Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ข้อเสนอของ กปปส.ที่ว่า “ต้องปฏิรูประเทศก่อนการเลือกตั้ง “  โดยให้นายกฯและคณะรัฐมนตรีรักษาการลาออกเพื่อให้เกิด “สุญญากาศทางอำนาจรัฐ” ซึ่ง กปปส.ตีความว่าเป็นการคืนอำนาจให้แก่ประชาชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 3 แล้วตั้งสภาประชาชนที่เลือกตั้งจากตัวแทนสาขาวิชาชีพต่างๆ 300 คน และ กปปส.สรรหาอีก 100 คน แล้วเลือก “คนดี” มาเป็นนายกฯ เพื่อตั้งรัฐบาลคนกลางตามรัฐธรรมนูญมาตรา 7

แต่มีข้อโต้แย้งจากนักวิชาการกลุ่มสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) และนักวิชาการอื่นๆ จำนวนมากว่า ตามกฎหมายที่มีอยู่ขณะนี้ นายกฯและรัฐมนตรีรักษาการลาออกทั้งคณะไม่ได้ และการอ้างมาตรา 3 และมาตรา 7 ก็เป็นการตีความเพื่อสนับสนุนเป้าหมายของ กปปส.อย่างขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและหลักการประชาธิปไตย

นอกจากนี้นิวยอร์คไทม์ยังวิเคราะห์ว่า ข้อเรียกร้องดังกล่าวของ กปปส.เป็นการเรียกร้อง “ประชาธิปไตยที่น้อยลง” เนื่องจากปฏิเสธการเลือกตั้งผู้แทนปวงชนตามกติกาประชาธิปไตย เพื่อตั้งสภาประชาชนที่เป็นตัวแทนสาขาวิชาชีพและมาจากการสรรหา (ถ้าบอกว่าสื่อไทยเลือกข้างจึงไม่น่าเชื่อถือ ถามว่ามีสื่อต่างชาติสนับสนุนข้อเรียกร้องของ กปปส.หรือไม่?)

ถามว่าการปฏิรูปประเทศมีความจำเป็นหรือไม่?  ตอบว่ามีความจำเป็นมากที่สุด แต่ข้อเสนอปฏิรูประเทศของ กปปส.ที่ต้องการล้างระบอบทักษิณ ปฏิรูปองค์กรตำรวจ เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเป็นต้นนั้น ยังไม่ครอบคลุม “ปัญหาระดับรากฐาน” ของความเป็นประชาธิปไตย หากจะแก้ปัญหาระดับรากฐานจริงๆ ต้องปฏิรูปการเมือง สถาบันกษัตริย์ กองทัพ ศาลหรือระบบยุติธรรมทั้งระบบด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ฉะนั้น การรวบรัดเพื่อยึดนาจรัฐไปทำการปฏิรูปประเทศตามโมเดลของ กปปส.เอง ย่อมทำให้ประชาชนทั้งประเทศเสียโอกาสในการเลือกโมเดลอื่นๆ ที่ดีกว่า แนวทางที่เป็นธรรมแก่ประชาชนทุกฝ่ายจึงควรปฏิรูปประเทศหลังการเลือกตั้ง 2 ก.พ.2557 เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองต่างๆ และภาคส่วนต่างๆ ของสังคมได้เสนอแนวคิดและโมเดลปฏิรูปประเทศแก่ประชาชน จากนั้นจึงจัดให้มีการลงประชามติ เสียงข้างมากเลือกอย่างไรก็ดำเนินการไปตามนั้น

เมื่อมองในแง่เป้าหมายของการปฏิรูปประเทศ, การมีแนวคิดหรือโมเดลที่เป็นตัวเลือกที่หลากหลาย และความแฟร์ต่อการมีสิทธิร่วมตัดสินใจของประชาชนทั้งประเทศ การรวบรัดเพื่อยึดอำนาจรัฐไปปฎิรูปประเทศของ กปปส.จึงเป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผลและความชอบธรรมที่อาจยอมรับได้

ลองพิจารณาข้ออ้างต่างๆ ที่ต้องปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้งของ กปปส. เช่น

1. อ้างว่า “สถานการณ์บ้านเมืองตอนนี้อยู่ในภาวะไม่ปกติ จะใช้วิธีการปกติมาแก้ปัญหาไม่ได้” แต่ความเป็นจริงคือ การที่รัฐบาลกระทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องจนมีประชาชนจำนวนมากออกมาประท้วงขับไล่ แล้วรัฐบาลใช้วิธียุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจในการเลือกตั้งใหม่ ย่อมเป็นสถานการณ์ปกติของประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก

การแก้ปัญหาด้วย “วิธีนอกระบบ” ต่างหากที่เป็น “ความไม่ปกติ” ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของบรรดาภิสิทธิชนในสังคมไทยที่ประกอบด้วยอำนาจนอกระบบ เครือข่ายอำมาตย์ กองทัพ พรรคประชาธิปัตย์ ราชนิกูล นายทุน ผู้บริหาร, อาจารย์มหาวิทยาลัยบางส่วน คนชั้นกลางการศึกษาดีบางส่วน ที่ยึดอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” และสวมเสื้อคลุมคุณธรรมจริยธรรม อ้างความเป็น “คนดี” เพื่อปกป้องอภิสิทธิ์ของ “เสียงที่ดังกว่า” ของคนส่วนน้อย บรรดาอภิสิทธิชนเสียงข้างน้อยทำสิ่งที่ “ผิดปกติ” จนกลายเป็นเอกลักษณ์ประชาธิปไตยไทยๆ ที่แปลกประหลาดที่สุดในโลกมาโดยตลอดมิใช่หรือ

2. อ้างว่า “การเลือกตั้งไม่ใช่ทางออกของปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง” คำถามคือ มีหลักประกันอะไรให้สังคมเชื่อมั่นได้ว่า แนวทางการรวบรัดยึดอำนาจรัฐมาจัดการปฏิรูปประเทศของ กปสส.จะเป็นทางออกของความขัดแย้งได้จริง ในเมื่ออีกฝ่ายก็ประกาศแล้วว่า หาก กปปส.ยึดอำนาจรัฐได้สำเร็จพวกเขาก็จะออกมาชุมนุมต่อต้าน

3. อ้างว่า “ระบบการเลือกตั้งแบบปัจจุบันไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม เพราะมีการทุจริตซื้อเสียง ทำให้ได้นักการเมืองพรรคเดิมๆ หน้าเดิมๆ เข้ามาโกงชาติอีก” คำถามคือ แม้เจตนาจะขจัดทุจริตเป็นเรื่องดี แต่มีหลักประกันอะไรให้สังคมมั่นใจได้ว่าหลังปฏิรูปประเทศแล้ว จะไม่มีพรรคการเมืองเดิมๆ นักการเมืองหน้าเดิมๆ ซื้อเสียง หรือทุจริตเลือกตั้งได้อีก การอ้างเพียงว่าจะปฏิรูปกติกาให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม นั่นเป็นเพียงจินตนาการที่ไม่แน่ว่าจะเป็นจริงตามนั้นหรือไม่ กปปส.มีความชอบธรรมอะไรที่จะยัดเยียดจินตนาการของพวกตนให้ประชาชนทั้งประเทศต้องยอมรับโดย “วิธียึดอำนาจรัฐ” หรือปฏิเสธสิทธิที่จะเลือกของประชาชน (โดยการลงประชามติก่อน เป็นต้น)

4. อ้างว่าต้องมี “นายกฯคนกลาง หรือรัฐบาลคนกลาง และสภาประชาชนที่เป็นกลาง” มาจัดการปฏิรูปประเทศ ถามว่า  นายกฯ, รัฐบาล และสภาประชาชนที่มาจากการผลักดันของ กปปส.ที่เป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนเสียงข้างมากที่สนับสนุนรัฐบาล (และประชาชนที่ไม่สนับสนุนฝ่ายใดๆ อีกจำนวนมากที่เขาอาจไม่ได้เห็นด้วยกับวิธีการรวบรัดยึดอำนาจรัฐ ของ กปปส.) จะมีคุณสมบัติเป็น “นายกฯคนกลาง หรือรัฐบาลคนกลาง และสภาประชาชนที่เป็นกลาง” ได้อย่างไร (ยกเว้นจะผูกขาดการนิยามว่า “เป็นกลาง หมายถึงต้องเป็นไปตามความต้องการของ กปปส.เท่านั้น”)

และที่ชอบพูดๆ กันว่า ในเมื่อเวลานี้ “จุดร่วม” ของทุกฝ่ายคือ “การปฏิรูปประเทศ” ทำไมจึงไม่ปฏิรูประเทศก่อนจึงเลือกตั้ง ถามว่าแล้วเป้าหมายของการปฏิรูปประเทศคือ “ความเป็นประชาธิปไตย” ใช่หรือไม่ ฉะนั้น ความเป็นประชาธิปไตยจึงเป็น “จุดร่วมหลัก” ที่สำคัญที่สุด แต่ความเป็นประชาธิปไตยจะได้มาด้วยวิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยหรือ เมื่อจุดร่วมหลักคือความเป็นประชาธิปไตย การปฏิรูประเทศเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยจึงต้องเดินตามกติกาประชาธิปไตยที่เรามีอยู่ก่อน แม้กติกานั้นยังบกพร่อง แต่มันไม่ถึงกับทำลายความเป็นประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิง

การยึดอำนารัฐโดย กปปส.ต่างหากที่ทำลายความเป็นประชาธิปไตยตั้งแต่แรกที่อ้างว่ากลุ่มตนจะเข้ามาใช้อำนาจรัฐปฏิรูปประเทศในนามประชาชนทั้งประเทศ แต่ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนทั้งประเทศลงประชามติก่อนว่าจะเอาด้วยหรือไม่ เมื่อวิธีการเป็นเผด็จการ เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเป้าหมายที่บอกว่าเพื่อสร้าง “ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์” นั้น จะเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ขึ้นหรือเป็นประชาธิปไตยที่น้อยลง ดังที่นิวยอร์คไทม์ตั้งข้อสังเกต

ฉะนั้น ในเมื่อแนวทางของ กปปส.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐ ปล้นสิทธิในการเลือกของประชาชนทั้งประเทศ และไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าวิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยจะก่อให้เกิดประชาธิปไตยได้ (ซึ่งสังคมเรามีบทเรียนการปฏิรูปโดยวิธียึดอำนาจของอภิสิทธิชนมามากเกินพอแล้ว)

ประชาชนทุกคน และเครือข่ายที่รักประชาธิปไตยทุกเครือข่าย จึงต้องร่วมกันคัดค้านการยึดอำนาจรัฐมาจัดการปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้งอย่างถึงที่สุด

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net