Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



ปัญหาเรื่อง “เพศสภาพ/เพศสภาวะ” เป็นเรื่องใหญ่มากขึ้นในสังคมไทยแต่น่าเสียดายที่ยังไม่มีการศึกษาค้นคว้าและถกเถียงกันอย่างจริงจัง แม้ว่าในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา กลุ่ม “สตรีนิยม” จะสามารถสร้างความรู้และปฏิบัติการทางสังคมการเมืองได้กว้างขวางพอสมควร แต่ก็เป็นมุมมองและปฏิบัติการจากด้าน“สตรีนิยม”เป็นหลักซึ่งไม่ผิดแต่ไม่พอ

ข้อมูล/สถิติจำนวนมากที่ชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของ สถานะ/บทบาท ของ ผู้หญิงและผู้ชาย ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาที่ผู้หญิงได้ก้าวข้ามผู้ชายมามากและนานพอสมควรแล้ว หรือการทำงานที่ผู้หญิงมีบทบาทนำในระดับสูงมากขึ้นนักพัฒนาเอกชนพูดตรงกันว่า การประชุมงานครั้งไหนมีผู้หญิงมากกว่าชายก็จะมีโอกาสเห็นผลของงาน หากมีผู้ชายมากกว่าการประชุมจะพูดคุยสนุกสนานแต่ผลงานไม่ออก (ฮา)

ผมไม่ได้เรียกร้อง “สิทธิของผู้ชาย” นะครับ แม้ว่าจะเคยเสนอให้ตั้งศูนย์ “บุรุษศึกษา” เพื่อที่จะทำเข้าใจโลกและสังคมผ่านสายตาของผู้ชายก็ตามแต่ถูกถล่มมาหลายงานจนเลิกเสนอแล้ว

แต่ผมอยากจะมองว่าท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงเพศสภาวะที่เกิดขึ้นนี้ คนไทยทั้งสองเพศได้เรียนรู้ “ความเป็นชายความเป็นหญิง” (Manhood ,Womanhood ) จากอะไรบ้าง

ในอดีตก่อนที่จะมีระบบการศึกษามาพรากเด็กออกจากครอบครัว การเรียนรู้ความเป็นชาย/หญิงจะฝังอยู่ในครอบครัวและชุมชน เมื่อเด็กเริ่มโตเป็นสาวเล็กหนุ่มน้อยก็เริ่มที่จะแยกตัวออกไปสังกัดกลุ่มเรียนรู้ตามเพศ ชายก็ไปเรียนรู้การทำนาหาปลาและบวชเรียนเป็นเณรเป็นพระกับเครือญาติผู้ชายในชุมชน หญิงก็กลับเข้าสู่พื้นที่ครัวเรือนเพื่อเรียนรู้ความเป็นหญิง ผ่านการทำครัวการเก็บรักษาพันธุ์พืช การดูแลบ้านช่องห้องหอซึ่งเป็นการเรียนรู้การแบ่งงานกันทำตามเพศสภาพ

ต่อมาเมื่อการศึกษาขยายตัวการศึกษาก่อนอุดมศึกษาจะแยกโรงเรียนระหว่างชาย/หญิงออกจากกัน การเรียนรู้ ความเป็นชาย/ความเป็นหญิง ผ่านกลุ่มเพื่อน ซึ่งประกอบด้วยการส่งผ่านอุดมคติของ ความเป็นชาย/เป็นหญิง ของสังคมและรัฐมาสู่นักเรียน ที่สำคัญในช่วงแรกที่เกิดการขยายตัวของการศึกษานั้นยังไม่เกิดแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่ทำให้เกิดการไหลออกจากพื้นที่ของผู้คนครอบครัวและชุมชน จึงยังมีส่วนร่วมกับการศึกษาในระบบโรงเรียนในการจรรโลงความเป็นหญิง/เป็นชาย

หลังทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา การขยายตัวของการศึกษาภาคบังคับพร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่เข้มข้นขึ้น ทำให้เกิดการพรากเด็กออกจากครอบครัวและชุมชนมากขึ้นตามลำดับ การเรียนรู้เพศสภาพจากครอบครัวแบบเดิมจึงค่อยๆ หมดพลังลงไป กระบวนการการเรียนรู้ ความเป็นชาย/เป็นหญิง เริ่มสลายลงไปทั้งในระดับครอบครัวและชุมชน

เมื่อราวทศวรรษ 2520 ได้เริ่มเกิดการขยายตัวของโรงเรียนสหศึกษาที่รวมชาย/หญิงเข้าด้วยกัน การศึกษาที่แปรเปลี่ยนเข้ามาสู่การเรียนรวมกันทั้งสองเพศก็ทำให้กระบวนการเรียนรู้ในความเป็นหญิง/เป็นชายก็ละลายไปด้วย เหลือแต่เพียงการเรียนวิชาทั่วไป วิชาเพศศึกษาก็ถูกทำให้โดยเหลือแค่การเรียนรู้เครื่องเพศและการป้องกันตัวจากการมีเพศสัมพันธ์เท่านั้น

แม้ว่าในช่วงหลังทศวรรษ 2500 จะยังคงมีโรงเรียนผู้หญิงล้วน/ผู้ชายล้วนอยู่ไม่น้อย แต่ในระบบการศึกษาที่กำกับโดยรัฐก็เรียนวิชาทั่วไปเหมือนกัน จึงทำให้ไม่มีความแตกต่างกันในการศึกษา มิหนำซ้ำในโรงเรียนหญิงล้วนกลับมีการใช้อำนาจปกครองอย่างเด็ดขาดมากขึ้น โดยที่ไม่สนใจว่าจะเป็นนักเรียนหญิงหรือควรจะมีการเรียนรู้ “ความเป็นผู้หญิง” แต่ประการใด (ลองถามเด็กนักเรียนโรงเรียนผู้หญิงล้วนดูซิครับ)

ข้อมูลการพูดคุยของเด็กนักเรียนในเว็บบอร์ดที่บอกว่าโรงเรียนหญิงล้วน/ชายล้วนมีลักษณะเด่นอะไร ก็ล้วนแล้วแต่แสดงให้เห็นว่าการเรียนรู้ความเป็นหญิง/เป็นชายนั้น เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นโดยสัญชาตญาณธรรมดาทางเพศทั้งสิ้นไม่ได้มีการเรียนรู้มิติทางสังคมผ่านทางการศึกษาเลย

สังคมไทยไม่ได้คิดและไม่ได้เตรียมความรู้ในเรื่องความเป็นชายและความเป็นหญิงเลย เราได้ปล่อยให้นักเรียนได้มองเห็นสรุปเอาเองจากประสบการณ์ชีวิตของเด็กและผ่านสื่อที่เหลวไหลพอๆ กับระบบการศึกษา เราจึงเผชิญหน้ากับปัญหาการไม่รู้จักคิดและไม่เข้าใจอะไรทั้งสิ้นของเด็กทั้งสองเพศในวันนี้

ความสัมพันธ์ทางสังคมซึ่งมีพื้นฐานอยู่ความสัมพันธ์ระหว่างเพศชายและหญิง (แน่นอนว่าเพศที่สามด้วย) จะเป็นอย่างไรในเมื่อไม่มีใครเข้าใจตนเองในฐานะเพศของตนเอง ว่ามีความหมายทางสังคมอย่างไร รวมไปถึงการก้าวไปสู่ขอบฟ้าของความคาดหวัง (Horizon of Expectation) ของเพศตนสังคมไทยเรากำลังตกอยู่ในความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างเพศตามสัญชาตญาณดิบของเพศเท่านั้น การถกเถียงในเรื่องความรู้สึกรักแบบพลาโตนิค (Platonic love and platonic friendships) ที่เคยคึกคักเมื่อสามสิบปีก่อนไม่หลงเหลือร่องรอยแม้แต่น้อย

การเรียนรู้ “ความเป็นชาย” และ “ความเป็นหญิง” เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะการจัดความสัมพันธ์ที่เหมาะสม จะช่วยคลี่คลายปัญหาของการเสนอ “ความเป็นหญิง” หรือ “ความเป็นชาย” จากด้านของร่างกายเท่านั้นอย่างที่เห็นกันเกร่อในปัจจุบัน

เราจะสร้างการเรียนรู้ “ความเป็นชาย” และ “ความเป็นหญิง” ได้ก็ต่อเมื่อเราต้องศึกษาอย่างเป็นประวัติศาสตร์ว่า “ความเป็นชาย” และ “ความเป็นหญิง” ในแต่ละยุคแต่ละสมัยเป็นอย่างไร และแปรเปลี่ยนมาเป็นอย่างไร และมีหน้าที่ทางสังคมอย่างไรเพื่อที่สังคมจะได้ร่วมกันคัดสรร/เลือกสรรส่วนที่เหมาะสมต่อยุคสมัย

ในความเป็นจริงไม่ใช่เพียงแค่ “ความเป็นชาย” และ “ความเป็นหญิง” เท่านั้นนะครับ “ความเป็นพ่อ” “ความเป็นแม่” ก็แปรเปลี่ยนมาอย่างลึกซึ้งแต่ก็ไม่มีการศึกษาอะไรที่มีค่าพอจะพูดถึง

น่าเสียดายและน่าเสียใจอย่างยิ่งที่สังคมไทยไม่เคยรู้และไม่เคยเข้าใจในเรื่องเหล่านี้เลย จึงทำให้สังคมไทยไร้พลังทางปัญญาในการจัดการแก้ไขปัญหาตลอดมา

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน เว็บไซต์ กรุงเทพธุรกิจ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net