Skip to main content
sharethis

จิตรกร โพธิ์งาม ชี้ ประเทศที่แม่โขงไหลผ่านติดกับดักท้องถิ่นนิยม มองไม่เห็นความไร้พรมแดนของสายน้ำ พร้อมตั้งคำถาม เราจะปล่อยเรื่องนี้เป็นชะตากรรม หรือเราจะสร้างนวัตกรรม

 

หมายเหตุ : ประชาไทถอดความปาฐกถา ของจิตรกร โพธิ์งาม คณบดี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ในงาน ‘2 ทศวรรษปากมูน’ ครั้งที่ 2 บนเส้นทาง การต่อสู้ของคนหาปลา เพื่อสานต่อ “ปณิธานหิ่งห้อย” ในโอกาสวันหยุดเขื่อนโลก’ เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2558 ที่ ศูนย์ประชุมสาธารณสุขอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งร่วมจัดโดย คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ฝ่ายพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต, WWF ประเทศไทย, มูลนิธิศักยภาพชุมชน, มูลนิธิประชาสังคม จังหวัดอุบลราชธานี, คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน), เครือข่ายสลัม 4 ภาค, ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.), เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.), โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษานานาชาติ ม.ขอนแก่น (Ciee ประเทศไทย), กองทุนตามเจตนารมณ์ วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ และคณะกรรมการชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูชีวิตและชุมชนลุ่มน้ำมูน (ชชช.)

จิตรกร โพธิ์งาม : จักรวาลวิทยาของคนลุ่มน้ำโขง มหานทีแห่งชีวิตไร้พรมแดน

จิตรกรได้กล่าวนำถึงแนวคิดของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมว่า เป็นกระบวนการเพื่อแสวงหาทัศนะคติ อุดมการณ์ และเป้าหมายของชีวิตแบบใหม่ที่มีความเท่าเทียมยุติธรรมแล้วก็ไม่ลิดรอนสิทธิ ซึ่งแนวความคิดเรื่องสิทธินี้เองเป็นแนวความคิดสมัยใหม่ที่เข้ามาแทนที่แนวความคิดในเรื่องของความศรัทธา ความเชื่อ ที่นับวันมันจะถูกรื้อถอนออกไป ฉะนั้นเรื่องอุดมการณ์ใหม่ หรือกระบวนทัศน์ใหม่นี้จะมองเรื่องที่ไร้พรมแดนโดยที่มันเป็นจินตนาการทางวิชาการที่เรามีความเชื่อมั่นว่าจะไปถึงในวันข้างหน้า ซึ่งในตอนนี้เรายังเป็นเป็นท้องถิ่นนิยม ยังอยู่ในบ้านเรา แต่ในพรุ่งนี้เราจะไปอยู่ในที่อื่นไปอยู่ในบ้านอื่น มันก็จะเป็นเรื่องของท้องถิ่นภิวัตน์เพื่อมุ่งไปสู่ความเป็นโลกาภิวัตน์ แต่โลกาภิวัตน์มันมีความซับซ้อนมากกว่าที่ตาเห็นหรือมากกว่าที่คิด ดังนั้นจิตรกรจึงได้แบ่งพัฒนาการของแม่น้ำโขงว่ามันมีช่วงเวลาของการปรับเปลี่ยนออกเป็น 4 ประเด็นคือ

1.ระบบกายภาพแห่งสายน้ำ และจักรวาลวิทยาของคนลุ่มน้ำโขง ซึ่งระบบกายภาพนี่ก็คือแม่น้ำโดยถ้าเราดูจากแผนที่ก็จะเห็นว่าในภูมิภาคนี้แม่น้ำโขงนั้นขีดยาวลงมาตั้งแต่จีนลงมาผ่านพม่า ไทย ลาว กัมพูชา และไปจบที่ทะเลเวียดนาม จึงมีประเทศที่แม่น้ำโขงไหลผ่านอยู่ 6 ประเทศ ข้อสังเกตคือ ครึ่งหนึ่งของแม่น้ำโขงนั้นอยู่ในประเทศจีน ฉะนั้นที่จีนบอกว่าแม่น้ำโขงนั้นเป็นของตนจึงถูกต้อง แต่สิ่งที่สำคัญนั้นคือระหว่างลำน้ำโขงถ้าคิดจะสร้างเขื่อนทุกประเทศก็อ้างได้หมด เพราะแม่น้ำโขงมันไหลผ่านเข้าไปในพื้นที่ประเทศของตน ยกเว้นไทยประเทศเดียวที่ไม่มีแม่น้ำโขงเป็นของตนเอง ถ้าหากประเทศอื่นๆ คิดจะสร้างเขื่อนก็สร้างได้ทันทีไม่ต้องไปคุยกับใคร แค่ไม่สนใจชาวบ้านก็สร้างได้แล้ว

ในส่วนของจักรวาลวิทยาของคนลุ่มน้ำโขง ตั้งแต่แม่น้ำโขงเกิดมานั้นก็อยู่ในประวัติศาสตร์มาเป็นเวลานานเพราะมีอาณาจักรต่างๆ เกิดขึ้นแล้วล่มสลายไปอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำโขงอยู่ตลอด แม่น้ำโขงจึงเป็นที่ตั้งของแหล่งอารยะธรรม และในด้านความเชื่อจิตรกรได้อธิบายถึงผลวิจัยของตนว่าศาสนานี่คือ สิ่งแสดงถึงความเป็นปึกแผ่นเป็นสิ่งที่ทำให้คนทั้งลุ่มน้ำโขงเป็นพวกเดียวกันเช่น พระเจ้าองค์ตื้อแม้จะไม่ใช่องค์เดียวกันเพราะมีอยู่หลายองค์แต่ก็เป็นที่เคารพของคนแถบลุ่มน้ำโขงด้วยกันทั้งนั้น ดังนั้นประเพณีความเชื่อทางศาสนาของคนนั้นมันได้เชื่อมโยงคนเข้าหากันและมันได้ไปสลายพรมแดนขวางกั้นอย่างสิ้นเชิง ซึ่งแต่เดิมนั้นมีความเชื่อเดิมว่าแม่น้ำคือการขวางกั้นระหว่างกัน แต่กระบวนทัศน์ใหม่นั้นแม่น้ำคือความเชื่อมโยงไม่ใช่ขวางกั้น กล่าวโดยสรุปคือประเด็นนี้จะบอกว่าแม่น้ำโขงที่กล่าวว่าเป็นแม่น้ำนานาชาตินั้นจริงๆแล้วมันก็ไม่ได้หมายถึงอะไรเลยแค่เพียงเพราะมันไหลผ่านหลายประเทศเท่านั้น และแม่น้ำโขงที่ไหลมาตั้งแต่จีนจนถึงเวียดนามนั้นมันเป็น social space หรือพื้นที่ทางสังคม spiritual space หรือพื้นที่ทางจิตรวิญญาณ และเป็น economy space หรือพื้นที่ทางเศรษฐศาสตร์ในความหมายของยุคปัจจุบัน

2.วาทกรรมแม่น้ำโขง หรือแม่น้ำโขงในฐานะของวาทกรรมที่มีการปรับเปลี่ยนนิยามความหมาย จนกระทั่งคำว่า ”แม่น้ำโขง” ที่เราคุ้นเคยอาจกลายเป็นสิ่งแปลกหน้าสำหรับเราเมื่อมาสู่ยุคโลกาภิวัตน์ จึงสามารถแบ่งแม่น้ำโขงได้เป็น 2 ช่วงคือ ช่วงที่แม่น้ำโขงนั้นยังหมายถึงแม่น้ำโขงที่ไร้พรมแดนไปมาหาสู่กัน เป็นเรื่องของวิธีชีวิต สังคมวัฒนธรรม ศาสนา ความเชื่อ  แต่พอมาถึงปัจจุบันในยุคหนึ่งนั้นแม่น้ำโขงหรือป่าไม้ ลำธาร ภูเขาถูกมองว่าเป็นที่อยู่ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต้องเคารพนับถือ ในยุคต่อมาก็อธิบายว่าแม่น้ำหรือธรรมชาตินั้นคือเรื่องของสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่ที่อยู่ของผีหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกต่อไป ดังนั้นเมื่อความเจริญมันเข้ามาความเชื่อเรื่องผีมันก็ค่อยๆหายไป พอคนเริ่มลงหลักปักฐานคนก็เลยมองว่าธรรมชาตินั้นคือสิ่งแวดล้อม พอในยุคต่อมาหลังจากไทยได้รับเอาแนวคิดการพัฒนามาจากโลกตะวันตกที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อพัฒนาประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม แนวความคิดของเศรษฐกิจสมัยใหม่จึงมองว่าถ้าหากจะพัฒนาประเทศนั้นต้องเปลี่ยนความหมายจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์จากธรรมชาติให้เป็นทรัพยากร ฉะนั้นแม่น้ำโขงจึงกลายเป็นทรัพยากรในความหมายของคนสมัยใหม่เพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศ โดยมี 2 แนวทางคือเกษตรกรรมที่เป็นแนวทางช้า และอุตสาหกรรมที่เป็นแนวทางที่รวดเร็ว เขื่อนจึงเกิดขึ้นมาจากการมองว่าประเทศจะต้องเติบโตอย่างรวดเร็วและทำให้เกิดวาทกรรมเขื่อนขึ้นมา สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มหาอำนาจได้ให้ทุนสร้างเขื่อนและพัฒนาประเทศต่างๆ เพื่อให้ร่วมอุดมการณ์เดียวกันกับตนเพราะในขณะนั้นเกิดการต่อสู้กันของ 2 ขั้วมหาอำนาจ จนที่สุดแล้วเขื่อนก็กลายเป็นเทคโนโลยีแห่งอำนาจซึ่งจิตรกรได้อธิบายถึงเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่า ก่อนหน้านี้คนต้องพึ่งพาธรรมชาติและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดังนั้นจะอยู่หรือตายนั้นจึงเป็นเรื่องของชะตากรรม แต่เมื่อเขื่อนซึ่งเป็นความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเกิดขึ้นมาทำให้สามารถแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ต่างๆ ได้ เทคโนโลยีจึงถูกมองว่าเป็นพระเจ้าองค์ใหม่ที่มาแทนที่พระเจ้าองค์เดิม ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์จึงเป็นอนาคตของคนรุ่นใหม่

3.ยุทธศาสตร์แม่น้ำโขง การแย่งชิงทรัพยากร หรือสงครามแย่งชิงทรัพยากร จิตรกรได้อธิบายว่าเมื่อเกิดสงครามแย่งชิงทรัพยากรมันได้ไปย่อยสลายความหมาย ความคิด ความเชื่อดั้งเดิมที่บอกว่าแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติ ตอนนี้มันได้กลายเป็นแม่น้ำของแต่ละชาติไปแล้ว กว่าครึ่งของแม่น้ำโขงอยู่ในจีนและยังเป็นประเทศต้นน้ำด้วยได้มีการสร้างเขื่อนต่างๆ มากมาย ในส่วนของลาวก็ได้มีการสร้างและมีแผนการที่จะสร้างเขื่อนเพิ่ม และในส่วนของประเทศที่อยู่ใต้ลาวลงไปคือกัมพูชาก็มีเขื่อน แต่ในส่วนของเวียดนามไม่มีเขื่อนใดๆเลย แต่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือน้ำจะขึ้นหรือน้ำจะลดมันขึ้นอยู่กับการจัดการเขื่อนของต้นน้ำ จึงอาจบอกได้ว่าชะตากรรมของคนที่อยู่ใต้เขื่อนจะขึ้นอยู่กับวิธีคิดและการบริหารจัดการของคนที่อยู่เหนือเขื่อน ดังนั้น 6 ประเทศที่เกี่ยวกับเขื่อน หรือ GMS ซึ่งในความเป็นจริงนั้นมีแค่ 5 กับ 1 มณฑลของจีน เพราะจีนไม่ยอมเข้ามาลงนามในพันธะสัญญาของ GMS มีเพียงมณฑลยูนนานซึ่งเทียบเท่ากับ อ.บ.ต. เท่านั้นเองที่มาลงนาม ฉะนั้นการที่จีนส่งมาแค่ระดับ อ.บ.ต. จึงหมายความว่าจีนไม่ได้ต้องการที่จะร่วมลงนามใน GMS เลยแต่แค่เพียงส่งมาสอดแนมว่า 5 ประเทศข้างล่างคุยกันเรื่องอะไรแล้วมารายงานรัฐบาลกลาง ดังนั้นจีนที่เป็นประเทศต้นน้ำและแม่น้ำโขงกว่าครึ่งสายอยู่ในประเทศจึงสามารถทำอะไรก็ได้โดยไม่ต้องสนใจประเทศที่อยู่ด้านล่างตน ซึ่งทุกประเทศต่างก็คิดเหมือนกันเกี่ยวกับแม่น้ำโขงแต่ไม่สามารถทำได้เหมือนกันเพราะขีดความสามารถไม่เท่ากัน จีนมีกำลังคน เงินและทรัพยากรมหาศาล ดังนั้นยุทธศาสตร์แม่น้ำโขงจึงเป็นยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความก้าวหน้าและครอบงำ แต่ละประเทศถ้าคิดจะสร้างเขื่อนก็สร้างได้ทันที แต่ไทยอาจไม่สามารถสร้างได้เลยเพราะไม่มีพื้นที่ส่วนไหนของแม่น้ำโขงเป็นของตนอย่างแท้จริง

4.บทบาทความร่วมมือขององค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งอำนาจนั้นมันมีอยู่ 2 อำนาจคือ อำนาจในรัฐ  อำนาจเหนือรัฐ ในส่วนของไทยจะเป็นอำนาจท้องถิ่นเป็นอำนาจที่เสมือนว่ามันมี ซึ่งทั่วโลกนี้ต่างก็มีกระบวนทัศน์ใหม่ขึ้นมาเพื่อสร้างความเท่าเทียมสร้างความเป็นประชาธิปไตยจึงพูดถึงเรื่องสิทธิ ที่สุดแล้ว GMS ก็ตั้งขึ้นมาแบบไม่จริงจังมารวมตัวอย่างหลวมๆ เพียงเพราะว่าบังเอิญมาอยู่ในพื้นที่บริเวณเดียวกันก็เลยมาทำพันธะสัญญากันอย่างหลวมๆ ที่เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นมาในเชิงทฤษฎีเท่านั้น ในทางปฏิบัติการนั้นมันไม่ได้มีประสิทธิภาพอะไรเลยเพราะมันตั้งจากประเทศที่อ่อนแอและหน่วยงานที่ดำเนินการก็มีสถานะแค่ระดับกรม เวลามีการถกเถียงกันนั้นเป็นการถกเถียงกันในเรื่องโลก เรื่องมหาอำนาจของโลก เรื่องเปลี่ยนขั้วอำนาจของโลก เรื่องจะมาครอบงำแล้วใครจะมาเป็นบริวารถ้าสร้างเขื่อนได้ อเมริกาที่เป็นมหาอำนาจเดิมกำลังถูกท้าทายจากจีน แม่น้ำโขงจึงเป็นฐานการผลิตของมหาอำนาจของโลกเพราะแม่น้ำโขงเป็นทรัพยากร เป็นคน เป็นชะตากรรม ฉะนั้นเวลาเราพูดถึงปากท้องเราพูดถึงชะตากรรมแล้วก็มีทางเลือก 2 ทางคือ จะยอมรับชะตากรรม หรือจะสร้างนวัตกรรมทางสังคมขึ้นมา

จิตรกรได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า โลกจะไร้พรมแดนหรือไม่ไร้พรมแดน สิ่งหนึ่งที่มันปฏิเสธไม่ได้คือแต่ละรัฐมันมีพรมแดนและแม่น้ำโขงก็บังเอิญไปอยู่ในหลักพรมแดนของมหาอำนาจ ถ้าถามถึงหลักประกันสิทธิ ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์นั้นทุกประเทศมีเหมือนกันหมดแต่ใช้กันคนละความหมาย ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่ไม่ได้ประโยชน์จากการสร้างเขื่อนเพราะไม่มีพื้นที่สร้างเขื่อน แม้เราจะตกลงกันว่าจะสร้างกันแต่ประเทศอื่นๆ ก็จะไม่ให้สร้าง กล่าวให้ถึงที่สุดคือประเทศต่างๆ จะยึดเอาผลประโยชน์ของชาติเป็นหลักโดยไม่สนใจหลักการ ประการที่สองคือเรามีทางเลือกอยู่ 2 ทางคือปล่อยให้เป็นชะตากรรม หรือจะสร้างนวัตกรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net