Skip to main content
sharethis

นิวยอร์กไทมส์ พูดถึงการล้อเลียนนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ในการประท้วงและด้านสะท้อนกลับ แต่ก็มีการวิเคราะห์ของนักวิชาการ เรื่องพลัง "ความเป็นหญิง" ของยิ่งลักษณ์ท่ามกลางการเมืองเชือดเฉือนแบบชายเป็นใหญ่ ขณะที่เว็บไซต์ผู้จัดการที่อ้างอิงรายงานข่าวนี้นำเสนอไม่ครบถ้วน

18 ธ.ค. 2556 มีการรายงานข่าวโดยอ้างสื่อสำนักข่าวนิวยอร์กไทมส์ในเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ที่ผ่านมา โดยมีการรายงานไม่ครบถ้วน ประชาไทจึงนำเสนอเนื้อความต้นฉบับภาษาไทยอย่างรัดกุมอีกครั้ง

โดยในเนื้อความต้นฉบับของนิวอยร์กไทมส์เขียนโดยโทมัส ฟุลเลอร์ ได้กล่าวถึงคำสัมภาษณ์ของ ประไพพร ตั้งสุนทรขัณฑ์ ครูผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์สมัยมัธยมฯ ของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยประไพพรบอกว่ายิ่งลักษณ์เป็นคนที่มีคนชื่นชมและมีความสุภาพเรียบร้อยมาก แต่ก็เป็นเรื่องน่าแปลกใจที่เธอได้รับเลือกเป็นผู้นำการเมืองไทย (unlikely candidate) ท่ามกลางการเมืองที่เต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมและมีชายเป็นใหญ่ในสังคมไทย รวมถึงมีการแย่งชิงอำนาจของทหารและการแทงข้างหลังกัน

ประไพพรกล่าวอีกว่าคนที่อยู่ในวงการการเมืองมักจะชอบการอภิปรายกัน แต่ยิ่งลักษณ์ไม่เคยยกมือในชั้นเรียนและไม่เคยแสดงความคิดเห็นขัดแย้งกับครู

ฟุลเลอร์กล่าวในรายงานว่า นายกฯ ยิ่งลักษณ์กำลังต่อสู้กับมุมมองแบบเดียวกับครูของเธอเพื่อความอยู่รอดทางการเมือง ยิ่งลักษณ์มักจะถูกฝ่ายค้านในรัฐสภาล้อเลียนว่า "ไม่ฉลาด" ถูกดูหมิ่นว่าเป็นแค่ตัวแทนอำนาจของพี่ชายเธอ คือมหาเศรษฐี อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร และมีการแต่งเพลงล้อเลียนเธอในกลุ่มผู้ชุมนุมในกรุงเทพหลายหมื่นคนที่เรียกร้องให้เธอออกจากประเทศ

รายงานในเดอะ นิวยอร์กไทมส์ ระบุอีกว่านายกฯ ยิ่งลักษณ์ได้ให้สัมภาษณ์ต่อนักข่าวต่างประเทศหลายคน เธอดูสุขุมแต่ก็ระมัดระวังตัว (calm but defensive ในเนื้อความของผู้จัดการถอดความว่า "ดูค่อนข้างนิ่งแต่ก็ตอบโต้ทุกประเด็นที่ถูกกล่าวหา") และในขณะนั้นเธอก็ยังไม่ติดสินใจว่าจะลงสมัครชิงตำแหน่งนายกฯ ในการเลือกตั้งเดือน ก.พ. หรือไม่

ยิ่งลักษณ์กล่าวในเนื้อความของนิวยอร์กไทมส์อีกว่าข้อเรียกร้องการจัดตั้งสภาประชาชนของกลุ่มผู้ประท้วงนั้น เป็นข้อเรียกร้องที่ไม่สามารถทำได้ใน "โลกความจริง" ซึ่งมีนักวิชาการไทยหลายคนเห็นด้วยในจุดนี้ และเธอก็มั่นใจว่าทหารจะไม่ทำรัฐประหารอีกอย่างเมื่อปี 2549 ซึ่งทำให้เกิดผลพวงของความวุ่นวายทางการเมืองตลอด 7 ปีที่ผ่านมา

ฟุลเลอร์กล่าวอีกว่านายกฯ ยิ่งลักษณ์ ก็ยังคงแสดงท่าทีระมัดระวัง ดังจะเห็นจากสถานที่ให้สัมภาษณ์ที่ตั้งอยู่ในฐานทัพอากาศบริเวณชานเมืองกรุงเทพฯ  สองอาทิตย์ก่อนหน้านี้ ผู้ประท้วงขู่จะจับตัวเธอ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการไม่ต้องรับผิดชองผู้ประท้วง และความลังเลของยิ่งลักษณ์ที่จะสั่งปราบปราม โดยในช่วงต้นเดือน ธ.ค. ยิ่งลักษณ์ขอยกเลิกการให้สัมภาษณ์เนื่องจากผู้ช่วยของเธอคิดว่าสถานที่นั้นอันตรายเกินไป และยังมีการเปลี่ยนสถานที่ไปมาในช่วงหลายสัปดาห์ก่อนหน้านั้น

ฟุลเลอร์ตั้งคำถามว่าการที่ยิ่งลักษณ์ใช้วิธีการอ่อนข้อให้กับผู้ชุมนุมมากเกิดปกติ เช่นการที่เจ้าหน้าที่รักษาความสงบอนุญาตให้ผู้ชุมนุมเข้าไปในสถานที่ของรัฐบาลเพื่อคลายความโกรธเคือง จะทำให้เกิดผลที่ดีหรือกลายเป็นการบั่นทอนอำนาจรัฐลงไปอีก และในวันที่ 10 ธ.ค. ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลก็ยังคงกดดันเธอแม้ว่าเธอจะเสนอให้มีการเลือกตั้งใหม่แล้วทำให้เธอร้องไห้ผ่านหน้าจอโทรทัศน์

ตรงย่อหน้านี้ผู้จัดการถอดความว่า " นายฟุลเลอร์ตั้งข้อสงสัยว่าเธอใช้ไม้อ่อนเกินไปหรือไม่ในการรับมือกับผู้ประท้วง โดยมีอยู่ช่วงหนึ่งที่กองกำลังด้านความมั่นคงถึงขั้นให้การต้อนรับผู้ชุมนุมเข้าสู่ทำเนียบรัฐบาลในความพยายามคลายความโกรธเคือง อันก่อคำถามว่ามันได้ผลหรือกัดเซาะอำนาจรัฐกันแน่ แถมเมื่อวันอังคาร (10 ธ.ค.) ตอนที่ถูกฝ่ายต่อต้านกดดันให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรักษาการ เธอก็ยังร้องไห้ผ่านโทรทัศน์เสียอีก" ซึ่งในบางจุดมีการใส่น้ำเสียงลงไปในเนื้อความ

ในย่อหน้าถัดมาเว็บไซต์ผู้จัดการเลือกที่จะคัดเนื้อความออก ซึ่งเนื้อความระบุว่านายกฯ ยิ่งลักษณ์ ผู้ที่ได้รับการชมเชยในเรื่องรูปโฉมและเป็นคนที่ถ่ายรูปขึ้น (Photogenic) ส.ส. สภาและตัวยิ่งลักษณ์เองมักจะกล่าวว่าประเทศไทยต้องการความสามารถในการเข้าอกเข้าใจผู้อื่น (Empathy) และสัญชาติญาณในการเยี่ยวยา (healing instincts) ที่มีอยู่ในตัวผู้หญิง โดยเฉพาะหลังจากมีเหตุการณ์ปี 2553 ที่ทหารปราบปรามผู้ประท้วงจนมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 90 คน

นักวิชาการ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ยังได้กล่าวในบทความนี้อีกว่าการที่ยิ่งลักษณ์เป็นผู้หญิงทำให้มีทั้งความได้เปรียบและเสียเปรียบ ยิ่งลักษณ์มักจะถูกวิจารณ์ว่าไม่มีความสามารถ แต่ในสังคมที่เห็นใจคนที่ดูเป็นรอง (underdog) ในสังคมไทยคำวิจารณ์เหล่านี้ก็โดนโต้ตอบกลับ นิธิกล่าวอีกว่ายิ่งลักษณ์ใช้ความเป็นหญิงของตัวเองในการเรียกคะแนนเสียงสนับสนุนจากมวลชนทั่วไปเวลาที่มีคนกล่าวดูหมิ่นเธออย่างหยาบคาย และนิธิเองก็ชื่นชมยิ่งลักษณ์ในแง่ที่ไม่ตกเป็นเหยื่อการถูกยั่งยุให้โกรธโดยฝ่ายผู้ชุมนุม ซึ่งเนื้อความส่วนคำกล่าวของนิธินี้ไม่ปรากฏในเว็บไซต์ผู้จัดการ

ในเนื้อความของนิวยอร์กไทมส์ยังระบุอีกว่าผู้ประท้วงได้ล้อเลียนการพูด 'ปล่อยไก่' ของนายกยิ่งลักษณ์ เช่นเมื่อตอนที่ฮิลลารี่ คลินตัน มาเยือนไทยในปี 2554 ยิ่งลักษณ์กล่าวคำว่า “overcome” แทนที่จะเป็น “welcome” ในการต้อนรับ ยิ่งลักษณ์ยังเคยเผลอใช้คำเรียก "ประธานาธิบดีมาเลเซีย" แทนคำว่า "นายกรัฐมนตรี" และเรียกชื่อเมืองซิดนี่ย์เป็น "ประเทศซิดนี่ย์" แต่สิ่งที่ผู้ประท้วงวิจารณ์ยิ่งลักษณ์เสมอมาคือการที่เธอเกี่ยวข้องกับอดีตนายกฯ ทักษิณ ผู้เป็นพี่ชาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมากที่สุด

นิวยอร์กไทมส์ระบุอีกว่าสิ่งที่จุดชนวนให้เกิดการการประท้วงคือการที่รัฐบาลพยายามผ่านร่างกฏหมายนิรโทษกรรม ซึ่งอาจทำให้ทักษิณกลับเข้าประเทศได้ หลังจากที่ถูกพิจารณาว่ามีความผิดฐานใช้อำนาจโดยมิชอบในปี 2551 และมีคดีข้อหาคอร์รัปชั่นที่ยังคงรอการพิจารณา

ขณะที่พรรคเพื่อไทยเคยอ้างว่าการที่พวกเขามีส่วนเกี่ยวพันกับทักษิณเนื่องจากนโยบายของทักษิณทำให้ได้รับความนิยมในภาคเหนือของไทย แต่สำหรับฝ่ายต่อต้านทักษิณแล้วกฏหมายนิรโทษกรรมเป็นจุดสำคัญที่ทำให้ฝ่ายต่อต้านอ้างว่ายิ่งลักษณ์ได้รับตำแหน่งเพื่อผลประโยชน์ของพี่ชายเธอเป็นหลักเท่านั้น (ตรงจุดนี้ผู้จัดการรายงานว่า "การประท้วงในปัจจุบันมีต้นตอจากความพยายามของพรรครัฐบาลในการผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมเมื่อเดือนที่แล้ว ที่มีเป้าหมายพาทักษิณกลับประเทศ หลังจากอดีตนายรัฐมนตรีรายนี้ถูกพิพากษาว่ามีความผิดฐานใช้อำนาจโดยมิชอบในปี 2008 และยังมีคดีคอร์รัปชันอีกมากมายที่ค้างอยู่ ขณะที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ย้ำถึงข้ออ้างของฝ่ายศัตรูของทักษิณว่านางสาวยิ่งลักษณ์ บริหารประเทศเพื่อผลประโยชน์ของพี่ชายเป็นหลัก")

ยิ่งลักษณ์มักจะหลีกเลี่ยงการตอบคำถามเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับว่าเธอได้ปรึกษาพี่ชายเธอมากน้อยขนาดไหน และพี่ชายเธอมีอิทธิพลมากน้อยเพียงใด แต่สมาชิกพรรคเพื่อไทยเคยให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่าพวกเขาติดต่อกับทักษิณเป็นประจำและเขาเป็นคนคิดนโยบายหลักๆ ของพรรค (ซึ่งจุดนี้ผู้จัดการรายงานตรงกับต้นฉบับ)

เนื้อหาในนิวยอร์กไทมส์ระบุอีกว่า เพื่อนของครอบครัวชินวัตรทางภาคเหนือกล่าวถึงยิ่งลักษณ์ว่าเธอมองทักษิณและพี่น้องคนอื่นๆ เป็นเสมือนลุงป้าน้าอา เนื่องจากแม่ของเธอเสียชีวิตตอนเธออายุ 18 ปี และในบริบทของประเพณีลำดับชั้นของไทย การที่ทักษิณอายุห่างจากยิ่งลักษณ์มากถึงเกือบ 18 ปี ทำให้ทักษิณดูมีความน่าเคารพและความอาวุโสสำหรับเธอ

นิวยอร์กไทมส์ยังได้เล่าถึงชีวิตของยิ่งลักษณ์ที่ตามรอยเท้าทักษิณเข้าไปเรียนที่วิทยาลัยในเคนทักกี ซึ่งแม้จะเรียนในรัฐเดียวกันแต่ก็คนละมหาวิทยาลัย ยิ่งลักษณ์แต่งงานแล้วมีลูกหนึ่งคน ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการทำงานที่บริษัทของทักษิณและไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองในตอนที่เธอได้รับเลือกให้เป็นผู้สมัครลงชิงตำแหน่งนายกฯ

รายงานระบุว่า ในระหว่างการสัมภาษณ์เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ยิ่งลักษณ์ค่อนข้างระวังในการตอบคำถามเรื่องนโยบายประชานิยม ซึ่งนิวยอร์กไทมส์ระบุว่า เธอใช้เวลาในการบริหาร 2 ปีครึงที่ผ่านมาไปกับการสนับสนุนนโยบายประชานิยม รวมถึงการคืนเงินภาษีรถคันแรกและจ่ายเงินให้ชาวนาเพื่อรับจำนำข้าวด้วยราคาที่สูงกว่าราคาตลาด ซึ่งนโยบายเหล่านี้ใช้งบประมาณรัฐจำนวนมากทำให้ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลไม่พอใจ รวมถึงชาวกรุงเทพฯ ที่ไม่พอใจในแง่ของอำนาจเริ่มเปลี่ยนจากในเมืองหลวงไปสู่ในต่างจังหวัด ซึ่งรายงานส่วนนี้ และอีก 3-4 ย่อหน้าในตอนท้าย ข่าวของผู้จัดการไม่ได้นำมารายงาน

เนื้อความอีกส่วนหนึ่งระบุว่าท่ามกลางการประท้วงที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มชนชั้นนำในกรุงเทพฯ มีอยู่จุดหนึ่งที่ยิ่งลักษณ์เน้นย้ำคือการที่เธอพยายามปกป้องคนไทยในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นเสียงข้างมากในประเทศในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาจนทำให้พรรคของเธอสามารถเข้าสู่อำนาจได้เรื่อยๆ ยิ่งลักษณ์ได้กล่าวให้สัมภาษณ์ว่า "ไม่มีใครฟังเสียงของพวกเขา" ซึ่งหมายถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้งทางส่วนเหนือของประเทศ

นิวยอร์กไทมส์ปิดท้ายรายงานข่าวถึงตอนที่ยิ่งลักษณ์กำลังจะขึ้นเครื่องบินไปเชียงใหม่ และหลังจากที่ยิ่งลักษณ์ลงจากเครื่องบินก็มีภาพจากสื่อไทยจำนวนมากแสดงให้เห็นผู้สนับสนุนที่มาให้การต้อนรับเธอ หลายคนยื่นดอกกุหลาบให้เธอด้วย




เรียบเรียงจาก

Thai Prime Minister Facing Leadership Questions Old and New, New York Times, 11-12-2013
http://www.nytimes.com/2013/12/12/world/asia/thai-prime-minister-facing-leadership-questions-old-and-new.html?_r=1&

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net