Skip to main content
sharethis

เปิดห้องเรียนศึกษาบทเรียนกระบวนการสันติภาพพม่า โดย “คืนใส ใจเย็น” ผอ.สถาบันปีดองซูเพื่อสันติภาพและการเจรจา และผู้ก่อตั้งสำนักข่าว S.H.A.N. เผยสารพันปัญหาของการเจรจาหยุดยิง ผุดคำพูดสวยหรูแต่ไม่ทำตามสัญญา บทบาทองค์กรชุมชนที่มากขึ้นแต่ไม่ไว้ใจกัน ชี้ทางออกยังมี พร้อมย้ำ “คนที่จะสร้างสันติภาพต้องมีสันติในตัวเอง”


คืนใส ใจเย็น

นายคืนใส ใจเย็น ผู้อำนวยการสถาบันปีดองซูเพื่อสันติภาพและการเจรจา และผู้ก่อตั้งสำนักข่าว S.H.A.N. นำเสวนาเรื่อง “Peace Process in Burma/Myanmar 2014” เมื่อวันเสาร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2558 ที่คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.ปัตตานี) ในห้องเรียนหลักสูตรความขัดแย้งในระยะเปลี่ยนผ่าน ของวิทยาลัยประชาชน

กำเนิดสหภาพพม่าและการสู้รบที่ยาวนาน
นายคืนใส กล่าวว่า สหภาพพม่าเกิดขึ้นในปี ค.ศ.1948 หลังจากลงนามในสนธิสัญญาปางโหลง  (Palong Agreement) ในรัฐฉาน เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 1948 ซึ่งเป็นที่มาของการได้รับเอกราชจากอังกฤษ และมีข้อตกลงระหว่างตัวแทนชาวพม่าแท้ๆ กับสภาผู้นำร่วมสหพันธรัฐเทือกเขาที่สำคัญๆ คือ

1.ให้ตัวแทนของชาติพันธุ์ต่างๆ มาเป็นรัฐมนตรีเฉพาะกาลเพื่อดูแลชายแดน 2.ให้พื้นที่แก่คะฉิ่นเพิ่มขึ้น 3.ต้องมีสิทธิปกครองตนเองอย่างสมบูรณ์ ยกเว้นกิจการต่างประเทศและกลาโหมที่ต้องร่วมกันรับผิดชอบ 4.ต้องมีประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน 5.ต้องมีสิทธิจัดการคลังด้วยตนเอง

นายคืนใส กล่าวต่อไปว่า แต่หลังจากลงนามผ่านไปเพียง 3 เดือนก็เกิดการสู้รบกันขึ้นระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ กับรัฐบาลพม่า เพราะรัฐบาลพม่าไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงที่เคยวางไว้ และพยายามจะคุมอำนาจเหนือรัฐต่างๆ รวมถึงรัฐที่ไม่ได้เข้าร่วมเจรจาในสัญญาปางโหลงด้วย

“ดังนั้น สันติภาพในพม่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลพม่าจะปฏิบัติตามสนธิสัญญาปางโหลงมากน้อยแค่ไหน” นายคืนใส กล่าว

นายคืนใส กล่าวต่อไปว่า ช่วงแรกๆ มีพรรคคอมมิวนิสต์พม่าสู้รบกับรัฐบาลพม่า แต่ปัจจุบันเรียกได้ว่าไม่มีรัฐไหนที่ไม่สู้รบกับรัฐบาลพม่า ซึ่งการที่รัฐต่างๆ สู้รบกับรัฐบาลพม่าก็เพื่อต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญของประเทศพม่า เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้ร่างตามที่สนธิสัญญาปางโหลง

วาทกรรมสวยหรู “แลกอาวุธกับสันติภาพ”
นายคืนใส กล่าวว่า ในปี 1962 ทหารยึดอำนาจประเทศอย่างเบ็ดเสร็จ และในปีต่อมา นายพลเน วิน เรียกร้องให้ทุกฝ่ายเจรจา และขอให้มอบตัวโดยใช้คำพูดที่สวยหรูว่าแลกอาวุธกับสันติภาพ แต่การเจรจาก็ล้มเหลว เพราะมีเพียงสองกลุ่มเท่านั้นที่ตอบสนองข้อเรียกร้องดังกล่าว

นายคืนใส อธิบายต่อไปว่า ในปี 1989 มีการเจรจาอีกแบบ โดยรัฐบาลทหารพม่าบอกว่าให้หยุดยิงก่อนเพื่อให้สามารถพัฒนาในด้านต่างๆ ได้ ส่วนการเจรจาเอาไว้ก่อน เพื่อรอเจรจากับรัฐบาลพลเรือนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

“ต่อมาในปี 2010 มีการเลือกตั้งจริง โดยพรรคของทหารโกงการเลือกตั้งจนชนะกว่า 60% เต็ง เส่งได้รับมติจากรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของประเทศพม่า และเป็นประธานาธิบดีพลเรือนคนแรกภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร”

การเจรจาหยุดยิงครั้งใหม่
นายคืนใส กล่าวว่า ปี 2011 เต็ง เส่ง เรียกร้องให้ชาวพม่าที่หนีไปอยู่ต่างประเทศให้กลับมาช่วยพัฒนาประเทศ โดยรัฐบาลจะไม่เอาผิดใดๆ ยกเว้นผู้ที่มีคดีอาชญากรรมติดตัว และเรียกร้องให้กองกำลังติดอาวุธมาลงนามสัญญาหยุดยิง โดยกลุ่มที่รัฐบาลพม่ายอมรับมีทั้งหมด 16 กลุ่ม เข้ามาลงนามสัญญาพูดคุยหยุดยิงแล้ว 14 กลุ่ม โดยบางกลุ่มระบุว่า ความจริงไม่ต้องมีการเจรจาใดๆ เพียงแค่รัฐบาลพม่าปฏิบัติตามสนธิสัญญาเก่าก็พอ แต่รัฐบาลพม่าก็ยังไม่ยอมเอ่ยถึงสนธิสัญญาเก่า

นายคืนใส กล่าวอีกว่า รัฐบาลพม่ากำหนดหลักการหรือแนวทางในการปฏิบัติของฝ่ายต่างๆ คือ 1. ต้องอยู่ในสหภาพตลอดไป 2.ต้องไม่สร้างความแตกแยกในสหภาพพม่า ความเป็นเอกภาพแห่งชาติ และความยั่งยืนของอำนาจอธิปไตย 3.ต้องให้ความร่วมมือกับรัฐในการพัฒนาเศรษฐกิจ

4.ร่วมมือในการปราบปรามยาเสพติด 5.ร่วมมือในการจัดตั้งพรรคการเมืองลงเลือกตั้ง 6.ต้องยอมในรัฐธรรมนูญปี 2008 หากต้องการแก้ไขจะต้องดำเนินการในสภาเท่านั้น 7.ต้องยอมรับกฎหมายที่ใช้อยู่ และ 8.จะต้องมีประเทศเดียว กองทัพเดียว

“เสียงตอบรับจากกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่คือ ข้อ 1-4 ไม่มีปัญหา เพราะผู้ที่สร้างความแตกแยกคือรัฐบาลทหารพม่าไม่ใช่กลุ่มชาติพันธุ์ ส่วนข้อ 6-7 มีปัญหา เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้ร่างตามสนธิสัญญาเก่า และข้อ 8 จะยอมรับได้ก็ต่อเมื่อรัฐบาลพม่าอธิบายว่ากองทัพเดียวนั้นมีลักษณะอย่างไร”

“การเจรจามีอยู่ 3 ขั้นตอน คือ 1.เจรจาหยุดยิงทั่วประเทศ 2.เจรจาโดยใช้กรอบเจรจาทางการเมือง 3.เจรจาทางการเมือง โดยที่มีเสียงจากบางกลุ่มว่าทำไมต้องรอให้หยุดยิงทั่วประเทศด้วย ในเมื่อเราลงนามมาหลายปีแล้ว”

ตัวแสดงสำคัญในกระบวนการสันติภาพพม่า
นายคืนใส กล่าวว่า ตัวแสดงหลักในกระบวนการสันติภาพพม่า ประกอบด้วยสองฝ่ายคือ คณะกรรมการทำงานสร้างสันติภาพแห่งสหภาพ (UPWC) และคณะประสานงานหยุดยิงแห่งชาติ (NCCT) โดย UPWC ประกอบด้วย 1.ประธานาธิบดี 2.รองประธานาธิบดี 2 คน 3.ประธานสภาบน 4.ประธานสภาล่าง 5. ผู้บัญชาการทหารสูงสุง 6.รัฐมนตรีกลาโหม 7.รัฐมนตรีมหาดไทย 8.รัฐมนตรีชายแดน 9.อัยการสูงสุด 10.เลขานุการประธานธิบดี ส่วน NCCT ประกอบด้วย เลขาธิการพรรคมอญใหม่ เลขาธิการสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงเคเอ็นยู และตัวแทนองค์กรเพื่อเอกราชคะฉิ่น

นายคืนใส กล่าวต่อไปว่า กระบวนการสันติภาพครั้งนี้มีผู้สังเกตการณ์จากจีนและสหประชาชาติ โดย บันคีมุน เลขาธิการสหประชาชาติเคยกล่าวว่าหากการหยุดยิงสำเร็จเมื่อไหร่ เขาจะมาในวันลงนามด้วยตัวเอง

นอกจากนั้นในปี 2013 เกิดองค์กรประสานงานกว่า 65 องค์กรทั่วประเทศ เพื่อรับข้อร้องเรียนต่างๆ เช่น เมื่อทหารพม่าเข้าโจมตีชนกลุ่มน้อย องค์การเหล่านี้จะเข้าไปตรวจสอบว่าทหารพม่าไปยิงทำไม เป็นต้น

นายคืนใส กล่าวอีกว่า  นอกจากนั้นบทบาทขององค์กรชุมชนหรือองค์กรเอกชน (เอ็นจีโอ) ก็เพิ่มมากขึ้น โดยมีการจัดกิจกรรมมากขึ้น และเรียกร้องที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ แต่เมื่อเอ็นจีโอมีมากขึ้นก็มีปัญหาเช่นกัน เพราะมีทั้งเอ็นจีโอที่รัฐจัดตั้ง หรือที่กลุ่มชาติพันธุ์จัดตั้ง หรือที่เป็นกลางจริงๆ โดยไปเรียนรู้กระบวนสันติภาพในต่างประเทศเพื่อมาปรับใช้ แต่บางครั้งก็แยกลำบากว่าเอ็นจีโอกลุ่มไหนที่เป็นกลาง

“คนที่จะสร้างสันติภาพต้องมีสันติในตัวเอง”
นายคืนใส กล่าวว่า อุปสรรคในการเจรจาก็คือ การไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน แม้แต่ภายในรัฐบาลพม่าเอง หรือภายในกลุ่มชาติพันธุ์เองก็เริ่มไม่ไว้ใจกัน ที่สำคัญคือไม่มีประสบการณ์ในการเจรจา บางคนอาจนึกว่าการเจรจาคือการโต้วาทีหรือต้องพูดแบบพ่อค้าขายของ นอกจากนั้นยังมีเรื่องของผลประโยชน์ต่างๆ ด้วย

นายคืนใส กล่าวว่า ที่สำคัญสำหรับชนกลุ่มน้อยการเจรจาจะคิดทางเดียวไม่ได้ บางทีก็จำเป็นที่จะต้องใช้อาวุธเพื่อทำการต่อรองในเงื่อนไขบางประการ เพราะบางครั้งการที่รัฐบาลเลือกเข้าสู่เวทีเจรจรเขาอาจมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าการตกลงด้วยการเจรจาก็เป็นได้ และหากไม่มีกิจกรรมทางอาวุธ สิ่งที่อาจเกิดขึ้นคือชนกลุ่มน้อยโดนปราบปรามจนหมดหรือไม่ได้รับความสนใจใดๆ เลยจากรัฐบาล

“แต่ไม่ว่าจะอย่างไร คนที่จะสร้างสันติภาพได้จะต้องมีสันติในตัวเองเสียก่อน เพราะคนที่ร้อนใจจะไม่สามารถสร้างสันติภาพได้” นายคืนใส กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net