Skip to main content
sharethis
 
 
เพจเฟซบุ๊ก  ‘พอกันที หยุดการชุมนุมที่สร้างเงื่อนไขไปสู่ความรุนแรง’ เกิดจากการรวมตัวของคนธรรมดาที่ลุกขึ้นมาเผชิญหน้ากับขบวนมวลมหาประชาชนเพื่อแสดงความเห็นต่างอย่างสันติวิธี ด้วยการจุดเทียน แสดงจุดยืนเดินหน้าเลือกตั้ง ซึ่งขยายวงอย่างรวดเร็ว จากจำนวนผู้เข้าร่วมที่เพิ่มขึ้น และกิจกรรมที่สร้างสรรค์ขึ้นในเรื่อยๆ ในทุกๆ ครั้ง
 
อีกทั้งยังก่อให้เกิดกลุ่มคนจุดเทียนถามหาสันติภาพ ที่กระจายตัวไปทั่วประเทศ ทำให้เพจดังกล่าวกลายเป็นพื้นที่สำหรับการพูดคุยและนัดหมายทำกิจกรรมในกลุ่มผู้สนับสนุนการเลือกตั้งในช่วงเวลาโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งนี้
 
ขณะที่ ความรุนแรงเริ่มปะทุขึ้นอีกครั้ง และการเลือกตั้งใกล้เข้ามาแบบนับรายชั่วโมง ประชาไทพูดคุยกับ กิตติชัย งามชัยพิสิฐ จากกลุ่มพอกันที! หรือ ‘อ้วน YT’ (Youth Training Center) ในแวดวงนักกิจกรรมทางสังคม ถึงความคิดเห็นของเขาต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ และความรุนแรงจากการไปเลือกตั้ง?!? ที่เราอาจต้องเผชิญ
 

กิตติชัย กล่าวถึงความสำคัญของการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า การเลือกตั้งโดยทั่วไปอาจหมายถึงการเลือก ส.ส. และส่งผลถึงการเลือกรัฐบาล แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ ได้รื้อฟื้นความหมายพื้นฐานของการเลือกตั้งขึ้นมาว่า การเลือกตั้งคือการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของปัจเจกบุคคล
 
“สำหรับผม การเลือกตั้งครั้งนี้คือการแสดงออกถึงการยืนยันหลักการหนึ่งคนหนึ่งเสียง ยืนยันความเท่ากันในทางการเมืองของคนไทย แม้จะเป็นเพียงหนึ่งในช่องทางการแสดงออกก็ตาม มันอาจหมายถึงสัญลักษณ์การต่อสู้กันระหว่างสามัญชนกับผู้กุมอำนาจบาตรใหญ่ดั้งเดิมในสังคมไทยเลยก็ว่าได้” กิตติชัยกล่าว
 
กิตติชัยประเมินว่า วันที่ 2 ก.พ. คูหาเลือกตั้งจะกระจายเป็นหน่วยย่อยทั่วไป ต่างจากวันที่ 26 ม.ค. ที่ผ่านมา ในขณะที่ กปปส.และเครือข่ายเองก็มีกำลังไม่พอ และกระแสสังคมก็ออกมาทางไม่เห็นด้วยกับการขัดขวางการเลือกตั้งของ กปปส.นัก ประกอบกับกลไกอื่นที่มีอำนาจเกี่ยวกับการเลือกตั้งก็มีท่าทีที่ค่อนข้างชัดเจนว่า ‘ไม่สนับสนุนการเลือกตั้ง’ ดังนั้น กปปส.น่าจะมุ่งไปที่หน่วยเลือกตั้งทางใต้เป็นหลัก และมีบางจุดในกรุงเทพฯ เป็นสัญลักษณ์เท่านั้น ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจึงอาจเป็นการปะทะเล็กน้อยบางจุด แต่ก็ไม่ควรประมาท
 
นอกจากนั้น คิดว่า กปปส.เองก็น่าจะรู้ว่ากำลังของตนมีไม่พอที่จะขัดขวางการเลือกตั้งได้แล้ว อาจจะเลือกใช้วิธีการอื่น เช่น โจมตีความชอบธรรมต่างๆ ของการเลือกตั้งครั้งนี้ อาศัยกลไกทางกฎหมายและอำนาจขององค์กรอิสระที่แนวทางใกล้เคียงกับตน ในการทำให้ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ ฯลฯ ซึ่งคงต้องมีการเคลื่อนไหวจากกลุ่มต่างๆ ต่อไป
 
ต่อกรณีเหตุปะทะที่เขตหลักสี่ จนกกต.ประกาศยกเลิกการเลือกตั้งในเขตนี้ กิตติชัย กล่าวว่าปัญหามีเฉพาะที่หลักสี่ เขตอื่นไม่มีปัญหา แต่ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อเสียคือ 1.ภาพออกมาน่ากลัวมาก มีการปะทะกันรุนแรง มีคนบาดเจ็บ และไม่แน่ใจว่ามีคนตายไหม ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้า 2.เสื้อแดง โดยเฉพาะกลุ่มโกตี๋ กลายเป็นจำเลยของสังคมอีกแล้ว
 
ข้อดีคือ 1.เราได้รู้ว่าการขัดขวางการเลือกตั้ง ทำได้แค่เพียงสัญลักษณ์ ไม่สามารถทำลายการเลือกตั้งได้ 2.กลุ่มผู้ขัดขวางทำได้เพียงสร้างบรรยากาศความน่ากลัว แต่ไม่สามารถหยุดคนที่ต้องการใช้สิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศได้ และ 3.ทำให้เราและโลกได้รู้ว่า การชุมนุมของกลุ่มขัดขวางการเลือกตั้งไม่ใช่การชุมนุมอย่างสันติอย่างแน่นอน มีคนใช้อาวุธ และกองกำลังติดอาวุธอย่างชัดเจน และมีเจตนาใช้ความรุนแรง
 
กลับมาที่คนอยากเลือกตั้ง การปิดเขตเลือกตั้งที่หลักสี่ครั้งนี้เป็นเพียงสัญลักษณ์ เขาต้องการทำให้การเลือกตั้งวุ่นวาย แต่นี่เป็นเพียงส่วนน้อย ไม่สามารถล้มการเลือกตั้งของประเทศไทยได้ เราต้องมองไปที่เขตเลือกตั้งอีกจำนวนมากที่ไม่มีปัญหาอะไร
 
“ยังไงๆ การเลือกตั้งครั้งนี้ก็ต้องเกิดขึ้นเป็นการเลือกตั้งครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย เพราะมันคือการวัดกันระหว่างคนที่ยึดหลักหนึ่งคนหนึ่งเสียงกับคนที่ไม่เชื่อ แต่เราไม่จำเป็นต้องเสี่ยงชีวิตเขตไหนปลอดภัยก็ไปลงคะแนน เขตไหนเสี่ยงก็ดูท่าที ไปแจ้งความไว้ จำนวนคนแจ้งความเราก็เอามานับได้ เขตไหนถูกปิดก็รอเปิดอีกที คนจะไปเลือกตั้งพรุ่งนี้ก็ตามข่าวเอาว่ามีอะไร ใครไปเขตไหนปลอดภัยก็ส่งข่าวเพื่อนด้วย ใครไม่มีธุระอะไรก็รอๆ เพื่อนด้วย” กิตติชัยกล่าว
 
นอกจากนี้ ประชาชนในเขตหลักสี่ยังมีโอกาสได้ใช้สิทธิของตน โดย กกต.ต้องหาวันจัดการเลือกตั้งใหม่ให้ได้
 
 
ต่อคำถามที่ว่ามีคนบางกลุ่มต้องการให้เลื่อนเลือกตั้งออกไป ดีกว่ามีแล้วเกิดความรุนแรง กิตติชัย ตั้งคำถามกลับว่า หากคราวหน้ามีคนไม่อยากให้มีการเลือกตั้งแล้วขู่ว่าจะใช้ความรุนแรงอีกล่ะ ต้องยอมอีกใช่ไหม?
 
“เราต้องไม่สยบยอมต่อคำขู่ที่จะใช้ความรุนแรง ด้วยการประคับประคองและหยุดยั้งความรุนแรงที่อาจจะเกิด สิ่งสำคัญคือการยืนยันกติกา และหยุดยั้งความรุนแรงให้ได้” กิตติชัยกล่าว
 
กิตติชัยกล่าวด้วยว่า เท่าที่คุยกับคนหลากหลายแบบก็มีทั้งกลัว กลัวแต่จะฝ่าข้ามไป และเฉยๆ แต่โดยทั่วไปแล้ว หน่วยเลือกตั้งจะอยู่ในชุมชน จึงน่าจะควบคุมความรุนแรงได้ระดับดี ที่น่ากังวลคือจุดสัญลักษณ์ต่างๆ ในขณะที่กระแสคนอยากเลือกตั้งเพราะรู้สึกอึดอัดกับความพยายามขัดขวางการเลือกตั้งก็มีมากพอสมควร ดังนั้นจึงประเมินว่าน่าจะมีคนออกมาเลือกตั้งมากพอสมควร
 
“จริงๆ แล้วการไปเลือกตั้งควรเป็นเรื่องปกตินะ เหมือนกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับรัฐ อย่างทำบัตรประชาชน ทำหนังสือเดินทาง ฯลฯ ต่างกันตรงเป็นการใช้สิทธิออกเสียงเพื่อแสดงความเห็นทางการเมือง แต่สถานการณ์ปัจจุบันเหมือนมีการสร้างความกลัวให้เกิดขึ้นจนมันไม่ปกติ ดังนั้นอันดับแรกจึงน่าจะทำให้มันกลับมาปกติให้ได้ อันต่อมาคือการทำให้เป็นเรื่องท้าทาย สนุก กับการไปออกเสียงที่จะแสดงเจตจำนงในการยืนยันหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง เราคงต้องเผชิญหน้ากับความกลัวที่ถูกสร้างด้วยอารมณ์ขัน สนุก และท้าทาย บนพื้นฐานของการปฏิเสธความรุนแรง” กิตติชัยกล่าว
 
ในงานจุดเทียนเขียนสันติภาพ ครั้งล่าสุด เมื่อวันศุกร์ที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมาโดยกล่มพอกันที! ก้าวสู่ครั้งที่ 6 พร้อมรวมกลุ่มอิสระต่างๆ อาทิ ANTs’ POWERWE VOTE, กลุ่มเพจยุติความรุนแรงฯ, กลุ่มนักเรียน Respect My Future ฯลฯ มาร่วมทำกิจกรรม 108 วิธีเข้าคูหาอย่างสันติ ที่ลาน skywalk สถานี BTS ช่องนนทรี ก็เป็นความพยายามที่จะชวนคนมาทำสิ่งเหล่านี้
 
สำหรับกระแส 'โหวตโน' กิตติชัยกล่าวว่า เขารู้สึกโอเคกว่าโนโหวต เพราะยังอยู่ในพื้นฐานที่ยอมรับเสียงของประชาชน ให้ความสำคัญกับเสียงตนเอง เรื่องนี้ในเวลานี้สำคัญกว่าโหวตให้ใครเสียด้วยซ้ำ ส่วนผลจะออกมาอย่างไรก็มาว่ากันหลังโหวตเสร็จดีกว่า
 
ทั้งนี้ เพจเฟซบุ๊ก ‘พอกันที หยุดการชุมนุมที่สร้างเงื่อนไขไปสู่ความรุนแรง’ มีผู้คลิกไลค์ ถึง 48,679 คน มีการเข้ามามีส่วนร่วม (talking about this) 39,093 (ข้อมูล 1 ก.พ.57)
 
 
 
 
คู่มือนี้เป็นไอเดียเบื้องต้นที่จะชวนมาช่วยกันคิด ว่าจะทำอย่างไรให้การเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาฯ ของเราเป็นเรื่องปกติแต่สนุก ใครๆ ก็ทำได้ง่ายๆ บนพื้นฐานการปฏิเสธความรุนแรงและยืนยันกติกาประชาธิปไตย
 
1. ตื่นเช้าชวนกันไปหน่วยเลือกตั้ง
การเลือกตั้งเป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย แม้จะมีความพยายามทำให้มันไม่ปกติ แต่ยังไง้ยังไงมันก็เป็นเรื่องปกติ ดังนั้นเราช่วยกันทำให้มันปกติกันดีกว่า ตื่นเช้ามา แต่งเนื้อแต่งตัวไปเลือกตั้งตามปกติ
 
2. ถ่ายรูป อัปเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม โพสต์อวดเพื่อน
เอ แต่เอาเข้าจริงมันก็ไม่ค่อยปกติเท่าไหร่ละนะ ก็มันน่าสนุกนี่นา การเลือกตั้งครั้งนี้มีคนจำนวนหนึ่งไม่อยากให้มีขึ้น ด้วยเหตุผลอะไรเยอะแยะ แต่เราอยากเลือกตั้งนี่นา งั้นเราก็ทำให้เขาเห็นว่าการเลือกตั้งเป็นเรื่องสนุกดีกว่า ถ่ายรูป อัพเฟซ อินสตาแกรม ฯลฯ กันให้สนั่นวันเลือกตั้งไปเลย ว่ามันน่าสนุกขนาดไหน หน่วยไหนโชคดีไม่โดนขัดขวางก็โพสต์อวดเพื่อนซะหน่อย หน่วยไหนตื่นเต้นหน่อยมีคนมาขวางก็รายงานสถานการณ์บอกเพื่อนด้วย
 
3. คอสเพลย์ขุ่นป้า พกไฟฉายไปด้วย
แต่งคอสเพลย์ไปเลือกตั้งกันดีไหม ไหนๆ ป้าไฟฉายก็ฮิตแล้ว เราเอาอุปกรณ์ไปเลียนแบบมั่งก็น่าสนุกนะ ไฟฉาย เสื้อขาว กางเกงชมพู จี๊ดมาก หรือแต่งตัวแสดงตนว่าอยากเลือกตั้ง ถ่ายรูปมาแชร์กัน
 
4. ชวนเพื่อนไปกันเป็นกลุ่ม
ใครเสียวๆ เหวอๆ อยู่ก็ลองชวนเพื่อนไปเลือกตั้งด้วยกันสิ ไปกันเป็นกลุ่มก๊วน เหมือนไปเที่ยวนั่นแหละ แต่อย่าไปท้าตีท้าต่อยใครล่ะ เรามาเลือกตั้งนะ ไม่ได้ไปทำสงคราม
 
5. นัดรวมญาติ ลูกหลานพาพ่อแม่ไปคูหา
ลูกหลานพาพ่อแม่ผู้แก่เฒ่าเข้าคูหา ญาติผู้ใหญ่ชวนลูกหลานไปเลือกตั้งด้วยกัน ผู้อาวุโสชวนเพื่อนบ้านไปด้วยกัน ถือเป็นงานรวมญาติไปซะงั้น เลือกตั้งเสร็จก็ถือโอกาสหาอะไรกินอร่อยๆ กันเลยดีกว่า
 
เจอก่อกวนทำยังไง?

6. เจอเป่านกหวีดใส่ ให้ส่องแสงไม่ส่งเสียง
พกอุปกรณ์ส่องแสงที่พกพาสะดวก เช่น เทียน ตะเกียง ไฟฉาย ไปด้วย พอเจอคนเป่านกหวีดใส่ เราก็ฉายไฟส่องแสงไม่ส่งเสียง
 
7. เจอคนด่า ลองสวดมนต์ร้องเพลงชาติ
เจอด่าทำไง บางพื้นที่อาจมีคนรอด่าอยู่ โดยเฉพาะถ้าบังเอิญเราไปเดี่ยวๆ ลองสวดมนต์ดูนะ เผื่อเขาจะใจเย็นลงมาบ้าง หรือว่าจะร้องเพลงชาติก็น่าสนุก ถ้ารู้สึกเขาด่าได้ดีก็ช่วยเขาด่าตัวเราเองผสมโรงไปด้วยเลย
 
8. เจอคนนอนขวาง คุกเข่าขอขมาก่อนข้าม
เจอคนนอนขวางทำไง คุกเข่าลงไหว้ขอขมา บอกว่าเราขอไปใช้สิทธิ ไม่ได้ต้องการลบหลู่ เสร็จแล้วก็เดินข้ามเลย
 
9. เจอขาโหด อย่ายุ่งกะเขา ออกมาถ่ายคลิปแจ้งความ
เจอขาโหด บีบคอ ผลัก ทำร้ายร่างกาย หรือเจอคนตีกันอยู่ ฯลฯ อย่าไปยุ่งกะเขาเลย ออกจากตรงนั้นก่อนดีกว่า อย่าไปเล่นกะเขา ถ่ายคลิปไว้แล้วไปแจ้งความดีกว่า
 
10. ซุ่มดูสถานการณ์ ช่องทางข่าวสาร เผื่อเข้าไปได้
เลือกตั้งไม่ได้ทำไง ลองซุ่มรอดูสถานการณ์ ข่าวสารจากช่องทางต่างๆ เผื่อจะมีโอกาสเข้าไปกะเขาได้บ้าง
 
11. พกปากกาเมจิกไว้ ถ้าทำไงก็เลือกตั้งไม่ได้ วาดรูปกากบาทในที่สาธารณะ แล้วไปแจ้งความ
ถ้าทำทุกวิถีทางแล้ว ไม่ว่าจะด้วยเหตุขัดข้องใดๆ ก็ต้องยอมละนะ เอาไว้คราวหน้ามาเลือกตั้งใหม่ พกปากกาเมจิกไปกากบาท แล้วไปแจ้งความที่สถานีตำรวจประจำเขตนั้นๆ และแจ้งความลงบันทึกประจำวันในทันที เพื่อป้องกันการเสียสิทธิ
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net