื่อฝากขังที่ศาลทหารในกรุงเทพฯ และเข้าสู่กระบวนการขังที่เรือนจำชายและเรือนจำหญิง ขอยืนยันว่าไม่มีการทำร้ายแน่นอนในระหว่างการควบคุมตัวของตำรวจ และเป็นอันสิ้นสุดภาระหน้าที่ของพนักงานสอบสวน

ตัวแทนจากกองบังคับการปราบปราม พลตำรวจเอก สุวัฒน์ แสงนุ่ม พงส.ผทค.กลุ่มงานสอบสวน บก.ป. กองบังคับการปราบปราม กล่าวว่า ในรายชื่อทั้งหมด 9 ราย มีเพียง แหวน ณัฎฐธิดา มีวังปลา คนเดียวที่ทางเจ้าหน้าที่ทหารร้องทุกข์กล่าวโทษผู้ต้องหาว่ามีการติดต่อผ่านไลน์ในกลุ่มที่มีการหมิ่นสถาบันฯ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงจำเป็นต้องมีการดำเนินคดี

ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ชี้แจงต่อว่า สามารถชี้แจงได้เฉพาะในส่วนที่รับตัวผู้ต้องหาต่อมาจากเจ้าหน้าที่ทหาร ไม่ทราบในส่วนเรื่องการจับกุมหรือการควบคุมตัวก่อนหน้า ในเรื่องการตรวจร่างกายได้ดำเนินการก่อนที่จะมีการสืบสวนสอบสวน รายละเอียดจากการตรวจของแพทย์เท่าที่ทราบไม่มีการได้รับบาดเจ็บตามที่เผยแพร่ในสื่อ เรื่องของข้อมูลการทำร้ายร่างกายผู้ต้องหาหากมีการแจ้งความเจ้าหน้าที่ก็รับแจ้งความตามปกติ

จากนั้นคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ตั้งข้อสังเกตว่าเรื่องการตรวจร่างกายก่อนรับมอบส่งตัวผู้ต้องหาหากเป็นแค่แพทย์เวรไม่ใช่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์จะไม่สามารถบอกว่าบาดแผลเกิดขึ้นเมื่อไร หรือเวลาอาจมีความคลาดเคลื่อน

ด้านตัวแทนจากกรมราชทัณฑ์ ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่าในส่วนของเรือนจำชายได้ทำการตรวจร่างกายโดยพยาบาล เนื่องจากหมดเวลาทำการของแพทย์ แต่หลังจากนั้นมีแพทย์เข้าตรวจร่างกายหรือไม่ต้องขอกลับไปตรวจสอบข้อมูล ประเด็นที่เป็นไปตามสื่อ ทางกรมราชทัณฑ์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการซ้อมทรมานผู้ต้องหา ส่วนกระบวนการตรวจร่างกายมีการสอบถามปากคำ ไม่มีการกักตัวผู้ต้องหาในที่ลับ มีการถ่ายรูปหน้าตรง ด้านข้างและถอดเสื้อถ่ายรูป เพื่อทำทะเบียนประวัติ หาก กสม. ต้องการขอภาพถ่ายตรวจร่างกายและแบบฟอร์มการตรวจร่างกายให้ทำการยื่นหนังสือขอไป

ตัวแทนจากทัณฑสถานหญิงได้ชี้แจงว่า เมื่อมีผู้ต้องหาฝากขังจะมีการตรวจสอบร่างกาย และกรอกแบบฟอร์มการตรวจร่างกาย มีการเขียนว่าที่ร่างกายมีร่องรอยการทำร้ายหรือไม่และให้ผู้ต้องขังเซ็นกำกับ พร้อมมีรูปถ่าย ในส่วนกรณีรับตัวผู้ต้องขังฝ่ายทะเบียนจะมีระเบียนประวัติ สามารถตรวจสอบรายละเอียดได้ มีการถ่ายรูปด้านหน้า ด้านข้าง เพื่อทำทะเบียนประวัติผู้ต้องขังและสำหรับผู้ต้องหาหญิงวางระเบิดศาลอาญาทั้งสองราย ไม่มีรายละเอียดเรื่องการถูกซ้อมแต่อย่างใด

ขณะที่ จอน อึ๊งภากรณ์ หนึ่งในอนุกรรมการตั้งข้อสงสัยว่าการที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์ปฏิเสธไม่ให้เยี่ยม เปรียบเสมือนเป็นการยอมรับว่ามีการซ้อมทรมานเกิดขึ้นจริงเพราะปกติไม่เคยมีกรณีที่ทาง กสม. ยื่นหนังสือแล้วมีการปฏิเสธไม่ให้เยี่ยม แต่กรณีของ 9 ผู้ต้องหาวางระเบิดหน้าศาลอาญากลับมีการปฏิเสธไม่ให้เข้าเยี่ยม แม้ว่ากรมราชทัณฑ์จะไม่มีการทำร้ายผู้ต้องหา แต่กรมราชทัณฑ์ปกป้องไม่ให้ กสม. เข้าตรวจสอบว่าใครผิด ที่สำคัญ ควรออกมาตรการแนวปฏิบัติระหว่าง กสม. กรมราชทัณฑ์ กรมตำรวจ และทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร

เรื่องขั้นตอนการดำเนินการต่อไปนั้น นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ได้ฝากตัวแทนจากกรมราชทัณฑ์เขียนบันทึกถึงอธิบดีกรมราชทัณฑ์เพื่อตอบจดหมายที่ได้ขออนุญาตเข้าเยี่ยมผู้ต้องหาทั้ง 9 รายไปแล้วก่อนหน้านี้ และกำหนดจะเดินทางเข้าเยี่ยมผู้ต้องหาทั้งหมดอีกครั้งในวันศุกร์ที่ 3 เม.ย. เวลา 09.30 น. โดยเน้นย้ำขอให้อธิบดีตอบจดหมายฉบับเดิมมาให้ชัดเจน และทาง กสม.จะไม่ยื่นจดหมายฉบับใหม่ไปเนื่องจากยังไม่ได้รับการตอบจากจดหมายฉบับดังกล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท