Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 


การที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชายืนยันว่ายึดอำนาจรัฐเพื่อสร้าง “ประชาธิปไตยสมบูรณ์” และบอกว่าตนเอง “ไม่ใช่เผด็จการ” แสดงว่าพลเอกประยุทธ์ยอมรับ หรือไม่สามารถปฏิเสธประชาธิปไตยได้ จึงจำเป็นต้องอ้างประชาธิปไตยเพื่อให้ความชอบธรรมกับการยึดอำนาจของตนเอง ในขณะเดียวกันก็ดูเหมือนพลเอกประยุทธ์ก็ไม่ชอบ หรือไม่มีความสุขที่จะถูกสังคมรับรู้และจดจำว่าตัวเองเป็น “เผด็จการ” ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

แต่ปัญหาในทางตรรกะและการปฏิบัติคือ ในเมื่อ “วิถี” (means) ไม่เป็นประชาธิปไตยมันจะนำไปสู่ “จุดหมาย” (end) ที่เป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร และขณะที่ถูกเรียกร้องให้เคารพเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนในเรื่องราคายาง พลังงาน สิ่งแวดล้อม สิทธิในที่ทำกิน การไม่เอารัฐประหาร เสรีภาพทางวิชาการ ฯลฯ แต่พลเอกประยุทธ์ก็ยังยืนยันจะใช้กฎอัยการศึกปิดกั้นเสรีภาพดังกล่าวต่อไป และดำรงอำนาจกำหนดวิถีการปฏิรูปในสถานการณ์ที่ไม่เป็นประชาธิปไตยต่อไป เมื่อความจริงเป็นเช่นนี้ การบอกว่าตนเองไม่ใช่เผด็จการ จึงไม่ make sense แต่อย่างใด เพราะคำพูดกับการกระทำตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง

นอกจากนี้พลเอกประยุทธ์ยัง “เตือน” สื่อมวลชนแทบทุกวันว่า “เสนอข่าวต้องเสนอข้อเท็จจริง อย่ากล่าวหา ใส่ร้ายคนอื่นลอยๆ หรือเขียนอะไรให้เกิดความแตกแยก” แต่แม่ทัพภาคที่ 1 กลับออกมาให้สัมภาษณ์สื่อกล่าวหาว่านักศึกษากลุ่มดาวดินรับเงินจากนักการเมืองท้องถิ่น 50,000 บาท เป็นค่าจ้างมาชู 3 นิ้วประท้วงนายกฯ โดยไม่แสดงพยานหลักฐานที่ชัดเจนแต่อย่างใด นี่ไม่ใช่การกล่าวหาคนอื่นลอยๆ ที่ขัดแย้งกับคำเตือนสื่อของนายกฯ หรอกหรือ ยิ่งกว่านั้น แม่ทัพภาคที่ 1 ยังกล่าวว่า “กฎอัยการศึกไม่ได้เป็นอันตรายต่อคนดี” ซึ่งไม่ทราบว่านิยาม “คนดี” มีความหมายอย่างไร

จากตัวอย่างที่ยกมา(เป็นต้น) จะเห็นว่าปัญหาพื้นฐานเลยคือ ความคิดเกี่ยวกับ “เผด็จการ คนดี และประชาธิปไตย” ของทหารอาจไม่ตรงกับมุมมองของประชาชนอีกจำนวนมาก และ/หรือไม่สอดคล้องกับหลักวิชาการตามที่ศึกษากันในโลกสมัยใหม่

เช่นที่พลเอกประยุทธ์พูดว่าตนเองไม่ใช่เผด็จการ แต่วิถีของการเข้าสู่อำนาจ วิถีการบิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความเห็น เสรีภาพทางวิชาการ การแสดงออกทางการเมือง คือวิถีที่ตามหลักวิชาการเรียกว่าเป็น “วิถีเผด็จการ”

ส่วนประชาธิปไตยที่พลเอกประยุทธ์พูดบ่อยๆ คือ “ประชาธิปไตยแบบไทย” แต่ประชาธิปไตยแบบไทยหรือประชาธิปไตยที่สร้างขึ้นในประเทศไทยจริงๆ นั้นคืออะไรหรือ ก็คือประชาธิปไตยที่เริ่มก่อร่างขึ้นในการปฏิวัติสยาม 2475 แล้วก็เผชิญอุปสรรคจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมเรื่อยมา จนตกอยู่ภายใต้เผด็จการทหาร เป็นเวลายาวนาน แล้วจึงเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาต่อเนื่องด้วยเหตุการณ์ 6 ตุลา ที่นักศึกษาและประชาชนเสียสละชีวิตเลือดเนื้อเพื่อให้ได้ประชาธิปไตย แต่ก็ถูกฝ่ายอนุรักษ์นิยมไม่ยอมให้ประชาธิปไตย “เต็มใบ” จึงเกิดความขัดแย้งมาเรื่อยๆ จนเกิดเหตุการณ์พฤษภา 35 และ 53 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งทั้งหมดนั้นอาจกล่าวรวมๆ ได้ว่า เป็นความพยายามต่อสู้ของนักศึกษาและประชาชนในยุคสมัยต่างๆ เพื่อให้สังคมไทยมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

ฉะนั้น ประชาธิปไตยแบบไทย หรือพูดให้ชัดว่า ถ้าในความเป็นไทยหรือในสังคมไทยมี “ความเป็นประชาธิปไตย” มันย่อมมีขึ้นมาได้จากการปฏิวัติสยาม 2475 และพัฒนาต่อเนื่องมาได้จากการเสียสละต่อสู้ของขบวนการนักศึกษาและประชาชนในยุคสมัยต่างๆ ท่ามกลางบริบททางสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป ประชาธิปไตยแบบไทยจึงไม่ใช่สิ่งที่ถูกสร้างขึ้นโดยฝ่ายอนุรักษ์นิยม แต่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมคือฝ่ายที่พยายามใช้อำนาจเผด็จการและสร้างกรอบที่ทำให้ประชาธิปไตยไม่เต็มใบ หรือไม่เต็มความหมายของ “เสรีประชาธิปไตย”

แล้วฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็พยายามจะบอกว่า ประชาธิปไตยตามที่พวกตน “ตีกรอบ” เอาไว้นั้นคือ “ประชาธิปไตยแบบไทย” แต่ความจริงคือ กรอบที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมตีเอาไว้นั้นคือกรอบที่ลดทอนความเป็นประชาธิปไตยซึ่งได้มาจากการเสี่ยงตายของคณะราษฎร์และการเสียสละของขบวนการนักศึกษาและประชาชนตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ฝ่ายอนุรักษ์นิยมไม่เคยให้ประชาธิปไตยใดๆ เลย แต่เป็นฝ่ายที่สกัดกั้นลดทอนความเป็นประชาธิปไตยไม่ให้ก้าวหน้าไปได้ตามที่ควรจะเป็น จึงเกิดความขัดแย้งและนองเลือดตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา นี่คือความเป็นจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้

ส่วนเรื่อง “คนดี” นั้น ขอพูดสั้นๆ ว่า คำนี้มันมีความหมายเปลี่ยนไปตามบริบทของยุคสมัย ในยุคโบราณคนดีอาจมีความหมายอย่างหนึ่ง แต่ในโลกยุคปัจจุบันหรือโลกประชาธิปไตยสมัยใหม่นั้น ความหมายของคนดีผูกโยงอยู่กับการเคารพ ปกป้องหลักการของสังคมส่วนร่วม ซึ่งได้แก่หลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ดังนั้น การแสดงออกของความเป็นคนดีในความหมายสมัยใหม่ จึงหมายถึงการแสดงออกในทางปกป้องเสรีภาพ ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน ดังในสังคมอารยประชาธิปไตยต่างยกย่องพลเมืองที่มีจิตสำนึกกระตือรือร้นต่อสู้ปกป้องสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตย

เช่น การแสดงออกของนักศึกษากลุ่มดาวดินและกลุ่มอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน ย่อมเป็นที่ยอมรับและได้รับการชื่นชมจากประเทศต่างๆ ในโลกสมัยใหม่ที่ยกย่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ก็ลองคิดดูแล้วกันครับว่า กฎอัยการศึกเป็นอันตรายหรือคุกคามคนดีในความหมายแบบสมัยใหม่หรือไม่

พูดอย่างถึงที่สุด เวลาที่รัฐบาลทหารบอกว่า “ให้ใช้เหตุผล ให้เคารพกฎหมาย” แต่ในความหมายทางวิชาการ “ความมีเหตุผล” (rationality) จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อมีเสรีภาพในการตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ โต้แย้งได้ คัดค้านได้เท่านั้น การพูดอยู่ฝ่ายเดียวโดยใช้อำนาจปิดปากฝ่ายอื่นที่เห็นต่าง ย่อมไม่ใช่ความมีเหตุผล ยิ่งการ “เคารพกฎหมาย” นั้น ต้องพูดบนฐานของการมี “ความเสมอภาคทางกฎหมาย” แต่ความจริงสังคมเราไม่มีความเสมอภาคทางกฎหมาย เพราะฝ่ายตรงข้ามไม่มีโอกาสจะต่อสู้ทางกฎหมายภายใต้ความเป็นประชาธิปไตย ชาวบ้านธรรมดาที่ติดคุกก็ไม่ได้รับการนิโทษกรรม ขณะที่ฝ่ายทำรัฐประหารที่มีโทษประหารชีวิตกลับไม่ต้องรับผิดทางกฎหมายใดๆ

ในเมื่อความเป็นจริงมันเป็นเช่นนี้ จะให้คนทั้งหมดเห็นด้วยหรือเชื่อฟังรัฐบาลทหาร ให้คนอีกจำนวนมากที่พวกเขารู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมยอมก้มหน้ารับชะตากรรม มันย่อม “ผิดธรรมชาติ” ของความเป็นมนุษย์ที่เคารพตัวเองอย่างยิ่ง และธรรมชาติของคนที่คิดต่างซึ่งมีความเคารพตัวเอง ก็ย่อมต้องการพื้นที่ในการแสดงออก การใช้อำนาจเผด็จการปิดกั้นไม่ให้คนจำนวนมากที่เห็นต่างได้แสดงออกอย่างเสรี มันจึงเป็นการกระทำที่ผิดธรรมชาติของความเป็นมนุษย์และธรรมชาติของสังคมสมัยใหม่

และอันที่จริงมันก็ผิดตรรกะของรัฐบาลทหารเองด้วย ที่พูดตลอดเวลาว่าตนเองมีความจำเป็น มีเจตนาดี ทำถูก ทำดีเพื่อประเทศชาติและประชาชน แต่ตามหลักตรรกะแล้วสิ่งที่เรียกว่าทำถูกทำดีทำเพื่อประเทศชาติและประชาชนนั้น ต้องท้าทายต่อการใช้เหตุผลโต้แย้ง ทนต่อการพิสูจน์จากการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ อย่างที่เรียกว่า “ทองแท้ไม่กลัวไฟ”

ดังนั้น ถ้ารัฐบาลทหารเชื่อว่าตนเองทำถูก ทำดีก็ต้องมี “ความกล้าหาญ” ที่จะเผชิญกับการท้าทายด้วยเหตุผล ซึ่งสิ่งที่แสดงถึงความกล้าหาญดังกล่าวก็คือ การยอมรับและเคารพเสรีภาพในการแสดงความเห็นต่างจากทุกคนทุกฝ่ายตามกรอบประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net