ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์: เราจะสานต่อปณิธานของหิ่งห้อยกันอย่างไร

น้องสาวของ 'มด' วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์  กล่าวเปิดงาน 2 ทศวรรษปากมูน ยกงานเขียน วนิดา ทำความเข้าใจอะไรคือปณิธานของหิ่งห้อย และจะสานต่อปณิธานนั้นได้อย่างไร

 

หมายเหตุ : ประชาไทถอดคำกล่าวเปิดงาน ‘2 ทศวรรษปากมูน’ ครั้งที่ 2 บนเส้นทาง การต่อสู้ของคนหาปลา เพื่อสานต่อ “ปณิธานหิ่งห้อย” ในโอกาสวันหยุดเขื่อนโลก’ เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2558 ที่ ศูนย์ประชุมสาธารณสุขอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งร่วมจัดโดย คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ฝ่ายพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต, WWF ประเทศไทย, มูลนิธิศักยภาพชุมชน, มูลนิธิประชาสังคม จังหวัดอุบลราชธานี, คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน), เครือข่ายสลัม 4 ภาค, ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.), เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.), โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษานานาชาติ ม.ขอนแก่น (Ciee ประเทศไทย), กองทุนตามเจตนารมณ์ วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ และคณะกรรมการชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูชีวิตและชุมชนลุ่มน้ำมูน (ชชช.)

ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ : เราจะสานต่อปณิธานของหิ่งห้อยกันอย่างไร

ถามว่าทำไมผู้จัดเลือกเชิญมาอยู่ตรงนี้ ก็คงจะเพราะเห็นว่าเป็นน้องสาวของพี่มด เราเป็นน้องสาวทั้งทางสายเลือด และทางอุดมการณ์ แม่มดได้ร่วมต่อสู้ พ่อแม่พี่น้องก็คงรู้จักดี ณ วันนี้ก็ปีที่ 8 แล้วที่แม่มดจากลาไป กลับบ้านไปก่อน ซึ่งพวกเราก็เสียดาย นี่ก็เป็นโอกาสที่เรามาพูดถึงแม่มดของเราอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งก็ดีใจที่คนปากมูนยังจดจำ ยังไม่ลืมแม่มด เพราะการที่แม่มดได้อุทิศตนยังเป็นที่จดจำ การจดจำตรงนี้ก็คงเป็นที่มาของเวทีส่วนหนึ่ง ที่มีชื่อว่า 2 ทศวรรษปากมูล บนเส้นทางการต่อสู้ของคนหาปาก เพื่อสืบสานปณิธานหิ่งห้อย ในโอกาสวันหยุดเขื่อนโลก

เมื่อเป็นเจ้าของปณิธานหิ่งห้อย ขอถือโอกาสนี่ไม่ได้โฆษณาหนังสือนะคะ หนังสือนี้พิมพ์เป็นจำนวนมากพอสมควรในช่วงที่มีแม่มดจากไปใหม่ๆ พี่น้องก็รวบรวมจัดทำกันขึ้นมา เพื่อเป็นการเผยแพร่แนวคิดของพี่มด

เวลาเราพูดถึงความเป็นมาของการสร้างเขื่อนปากมูล เรื่องมันยาว ไม่ต้องทบทวนหรอก พ่อแม่พี่น้องทราบดี รู้ซึ้งอยู่ในใจ แต่เมื่อพูดถึงปณิธานหิ่งห้อย ก็อาจจะต้องใช้โอกาสตรงนี้มาทำความเข้าใจที่มาของปณิธานให้ชัดขึ้น อาจจะเป็นวิชาการนิดหนึ่ง แต่ว่าเป็นข้อเขียนของแม่มด น่าที่จะเอามาเป็นกรอบในการพูดคุยกันอีกครั้งหนึ่ง ต้องขออนุญาตตรงนี้เริ่มต้นด้วยเอาข้อเขียนของแม่มดในเรื่อง “เขื่อน สัญลักษณ์ของชัยชนะของมนุษย์เหนือธรรมชาติ หรือตาบาปของมนุษย์บนการทำลายล้างธรรมชาติ” แม่มดเขียนเมื่อธันวาคม 2538 20ปีพอดี แต่ 20ปีที่ผ่านมาเรื่องที่แม่มดเขียนก็ไม่ได้มีอะไรเกิดขึ้น ยังเป็นปัญหา ยังเป็นข้อที่เรายังต้องมาถกเถียงกันว่า ทำไมคนอื่นเขาไม่เข้าใจ 20ปีมาแล้วที่พยายามทำความเข้าใจเรื่องนี้ เราลองมาทบทวนกัน

แม่มดเขียนเป็นช่วงที่ก่อตั้งสมัชชาคนจนขึ้นเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม และก็ร่วมกันออกคำประกาศลำน้ำมูล เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ที่นี่ ห้องประชุมที่ศูนย์นี้แหละเป็นที่เริ่มต้น เป็นที่ก่อตั้งสมัชชาคนจน

"เขื่อน" คอนกรีตขนาดยักษ์ หรือกำแพงดินขนาดใหญ่ที่ตั้งตระหง่านขวางกั้นกระแสน้ำที่เคยไหลเชี่ยว กรากรุนแรง ให้สงบนิ่งไปชั่วนิรันดร์ แม่น้ำสายต่างๆ ที่เคยไหลคดเคี้ยวลดเลี้ยวไปมา ผ่านแผ่นดิน ภูเขา สถานที่ต่างๆ จนเกิดตำนานมากมายในอดีต ได้กลายเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่ขนาดย่อมทั่วไปบนผืนแผ่นดินไทย และตำนานคนหลังเขื่อนก็ได้เข้ามาแทนที่ความทรงจำที่มีต่อเจ้าแม่และเจ้าพ่อ แห่งปากแม่น้ำสายต่างๆ

เมื่อก่อนไม่มีเขื่อน ปลาชุกชุม ต้นไม้ใหญ่หลายคนโอบมีเยอะแยะ แดดส่องไปไม่ถึงเพราะป่าดิบมาก พวกเราหากินอย่างสุขสบาย ไม่มีโจร ไม่มีขโมย พวกที่ลำบากมาจากฝนแล้งและน้ำท่วมจากที่อื่นก็ได้มาพึ่งพาอาศัยที่นี่ ภัยธรรมชาติไม่ทำให้พวกเราลำบากมานานเหมือนสร้างเขื่อนหรอก

ประเทศ ชาติต้องพัฒนา เราจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าเพื่อการพัฒนาเมืองและอุตสาหกรรม พลังน้ำเป็นพลังงานที่สะอาดและราคาถูก เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้พลังงานอื่นๆ ที่ก่อมลพิษ เราจำเป็นต้องสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนกลุ่มเล็กๆ บ้าง แต่เราก็ชดเชยให้เต็มที่ ถ้าไม่มีเขื่อน ชาตินี้ชาวบ้านกลุ่มนี้ก็ไม่ได้จับเงินเยอะแยะหรอก เรื่องธรรมชาติหรือ ถึงไม่มีเขื่อนป่าไม้ก็ถูกทำลายอยู่ดี

เวลาพี่มดเขียน ก็จะเขียนทั้งข้อที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ไปด้วยกัน

การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่คือประกาศนียบัตรรับรองความสามารถที่วิศวกรทุกคนไขว่ คว้าอยากได้ไว้ครอบครอง เพราะหมายถึงความเฉลียวฉลาดเก่งกาจของมนุษย์ตัวเล็กๆ ที่กล้าหาญฟันฝ่าอุปสรรคความยากลำบากต่างๆ นานาในการเอาชนะธรรมชาติ นับตั้งแต่การบุกป่าฝ่าดงเพื่อสำรวจพื้นที่ การคำนวณตัวเลขปริมาณน้ำฝน น้ำท่า และความแปรปรวนของธรรมชาติอย่างแม่นยำในรอบ 100 - 1,000 ปี การออกแบบทางด้านวิศวกรรมที่ยอดเยี่ยมในการหยุดกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวกรากให้ หยุดนิ่ง และความรุนแรงของกระแสน้ำที่ไหลตกกระทบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในการผลิตไฟฟ้าแจก จ่ายทั่วประเทศ รวมถึงความภาคภูมิในการผจญภัยต่างๆ ที่นักสร้างเขื่อนเล่าขานให้ลูกหลานฟัง วิศวกรหรือนักสร้างเขื่อนจะไม่สนใจสิ่งอื่นใดเพราะหัวใจจดจ่ออยู่แต่การ สร้างเขื่อนที่จะต้องทำให้สำเร็จ และบำเหน็จรางวัลมหาศาลเป็นการตอบแทนจากการทำงานหนัก

ภาคอีสานมีทะเลไหม มีสิ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนสิรินธรยังไง...

เวิ้งน้ำที่กว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา ความล้ำลึกที่มิอาจหยั่งคะเนด้วยสายตาได้กับซากไม้แห้งโผล่ระเกะระกะไปทั่ว คือภาพประกอบนิยาย "คนหลังเขื่อน" หรือ "ประชาชนนอก" และเมื่อวันที่ภูเขาจมอยู่ใต้น้ำ ตำนานน้ำท่วมฟ้าปลากินดาวก็เป็นจริง ใต้บาดาลลงไปคือซากบ้านเรือน คันดิน แอก คันไถ หลังคาโบสถ์ พระพุทธรูป ถ้วยโถโอชาม ตุ่ม ไห ที่นำออกไม่ทัน เมื่อ 25 ปีที่แล้ว ไม้ซุงขนาดใหญ่มากมายสุมระเกะระกะอยู่ทั่วไป นี่คือทะเลที่ทำขึ้นจากน้ำมือมนุษย์ ทะเลที่ไม่มีเรือสำเภาแล่นไปมา ไม่มีเรือดำน้ำ ไม่มีปะการัง ไม่มีพื้นทราย หากแต่มีเรือประมงลำเล็กจ้อยลอยอยู่อย่างอ้างว้างเพราะปลาที่เคยมีมากมาย หลังสร้างเขื่อนหมดไปนานแล้ว ทะเลสาบน้ำจืดที่ไม่มีทางติดต่อกับมหาสมุทรใดๆ ในโลก ทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่แต่ผู้คนรอบอ่างเก็บน้ำต้องอดน้ำ ไม่มีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยือนเพราะความสกปรกของน้ำที่ขังนิ่งกับอันตราย ที่จะเกิดจากการเล่นน้ำที่ลึกเท่ากับความสูงของภูเขา

ไกลออกไปในเมืองใหญ่ ที่กลางคืนไม่ต่างจากกลางวัน แสงไฟเจิดจ้าตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งเสียงเพลงบรรเลง อาหารในตู้เย็น แอร์คอนดิชันเย็นฉ่ำตลอดเวลา ห้างสรรพสินค้าบางแห่งเปิดตลอด 24 ชั่วโมงให้จับจ่ายใช้สอยกันเต็มที่ เครื่องจักรโรงงานอุตสาหกรรมเดินเครื่อง 24 ชั่วโมงเพื่อลดต้นทุนค่ากระแสไฟ (แต่มิใช่การประหยัดไฟ) คนงานหมุนเวียนเข้ากะจนเวียนหัวว่าควรจะนอนเวลาไหน ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติถูกใช้อย่างฟุ่มเฟือยเพื่อแลกกับความหรูหราสะดวก สบายของคนบางคน แต่คนส่วนใหญ่กลับมีสภาพชีวิตที่แร้นแค้น ผู้คนที่ถูกอพยพออกจากเขื่อน ปัจจุบันคือคนงานก่อสร้างที่ระเหเร่ร่อนไปทั่ว คือยายแก่ขอทาน คือพนักงานเสิร์ฟอาหารที่หมิ่นเหม่กับการเป็นโสเภณี คือคนงานที่ถูกปลดระวางเพราะเจ็บป่วยจากสารพิษ หรืออายุมาก

ถ้าพวกเราจะรักษาป่าก็ถูกนายทุนทำไม้ยิงตาย ถ้าพวกเรารักษาไม่ได้ก็ถูกขับไล่ออกจากป่า..." คำพูดที่ฟังแล้วสะเทือนใจของ ชาวบ้านปกากญอ หมู่บ้านปูแป้ อ.แม่สอด จ.ตาก หมู่บ้านที่จะถูกโครงการสร้างเขื่อนแม่ละเมาและอุทยานตากสินมหาราชประกาศ ทับที่ ขับไล่ออกจากที่อยู่ที่ทำกินมาหลายชั่วอายุคน ไม่ว่าจะสร้างเขื่อนหรือการประกาศเขตอุทยานทับที่ชาวบ้าน รัฐล้วนมีคาถาเดียวในการจัดการชาวบ้านให้อยู่เป็นที่เป็นทางสำหรับโครงการ ต่างๆ คือคาถาว่าด้วย "รัฐจะสร้างเขื่อนดีกว่าปล่อยให้ชาวบ้านทำลายป่า..." "ชาวบ้านอยู่กับป่าไม่ได้" (ยกเว้นนายทุนทำไม้)

พวกเราอยู่กันมาหลายร้อยปีจนที่นี่ประกาศเป็นมรดกโลก ถ้าพวกเราทำลายป่าจะมีป่าเหลือทุกวันนี้หรือ แทนที่พวกท่านจะไปทำลายโรงเลื่อยต่างๆ กลับมาย้ายพวกเรา..." ชาวกะเหรี่ยงแห่งทุ่งใหญ่นเรศวรระบายความขมขื่นในใจ

ผลพวงแห่งการพัฒนาคือการนำทรัพยากรต่างๆ มาใช้อย่างฟุ่มเฟือย และเอารัดเอาเปรียบมนุษย์ด้วยกันเอง การตอบโต้ของธรรมชาติที่ปรากฏเป็นข่าวใหญ่ในที่ต่างๆ ทั่วโลกในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ยังไม่เพียงพอที่จะแสดงให้เห็นหรอกหรือว่าภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจากน้ำมือ มนุษย์ในการกระทำต่อธรรมชาตินั้นใกล้เข้ามาแล้ว และเมื่อนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบันยังไม่มีเขื่อนใดสร้างแล้วคุ้มค่า แม้แต่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาผู้เป็นประเทศแม่แบบในการประดิษฐ์เขื่อนแจกจ่ายไป ทั่วโลกก็ประกาศทุบเขื่อนขนาดใหญ่ทิ้งในปีนี้ เพื่อหวังว่าความสมบูรณ์ตามธรรมชาติและพันธุ์ปลาทั้งหลายจะได้กลับคืนมาอีก จะสำเร็จหรือไม่อนาคตคือคำตอบ แต่ที่แน่ๆ บรรดารัฐบาลของประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลายก็ยังก้มหน้าก้มตาเดินตามรอยเดิม ที่ผิดพลาด โดยมิได้สนใจเส้นทางสายใหม่ๆ เลย เพราะเส้นทางเก่ายังหอมหวลด้วยเงินตรา และยังเป็นหลักประกันของความมั่นคงของลัทธิเผด็จการได้อยู่ ในอนาคตเมื่อโลกต้องประสบภัยพิบัติมากกว่านี้ ประวัติศาสตร์ในเวลานั้นคงจะต้องจารึกว่าเขื่อนต่างๆ คือหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของมนุษย์ต่อธรรมชาติ ในอดีต และตำนานความภาคภูมิใจของนักสร้างเขื่อนคงค่อยลบเลือนไปในที่สุด

ทรัพยากรธรรมชาติทั้งมวลมีเพียงพอให้มนุษย์ทุกคนใช้ตามความจำเป็น แต่ไม่เพียงพอสำหรับความโลภของมนุษย์แม้แต่คนเดียว" คำกล่าวอมตะของมหาบุรุษที่ยิ่งใหญ่ มหาตมะ คานธี ที่จนถึงบัดนี้มีผู้คนเพียงจำนวนน้อยเท่านั้นที่เข้าใจในสัจธรรมข้อนี้

พี่มดพูดถึง มหาตมะ คานธี พ่อแม่พี่น้องรู้จักไหมคะ เขาเป็นนักต่อสู้สันติวิธี ที่ทั่วโลกยกย่อง เขาเป็นคนอินเดียที่ต่อสู้จนอินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษ ด้วยการต่อสู้อย่างสันติ เมื่อไม่กี่วันก่อนมีปาฐกถา ในโอกาสครบรอบ 99 ปี ของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากร อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เป็นองค์ปาฐก ซึ่งเป็นปาฐกถาที่มีการจัดขึ้นทุกปี ปีนี้อาจารย์ชัยวัฒน์พูดเรื่อง พิศ(ษ) ผู้หญิงในชีวิตของนักสันติวิธี สิ่งที่อาจารย์ชัยวัฒน์พูดถึงคือ ตัวอย่างของผู้หญิงที่ลุกขึ้นต่อสู้อย่างสันติวิธี ต่อสู้กับสงครามตัวอย่างในต่างประเทศ ต่อสู้กับโครงการของรัฐ ขนาดใหญ่อย่างพี่มด อย่างวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ 1 ใน 4 คนที่อาจารย์ชัยวัฒน์หยิบยกขึ้นมาพูด เล่าถึงประวัติการต่อสู้ของพี่หมดแล้วก็บอกว่าพี่มดเป็น คานธี หญิง ในประเทศไทย และอาจารย์ก็ได้พูดถึงพี่มด ที่น่าสนใจคือ ชี้ให้การต้อสู้ด้วยสันติวิธี เพราะการต่อสู้เรื่องเขื่อน ณ วันนี้ 28 ปี แล้วนะ เราก็ต้องสู้ต่อไป ทำไมเราต้องสู้นานขนาดนี้ พี่หมดบอกว่ามีนมีหลักการต่อสู้ ที่จะต้องหยึดถึง หลักที่ว่านี่ก็คือ

วนิดาเห็นว่า กระบสนการประชาชนที่มุ่งต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม ควรยึดแนวทาง 3 ประการคือ 1.แนวทางของสัจจะ คือการยึดถือความจริง และยืนยัดเสนอข้อเท็จจริงอย่างไม่ย่อท้อ แม้ว่าจะต้องนานเท่าใดก็ตามกว่าจะได้รับการยอมรับ  กระบวนการต่อสู้ที่ยาวนาน อดทน และยึดแบบแนวทางสันติ วันหนึ่งจะต้องมีชัยชนะแน่นอน 2.แนวทางของการอหิงสา การไม่เบียดเบียน การไม่ทำร้ายผู้อื่น ด้วยความเชื่อมั่นว่าการเปลี่ยนแปลงใดๆต้องใช้แนวทางของสันติวิธีเท่านั้นจึงจะบรรลุสังคมที่สงบสุขอย่างแท้จริง 3.แนวทางแห่งตบะ หรือความอดทน เพราะการเปลี่ยนแปลงใดๆ อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นจากเจตจำนงค์ของผู้หนึ่งผู้ใด แต่อาจจะสอดคล้องกลมกลืนกับอัตวิสัย และภาวะวิสัย คือเมื่อถึงเวลาหนึ่งเมื่อมันถึงความพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงมันก็จะเกิดขึ้นอย่างพลิกผันในบัดดล แต่ต้องพร้อม ต้องมีความอดทน ต้องมีตบะ เพราะมันเป็นอาวุธสำคัญของขบวนการประชาชน ในการเปร่งศักยภาพของขบวนการประชาชน สร้างพลังในการต่อสู้สร้างอำนาจในการต่อรอง

แนวทางสามอย่างนี้ฉันเชื่อว่า วันหนึ่งความสำเร็จก็จะเกิดขึ้น อาจจะไม่ใช่รุ่นพ่อแม่พี่น้อง อาจจะเป็นรุ่นลูกรุ่นหลาน ก็ยังดีนะ แต่ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย มันก็จะไม่เกิดขึ้นไม่ว่าจะรุ่นไหน

ขอจบท้ายเพื่อเป็นการรำลึกถึงปณิธานหิ่งห้อย ด้วยการอ่านข้อเขียนของพี่มด

ฉันคือหิ่งห้อย
ฉันจะเรืองแสงในยามที่ทุกสิ่งมืดมิด
ฉันจะบินว่อนฉวัดเฉวียน เฝ้าดูความเป็นไปของสรรพสิ่งอย่างเงียบสงบ
ฉันจะมีอุเบกขา ในสิ่งที่พบเห็น จะไม่ยินดีหรือยินร้าย ต่อทุกข์โศกหรือรื่นรมย์
ฉันภาวนาขอให้ผู้คนที่ทนทุกข์ และตัวฉันได้หลุดพ้นจากโซ่ตรวนของกิเลสและเคราะห์กรรม
ฉันภาวนาให้พ่อแม่ พี่น้องของฉัน หลานของฉัน ... เป็นเช่นหิ่งห้อย
เรืองแสงร่วมกันบนหนทางธรรม
ฉันจะร่วมกับหิ่งห้อยนับล้านล้าน ทอแสง สร้างขวัญ ขึ้นแทนหมู่ดาว
คราเมื่อพระอาทิตย์ส่องแสงพราว หิ่งห้อยน้อยค่อยจากจร...

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท