Skip to main content
sharethis

ถ้อยแถลงปิดคดีถอดถอนอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ฐานปล่อยให้เกิดการทุจริต ‘จำนำข้าว’ วิชา ซัด ผิดทุกกรณี พร้อมเผยว่า ป.ป.ช. ต้องส่งเสริมคนดีปกครองบ้านเมือง ด้านยิ่งลักษณ์ชี้ ป.ป.ช. ไร้อำนาจถอดถอน

 

22 ม.ค. 2558 ที่รัฐสภา ได้มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) โดยเป็นการประชุมเพื่อพิจารณาดำเนินกระบวนการถอดถอนยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง ฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ปล่อยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว มีพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม

ในขั้นแรก วิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงปิดคดีแจ้งข้อกล่าวหาและชี้แจงเหตุผลการถอดถอนว่า ยิ่งลักษณ์ มีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และส่อว่าจงใจใช้อำนาหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย พ.ร.บ.ระเบียบบริหาราชการแผ่นดิน 2534 ที่ปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าว ทั้งที่ทราบถึงปัญหาและการทุจริต แต่ยังเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งการถอดถอนเป็นไปตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ประกอบมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542     

ทั้งนี้ที่ผ่านมา ป.ป.ช. เคยตรวจสอบโครงการดังกล่าวพบว่า มีการทุจริตเกิดขึ้นจึงได้ท้วงติงถึง 2 ครั้งแต่กลับนิ่งเฉย โดยอ้างสัญญาประชาคมว่า ไม่สามารถเลิกได้ จนทำให้เกิดความเสียหายขาดทุนกว่า 5 แสนล้านบาท ซึ่งมีผู้กระทำผิดจำนวนมาก โดยมีข้าราชการระดับสูง และบริษัทที่ค้าข้าวเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอย่างไรก็ตามยืนยัน ป.ป.ช. ไม่ได้เร่งรัดคดีโครงการรับจำนำข้าว หรือ 2 มาตรฐานตามที่มีการกล่าวหา แต่ถ้ายังเดินหน้าโครงนี้ต่อไปจะส่งผลกระทบต่อวินัยการเงิน การคลัง ของประเทศ ที่ขาดทุนแล้วต้องหาเงินจากที่ต่างๆ มาชดเชยในโครงการนี้ และส่งผลกระทบต่อชีวิตชาวนาโดยตรงที่เข้าร่วมโครงการนี้แล้วไม่ได้รับเงิน จนทำให้ชาวนาตัดสินใจฆ่าตัวตาย

คณะกรรมการป.ป.ช.เห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดในทุกๆ ด้าน จากโครงการที่เป็นการทุจริตเชิงนโยบาย ดังนั้น ป.ป.ช.เห็นว่าเรื่องคุณธรรม จริยธรรมเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในแผ่นดิน จึงจำเป็นต้องทำให้คนดี และส่งเสริมคนดีให้ปกครองบ้านเมือง ตามพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ด้านยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แถลงปิดคดีคัดค้านโต้แย้งคำแถลงปิดสำนวนถอดถอนของ ป.ป.ช. ด้วยตนเอง กรณีไม่ระงับยับยั้งให้เกิดความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว โดยปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช. และระบุว่า ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจชี้มูลถอดถอน เพราะรัฐธรรมนูญ 2550 ได้สิ้นสุดแล้ว ขณะที่พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ไม่สามารถบังคับใช้โดยลำพังได้

นอกจากนี้การกระทำของ ป.ป.ช. ยังเป็นการชี้มูลเพื่อถอดถอนตนแบบซ้ำซ้อน  ทั้งที่ตนสิ้นสุดตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แล้วตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ส่วนเรื่องเวลาตรวจสอบนั้น ยืนยันว่า ป.ป.ช.ใช้เวลาตรวจสอบ เพียง 21 วัน ตามคำสั่ง ป.ป.ช. ที่เพิ่งมีการตั้งคณะกรรมการไต่สวน โดยมีวิชา เป็นประธาน และหลังจากนั้นได้ส่งหนังสือมาหาตน จึงถือว่ามีการเริ่มกระบวนการในวันที่ 28 ม.ค. 2557 และให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา วันที่ 19 ก.พ. 2257 และใช้เวลา อีก 101 วันในการสรุปสำนวนคดีของตน ซึ่งหลายสำนวนคดีก็ไม่ปรากฏ

นอกจากนี้ ตนยังเสนอพยานบุคคลไป 18 ราย ไม่ใช่พยานตามที่ วิชา กล่าวหา เช่นโอฬาร ไชยประวัติ ที่จะมาหักล้างกับข้อวิจารณ์ของ ทีดีอาร์ไอ และพยานอีกหลายคน ที่จะมาหักล้างในประเด็นความเหมาะสมของนโยบาย แต่ ป.ป.ช.กลับรับฟังแค่ 6 คน ถือเป็นการปิดกั้นโอกาสอย่างมาก ดังนั้น สนช.จะเชื่อถือสำนวน ป.ป.ช.ได้อย่างไร

ทั้งนี้ ป.ป.ช.ยังใช้พยานที่เป็นปฏิปักษ์ทางการเมืองโดยตรงกับรัฐบาล เช่น อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายเเพทย์ วรงค์ เดชกิจวิกรม ที่เป็นฝ่ายค้าน รวมถึงระวี รุ่งเรือง ที่เป็นชาวนา ร่วมกับ กปปส. ที่ออกมาขับไล่ตน และเพิ่งทำนาเช่าเมื่อปี 2549

ส่วนเรื่องวินัยการคลัง ยืนยันว่า โครงการดังกล่าวใช้เงิน แต่ 5% ของงบประมาณแผ่นดิน แต่ดูแลเกษตรกรชาวนาทั้งประเทศ และ ไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาทางการคลังแต่อย่างใด แต่กลับทำให้ชีวิตคนจำนวนมากดีขึ้น การดูแลประชาชนไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะช่วงที่รัฐบาลดำรงตำแหน่งมีภาวะเศรษฐกิจที่ดี นอกจากนี้ยืนยันว่ารัฐบาลมีการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแล้ว ส่วนข้อกล่าวหาเรื่องการบิดเบือนกลไกตลาดนั้น ยืนยันว่าข้าวในมือเอกชนก็มีกว่า 50% จึงไม่ถือเป็นการผูกขาด ยืนยันโครงการดังกล่าวไม่ใช่การผูกขาดค้าข้าว แต่ทำให้ระบบหมุนเวียนข้าวในโลกมีเสถียรภาพมากขึ้น

อีกทั้งการตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี ยังเป็นการริดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของตนด้วย พร้อมยืนยันว่า การบริหารประเทศของรัฐบาลในขณะนั้น เป็นไปโดยสุจริต โปร่งใส เที่ยงธรรม และยึดหลักรัฐธรรมนูญ และขอย้ำว่า สิ่งที่วิชา ได้แถลงปิดคดีไปนั้นไม่เป็นความจริง และเป็นการชี้นำสังคม โดยเฉพาะกล่าวหาตนที่ปล่อยให้ข้าวหายในปี 2555 และกรณีการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐที่ชี้มูล บุญทรง เตริยาภิรมย์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  แต่ ป.ป.ช. กลับนำมาปะปน ทั้งที่ไม่เกี่ยวข้อง กับคดีถอดถอนตน 

ทั้งนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติจะลงมติถอดถอนหรือไม่ ในวันศุกร์ที่ 23 ม.ค. นี้  เวลา 10.00 น.  ซึ่งมี  3 กรณีคือนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา จากกรณีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการแก้รัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว. จากนั้น จะเป็นการลงมติถอดถอนหรือไม่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี คดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว  โดยจะใช้เสียง 3 ใน 5 ของสมาชิกที่มีอยู่ หรือ 132 เสียง ซึ่งผู้ถูกถอดถอนจะถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี

 

เรียบเรียงจาก : เว็บข่าวรัฐสภา , มติชนออนไลน์ ,

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net