Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

แถลงการณ์  กลุ่มนักศึกษา มอ.ปัตตานี เสรีประชาธิปไตย
กรณีข้อโต้แย้งต่อแถลงการณ์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ฉบับที่ 2


สืบเนื่องวันที่ 28 พฤศจิกายน 2556 ที่ประชุมคณบดีได้มีการประชุมในวาระพิเศษ เกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน และได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 2 เพื่อแสดงถึงจุดยืนของมหาวิทยาลัย โดยมีข้อเรียกร้องคือ

1. เรียกร้องให้รัฐบาลและรัฐสภา ยอมรับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ

2. คัดค้านการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการใช้กำลังปราบปรามประชาชนที่มาชุมนุม ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด

3. ต่อต้านการทุจริต คอรัปชั่น

4. ต่อต้านการจาบจ้วงดูแคลนสถาบันเบื้องสูง

5. เรียกร้องให้ผู้นำประเทศมีคุณธรรม จริยธรรมในการบริหารประเทศ

6. ให้รัฐบาลและผู้บังคับใช้กฎหมายเคารพสิทธิส่วนบุคคล ของประชาชนที่จะเข้าร่วมการแสดงออกทางการเมือง และบังคับให้กฎหมายอย่างเสมอภาค

7. ให้นายกรัฐมลตรี สภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา และสมาชิกสภาเสียงข้างมาก มีส่วนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ขัดต่อหลักนิติรัฐ นิติธรรม แสดงความรับผิดชอบทางการเมืองอย่างอารยชน

8. สนับสนุนให้มีการปฏิรูปการเมือง ที่การใช้อำนาจรัฐต้องเป็นไปด้วยคุณธรรมตามระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง

ถ้อยแถลงดังกล่าวของมหาวิทยาลัยในข้างต้น ได้สร้างความคับข้องใจให้กับ อาจารย์ นักศึกษาและบุคลากรจำนวนไม่น้อย ในการแสดงท่าทีของมหาวิทยาลัยที่มีต่อวิกฤตการเมืองในปัจจุบัน  โดยข้อเสนอดังกล่าว หาได้ยึดโยงกับความเป็นจริงทางสังคมไม่ หากเป็นแค่นามธรรมยากต่อการปฏิบัติได้จริง อีกทั้งข้อเสนอดังกล่าวก็หาได้เป็นข้อคิดเห็นที่ได้รับความเห็นชอบจากมวลสมาชิกทั้งหมดของมหาวิทยาลัย หากแต่เป็นเพียงข้อเสนอเพื่อสนองต่อทัศนคติหรือรสนิยมทางการเมืองของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ทางกลุ่มนักศึกษา มอ.ปัตตานี เสรีประชาธิปไตย จึงได้ตั้งข้อสังเกตกับถ้อยแถลงการณ์ดังกล่าว ดังนี้

1. การเรียกร้องให้รัฐบาลและรัฐสภา ยอมรับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ข้อเสนอดังกล่าวถือว่าใช้ไม่ได้ ด้วยเหตุที่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่มีบทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบควบคุมกระบวนการตลอดจนเนื้อหาของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ การที่ศาลรัฐธรรมนูญเข้าตรวจสอบควบคุมการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งๆ ที่ปราศจากอำนาจตามรัฐธรรมนูญถือว่าเป็นการสถาปนาอำนาจขึ้นมาเอง อีกทั้งยังเป็นการขยายแดนอำนาจของตนออกไปจนกลายเป็นองค์กรที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญและอยู่เหนือองค์กรทั้งปวงของรัฐ มีผลเป็นการทำลายหลักนิติรัฐประชาธิปไตยลง จนก่อให้เกิดสภาวการณ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสูงสุดเด็ดขาด ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวของมหาวิทยาลัยเป็นการทำลายหลักนิติรัฐ และประชาธิปไตยในระยะยาว

2. คัดค้านการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการใช้กำลังปราบปรามประชาชนที่มาชุมนุม ข้อเสนอดังกล่าวแม้จะเป็นข้อเสนอที่ดีด้วยเหตุที่เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ควรให้ความรุนแรงกับประชาชน อีกทั้งการชุมชนอย่างสงบก็เป็นการใช้สิทธิตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งควรเคารพในการแสดงความคิดเห็นของผู้คนเหล่านั้น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการชุมนุมดังกล่าวจะอยู่ภายใต้กรอบประชาธิปไตย แต่ถึงกระนั้นกลุ่มนักศึกษาก็มีความเห็นสอดคล้องกับข้อเสนอดังกล่าวเพียงครึ่งเดียว เนื่องด้วยการเรียกร้องดังกล่าวเป็นเพียงการเรียกร้องต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ หาได้รวมไปถึงผู้ชุมนุมไม่ ซึ่งหากติดตามข่าวสารก็จะปรากฏชัดว่าความรุนแรงส่วนใหญ่นั้นเกิดขึ้นจากฝ่ายใด

3. ต่อต้านการหมิ่นเบื้องสูงซึ่งแท้จริงควรเป็นต่อต้านการอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการโจมตีฝ่ายตรงข้ามเสียมากกว่า ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าในห้วงระยะเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งที่สังคมไทยต้องเผชิญนั้นคือความขัดแย้งระหว่าง พลังทางการเมืองกลุ่มต่างๆ อ้างสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการโจมตีฝ่ายตรงข้าม ทำให้เป็นการดึงพระองค์ เข้ามาเกี่ยวพันกับความขัดแย้งทางการเมือง

4. การกล่าวถึงคุณธรรม จริยธรรม นั้นเป็นการเรียกร้องนามธรรมเลื่อนลอย หาได้ยึดโยงกับความเป็นจริงในสังคมไม่ อีกทั้งยังเห็นได้ชัดว่าคนบางกลุ่มในมหาวิทยาลัยยังคงผูกติดอยู่กับฐานคิดประชาธิปไตยแบบชนชั้นนำ ที่มองว่ารัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากเสียงของคนส่วนใหญ่ของประชาชน ขาดคุณธรรมและจริยธรรมทางการเมือง ก็ด้วยเหตุที่ว่าคนกลุ่มนี้ไม่เคารพในความคิดเห็นของคนอื่น และมองคนอย่างไม่เท่าเทียมกันมาโดยตลอด

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น กลุ่มนักศึกษา มอ.ปัตตานี เสรีประชาธิปไตย จึงขอให้ถือเสียว่าแถลงการณ์ดังกล่าวเป็นเพียงความคิดเห็นของคณะผู้บริหารและสมาชิกบางส่วนของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งถือเป็นเพียงความคิดเห็นของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น หาได้ถือว่าแถลงการณ์ครอบคลุมความคิดเห็นของสมาชิกทั้งหมดไม่ อีกทั้งยังให้ถือว่าแถลงการณ์ดังกล่าวเป็นไปในนามของบุคคล ใช่เป็นในนามมหาวิทยาลัย

ด้วยเหตุนี้ กลุ่มนักศึกษา มอ.ปัตตานี เสรีประชาธิปไตย จึงมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลดังนี้

1. คัดค้านการใช้ความรุนแรง และการยั่วยุทั้งจากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ และฝ่ายผู้ชุมนุม

2. การชุมนุมเรียกร้องควรเป็นไปในวิถีทางการเรียกร้องประชาธิปไตย ใช่เป็นการชุมนุมเพื่อเรียกร้องระบอบการ
ปกครองอื่นที่นอกเหนือออกไปจากระบอบประชาธิปไตย

3. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2550 ทั้งฉบับ โดยยึดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญประชาชนอย่างแท้จริง หาได้เป็นรัฐธรรมนูญเผด็จการซ่อนรูปอย่างรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550

4. ขอให้รัฐบาลคืนอำนาจในการตัดสินใจทางการเมืองกลับไปสู่ประชาชน  เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งตามวิถีทางประชาธิปไตย

 

ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง
กลุ่มนักศึกษา มอ.ปัตตานี เสรีประชาธิปไตย

 

 

หมายเหตุ:กลุ่มนักศึกษา มอ.ปัตตานี เสรีประชาธิปไตย ก่อตั้งขึ้นโดยการรวมตัวกันของนักศึกษาที่ทำกิจกรรมส่งเสริมประชาธิปไตย และยึดมั่นในหลักการสิทธิมนุษยชน โดยแถลงการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจากการไม่เห็นด้วยต่อท่าทีของมหาลัยที่วางตัวไม่เป็นกลางในทางการเมือง แต่กลับเลือกข้างอย่างชัดเจน การกระทำดังกล่าวผิดวิสัยที่สถานศึกษาควรจะเป็น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net