Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

รัฐมนตรีศึกษาฯ กล่าวว่า การศึกษาไทยควรจัดให้ตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่ความคิดใหม่อะไร เพราะนักธุรกิจพูดเรื่องนี้มานานแล้ว จนดูประหนึ่งว่า การลงทุนด้านการฝึกแรงงานในการปฏิบัติงาน (in-service training) เป็นสิ่งที่สังคมต้องจ่ายให้แทน ที่น่าตระหนกไปกว่านั้นอีกก็คือ สักเกือบ 30 ปีมาแล้ว ผู้บริหารการอุดมศึกษาก็กล่าวทำนองเดียวกันว่า มหาวิทยาลัยควรจัดการเรียนการสอนเพื่อตอบสนองต่อตลาดงานจ้าง และผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็เห็นดีด้วยและใช้เป็นจุดขายของตนเสมอมาจนถึงทุกวันนี้

หากผู้สำเร็จการศึกษาทุกระดับ ถูกเตรียมให้เหมาะจะสวมลงไปในจุดต่างๆ ของเครื่องจักรเศรษฐกิจได้ลงตัวหมด เราจะไม่มีความเห็นขัดแย้งกันทางการเมือง จนกระทั่งกองทัพไม่อาจใช้เป็นเหตุให้ออกมายึดอำนาจอีกเลยหรือ ความจริงแล้วม็อบของทั้ง กปปส.และ นปช.หาใช่คนตกงานไม่ ทุกคนได้สั่งสมทักษะเพื่อการหาเลี้ยงชีพมาอย่างช่ำชองพอที่จะเลี้ยงดูครอบครัวและปลูกฝังอนาคตของบุตรหลานได้ดีพอสมควรทั้งนั้น จนทำให้เครื่องจักรเศรษฐกิจไทยเดินไปได้ แม้กระนั้นก็ยังมีความเห็นทางการเมืองที่ไม่ลงรอยกัน และต่างก็เลือกหนทางแห่งความขัดแย้งที่ปริ่มๆ กับการใช้ความรุนแรงต่อกัน จนเป็นข้ออ้างให้กองทัพทำรัฐประหารได้

ฉะนั้น การศึกษาที่ตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจก็ตาม การศึกษาที่ตอบสนองตลาดงานก็ตาม จึงไม่ใช่คำตอบของสังคมที่สงบสุขและเป็นฐานของความเจริญรุ่งเรืองต่อไปได้หรอก หากเพราะการศึกษาขาดอย่างอื่นๆ ซึ่งสำคัญกว่าต่างหาก จึงทำให้เราต้องตอบโจทย์ด้วยการรัฐประหาร จะพูดได้ไหมว่าการรัฐประหารครั้งนี้ และทุกครั้งที่ผ่านมา คือความล้มเหลวทางการศึกษาของไทยที่ดำเนินมานาน

ผมคิดว่าการศึกษาที่ตอบสนองต่อตลาดงานจ้างตรงๆ หรือตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจนั้น ไม่เคยมีในระบบการศึกษาของมนุษย์มาก่อนเลย ไม่ว่าในวัฒนธรรมอะไร จะเรียกการฝึกงานของสมาคมการค้า (guilds) ต่างๆ ในปลายสมัยกลางของยุโรป ว่าเป็นการจัดการศึกษาแก่คนทั่วไป ก็ไม่น่าจะได้ เพราะนั่นเป็นระบบฝึกหัดช่างจำนวนน้อยในแต่ละเมือง ทั้งเพื่อให้ได้คุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ และควบคุมอุปสงค์อุปทานของสินค้าและแรงงานไปพร้อมกัน เป็นไปไม่ได้ที่เราจะกลับไปสู่ระบบการศึกษาแบบนั้นอีก หลังปฏิวัติอุตสาหกรรมและทุนนิยม อย่างที่เราต้องเผชิญหน้ากับมันในทุกวันนี้

ส่วนการสอนนั่ง ยืนเดิน และทำนาของคนโบราณนั้น เป็นการศึกษาแน่ แต่ไม่ใช่ระบบการศึกษา อย่างเดียวกับที่สัตว์ทั้งหลายสืบทอดทักษะการดำรงชีวิตของตนให้แก่ลูกหลาน เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ "สืบพันธุ์" ก็เป็นการศึกษาเหมือนกัน

เมื่อไรที่เราพูดถึงระบบการศึกษา เรากำลังพูดถึงการส่งผ่านทักษะความรู้ของสังคมอันไม่เกี่ยวกับการเลี้ยงชีวิตโดยตรง แต่เป็นการเลี้ยงชีวิตทางสังคมให้ดำเนินต่อไปได้ต่างหาก

ผมยอมรับว่า นับตั้งแต่เศรษฐกิจต้องการความรู้เฉพาะด้านมากขึ้นเป็นต้นมา เราเริ่มสับสนระหว่างการศึกษาของคนในฐานะสัตว์โลกกับคนในฐานะสัตว์สังคม (มากกว่าเดิม) เพราะการผลิตทางเศรษฐกิจมีความซับซ้อนขึ้น จึงต้องการการฝึกปรือทักษะการหาเลี้ยงชีพมากขึ้น แม้กระนั้น ก็ไม่มีระบบการศึกษาใดในโลกลืมไปว่า ระบบการศึกษาจะหลีกเลี่ยงการสืบทอดทักษะความรู้ของสังคมไปได้ และนับวันสถาบันการศึกษาในโลก (นอกเมืองไทยและเมืองจีน) ก็ตระหนักมากขึ้นว่าทักษะความรู้ของสังคมต่างหากที่มีความสำคัญกว่าทักษะการหาเลี้ยงชีพ เพราะทักษะการหาเลี้ยงชีพในโลกยุคปัจจุบัน คือสิ่งที่ต้องปรับแปลงในแต่ละกรณีอย่างไม่หยุดหย่อน จึงสามารถเอาตัวรอดได้ เราเรียนรู้การปรับแปลงเช่นนี้จากการเรียนรู้ทักษะความรู้ของสังคม

ไม่ควรลืมด้วยว่า วิชาเฉพาะเช่น แพทยศาสตร์ก็ตาม วิศวกรรมศาสตร์ก็ตาม ดนตรีก็ตาม ฯลฯ ถึงแม้ทำให้คนอาจหางานทำในตลาดงานจ้างได้ก็จริง แต่ถึงแม้ไม่มีตำแหน่งงานเหลืออยู่ในตลาดงานจ้างเลย เราก็ยังต้องสืบทอดการรักษาพยาบาล การก่อสร้าง หรือการสร้างเสียงที่มีการควบคุม (ดนตรี) อันเป็นสิ่งที่สังคมมนุษย์ได้สั่งสมและพัฒนามาจนถึงบัดนี้ ให้ดำรงอยู่สืบไปอยู่นั่นเอง

ทักษะอาชีพจึงไม่ใช่ประเด็นหลักในระบบการศึกษาใด ตอบสนองต่อตลาดงานจ้างเป็นเป้าหมายที่แคบเกินไป วิสาหกิจในเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่มีศักยภาพจะก้าวต่อไปได้ ต้องมีพื้นที่สำหรับกระบวนการเรียนรู้ของพนักงานตลอดชั่วอายุการทำงานของเขา เพราะการเรียนรู้คือเงื่อนไขสำคัญที่สุดของความก้าวหน้าของวิสาหกิจทุกชนิด ส่วนการตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจนั้น แม้ฟังฉลาดกว่า แต่ใครจะรู้ได้ว่าโจทย์ทางเศรษฐกิจในอนาคตคืออะไร เพราะโจทย์ดังกล่าวนั้นไม่เคยหยุดนิ่ง หากแปรเปลี่ยนพลิกผันไปตลอดเวลา

เช่น เราควรรู้ภาษาอังกฤษแน่ เพราะภาษานี้กลายเป็นภาษาสากลสำหรับการสื่อสารทุกอย่างในโลกปัจจุบันไปแล้ว แต่ภาษาอังกฤษส่วนที่เป็นของเชคสเปียร์และไบรอนเล่า ควรเรียนรู้หรือไม่ หากอุตสาหกรรมบันเทิงของไทยมีตลาดต่างประเทศมากกว่านี้ ภาษาอังกฤษส่วนนี้เป็นส่วนสำคัญของ "โจทย์" ทางเศรษฐกิจอย่างแน่นอน ในทางตรงกันข้าม ตราบเท่าที่ภาษาอังกฤษส่วนนี้ถูกทอดทิ้งในการศึกษาไทย โอกาสที่อุตสาหกรรมบันเทิงไทยจะขยายตลาดไปได้กว้างกว่านี้ก็เป็นไปไม่ได้ ดังนั้น ผมจึงอยากสรุปว่า "โจทย์" ทางเศรษฐกิจนั้น นอกจากเปลี่ยนแปลงพลิกผันแล้ว ยังไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติของเศรษฐกิจ แต่เป็นสิ่งที่เราสร้างมันขึ้นเองด้วย

ในการศึกษาไทย แทนที่จะเรียนภาษาต่างประเทศตามแนวการศึกษาอาณานิคม คือเพื่อถูกจ้างไปเป็นเสมียนให้เจ้าอาณานิคม เราจึงควรเรียนภาษาต่างประเทศเพื่อมี "ชีวิตใหม่" จะทำให้มีความหมายต่อชีวิตผู้เรียนมากกว่า ตามภาษิตฝรั่งเศสว่า Connaitre la nouvelle langue, c′est vivre la nouvelle vie. ไม่เกี่ยวอะไรกับตลาดงานจ้าง และไม่เกี่ยวอะไรกับ "โจทย์" ทางเศรษฐกิจ

หากการศึกษาไม่มุ่งจะตอบสนองต่อตลาดงานจ้าง (แต่ตลาดงานจ้างก็ใช้ประโยชน์จากผู้ได้รับการศึกษาได้ ... หากมีกึ๋นจะใช้) และไม่มุ่งตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจ การศึกษาในทุกระบบต้องตอบสนองต่ออะไร?

ตอบให้เหลือสั้นๆ คือ ความเป็นคนของผู้เรียนและอารยธรรมที่มนุษย์ได้สั่งสมไว้ ทั้งสองอย่างนี้สัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างแยกออกจากกันไม่ได้ ถึงเรายอมรับว่าคนคือสัตว์ชนิดหนึ่ง แต่แตกต่างจากสัตว์อื่นก็เพราะเขามีชีวิตอยู่ในอารยธรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ฉะนั้นเมื่อพูดถึงสัตว์ประเภทนี้ จึงต้องพูดถึงเขาในเงื่อนไขของอารยธรรมเสมอ ในขณะเดียวกัน อารยธรรมก็ไม่ได้เกิดขึ้นในความว่างเปล่า แต่เกิดขึ้นในเงื่อนไขของธรรมชาติ เนื้อหาหลักของการศึกษาจึงอยู่ที่สามเรื่องนี้เท่านั้น คือความเป็นคน อารยธรรม และธรรมชาติ

ความเป็นคนของผู้เรียนมีสองด้าน คือความเป็นคนที่เหมือนคนอื่นๆ กับความเป็นตัวของเขาเองในฐานะปัจเจก การศึกษาที่ดีในทุกระดับ ต้องทำให้ผู้เรียนเข้าถึงความเป็นคนทั้งสองด้านนี้ อันที่จริงเมื่อเราพูดถึงศาสนา, ศีลธรรม, ค่านิยม, ฯลฯ ในการศึกษา เรากำลังพูดถึงมิติของความเป็นคนในการศึกษานั่นเอง แต่ทั้งสองด้านนี้ไม่มีคำตอบตายตัวที่เป็นสากลแก่ทุกคน เราเรียนรู้สิ่งเหล่านี้จากการวิพากษ์และปฏิบัติ ฉะนั้นจึงอาจเปลี่ยนไปได้ในแต่ละวัยและแต่ละเงื่อนไขของชีวิต แต่สิ่งที่ควรดำรงอยู่ตลอดไปคือความสามารถในการวิพากษ์ เพื่อค้นหาคำตอบที่ดีที่สุดของตนเอง

ด้วยทัศนคติเชิงวิพากษ์เช่นนี้ การศึกษาในทุกระดับนำผู้เรียนมาสู่การทำความเข้าใจ "อารยธรรม" ซึ่งเป็นเงื่อนไขชีวิตที่สำคัญที่สุดของคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอารยธรรมของโลกปัจจุบัน

ในการทำความเข้าใจกับอารยธรรมปัจจุบัน เรื่องต่อไปนี้ขาดไม่ได้

สังคมสมัยใหม่ สังคมเป็นส่วนของอารยธรรมที่แวดล้อมชีวิตคนเป็นอย่างมาก นี่คือพื้นที่ซึ่งเราแข่งขันกันและร่วมมือกัน ซึ่งเรามีเสรีภาพและถูกจำกัดเสรีภาพ ซึ่งเรามีอดีตและอนาคตที่คนอื่นมีส่วนในการกำหนด ซึ่งมีกติกาและการล่มสลายของกติกา ฯลฯ อีกทั้งเป็นพื้นที่ซึ่งขยายตัวกว้างใหญ่ไพศาลมากขึ้นด้วยอำนาจของเทคโนโลยีสมัยใหม่

เราจะอยู่ในพื้นที่ซึ่งเรียกว่าสังคมนี้ได้อย่างไร โดยเป็นที่ยอมรับของคนอื่นแต่ก็ไม่สูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง ภายใต้อารยธรรมปัจจุบัน คนต้องมีสำนึกถึงสังคม แต่อย่างสยบยอมหรืออย่างขัดขืน เป็นเรื่องที่ต่างคนต่างต้องคิดและทำความเข้าใจเชิงวิพากษ์กันเอง แต่อย่างรู้เท่าทันทั้งสังคมและทั้งตัวเองให้ดี

รัฐ ในโลกปัจจุบัน คนต่างมีชีวิตอยู่ในรัฐ และส่วนใหญ่คือรัฐชาติด้วย รัฐชาติทำงานอย่างไร อำนาจรัฐปัจจุบันตั้งอยู่บนกำลังที่สลับซับซ้อนหลายอย่าง แต่อาจสรุปลงได้เพียงสองด้าน คืออำนาจแข็งและอำนาจอ่อน ซึ่งสามารถแทรกเข้ามากำกับชีวิตของพลเมืองได้อย่างลึกซึ้ง ฉะนั้นวิธีจำกัดอำนาจรัฐที่น่าจะดีที่สุดคืออะไร จากความเข้าใจ ก็นำไปสู่การวิพากษ์และค้นหาคำตอบได้ต่างๆ นานา แม้คำตอบอาจไม่ตรงกัน แต่การแลกเปลี่ยนความเห็นก็ทำให้แต่ละคนคิดถึงคำตอบของตนได้แตกฉานขึ้น อีกทั้งทำให้ไม่ยึดติดกับคำตอบตายตัว และคงปรับเปลี่ยนไปได้ตามประสบการณ์ในชีวิตของตนในภายหน้า

ระบบเศรษฐกิจโลก ก็เป็นอีกส่วนของอารยธรรมที่แวดล้อมชีวิตคนในโลกปัจจุบัน จำเป็นต้องทำความเข้าใจกับระบบนี้ในระดับใดระดับหนึ่ง ตลอดถึงทำความเข้าใจกับปัจจัยอื่นๆ ซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจโลกด้วย แต่ไม่ใช่การแลกเปลี่ยนซื้อขายโดยตรง

ทั้งรัฐและเศรษฐกิจโลกดังที่เป็นอยู่ ไม่ใช่ระบบที่ให้ความเป็นธรรมแก่ทุกคนเสมอกัน มีคนได้เปรียบและเสียเปรียบอยู่เสมอ มีกลไกทางด้านต่างๆ อะไรบ้าง ที่จะบรรเทาความเหลื่อมล้ำนี้ หรือยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้น

ประชาธิปไตย เป็นอีกส่วนของอารยธรรมที่ยากจะปฏิเสธได้ในโลกปัจจุบันและอนาคต แต่ระบอบปกครองที่ถ่วงดุลอำนาจและจำกัดอำนาจรัฐเช่นนี้ ก็มีจุดอ่อนในตัวเองหลายอย่าง ซึ่งจากการเรียนอย่างรู้จักวิพากษ์ ก็อาจคิดถึงทางออกได้หลายทาง กลายเป็นเป้าหมายใหม่ของการพัฒนาอารยธรรมมนุษย์ ในขณะเดียวกันประชาธิปไตยก็มีจุดแข็งอีกหลายอย่างที่ต้องรักษาเอาไว้และป้องกันการบ่อนทำลายจากศัตรูของประชาธิปไตยทุกประเภท

เครื่องมือการเรียนรู้ ที่สำคัญในโลกปัจจุบันมีอยู่สามอย่าง คือ การอ่าน, การดู-ฟัง, และเครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่ เช่น คอมพิวเตอร์ แต่สารที่ได้จากเครื่องมือเหล่านี้ล้วนมีข้อบกพร่องปะปนอยู่ด้วย จะรับสารนี้อย่างไรจึงจะรู้เท่าทันสื่อดังกล่าวได้ไปพร้อมกัน การใช้เครื่องมือเป็น หมายถึงใช้อย่างรู้เท่าทัน

ธรรมชาติ อารยธรรมตั้งอยู่ภายใต้เงื่อนไขทางธรรมชาติ ซึ่งเป็นทั้งข้อจำกัดและศักยภาพของอารยธรรม ดังนั้น การศึกษาอารยธรรมต้องทำบนความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติไปพร้อมกัน

หากการศึกษามีเป้าหมายเพียงการเรียนรู้อย่างวิพากษ์เกี่ยวกับเรื่องของคน, อารยธรรมและธรรมชาติเช่นนี้ ผู้สำเร็จการศึกษาจะสามารถหาเลี้ยงชีพในโลกปัจจุบันได้อย่างไร

ความรู้เฉพาะด้านทั้งหลายก็เป็นส่วนหนึ่งของอารยธรรม จุดมุ่งหมายของฟิสิกส์ไม่ใช่ตำแหน่งงานจ้างในตลาด แต่เพราะฟิสิกส์เป็นความรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ในธรรมชาติ (ส่วนหนึ่ง) ที่ได้พัฒนาสั่งสมมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน สังคมจึงต้องเก็บรวบรวมสั่งสมและสร้างสรรค์ต่อไปต่างหาก เช่นเดียวกับประวัติศาสตร์, ดนตรี, แพทยศาสตร์, วิศวกรรมเคมี และคอมพิวเตอร์

หากความรู้บริสุทธิ์ใช้ประโยชน์อะไรในทางธุรกิจไม่ได้เลย ปัญหาอยู่ที่ธุรกิจ ไม่ใช่อยู่ที่การศึกษาเสียแล้วละครับ

ในทางตรงกันข้ามด้วยซ้ำ ระบบเศรษฐกิจในโลกปัจจุบัน ต้องการความคิดที่เรียกกันว่า "นอกกรอบ" ในทุกระดับชั้นของงานด้วยซ้ำ คนงานที่เติมถ่านหินลงไปในเตาหลอมเหล็ก พบว่าหากหมั่นปิดประตูเตาทุกครั้ง จะสามารถประหยัดพลังงานไปได้ถึง 5% นี่ก็เป็นความคิดนอกกรอบอีกอย่างหนึ่ง แต่คนเราจะคิด "นอกกรอบ" ได้ ก็ต้องมีความรู้ "ในกรอบ" อย่างเจนจัดพอสมควร ได้รับการฝึกปรือให้มองหาช่องทางใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาอยู่เสมอ การเรียนรู้เฉพาะ "กรอบ" หรือแบบแผนการปฏิบัติงานต่างหาก ที่ทำให้คิดอะไร "นอกกรอบ" ไม่ได้เลย "กรอบ" หรือแบบแผนการปฏิบัติงานเป็นสิ่งที่เรียนรู้เองได้ หากระบบการศึกษาสอนให้รู้จักเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างคล่องแคล่วมาแต่ต้น

ไม่มี "โจทย์" ทางเศรษฐกิจให้ตอบในการศึกษา และไม่มีเป้าหมายตลาดงานจ้างเป็นธงนำในการศึกษา การศึกษามีแต่ความรู้และกระบวนการหาความรู้เท่านั้น แต่นักการศึกษาไทย (ซึ่งมักจะป้อนความคิดของตนให้แก่นักการเมืองที่บริหารกระทรวงศึกษาฯ) มักมองความรู้เป็น "องค์ความรู้" คือสิ่งที่ตายตัวไม่เปลี่ยนแปลง และไม่สนใจกระบวนการหาความรู้เอาเลย ยิ่งมาคิดว่าองค์ความรู้คือกรอบหรือแบบแผนการปฏิบัติงานในโรงงานอุตสาหกรรม, ออฟฟิศ, หรือสถานประกอบการอื่น การศึกษาไทยก็ยิ่งตกต่ำลงไปกว่าที่เคยเป็นมา ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน :มติชนรายวัน 1 ธันวาคม 2557

ที่มา: มติชนออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net